ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > คลังเตรียมเช็คบิลอดีตบิ๊กธนารักษ์ทำรัฐเสียหาย กรณีมหากาพย์ที่ดินราชพัสดุหมอชิต – ของบกลางพันล้าน จ่ายค่าโง่ “บีทีเอส”

คลังเตรียมเช็คบิลอดีตบิ๊กธนารักษ์ทำรัฐเสียหาย กรณีมหากาพย์ที่ดินราชพัสดุหมอชิต – ของบกลางพันล้าน จ่ายค่าโง่ “บีทีเอส”

6 มีนาคม 2012


นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์
นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์

นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรมธนารักษ์จ่ายค่าก่อสร้างฐานรากอาคารที่จอดรถไฟฟ้า สถานีขนส่งหมอชิต ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอส) คิดเป็นเงินกว่า 600 ล้านบาท พร้อมกับดอกเบี้ยอีก 7.5% ต่อปี นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 มาจนถึงปัจจุบัน คิดเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ได้เจรจากับบีทีเอสมาโดยตลอด จนกระทั่งได้ข้อสรุปว่า หากกรมธนารักษ์ชำระหนี้ให้กับบีทีเอสได้ภายในวันที่ 30 มกราคม 2555 บีทีเอสจะไม่คิดดอกเบี้ย

จากนั้นจึงเร่งทำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอให้รัฐบาลจัดสรรงบกลางมาชำระหนี้ให้กับบีทีเอสตามคำพิพากษาของศาล ปรากฏว่าขณะนั้นงบกลางมีเหลือไม่มาก เพราะช่วงนั้นเกิดวิกฤตน้ำท่วม ต้องนำไปใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ดังนั้น การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 จึงมีมติให้นำเงินรายได้ของกรมธนารักษ์ที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินไปชำระหนี้ให้บีทีเอส พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา สอบหาตัวผู้กระทำความผิดกรณีทำให้รัฐเสียหาย

นายนริศกล่าวว่า หลังจากที่ ครม. มีมติให้กรมธนารักษ์นำเงินรายได้ไปชำระหนี้ให้กับบีทีเอส กรมธนารักษ์ได้ทำหนังสือไปหารือกระทรวงการคลัง ปรากฏว่าในทางปฎิบัติทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฏหมายใดๆ มารองรับ เนื่องจากเงินรายได้ของส่วนราชการทุกแห่งต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน หากส่วนราชการมีภาระที่จะต้องนำเงินไปใช้จ่าย ต้องเสนอผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ

ล่าสุด หลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2555 มีผลบังคับใช้แล้ว กรมธนารักษ์ได้ทำเรื่องขอใช้เงินจากงบกลางปี 2555 อีกครั้ง และได้ส่งเรื่องไปไห้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณา เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. พร้อมกับข้อสรุปผลการสวนสอบข้อเท็จจริง โครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ บริเวณขนส่งหมอชิต ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554

“สำหรับรายชื่อผู้ที่จะต้องมารับผิดทางแพ่งนั้น ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ปลดเกษียณไปแล้วและที่ยังรับราชการอยู่ แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อผู้ที่ทำให้รัฐเสียหายได้ คงต้องรอจนกว่าเรื่องนี้จะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. ก่อน ซึ่งขณะนี้ผมได้ส่งเรื่องไปให้นายกิตติรัตน์เรียบร้อยแล้ว” นายนริศกล่าว

นายนริศกล่าวต่อไปอีกว่า การทำเรื่องไปของบกลางของปี 2555 นั้น เท่ากับว่ากรมธนารักษ์ได้ลงทุนจ่ายค่าก่อสร้างฐานรากของอาคารอู่จอดดรถไฟฟ้าให้กับบริษัทบีทีเอสล่วงหน้า ดังนั้น หากรัฐบาลมีนโยบายให้กรมธนารักษ์เดินหน้าโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุหมอชิตต่อไป ทางกรมธนารักษ์จะต้องออกประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้ามาประมูลโครงการนี้ โดยผู้ที่ชนะการประมูลจะต้องจ่ายค่าก่อสร้างฐานรากของตัวอาคารให้กับกรมธนารักษ์ด้วย

“เรื่องการหางินมาชำระหนี้ให้บีทีเอสตามคำพิพากษาของศาล ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะตามคำสั่งของศาลให้บีทีเอสคิดค่าปรับกรมธนารักษ์เป็นรายวัน นับจากวันที่ศาลพิพากษาเฉลี่ยวันละ 1.2 แสนบาท ถึงวันนี้ ทั้งต้นและดอกเบี้ยรวมคิดเป็นวงเงินกว่า 1,000 ล้านบาทแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ผมพยายามจะเจรจาขอให้บีทีเอสช่วยผ่อนปรนค่าดอกเบี้ยปรับ เพราะกรมธนารักษ์ไม่ได้มีเจตนาที่จะเตะถ่วงเรื่องนี้แต่อย่างใด ผมพยายามที่จะหาเงินมาชำระหนี้ให้กับบริษัทตามคำพิพากษาของศาล แต่ติดข้อกฏหมายจึงต้องทำเรื่องเสนอกลับไปกลับมา ผมกำลังเร่งดำเนินการอยู่” นายนริศกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ความเป็นมาของเรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยที่นายนิพัทธ พุกกะณะสุต เป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ ได้เสนอโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ หมอชิตมูลค่าประมาณ 18,000 ล้านบาท ให้ ครม. พิจารณา โดยระบุว่าโครงการนี้ได้ผ่านกระบวนการต่างๆ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 แล้ว

หลังจากที่ ครม. ผ่านความเห็นชอบ กรมธนารักษ์ก็ออกหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูล ประกาศให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นผู้บริหารที่ดินแปลงนี้ โดยมีบริษัท บางกอกเทอร์มินอล หรือ “ซันเอสเตท” เป็นผู้ชนะการประมูลได้รับสัมปทานโครงการนี้ สำหรับตัวอาคารอู่จอดรถไฟฟ้า กรมธนารักษ์ให้บริษัท ธนายง ลงทุนสร้างฐานรากเพื่อรับน้ำหนักตัวอาคารด้านบน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะนำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ทางซันเอสเตทก็มีการจ่ายเงินงวดแรกไปให้บริษัทธนายง 150 ล้านบาท (ปัจจุบันยังค้างอยู่อีก 648 ล้านบาท และศาลปกครองสูงสุดสั่งให้กรมธนารักษ์ชำระหนี้ในส่วนนี้ให้กับบีทีเอส)

ต่อมา กระทรวงการคลังได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีที่มีเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์รับเงินสินบนจากซันเอสเตท จึงส่งเรื่องไปให้สำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบ ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงการคลังก็ได้ส่งเรื่องไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบสัญญาที่กรมธนารักษ์ทำไว้กับซันเอสเตท ปรากฏว่า กฤษฎีกาตอบกลับมาว่าสัญญาดังกล่าวไม่ได้กระบวนการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2535 สัญญาที่ทำไว้ให้ถือเป็นโมฆะ

ดังนั้ นเมื่อสัญญาฯ ถูกตีความเป็นโมฆะ ทางซันเอสเตทจึงไม่จ่ายค่าฐานรากอีก 600 ล้านบาท ให้กับบีทีเอส เพราะไม่ใช่คู่สัญญา ทางบีทีเอสจึงมาฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้กรมธนารักษ์เป็นผู้ชำระหนี้ก้อนนี้แทน