ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง. เสียงเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.5% รอดูสถานการณ์ – ขอคงพื้นที่ Policy Space พร้อมเตรียมมาตรการอื่นหนุน ศก.

กนง. เสียงเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.5% รอดูสถานการณ์ – ขอคงพื้นที่ Policy Space พร้อมเตรียมมาตรการอื่นหนุน ศก.

11 มิถุนายน 2015


เมธี_01
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยถึงการประชุม กนง. ว่า กรรมการมีมติเอกฉันท์ 7 เสียง ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ 1.5% เพื่อรอดูสถานการณ์หลังจากที่ กนง. ได้มีมติลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งติดต่อกันก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 และวันที่ 29 เมษายน 2558 ซึ่งผลของนโยบายทั้งสองครั้งช่วยเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ นายเมธีได้ย้ำอีกว่า กนง. ยังมีพื้นที่นโยบาย (Policy Space) เหลืออยู่และพร้อมที่จะนำมาใช้เมื่อจำเป็น เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินในระยะยาว แต่จะเน้นน้ำหนักการดำเนินนโยบายการเงินไปที่การเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่า ขณะเดียวกัน ยังระบุเพิ่มเติมว่า ธปท. ได้เตรียมเครื่องมือต่างๆ ไว้หลายตัวเพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจและได้นำเข้าหารือกับ กนง. แล้ว แต่คิดว่าคงยังไม่นำมาใช้เร็วๆ นี้

“การลดดอกเบี้ยไป 2 ครั้ง คาดว่ากำลังส่งผลอยู่ ซึ่งการลดครั้งที่แล้วเราทราบอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่ประกาศช่วงเดือนมีนาคม เราก็ได้ดำเนินการไปล่วงหน้า ต้องรอผลของนโยบายอีกระยะหนึ่ง ซึ่งประโยคสุดท้ายในการแถลงข่าวก็ระบุชัดเจนว่า กนง. จะติดตามภาวะเศรษฐกิจการเงินของไทยอย่างใกล้ชิดและพร้อมใช้พื้นที่นโยบายที่มีอย่างเหมาะสม รวมไปถึงเครื่องมืออื่นที่มีอยู่ด้วย ก็คิดว่าขึ้นอยู่กับพัฒนาการเศรษฐกิจจะเป็นไปตามคาดหรือไม่ ตอนนี้ยังคงเน้นไปที่เครื่องมือดอกเบี้ยอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ใช้เครื่องมืออื่น” นายเมธีกล่าว

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน กนง. ประเมินว่ายังฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่มีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะการชะลอตัวของจีนและเอเชีย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการค้าโลก ซึ่งจากตัวเลขล่าสุดภาคส่งออกไทยที่ติดลบ 5 เดือนติดต่อกัน มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่ภาคส่งออกจะติดลบในปีนี้ จากเดิมที่ประเมินไว้ว่าจะเติบโต 0.8% และทำให้การส่งออกไทยติดลบติดต่อกัน 3 ปี เช่นเดียวกันกับการบริโภคของครัวเรือนที่ยังเปราะบางต่อเนื่อง แม้ว่าการเบิกจ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมารวมไปถึงระยะต่อไป ได้ปรับตัวดีขึ้น จะเป็นตัวที่เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจ กนง. จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในภาวะผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยประเมินว่าการดำเนินนโยบายการเงินช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยให้ผ่อนคลายระดับหนึ่งแล้ว ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่ปรับตัวเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น

อ่านสัญญาณ กนง. ที่ผ่านมา

เมื่อย้อนดูรายงานการประชุมของ กนง. ใน 4 ครั้งที่ผ่านมามีสัญญาณเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอลงเรื่อยๆ จนนำไปสู่การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายถึง 2 ครั้งติดต่อกัน เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ก่อนจะกลับมาคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอีกครั้ง

สำหรับในการประชุม กนง. ครั้งที่ 8/2557 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 กนง. ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3 ของปี 2557 ยังค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องแม้ว่าจะต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อน กรรมการ กนง. ส่วนใหญ่มองว่านโยบายการเงินในปัจจุบันมีความผ่อนปรนเพียงพอและไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2558 ขณะที่แรงกระตุ้นจากภาคการคลังควรเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งขึ้นในระยะต่อไป ดังนั้น การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอาจไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก และควรรักษาพื้นที่นโยบายเอาไว้ในยามจำเป็น มติ กนง. จึงคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2%

ต่อมาในการประชุม กนง. ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 กนง. ประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 4 ของปี 2557 ยังฟื้นตัวช้าๆ โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลดีจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงมาก กนง. ส่วนใหญ่จึงมีความเห็นคล้ายกับการประชุมครั้งก่อนหน้าว่านโยบายการเงินในปัจจุบันอยู่ในระดับผ่อนปรนเพียงพอและไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและควรให้น้ำหนักกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินมากกว่า ขณะที่การใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐควรจะเป็นแรงกระตุ้นที่ตรงจุดมากกว่าในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจและสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งขึ้นในระยะต่อไป นอกจากนี้จากการสำรวจผู้ประกอบการพบว่า ระดับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ยังไม่มีข้อมูลใดที่ชี้ให้เห็นว่าประชาชนคาดการณ์ว่าราคาจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนทำให้ตัดสินใจเลื่อนการใช้จ่ายออกไป จึงคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2%

ส่วนการประชุมครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 กนง. ประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ของปี 2557 ฟื้นตัว “ค่อนข้าง” ช้ากว่าที่ประเมิน ทำให้แรงส่งทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีน้อยและเปราะบางกว่าที่คาด ขณะที่ภาคการคลังซึ่งถูกเน้นมาในการประชุม 2 ครั้งก่อนหน้ากลับต้องใช้เวลาขับเคลื่อนนานกว่าที่คาด กนง. ส่วนใหญ่จึงมีความเห็นว่าต้องใช้นโยบายการเงินเพิ่มเติมและมีมติลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เหลือ 1.75% เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจ โดยเห็นว่าแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าศักยภาพเป็นระยะเวลานานจะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและแรงส่งทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยนโยบายสามารถช่วยบรรเทาภาระทางการเงินให้กับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน เสถียรภาพการเงินเองยังไม่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากการก่อหนี้ของภาคเอกชนยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากความระมัดระวังทั้งจากผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ รวมทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยรักษาความน่าเชื่อถือของการดำเนินนโยบายการเงินในภาวะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำไปอีกระยะหนึ่ง

ขณะที่การประชุมครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 ภาวะเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัว “ช้ากว่า” การประเมินครั้งก่อน จากการส่งออกและการบริโภคของเอกชนในไตรมาสแแรกที่อ่อนแรงกว่าคาดมาก แม้ภาคการคลังจะปรับดีขึ้นบ้างแต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยได้ กนง. ส่วนใหญ่จึงมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะขยายตัวในอัตราต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา และมีความจำเป็นที่ต้องใช้นโยบายการเงินเพิ่มเติมผ่านเครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ จึงมีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เหลือ 1.5% เพื่อให้ภาวะการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องและช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน รวมถึงเพิ่มแรงสนับสนุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอย่าง “ทันท่วงที”

นอกจากนี้ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยให้ต้นทุนการเงินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนลดลง รวมถึงมีส่วนช่วยให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับสู่ระดับที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น จึงน่าจะช่วยประคับประคองความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ขณะเดียวกัน จากภาวะเงินเฟ้อทั่วไปที่ยังคงต่ำต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมาและยังคาดว่าจะต่ำไปอีกระยะหนึ่ง การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังช่วยดูแลการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย