ThaiPublica > เกาะกระแส > ราคาหุ้น-ผลกำไรทีวีดิจิตอล ไม่สดใส อุปสรรคเพียบ ทั้งโครงข่ายล่ม-ปมปัญหาช่อง 3 ผู้ประกอบการเตรียมยื่น กสทช. ขอเลื่อนจ่ายค่าสัมปทานงวด 2

ราคาหุ้น-ผลกำไรทีวีดิจิตอล ไม่สดใส อุปสรรคเพียบ ทั้งโครงข่ายล่ม-ปมปัญหาช่อง 3 ผู้ประกอบการเตรียมยื่น กสทช. ขอเลื่อนจ่ายค่าสัมปทานงวด 2

16 กันยายน 2014


เครื่องมือที่สำคัญ ที่จะมีส่วนทำให้ธุรกิจทีวีดิจิทัล อยู่รอด และไม่ขาดทุน และไม่ต้องเปลี่ยนผู้ถือหุ้น หรือเลวร้ายที่สุด คือต้องปิดกิจการ ขายกิจการ ก่อนเวลาที่จะคืนทุน ซึ่งผู้ประกอบการคาดการณ์ไว้คือ อย่างช้าคืนทุนภายใน 5 ปี อย่างเร็วต้องคืนทุนภายใน 3 ปี เงื่อนเวลานี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ให้สัมปทานอย่าง กสทช. ต้องให้การสนับสนุน ให้ประชาชนได้รับชมอย่างสะดวก และราคายุติธรรม ด้วยการให้เงินอุดหนุนเพื่อเป็นส่วนลดในการซื้ออุปกรณ์เพื่อรับชมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ทั้ง 24 ช่อง

ที่มาภาพ : https://www.google.co.th
ที่มาภาพ : https://www.google.co.th

การแจก “คูปอง” เพื่อเป็นส่วนลดในการซื้ออุปกรณ์ช่วยในการรับชม คือข้อสรุปที่ กสทช. ประกาศเป็นสัญญากับสาธารณะ และกับเจ้าของธุรกิจผู้ประมูล ตั้งแต่ช่วงแรกที่มีการประมูลเสร็จสิ้นในช่วงปลายปี 2556 แต่ล่วงมาถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ผ่านการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เข้าสู่รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ จึงมีข้อสรุปเรื่อง “ราคา” ของ “คูปอง” ที่จะแจกให้กับประชาชนทั่วประเทศ 22.9 ล้านครัวเรือน ในราคา 690 บาท

ก่อนหน้านี้ สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พร้อมผู้ประกอบการดิจิทัลทีวี สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และสมาคมมีเดียเอเยนซี่ ประกอบด้วย ช่อง 3 HD, ช่อง PPTV, ช่อง ONE, ช่อง GMM CHANNEL, ช่อง 7 HD, ช่องไทยรัฐทีวี, ช่อง ทรู โฟร์ยู, ช่อง 8 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการที่ต้องจ่ายค่าสัมปทานในราคาแพงเพราะเป็นระบบ HD (ความคมชัดสูง) รวมวงเงินในกลุ่มนี้ 23,700 ล้านบาท เท่ากับเกือบครึ่งของวงเงินที่ประมูลได้ทั้งหมด ซึ่งถูกกำหนดให้ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดแรกสูงถึง 50% ของราคาขั้นต่ำ กำลังประสบปัญหาการดำเนินกิจการอย่างหนัก

ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ยื่นเงื่อนไขเรื่องราคาคูปอง 690 บาท พร้อมเรียกร้องให้ กสทช. โดยคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านทีวีแอนาล็อกเป็นดิจิทัล ต้องหาวิธีแก้วิกฤติด้วยแผนประชาสัมพันธ์ และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ กลุ่มผู้ประกอบการทั้ง 8 ราย ยังได้ยื่นเงื่อนไขว่า หากภายใน 2 เดือนนับจากนี้ เรตติ้งของทีวีดิจิทัลไม่ปรับขึ้น ผู้ประกอบการจะไม่จ่ายค่าโครงข่าย ค่าสัมปทาน และจะยุติการผลิตรายการ ซึ่งอาจจะทำให้บรรดาบริษัทโปรดักชั่นเฮ้าส์ กลุ่มดารา นักแสดง จะเดินขบวนเพื่อกดดัน กสทช. เพื่อให้หาแนวทางเยียวยา

กระทั่งล่าสุด กรณีปัญหาของช่อง 3 แอนาล็อก ที่ยังคงยืนยันออกอากาศคู่ขนาน โดยใช้สัญญาสัปมทานที่ยังเหลือ 6 ปี (สิ้นสุดสัญญาปี พ.ศ. 2563) เป็นข้อต่อรอง ในขณะที่ กสทช. มีคำสั่งให้ห้ามการออกอากาศแบบแอนะล็อกของช่อง 3 และเกิดปัญหาฟ้องร้องกันไปมาทั้ง 2 ฝ่าย

ประกอบกับความไม่พร้อมในการให้บริการด้านโครงข่าย ในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ทีวีดิจิทัล 5 ราย สัญญาณล่มยาวนานกว่า 8 ชั่วโมง เพราะโครงข่าย MUX ของช่อง 9 มีปัญหา ทำให้ VOICE TV, สปริงส์นิวส์, ไทยรัฐทีวี และช่อง อสมท กลายเป็นจอดำไปชั่วคราว และต้องเตรียมหาโครงข่ายสำรอง เช่น โครงข่ายของไทยพีบีเอส

ทั้งปัญหาโครงการไม่สมบูรณ์ ปัญหาคูปองสนับสนุนการซื้ออุปกรณ์รับชม และปัญหาความไม่ชัดเจนของการบังคับใช้กฎหมายของ กสทช. และความคาบเกี่ยวเรื่องสัญญาสัมปทานเก่า ยิ่งทำให้ตอกย้ำผลประกอบการกลุ่มธุรกิจทีวีดิจิทัลให้เลวร้ายขึ้น

