ThaiPublica > คอลัมน์ > PISA บทเรียนสำคัญของระบบการศึกษาไทย(1) : ผลวิเคราะห์ PISA2015 แม้ยากจนก็ประสบความสำเร็จได้ กรณีศึกษาประเทศเวียดนาม

PISA บทเรียนสำคัญของระบบการศึกษาไทย(1) : ผลวิเคราะห์ PISA2015 แม้ยากจนก็ประสบความสำเร็จได้ กรณีศึกษาประเทศเวียดนาม

3 มกราคม 2017


ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค
เครือข่ายนักเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค.

ที่มาภาพ: http://www.oecd.org/pisa/
ที่มาภาพ: http://www.oecd.org/pisa/

หากจะมีสิ่งใดที่เราควรเรียนรู้จากการทดสอบทางการศึกษาระดับนานาชาติ (Program for International Student Assessment) หรือ PISA ของนักเรียนอายุ 15 ปีทั่วโลก สิ่งนั้นคือปรากฏการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ซึ่งได้เข้าร่วมการทดสอบ PISA ครั้งแรกในปี 2012 และสร้างความตกตะลึงให้กับโลกการศึกษาด้วยการทำคะแนนที่สูงมากในวิชาคณิตศาสตร์ (อันดับ 17) วิทยาศาสตร์ (อันดับ 8) การอ่าน (อันดับ 19) จาก 65 ประเทศ จนกระทั่งอีกสามปีต่อมา ในรอบการสอบ 2015 นักเรียนจากเวียดนามก็ยังสามารถรักษามาตรฐานการสอบได้สูงติดอันดับโลกเช่นกัน (วิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์, การอ่าน อันดับ 8, 22 และ 32 จาก 72 ประเทศ ตามลำดับ) โดยเฉพาะหากเมื่อคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐฐานะ (Socioeconomic status) ของนักเรียนชาวเวียดนาม ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่มท้ายๆ เมื่อเทียบกับนักเรียนจากประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมการทดสอบนี้ (ภาพที่ 1 และ 2 คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ภาพที่ 1: คะแนนสอบ PISA วิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปี 2006 ถึง 2015 ของประเทศต่างๆ
ภาพที่ 1: คะแนนสอบ PISA วิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปี 2006 ถึง 2015 ของประเทศต่างๆ
ภาพที่ 2: กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคะแนน PISA วิทยาศาสตร์ กับ GDP ต่อหัวของประเทศ(ปรับตามความเสมอภาคของอำนาจซื้อ-Purchasing Power Parity)
ภาพที่ 2: กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคะแนน PISA วิทยาศาสตร์ กับ GDP ต่อหัวของประเทศ
(ปรับตามความเสมอภาคของอำนาจซื้อ-Purchasing Power Parity)

นอกจากนั้น OECD ยังได้ทำการแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มผู้ที่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานระดับ 2 (Poor Performers) ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สามารถนำเอาความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มาอธิบาย ตีความข้อมูล การทดลองอย่างง่ายๆ เป็นทักษะที่นักเรียนทุกคนควรต้องรู้ก่อนจบการศึกษาภาคบังคับ และ นักเรียนกลุ่มที่ได้คะแนนมาตรฐานระดับ 5 ขึ้นไป (High Performers) คือมีทักษะและความรู้ในวิทยาศาสตร์มากพอในการนำไปประยุกต์อย่างสร้างสรรค์โดยตนเองได้ ทั้งในสถานการณ์ที่คุ้นเคยและไม่คุ้นเคยมาก่อน ประเทศที่มุ่งหวังจะเห็นทรัพยากรมนุษย์ของตนมีคุณภาพในระดับที่สามารถผลักดันเศรษฐกิจให้เกิดการแข่งขันหรือก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง มักจะต้องการเห็นสัดส่วนของนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มมาตรฐานสูงมากกว่านักเรียนที่อยู่ในกลุ่มมาตรฐานต่ำ (ภาพที่ 3)

ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่า ประเทศเวียดนามมีนักเรียนที่อยู่ในระดับมาตรฐานที่น่าพอใจมากทีเดียว (มาตรฐานสูง 8.3% มาตรฐานต่ำ 5.9%) ในขณะที่ประเทศไทยมีนักเรียนในระดับมาตรฐานต่ำถึง 46.7% และมาตรฐานสูงน้อยกว่า 0.5% (แผนภาพที่ 3) ซึ่งถือว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วงหากมองไปถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ภาพที่ 3: สัดส่วนของนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มมาตรฐานสูง ปานกลาง และมาตรฐานต่ำ ในวิชาวิทยาศาสตร์ PISA 2015
ภาพที่ 3: สัดส่วนของนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มมาตรฐานสูง ปานกลาง และมาตรฐานต่ำ ในวิชาวิทยาศาสตร์ PISA 2015

หากพิจารณาเฉพาะนักเรียนกลุ่มหัวกะทิของประเทศ (เด็กกลุ่มที่เรียนโรงเรียนเฉพาะทางวิทยาศาสตร์ กลุ่มนักเรียนโรงเรียนสาธิต เป็นต้น) ที่เราเชื่อว่าเด็กไทยเก่งไม่แพ้ใครในโลกนั้น แต่เมื่อหันไปดูสถิติของกลุ่มเด็กหัวกะทิจากประเทศอื่นๆ (เด็กที่ทำคะแนนอยู่ในกลุ่มเปอร์เซ็นไทล์ที่ 90, 95 และ 99 ของประเทศ) ก็จะเห็นว่าเด็กกลุ่มที่เก่งที่สุดจากประเทศไทยก็ไม่ได้มีความโดดเด่นที่แตกต่างจากเด็กเก่งในประเทศอื่นมากเท่าใดนัก (ภาพที่ 4)(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

 ภาพที่ 4: คะแนนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนกลุ่มหัวกะทิของประเทศต่างๆ
ภาพที่ 4: คะแนนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนกลุ่มหัวกะทิของประเทศต่างๆ

นอกเหนือจากนั้น หากมีการแบ่งนักเรียนของแต่ละประเทศออกเป็นสี่กลุ่ม (4 ควอไทล์) ตามสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม (ในกรณีของ PISA นำมาจากดัชนีชื่อว่า index of economic, social and cultural status- ESCS) จะพบว่านักเรียนที่มาจากกลุ่มที่มีเศรษฐฐานะต่ำที่สุดของเวียดนาม (bottom quartile) สามารถทำคะแนนเฉลี่ยในวิชาวิทยาศาสตร์ได้สูงที่สุดในโลกเทียบกับกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มเศรษฐฐานะต่ำสุดจากทุกประเทศ (แผนภาพ 5) อีกทั้งนักเรียนที่มีความพร้อมต่ำที่สุดกลุ่มนี้ยังมีคะแนนเฉลี่ยที่สูงกว่านักเรียนกลุ่มเศรษฐฐานะสูงสุด (top quartile) ของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

นอกจากนั้นสิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของเวียดนามคือ จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันของผลสัมฤทธิ์ระหว่างนักเรียนในกลุ่มเศรษฐฐานะต่ำและสูงมีค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีผลสัมฤทธิ์สูงอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ ฟินแลนด์ จีน (4 มลฑล) ซึ่งแสดงว่าค่อนข้างมีความเสมอภาคทางการศึกษาระหว่างประชากรกลุ่มต่างๆ ในประเทศเวียดนาม หรืออาจเรียกได้ว่ามีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาค่อนข้างน้อย

ภาพที่ 5: คะแนนวิทยาศาสตร์เฉลี่ยแบ่งตามเศรษฐฐานะกลุ่มต่างๆ
ภาพที่ 5: คะแนนวิทยาศาสตร์เฉลี่ยแบ่งตามเศรษฐฐานะกลุ่มต่างๆ

ในกรณีนี้จากแผนภาพที่ 5 หากพิจารณานักเรียนไทย เห็นได้ว่าแม้ว่าเราจะมีความเหลื่อมล้ำของผลการทดสอบระหว่างเศรษฐฐานะไม่สูงโดดเด่นมากนัก แต่โดยรวมผลสัมฤทธิ์จะอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานของ OECD มาก ยกตัวอย่างเช่น เด็กในกลุ่มเศรษฐฐานะสูงสุดของไทย ยังมีคะแนนเฉลี่ย (460 คะแนน) ต่ำกว่าเด็กในกลุ่มเศรษฐฐานะต่ำสุดของประเทศ เวียดนาม สิงคโปร์ ฟินแลนด์ (ประมาณ 500 คะแนน) และมีคะแนนพอๆ กับเด็กกลุ่มเศรษฐฐานะต่ำสุดของประเทศจีน (จาก 4 มลฑล) คือประมาณ 460 คะแนน

ประเด็นนี้ทาง OECD ได้ให้นิยามเอาไว้ว่า เด็กที่อยู่ในกลุ่มเศรษฐฐานะต่ำสุด 25% (bottom SES quartile) ของประเทศแต่สามารถทำคะแนนได้ติดกลุ่มคะแนนสูงสุด 25% ของโลก (มีการใช้สถิติปรับระดับคะแนนให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศ) ถือว่าเป็นเด็กที่สามารถเอาชนะชะตากรรมของตนเอง (หรือ resilient students) แม้จะจนแต่ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเห็นว่าประเทศเวียดนามมีเด็กกลุ่มนี้ในสัดส่วนที่สูงมากถึง 76 % ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีน้อยกว่านั้น เช่น ไทย (18%) สิงคโปร์ (49%) ฟินแลนด์ (43%) เป็นต้น การที่ประเทศมีเด็กกลุ่มที่เรียกว่าสามารถเอาชนะชะตากรรมได้มากแสดงถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีน้อย แม้จะเป็นคนกลุ่มด้อยโอกาสในสังคมแต่ก็สามารถได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพจนประสบความสำเร็จได้

