สฤณี อาชวานันทกุล
สามเดือนหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ท่ามกลางเสียงสนับสนุนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ดูจะยังมีไม่น้อย (แต่มากน้อยเท่าไรไม่อาจรู้ได้แน่ชัด ในภาวะที่สื่อยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ภายใต้คำสั่งเซ็นเซอร์สื่อต่างๆ นานา ของ คสช. กฎอัยการศึกยังมีผลบังคับใช้ และผลโพลหลายสำนักน่าสงสัยในวิธีสุ่มตัวอย่าง มากกว่าจะน่าสนใจในผลโพลที่ออก) นักวิชาการและผู้มีอิทธิพลทางความคิดจำนวนไม่น้อยที่สนับสนุนรัฐประหารในครั้งนี้ก็พยายามชี้ว่า คนไทยควร “อดทน” และ “ให้เวลา” กับคสช. เพราะรัฐประหารครั้งนี้อาจนำไปสู่ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ตามที่หัวหน้า คสช. ควบนายกฯ คนใหม่ได้เคยลั่นวาจาไว้หลายครั้งหลายครา
บทความวิชาการซึ่งมักจะถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างเป็น “หลักฐาน” ว่ารัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ “เป็นประชาธิปไตย” คือ “The Democratic Coup d’Etat” เขียนโดย โอซาน โอ. วารอล (Ozan O. Varol) ศาสตราจารย์กฎหมายจากมหาวิทยาลัย ลูวิส แอนด์ คลาร์ก สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Harvard International Law Review (ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์วารสาร) ในปี 2012
ในบทความชิ้นนี้ วารอลเสนอว่า รัฐประหารอาจไม่ทำลายประชาธิปไตยโดยอัตโนมัติแบบที่นักวิชาการหลายคนเชื่อก็ได้ จะต้องดูเงื่อนไขแวดล้อมตอนเกิดรัฐประหารและผลพวงที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ก่อนที่จะสรุปได้ว่า รัฐประหาร “ทำลาย” ประชาธิปไตย หรือ “สร้างเสริม” ประชาธิปไตยให้แข็งแกร่งกว่าเดิมกันแน่
วารอลแบ่งรัฐประหารออกเป็นสองแบบ แบบแรกคือ “รุ่นเก่า” นั้นมีลักษณะตรงกันกับรัฐประหารที่นักวิชาการส่วนใหญ่เข้าใจ คือการโค่นอำนาจรัฐเพื่อยึดอำนาจมาเป็นของตัวเอง ไม่สนใจประชาชน แต่ในบรรดาแบบที่สองคือ “รุ่นใหม่” ที่เกิดหลังยุคสงครามเย็น (หลังทศวรรษ 1990) นั้น วารอลพบว่าร้อยละ 74 เป็นรัฐประหารที่เขาเรียกว่า “เป็นประชาธิปไตย” (The Democratic Coup d’Etat) คือไม่ได้ทำให้ประชาธิปไตยถดถอยเหมือนกับรัฐประหารรุ่นเก่า สามารถปูทางไปสู่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างราบรื่นภายในเวลา 5 ปี
เนื้อหาส่วนสำคัญในงานของวารอลชิ้นนี้ประมวลมาจากการสังเกตการณ์รัฐประหารและผลพวงของมันในประเทศอียิปต์ ปี 2011 เมื่อเกิดปรากฏการณ์ “อาหรับ สปริง” ที่ประชาชนลุกฮือขึ้นโค่นล้มผู้นำเผด็จการ นอกจากนี้วารอลยังอ้างถึงรัฐประหารในตุรกี ปี 1960 และรัฐประหารในโปรตุเกส ปี 1974 ว่าทั้งสามกรณีนี้ล้วนแต่เข้าข่าย “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” ในมุมมองของเขา
ลักษณะของ “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” มีอะไรบ้าง? วารอลสรุปว่ามีอยู่ 7 ประการด้วยกัน เรียงตามลำดับความสำคัญได้ดังต่อไปนี้
ข้อแรก รัฐประหารที่เกิดขึ้นจะต้องมุ่งโค่นล้มระบอบเผด็จการ (totalitarian) หรือระบอบที่ผู้ปกครองใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ (authoritarian) ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้มีความหลากหลายทางการเมือง
ข้อนี้วารอลขยายความว่า “รัฐประหารใดๆ ก็ตามที่โค่นล้มรัฐบาลที่ไม่ใช่เผด็จการหรือไม่ได้ใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่ “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” ภายใต้กรอบคิดนี้ รัฐประหารหลายครั้งที่ผ่านมาถูกอ้างว่าทำเพื่อโค่นนักการเมืองที่ผู้นำคณะรัฐประหารมองว่าคอร์รัปชั่น ไร้ประสิทธิภาพ หรือสายตาสั้น รัฐประหารประเภทนี้อยู่นอกเหนือขอบข่ายของ “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” เพราะประชาชนสามารถปลดนักการเมืองแบบนี้เองได้ด้วยการไม่โหวตเลือกพวกเขาในการเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นจะต้องให้กองทัพเข้าแทรกแซง รัฐประหารจะเป็นประชาธิปไตยได้ก็เฉพาะแต่ในกรณีที่การเลือกตั้งไม่ใช่วิธีปลดนักการเมืองที่มีความหมาย เพราะผู้นำทางการเมืองคนนั้นไม่ยอมสละอำนาจ [ถึงแม้จะแพ้เลือกตั้ง]”
