เมื่อ 17 กันยายน 2557 นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมว่าคณะกรรมการกนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่4 เนื่องจากจำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในระยะเริ่มแรก แม้ปัจจุบันความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการใช้จ่ายจะปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับรายได้ของประชาชนนอกภาคการเกษตรยังดีอยู่
นายเมธีระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงยืนยันแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในลักษณะตัววี หรือ V-Shape นับจากที่เริ่มฟื้นในไตรมาสสอง โดยมีปัจจัยการใช้จ่ายภาครัฐที่ฟื้นตัวชัดเจน รวมไปถึงการบริโภคสินค้า “ไม่คงทน” ที่ขยายตัวค่อนข้างมากช่วยหนุนอยู่ ส่วนหนี้ครัวเรือนเริ่มชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มฟื้นตัวหลังจากชะลอไปในครึ่งปีแรก ซึ่งไม่ได้ฟื้นตัวอย่างแรง

สำหรับเหตุผลของการคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ย้อนหลัง 4 ครั้ง พบว่า การประชุม กนง. 2 ครั้งล่าสุดเมื่อ 6 สิงหาคม 2557 และ เมื่อ 18 มิถุนายน 2557 ต่างให้เหตุผลตรงกันกับครั้งนี้ว่า ต้องการเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจากปัญหาการเมืองคลี่คลาย ประกอบกับเหตุผลด้านเสถียรภาพการเงินเป็นปัจจัยสนับสนุนให้คงดอกเบี้ยในระดับนี้ ขณะที่การประชุม กนง. เมื่อ 23 เมษายน 2557 กนง. ให้เหตุผลว่าต้องการพื้นที่นโยบาย หรือ Policy space ไว้ใช้ในยามที่จำเป็น เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ณ ช่วงเวลานี้ เป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง การลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงอาจจะให้ผลสัมฤทธิ์ไม่มากนัก
ส่วนการประชุม กนง. เมื่อ 12 มีนาคม 2557 ซึ่งมีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 2.25% มาเป็น 2% นั้น กนง. ให้เหตุผลว่า ภายใต้ภาวะที่สถานการณ์การเมืองยังยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อน จำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อพยุงเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยที่แรงกดดันด้านราคายังอยู่ในระดับต่ำ และความเสี่ยงเสถียรภาพการเงินในบางด้านลดลงจากการชะลอตัวของสินเชื่อและภาวะตลาดการเงินโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่าการที่ กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% นั้นเหมาะสม เนื่องจากเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้นโยบายการเงินยังสามารถผ่อนคลายในระดับปัจจุบันได้ โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับไม่สูงนักหรือเฉลี่ยอยู่ที่ราว 2.2% ประกอบกับหนี้ครัวเรือนของไทยเริ่มชะลอตัวลงเพราะภาคสถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
ส่วนเสถียรภาพต่างประเทศ ประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล และมีเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ความเสี่ยงในการที่ไทยจะเผชิญกับปัญหาเงินทุนไหลออกรุนแรงมีค่อนข้างจำกัด ดังนั้น ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแรงดังกล่าวช่วยลดแรงกดดันต่อกนง. ในการต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้
ขณะเดียวกัน ในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจฯ เชื่อว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 2% จนถึงสิ้นปี โดยคาดว่า กนง. ต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างชัดเจนและมีเสถียรภาพ ก่อนที่จะเริ่มพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งนโยบายการเงินยังสามารถผ่อนคลาย ณ ระดับปัจจุบันต่อไปได้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะต้องทยอยปรับเพิ่มขึ้นกลับสู่ภาวะปกติในปี 2015 เพื่อให้เหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจและการเงิน (อ่านเพิ่มเติม)
ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินก่อนหน้านี้ว่า กนง. จะมีมติเป็นเอกฉันท์ 7:0 ให้คงอัตรานโยบายไว้ที่ 2% เป้าหมายหลักเพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางจนถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อย
“อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% เป็นระดับที่ต่ำที่สุดแล้วในวัฏจักรดอกเบี้ยนี้ และแนวโน้มดอกเบี้ยของไทยจะกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งในปี 2558 สอดคล้องกับสภาพคล่องของโลกที่จะตึงตัวขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงกลางปีหน้า” รายงานวิเคราะห์ระบุ
ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมลดลง

ในวันเดียวกัน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานและโฆษก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. แถลงตัวเลขความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคม 2557 ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าจาก 89.7 เป็น 88.7 เป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ขณะที่ความเชื่อมั่นล่วงหน้า 3 เดือน ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 103.1 เป็น 102.4
“อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าดัชนีโดยรวมต่ำกว่า 100 การปรับลดลงเล็กน้อยแบบนี้อาจเรียกได้ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ” นายศุภรัตน์กล่าว
ทั้งนี้ สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ ที่เป็นช่วงฤดูฝน เกิดภาวะน้ำท่วม เป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยกลุ่มสินค้าที่มีความกังวลสูงคือกลุ่มสินค้าคงทน เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องจักรการเกษตร
ทั้งนี้ เมื่อจำแนกอุตสาหกรรม พบว่าบางประเภทมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสวนทางกับภาพรวม โดยถ้าแยกตามขนาดกิจการ มีเพียงกิจการขนาดใหญ่ที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจาก 91.7 เป็น 92.2 ขณะที่กิจการขนาดกลางและขนาดย่อมปรับตัวลดลงจาก 88.8 เป็น 86.7 สำหรับกิจการขนาดย่อม และจาก 88.7 เป็น 87.1 สำหรับกิจการขนาดกลาง เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศที่สวนทางกับภาพรวม ปรับตัวสูงขึ้นจาก 82.8 เป็น 83.0
สำหรับภาพรวมการผลิตภาคอุตสาหกรรม นายสุพันธุ์ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่เต็มร้อย และมีหลายอุตสาหกรรมเป็นกังวลอยู่ ขณะที่อุตสาหกรรมหลักอย่างยานยนต์ ในเดือนสิงหาคม พบว่าผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง -27.08% โดยการผลิตเพื่อการส่งออกลดลง -23.59% ผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศลดลง -31.93% ทั้งนี้เมื่อนับยอดการผลิตรวมตั้งแต่ต้นปี พบว่ายอดการผลิตลดลง -28.31% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเพื่อการส่งออก ยังขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.25% แต่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศหดตัวสูงถึง -49.46%
ทั้งนี้ ธปท. เคยระบุในเดือนสิงหาคมว่า ผู้ประกอบการมีการระบายสินค้าคงคลังมาหลายเดือนแล้ว มาถึงจุดที่ถ้าอุปสงค์ไปต่อได้ ก็จะเริ่มขยายระดับการผลิตได้ ซึ่งจากข้อมูลของ ส.อ.ท. ในปัจจุบันก็ยังไม่เห็นสัญญาณชัดเจนนัก