ภาพที่ 6: สัดส่วนของเด็กยากจน (bottom SES quartile) ที่สามารถทำคะแนนในกลุ่ม 25% สูงสุดได้ (resilient students)
ภาพที่ 6: สัดส่วนของเด็กยากจน (bottom SES quartile) ที่สามารถทำคะแนนในกลุ่ม 25% สูงสุดได้ (resilient students)

มีผู้ที่พยายามอธิบายปรากฏการณ์นี้ของเวียดนามในหลายแนวทาง ประการแรกมีผู้วิจารณ์ว่าแม้ว่าเวียดนามจะประสบความสำเร็จในเรื่องผลการสอบอันเป็นภาพสะท้อนของคุณภาพของการเรียนการสอนในโรงเรียน แต่ปัญหาที่สำคัญของประเทศคือเรื่องโอกาสและการเข้าถึงการศึกษา เพราะนักเรียนที่เข้าสอบ PISA ของเวียดนาม คิดเป็นตัวแทนเพียง 49% ของกลุ่มประชากรในกลุ่มอายุที่มีโอกาสเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนเท่านั้น ในขณะที่ประเทศอื่นๆ นักเรียนที่เข้าสอบมีความเป็นตัวแทนของประเทศได้มากกว่า เช่น ไทย (72%) อินโดนีเซีย (68%) ดังนั้น ผลการสอบจึงเป็นเพียงภาพสะท้อนส่วนหนึ่งของผู้ที่มีโอกาสเข้าไปอยู่ในระบบโรงเรียน

นอกจากนั้น ประเทศเวียดนามยังมีปัญหาการส่งต่อโอกาสของเด็กที่เก่งในระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาไปยังมหาวิทยาลัยหรือตลาดแรงงานเพราะยังมีข้อจำกัดในด้านคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาที่ยังถือว่าด้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค รวมทั้งตลาดแรงงานที่อาจจะยังไม่พร้อมในการรองรับเยาวชนที่มีศักยภาพสูงเหล่านี้ในอาชีพทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสม แต่สถานการณ์ในอนาคตก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จทางการศึกษาของเวียดนามเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ในด้านหนึ่ง วัฒนธรรมของเวียดนามในด้านการศึกษามีความคล้ายคลึงกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง) มากกว่าประเทศกลุ่มอื่นๆ คือเป็นวัฒนธรรมแบบขงจื๊อ เน้นที่การให้ความสำคัญกับการศึกษา การให้ความเคารพเชื่อฟังครู ความขยันมุ่งมั่น ทำงานหนัก ตั้งเป้าหมายที่สูง พ่อแม่มีความคาดหวังที่สูงต่อลูกในเรื่องการศึกษาและอนาคต มีการกดดันลูกค่อนข้างสูงในเรื่องการเรียนตามแนวทางของประเทศเอเชียตะวันออก มีการทุ่มเทลงทุนเพื่อการเรียนพิเศษหรือส่งบุตรหลานไปเรียนต่อในประเทศตะวันตกมาก (จากสถิติปี 2015/16 ประเทศสหรัฐอเมริกามีนักศึกษาต่างชาติจากเวียดนามจำนวน 21,403 คน คิดเป็นอันดับที่ 6 ของนักเรียนต่างชาติทั้งหมดของสหรัฐฯ แม้เวียดนามจะมี GDP ต่อหัวต่ำกว่าประเทศอื่นมาก)

นอกเหนือจากปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเด่นชัดก็ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวกับการศึกษา เช่น การให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรพื้นฐานทางการศึกษาให้ทั่วถึงเสมอภาค (ตามแนวทางการดำเนินงานของธนาคารโลกในเวียดนาม) การให้ความสำคัญกับการพัฒนาอบรมครู การมีหลักสูตรทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่เข้มข้นตามแนวทางยุโรปตะวันออก แม้ว่าปัจจัยในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาจะยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างลึกซึ้งนักว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างได้จริงๆ หรือไม่ แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ควรที่นักการศึกษาไทยจะได้เข้าไปดูอย่างลึกซึ้งต่อไป ทั้งในด้านสถิติข้อมูล รวมไปถึงการลงพื้นที่ไปดูงานจริงๆ น่าจะสามารถนำประสบการณ์มาใช้กับประเทศไทยได้ไม่น้อย โดยเฉพาะการพัฒนาโรงเรียนในเขตชนบทห่างไกลที่มีทรัพยากรอันจำกัด