ข้อสอง “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” มุ่งตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ออกมาต่อต้านผู้นำเผด็จการหรือผู้นำที่ใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จอย่างยาวนาน ปกติการต่อต้านนี้จะอยู่ในรูปของการลุกฮือขึ้นประท้วง พลเมืองอยากได้ประชาธิปไตย แต่ถูกกีดกันไม่ให้มีสิทธิเลือกตั้ง
ข้อสาม แม้จะเผชิญกับเสียงต่อต้านจากประชาชนจำนวนมหาศาล ผู้นำเผด็จการยังไม่ยอมลงจากตำแหน่ง
ข้อสี่ “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” มักจะเกิดในประเทศที่บังคับให้พลเมืองต้องเกณฑ์ทหาร ส่งผลให้กองทัพเต็มไปด้วยสมาชิกของสังคม ไม่ใช่ทหารรับจ้าง กองทัพในแง่นี้อาจได้ชื่อว่าเป็นสถาบันแห่งเดียวที่ไม่คอร์รัปชั่นและไม่ถูกกระทบจากกลไกของรัฐซึ่งมีคอร์รัปชั่นซึมลึก
ข้อห้า กองทัพขานรับเสียงเรียกร้องของประชาชน ทำรัฐประหารเพื่อโค่นระบอบเผด็จการ
ข้อหก กองทัพจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมภายในระยะเวลาไม่นาน ประกาศวันเลือกตั้งล่วงหน้าอย่างชัดเจนเพื่อสร้าง “ตลาดการเมือง” ขึ้นมาใหม่ อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลเฉพาะกาลว่า ตนมีบทบาทจำกัดและจะอยู่ในอำนาจเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ข้อเจ็ด ภายหลังการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม กองทัพถ่ายโอนอำนาจให้กับผู้นำที่ชนะการเลือกตั้งโดยทันที ไม่ว่าผู้นำที่ประชาชนเลือกจะเป็นใคร ไม่ว่านโยบายจะสอดคล้องกับนโยบายของกองทัพหรือไม่ โดยกองทัพจะไม่พยายามแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงผลการเลือกตั้ง
ผู้เขียนเห็นว่าจากลักษณะเจ็ดข้อของ “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” ที่สรุปมาข้างต้นนั้น ชัดเจนว่ารัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช. ไม่เข้าข่ายในกรอบคิดของวารอลเลย – ดูข้อแรกกับข้อสองก็ไม่เข้าแล้ว ข้อสี่ยิ่งไม่เข้าใหญ่ แต่น่าเสียดายที่นักวิชาการบางท่านพยายามบิดเบือนเนื้อหาในบทความชิ้นนี้ อ้างคำพูดครึ่งเดียวเพื่อตีความเข้าข้างตัวเอง
ในปี 2013 หลังจากที่กองทัพอียิปต์ออกมาทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลของประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด มอร์ซี วารอลก็ได้รับคำถามมากมายว่า รัฐประหารครั้งนี้เข้าข่าย “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” ในกรอบคิดของเขาหรือไม่ วารอลเขียนบทความตอบ ลงวารสาร Georgetown Journal of International Affairs โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
“รัฐประหาร [ปี 2013 ในอียิปต์] เข้าข่าย “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” หรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่ …ในรัฐประหารครั้งนี้ กองทัพอียิปต์โค่นประธานาธิบดีที่ชนะการเลือกตั้งเพียงหนึ่งปีก่อนหน้า ในการเลือกตั้งที่หลายคนมองว่าเสรีและเป็นธรรม แน่นอน กองทัพในกรณีนี้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนจำนวนมหาศาลที่ออกมาประท้วงประธานาธิบดีที่ไม่ได้รับความนิยมและไม่ยอมสละอำนาจ มีเรื่องให้เราวิพากษ์มากมายถึงสไตล์การบริหารแบบชอบอ้างเสียงข้างมากของประธานาธิบดีมอร์ซี …แต่กองทัพลงมือก่อนเวลาอันควร
ถ้าไม่นับข่าวลือต่างๆ แล้ว ก็ไม่มีสัญญาณใดๆ ณ ตอนเกิดรัฐประหารว่า มอร์ซีจะไม่ยอมสละอำนาจถ้าหากเขาแพ้การเลือกตั้งครั้งต่อไป และไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลของเขาจะถูกโกงแบบเดียวกับที่มูบารักโกง ถ้าหากกองทัพไม่โค่นมอร์ซีด้วยกำลัง กลุ่มที่ต่อต้านก็อาจสามารถฉวยโอกาสจากภาวะขาดคะแนนนิยมของมอร์ซี โค่นเขาลงจากอำนาจผ่านหีบเลือกตั้ง ความมักง่ายของกองทัพทำให้ขั้นตอนประชาธิปไตยที่ถูกสถาปนาแล้วเกิดการลัดวงจร”