ThaiPublica > คอลัมน์ > ไมค์แพงทำปฏิรูปพัง

ไมค์แพงทำปฏิรูปพัง

20 ตุลาคม 2014


หางกระดิกหมา

นอกจากคำว่า “บกพร่องโดยสุจริต” แล้ว บัดนี้การเมืองไทยก็กำลังจะให้วรรคทองใหม่แก่ภาษาไทย กล่าวคือคำว่า “ไม่ทุจริตแต่ส่วนต่างมาก”

เพราะหลังจากหายไปเป็นเดือน สุดท้ายคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ของ พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ ก็ออกมาบอกว่ากรณีการจัดซื้อไมโครโฟนเทคโลยีทำเนียบขาว ราคาดาวอังคาร ที่ทำพ่อยกแม่ยกปฏิวัติใจแป้วกันเป็นแถบๆ นั้น แท้จริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องทุจริตเลย เป็นเพียงแต่ว่าราคาที่รัฐจะซื้อนั้น บังเอิญแพงกว่าราคาที่มนุษย์อื่นเขาซื้อกันได้เท่านั้นเอง

ไม่รู้ประโยคอย่างนี้จะฟังขึ้นกับใครบ้าง แต่อย่างน้อยๆ คงฟังไม่ขึ้นกับ เสธ.ไก่อู เพราะเพียงข่าวไปลงว่า เสธ. เป็นเจ้าของวาทะเด็ด “ไม่ถึงขั้นทุจริต เพียงแค่มีส่วนต่างเยอะ” ก็ถึงกับต้องแถลงข่าวปฏิเสธพัลวัน แม้ว่าจะหยอดท้ายเป็นปริศนาธรรมไว้ว่า “อันนี้ต้องถามก่อนว่า มั่นใจในตัว พล.อ. อนันตพรหรือเปล่า ซึ่งถ้ามั่นใจ ผลสอบที่ออกมาตรงไปตรงมาอยู่แล้ว” ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นประโยคที่น่างงเสียยิ่งกว่าประโยค “ไม่ทุจริตแต่ส่วนต่างมาก” เสียอีก เพราะเอาความเชื่อมาปนกับเรื่องที่ต้องใช้เหตุใช้ผล

ได้แต่หวังว่านี่จะเป็นแต่เพียงเรื่องที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ อย่างที่ พล.อ. ประยุทธ์บอกว่ากระบวนการตรวจสอบยังไม่เสร็จสิ้น ยังเหลือการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) อีก เพราะรับรองว่าเท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ผลการตรวจสอบไม่เพียงพอต่อการอธิบายประชาชนแน่นอน

จริงอยู่ว่า ส่วนต่างมากนั้นไม่ได้แปลว่าทุจริตเสมอไป แต่ก็จะต้องแปลว่าอะไรสักอย่างหนึ่ง ในเมื่อไม่ใช่เจตนาทุจริตแล้ว จะแปลว่าความประมาทเลินเล่อ หรือความโง่ คตร. ก็ควรพูดออกมาให้ชัด รวมทั้งบอกว่าใครเป็นเจ้าของความประมาทหรือความโง่นั้นด้วย

ยิ่งกว่านั้น ในเมื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เหตุผล สรุปอย่างเดียวไม่พอ หาก คตร. จะบอกว่าส่วนต่างที่เกิดขึ้นเป็นส่วนต่างที่ไม่ได้เกิดจากความทุจริตจริง คตร. ต้องอธิบายให้ได้ด้วยว่าส่วนต่างที่เกิดจากทุจริต และส่วนต่างที่เกิดจากเหตุอื่นๆ นั้นมันต่างกันตรงไหน และ คตร. ดูออกได้อย่างไร เพราะถ้าปล่อยค้างไว้อย่างนี้ ประชาชนที่ดูไม่ออกเขาก็จะยังดูไม่ออก และในเมื่อส่วนต่างราคาไมค์กว่าห้าหมื่นบาท ประกอบกับการติดตั้งก่อนจ่ายสตางค์นั้น มันหน้าตาเหมือนความทุจริต มากกว่าความประมาท คตร. ย่อมหนีไม่พ้นที่จะถูกเหมารวมว่าสมคบกับผู้กระทำผิด