ราคาหุ้นบริษัททีวีดิจิตอล

สำนักข่าวไทยพับลิก้า ตรวจสอบผลประกอบการ ของธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งลงทุนประมูลทีวีดิจิทัล 9 ราย เปรียบเทียบราคาหุ้นตั้งแต่ช่วงที่ กสทช. อนุญาตให้ออกอากาศ (25 เมษายน 2557) จนถึงวันที่ปัญหาระอุทั้งเรื่องคูปอง ช่องสาม และสัญญาณช่อง 9 ล่ม (11 กันยายน 2557) และเปรียบเทียบผลประกอบการทั้งปีของปี 2556 กับผลประกอบการล่าสุดในไตรมาสที่ 2/2557 ซึ่งอาจจะทำให้เห็นแนวโน้มของธุรกิจกลุ่มนี้ได้ระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ ผลการประมูล มีผู้ชนะประมูล ประกอบด้วย ช่องข่าว 7 ช่อง เรียงตามลำดับได้แก่

1. บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด (เนชั่น) 1,338 ล้านบาท
2. บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด 1,330 ล้านบาท
3. บริษัท ไทยทีวี จำกัด (ทีวีพูล) 1,328 ล้านบาท
4. บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด 1,318 ล้านบาท
5. บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด 1,316 ล้านบาท
6. บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์จำกัด (เดลินิวส์) 1,310 ล้านบาท
7. บริษัท 3เอ. มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (ทำข่าวให้ช่อง 5) 1,298 ล้านบาท

ช่อง HD ระบบความคมชัดสูง จำนวนทั้งสิ้น 7 ช่อง โดยผู้ที่ชนะการประมูลเรียงตามลำดับได้แก่

1. บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย (ช่อง 3) จำกัด 3,530 ล้านบาท
2. บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (กลุ่มปราสาททองโอสถ) 3,460 ล้านบาท
3. บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7) 3,370 ล้านบาท
4. บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (ไทยรัฐ) 3,360 ล้านบาท
5. บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 3,340 ล้านบาท
6. บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด 3,320 ล้านบาท
7. บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด 3,320 ล้านบาท

ช่อง SD จำนวนทั้งสิ้น 7 ช่อง โดยผู้ที่ชนะการประมูลเรียงตามลำดับได้แก่

1. บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด (Work point) 2,355 ล้านบาท
2. บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด (True) 2,315 ล้านบาท
3. บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด (GMM) 2,290 ล้านบาท
4. บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด 2,275 ล้านบาท
5. บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด 2,265 ล้านบาท
6. บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด (Mono) 2,250 ล้านบาท
7. บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง (Nation) จำกัด 2,200 ล้านบาท

ช่องรายการเด็กจำนวนทั้งสิ้น 3 ช่อง โดยผู้ที่ชนะการประมูลเรียงตามลำดับได้แก่

1. บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง 3) 666 ล้านบาท
2. บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) (ช่อง 9) 660 ล้านบาท
3. บริษัท ไทยทีวี จำกัด (ทีวีพูล) 648 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ประมูลทีวีดิจิทัลได้ ยังต้องมีภาระการจ่ายค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ที่จะแบ่งจ่ายเงินเป็นสองส่วน ได้แก่ ส่วนแรก คือเงินราคาขั้นต่ำ (HD 1,510 ล้านบาท, SD 380 ล้านบาท) แบ่งชำระ 4 ปี ปีแรก 50% ถัดมา 30, 20 และ 10% ในปีสุดท้าย ส่วนที่สอง คือเงินส่วนที่เหลือ (ราคาชนะประมูลลบด้วยราคาขั้นต่ำ) แบ่งชำระ 6 ปี ปีแรก 10% ถัดมา 10, 20, 20, 20 และ 20% ในปีสุดท้าย

นอกจากนี้ ยังมีรายจ่ายของผู้ชนะการประมูลทีวีดิจิทัลในอนาคต นอกจากราคาประมูลใบอนุญาตที่แบ่งจ่ายรายปีแล้ว ยังมีค่าใช้บริการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล แก่ผู้ให้บริการโครงข่าย เช่น ช่อง 9, ช่อง 5 และไทยพีบีเอส อย่างต่ำเดือนละ 5 ล้านบาท และอย่างสูง เดือนละ 15 ล้านบาท

ผลประกอบการทีวีดิจิตอล

ล่าสุด กลุ่มผู้ประกอบการเตรียมรวมตัวกันเพื่อยื่นข้อเสนอต่อ กสทช. ขอเลื่อนการจ่ายเงินค่าประมูลส่วนที่เหลือในงวดที่ 2 ที่ต้องแบ่งจ่ายรายละ 30% ของยอดราคาประมูล โดยอ้างถึงโครงข่ายที่ไม่พร้อมและความล่าช้าของการสนับสนุนเรื่องคูปองในการซื้ออุปกรณ์รับชม

จึงน่าติดตามว่า หากผลประกอบการของธุรกิจทีวีดิจิทัลเป็นอย่างนี้ ท่ามกลางปัญหาสารพัดที่โหมกระหน่ำ จนอาจทำให้แต่ละช่องที่ประมูลได้ราคาแพง อาจจอดำโดยปริยาย ด้วยเพราะสายป่านทางธุรกิจไปต่อไม่ไหว เกมการเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการทั้งรายเก่า รายใหม่ ที่มีสถานีโทรทัศน์เป็นเดิมพันทั้ง 24 ช่อง จึงดุเดือดเข้มข้นอย่างยิ่ง