ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มี มติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรก ในส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยรัฐบาลอนุมัติให้มีการใช้สภาพคล่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในกรอบวงเงิน 45,000 ล้านบาท
จากฐานข้อมูลจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี 2556/2557 ที่ผ่านมา มีชาวนาจำนวน 3.49 ล้านครัวเรือน โดยมาตรการดังกล่าวเป็นการให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท แก่ชาวนา ซึ่งมีที่ดินทำกินไม่เกิน 15 ไร่ และชาวนาที่มีที่ดินทำกินเกิน 15 ไร่ให้ช่วยเหลือครอบครัวละ 15,000 บาท
เบื้องต้นมีชาวนาที่มีที่นาเกิน 15 ไร่ อยู่ประมาน 1.8 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 55 ของชาวนาทั้งหมด และมีผู้ที่มีที่นาไม่เกิน 15 ไร่ ประมาณ 1.6 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 45 ของจำนวนชาวนาทั้งหมด
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. คาดว่าวงเงินที่ใช้จริงน่าจะอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท ด้านนายนําชัย พรหมมีชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรฝ่ายบริหาร ได้เปิดเผยยอดการขึ้นทะเบียนเกษตรผู้ปลูกข้าวนาปี 2557/2558 ล่าสุด ว่าจากที่กรมส่งเสริมการเกษตรคาดว่าจะมีผู้ขึ้นทะเบียน 3.4 ล้านราย ขณะนี้มีผู้มาขึ้นทะเบียนแล้ว 3.2 ล้านราย
และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการเริ่มจ่ายเงินให้กับชาวนาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใน 8 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนครบถ้วน และมีความพร้อมที่สุด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ มหาสารคาม พิจิตร กำแพงเพชร และพิษณุโลก
โดย ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรในวันแรกทั้งสิ้น 14,311 ราย เป็นวงเงิน 176.1 ล้านบาท แบ่งเป็น
• จังหวัดลพบุรี 684 ราย 9.2 ล้านบาท
• จังหวัดขอนแก่น 2,407 ราย 26.9 ล้านบาท
• จังหวัด ศรีสะเกษ 5,223 ราย 60.6 ล้านบาท
• จังหวัดมหาสารคาม 1,476 ราย 16.5 ล้านบาท
• จังหวัดสุรินทร์ 195 ราย 2.3 ล้านบาท
• จังหวัดพิจิตร 961 ราย 13.5 ล้านบาท
• จังหวัดกำแพงเพชร 2,990 ราย 42 ล้านบาท
• และจังหวัดพิษณุโลก 375 ราย 5.1 ล้านบาท
สำหรับจังหวัดอื่นๆ ธ.ก.ส. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะประสานงานเพื่อส่งข้อมูลให้กับ ธ.ก.ส.ดำเนินการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้โดยเร็วที่สุด โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2557 จะสามารถจ่ายเงินให้แก่ชาวนาได้ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท และในเดือนพฤศจิกายนจะสามารถจ่ายเงินให้ชาวนาได้ครบทุกครัวเรือน
เช่า-ไม่เช่า ขึ้นทะเบียนได้เท่ากัน ไร่ละ 1,000
จากระยะที่ผ่านมามีกระแสข่าวออกมาว่า “ผู้เช่านา” จะไม่ได้รับการจ่ายเงิน ทำให้เกิดข้อกังวลสำหรับชาวนา เนื่องจากข้อมูลลักษณะการถือครองที่ดิน ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรวบรวมได้ในปี 2556/2557 นั้น มีเกษตรกรผู้เช่านาสูงถึง 6.1 แสนครัวเรือน แบ่งเป็นผู้ที่เช่าที่นาทุกแปลงประมาณ 3.2 แสนราย และผู้ที่มีที่นาของตนเอง และเช่าเพิ่มบางส่วนอีกประมาณ 2.9 แสนราย
สำหรับผู้ที่ไม่มีที่นาเป็นของตนเอง และได้ดำเนินการเช่าที่ต่อจากบุคคลอื่นนั้น ในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะต้องนำเอกสารสัญญาเช่า และทราบตัวตนของผู้ให้เช่า คือมีเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ให้เช่า มาใช้ในการขึ้นทะเบียนเพื่อป้องกันการขึ้นทะเบียนซ้อนจากเจ้าของที่ดิน และต้องมาขอขึ้นทะเบียนด้วยตนเองที่สำนักงานเกษตรตำบล เมื่อสอบถามข้อเท็จจริงจากนางณภัทร ภูริผล เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี และนายหรั่ง ศิลารักษ์ ชาวนาจังหวัดลพบุรี ที่มีที่นาทั้งหมด 22 ไร่ โดยระบุว่าทั้งหมดเป็นพื้นที่เช่า
นายลักษณ์กล่าวต่อว่าอยากให้ชาวนาเร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนตามขึ้นตอนโดยเร็ว เพื่อให้ชาวนาทุกรายได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง เนื่องจากทางกรมส่งเสริมจะปิดระบบการขึ้นทะเบียนในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2557 พร้อมทั้งยืนยันว่า ไม่ว่าชาวนาผู้นั้นจะเป็นเจ้าของที่นาเอง หรือเป็นเพียงผู้เช่านาก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ หากได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี 2557/2558
“ชาวนาทุกคนมีสิทธิ์ตามมาตรการนี้ (มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก) แม้จะเป็นเพียงผู้เช่าก็มีสิทธิ์ เพียงแต่ต้องไปขึ้นทะเบียน และต้องมีสัญญาเช่า หรือการรับรองจากเจ้าของที่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เกษตรตำบลจะเป็นผู้ตรวจสอบเอกสารดังกล่าว ”
จากการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีสิทธิขึ้นทะเบียนเกษตรกรฯ จาก คู่มือการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี 2557/2558 โดยหลักแล้วมีดังนี้
• เกษตรกรต้องเป็นผู้ที่ลงทุนในการปลูกข้าวในพื้นที่แปลงที่มาขอขึ้นทะเบียน
• เกษตรกรต้องทำการเพาะปลูกข้าวตามที่แจ้งขอขึ้นทะเบียนในกรอบระยะเวลาที่กำหนด
• เกษตรกรจะต้องเดินทางมายืนยันหรือแจ้งขึ้นทะเบียนด้วยตนเอง ณ สถานที่ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ที่ตั้งแปลงปลูกกำหนด
• เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะต้องติดตามกำหนดการตรวจติดตามแปลงปลูกด้วยตนเอง
• เกษตรกรต้องมีเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ปลูก
• แปลงเช่าต้องมีสัญญาเช่าและทราบตัวตนของผู้ให้เช่า (เลขบัตรประชาชน)
• ในที่สาธารณะ หรือที่ของราชการ ต้องมีหนังสืออนุญาตจาหหน่วยงานนั้น หรือ หนังสือรับรองจาก อบต.)
ในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี 2557/2558 มีขั้นตอนหลักๆ 4 ขั้นตอนคือ
1 การรับแจ้งขึ้นทะเบียน – โดยชาวนาสามารถขอขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานเกษตรตำบล
2 การตรวจสอบ – โดยคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน เกษตรกรแปลงข้างเคียง ร่วมกับนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรหน่วยงานทางการเกษตรระดับตำบล (นวส.) ลงตรวจสอบแปลงนาทุกแปลง และใช้เครื่องจีพีเอสในการกำหนดพื้นที่
3 การออกใบรับรองให้กับเกษตรกร – โดยสำนักงานเกษตรอำเภอจะเป็นผู้ออกใบรับรองให้กับชาวนา และจะใช้ใบรับรองนี้ในการขอรับเงินจากทาง ธ.ก.ส. ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบข้อมูลการทำนาย้อนหลัง 5 ปีจากฐานข้อมูล เพื่อยืนยันข้อมูลของชาวนาก่อนจะส่งข้อมูลดังกล่าวมาที่ ธ.ก.ส. เช่นกันทาง ธ.ก.ส. ก็จะมีการตรวจสอบข้อมูลที่มีว่าตรงกับข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรหรือไม่ หากไม่มีข้อผิดพลาดระบบจะทำการอนุมัติเงินให้กับชาวนาตามพื้นที่ที่ทำการลงทะเบียนไว้
4 การออกตรวจ ติดตาม การเพาะปลูกในพื้นที่ – โดยนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล ร่วมกับ อกม.เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ของเกษตรกรที่มาแจ้งขึ้นทะเบียน
อย่างไรก็ตามนางณภัทร กล่าวถึงมาตรการในการดำเนินการแก่ผู้สวมสิทธิ์ไว้ว่า หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีการสวมสิทธิ์ หรือมีการขึ้นทะเบียนไม่ตรงกับพื้นที่จริง บุคคลนั้นจะมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 137 ฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน มีโทษทั้งจำและปรับ อีกทั้งเจ้าหน้าที่จะดำเนินการเพิกถอนสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการของรัฐ 3 รอบปีการผลิต