เรื่องนี้จะว่าเล็กก็ไม่ได้ เพราะแม้ว่าจำนวนเงินที่อาจเสียหายในเรื่องไมค์นี้จะถือว่าเป็นเศษเงินเมื่อเทียบกับมหากาพย์คอร์รัปชันอื่นๆ ในประเทศ แต่ในเมื่อมันเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างเรื่องซื้อของถูกในราคาแพง คนจึงเข้าใจเนื้อเรื่องมาก และเมื่อเข้าใจมากแล้ว ก็ย่อมจะสนใจมากกว่าเรื่องอื่น หากตอบเรื่องนี้ไม่ได้ชัดเจน รัฐบาลจะเสียเครดิตมาก เผลอๆ จะมากกว่ากรณีมหากาพย์เสียอีก

นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน William Thomas บัญญัติสิ่งที่เรียกว่า “Thomas Theorem” ซึ่งมีความว่า “ถ้าคนเชื่อว่าสิ่งใดจริงเข้าแล้ว มันก็ย่อมจะจริงในแง่ของผลกระทบ (If men define situations as real, then they are real in their consequences)” อย่างในเรื่องนี้ แม้ผลการตรวจสอบจะออกมาว่าไม่ถึงขั้นทุจริต แต่ข้อเท็จจริงแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้ตรวจสอบมาจาก คสช. เหมือนกัน การที่ผู้ตรวจเองเป็นหนึ่งในคนเซ็นอนุมัติโครงการพัฒนาปรับปรุงทำเนียบ การติดตั้งไมโครโฟนก่อนการตกลงราคา ฯลฯ ล้วนทำให้คน “รู้สึก” ไปในทางตรงกันข้าม แค่นี้ก็ย่อมพอแล้วแก่การก่อผลกระทบแก่สังคมเสมือนว่ามีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นจริงๆ

ผลกระทบที่ว่านั้นคืออะไร มีงานวิจัยที่ทำในโครเอเชียชื่อ “Perceptions of Corruption Over Time” บอกว่า ผลกระทบของการที่คนรู้สึกว่ามีการคอร์รัปชัน (ไม่ว่าจะตรงกับความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน) ก็คือการสูญเสียความเชื่อมั่นในสถาบันทั้งหลาย อย่างในโครเอเชียเองนั้น เมื่อคนรู้สึกว่าการคอร์รัปชันในสังคมเพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นในสถาบันทั้งหลายไม่ว่ารัฐบาล พรรคการเมือง ทหาร ตำรวจ ตุลาการ หรือแม้กระทั่งวัดวาอาราม ก็พลอยตกลงทั้งหมด โดยอายุ การศึกษา อาชีพของผู้ถูกสำรวจอาจทำให้ผลกระทบนี้อ่อนแก่ไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ก็เรียกว่ากระทบทั้งนั้น

ยิ่งในกรณีของสถาบันเผด็จการอย่าง คสช. ยิ่งกระทบง่ายกว่าสถาบันในระบบประชาธิปไตยเข้าไปอีก เพราะสถาบันในระบบประชาธิปไตยนั้น ชั่วๆ ดีๆ ก็มีที่มาหลากหลาย แต่พอกุมอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างนี้ คตร. ดูมีพิรุธขึ้นมาคนเดียว ก็อาจจะพลอยน่าสงสัยไปจนถึงองค์กรชื่อย่อทั้งหลายไม่ว่า สนช. สปช. หรือในที่สุดก็คือ คสช. เพราะเขามองว่าก๊กเดียวกัน

แน่นอน คสช. มีอำนาจ มีความมั่นคง มีพิรุธแค่ไหนใครคงหาเรื่องโค่นล้มไม่ได้ง่ายๆ แต่ที่จะเป็นปัญหาคือแนวทางปฏิรูปทั้งหลายของรัฐบาลในคณะนี้ มีหลายเรื่องต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการต่อต้านการทุจริต หากไปทำประชาชนหมดอารมณ์เสียตั้งแต่ตอนนี้ การปฏิรูปก็จะพลอยเป็นหมันไปเสียทั้งหมด เพราะเมื่อคนเขาไม่รู้สึกถึงความจริงใจก็ย่อมจะไม่อยากเล่นด้วย

ถ้ากลัวปฏิวัติแล้วจะ “เสียของ” ก็ต้องระวังให้ดีตั้งแต่ไมโครโฟนนี่ละ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 20 ตุลาคม 2557