ThaiPublica > คอลัมน์ > Learn-Unlearn-Relearn กลยุทธ์แห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้นำอย่างแท้จริง

Learn-Unlearn-Relearn กลยุทธ์แห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้นำอย่างแท้จริง

6 กันยายน 2014


อริญญา เถลิงศรี

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า โดยปกติคนไม่ชอบอยู่ในภาวะของ “ความไม่รู้” ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน แต่ในขณะเดียวกันคนเราก็ไม่สามารถรู้ได้ทุกเรื่อง เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา นั่นแปลว่า หนทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาภาวะของความไม่รู้ก็คือ การหมั่นเรียนรู้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ที่คนมักจะเข้าใจผิดอยู่เสมอ และดิฉันต้องการที่จะชี้แจง นั่นคือ การเรียนรู้นั้นไม่ใช่เพียงแค่การใส่ข้อมูลความรู้เข้าไปแค่อย่างเดียว หากแต่การเรียนรู้ที่ถูกต้องประกอบไปด้วย การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (Learn) การไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา (Unlearn) และการเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ๆ (Relearn) ทั้งนี้ขั้นตอน Unlearn และ Relearn มักจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เพราะว่าเคล็ดลับของการเรียนรู้ที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือความเต็มใจและยินดีที่จะยอมละทิ้งสิ่งที่เคยเรียนรู้มา แล้วลองค้นหาวิธีการใหม่ๆ มาทดแทน แม้ว่าวิธีการนั้นๆ จะเคยนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีก็ตาม

คำพูดที่ว่า “เจ้านายรู้ดีที่สุด” นั้นอาจใช้ไม่ได้กับทุกสถานการณ์อีกต่อไปแล้ว เมื่อการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ท้าทายก็คือ เมื่อนายไม่ได้รู้ทุกเรื่องแล้วลูกน้องจะคาดหวังให้พวกเขาเป็นผู้นำที่ดีได้อย่างไร

ทางออกคือผู้นำต้องพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของตนเองอย่างต่อเนื่อง และรู้ถึงวิธีการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับที่แลรี ฟิงค์ ผู้บริหารเครือ Black Rocks บริษัทที่บริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อันดับต้นๆ ของโลกผู้ซึ่งได้รับตำแหน่ง CEO of the Decade จากนิตยสาร Financial Times ในปี 2554 กล่าวไว้ว่า “การทำตัวเป็นนักเรียนอยู่ตลอดเวลาจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้นำ เพราะมันทำให้พวกเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และยอมละทิ้งองค์ความรู้เก่าๆ ที่อาจใช้ไม่ได้อีกแล้ว”

ที่มาภาพ :http://www.hotcow.co.uk/images/stories/Experiential-Blog/learn-unlearn-relearn.jpg
ที่มาภาพ :http://www.hotcow.co.uk/images/stories/Experiential-Blog/learn-unlearn-relearn.jpg

เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในที่นี้ Learn หรือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คือการหาความรู้เพิ่มเติมหรือการรับรู้ข้อมูลบางอย่าง ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เราเกิดและดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

Unlearn คือการไม่ยึดติด ละทิ้งสิ่งที่เคยรู้มา ซึ่งพฤติกรรมนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรายอมเปิดรับมุมมองใหม่เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่เรารู้อยู่แล้ว โดย unlearn นับเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม unlearn ไม่ได้หมายความเพียงแค่การลืมสิ่งที่เคยรู้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปฏิเสธความเชื่อของตนที่เคยยึดถือปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ หรือเลิกยึดติดกับทฤษฎีที่ใช้กันมายาวนาน และก็ไม่ได้หมายความว่า เราต้องละทิ้งประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งหมด หรือบอกว่าวิธีการที่เราใช้มาในอดีตนั้นไม่สามารถทำให้เราประสบความสำเร็จได้อีกต่อไปแล้ว แต่หมายถึงการกระตุ้นให้เราหมั่นเปิดรับแนวทางที่แตกต่างออกไปในการทำสิ่งต่างๆ

Relearn คือการเรียนรู้สิ่งที่เราเคยรู้แล้วด้วยมุมมองใหม่ และตระหนักถึงคุณค่าของความรู้ที่เราได้รับจากมุมมองนั้นๆ นั่นแปลว่าคนเราสามารถเรียนรู้บางอย่างในแง่มุมใหม่ได้เสมอ และเราสามารถพัฒนาความรู้และทักษะของเราได้ตลอดเวลา

คำถามคือ เราจะสามารถสร้างกลยุทธ์แห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำให้เกิดขึ้นได้อย่างไรในที่ทำงาน – หลักการง่ายๆ 5 ประการที่ดิฉันจะกล่าวถึงต่อไปนี้คือวิธีการเบื้องต้นที่ช่วยกระตุ้นให้บุคลากรเลิกยึดติดกับสิ่งที่เคยรู้มาเพื่อก้าวไปสู่การเรียนรู้ใหม่ได้ดียิ่งขึ้น

ขั้นตอนแรก ระบุสิ่งที่ต้องละทิ้งและสิ่งที่จะนำมาใช้แทน – เมื่อคุณกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอน คุณต้องลองฝึกถามตัวเองว่ากรอบความคิดเก่าๆ เรื่องใดที่ใช้ไม่ได้แล้วและจะต้องใช้มุมมองความคิดแบบใดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เกิดขึ้น

ขั้นที่สอง อธิบายเหตุผลของความเปลี่ยนแปลง – โดยปกติ หากคนเราเข้าใจเหตุผลที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราจะสามารถเปิดใจและพร้อมที่จะเลิกนิสัยและวิธีการเก่าๆ ได้ดีกว่าการให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่รู้สาเหตุ

ขั้นที่สาม ให้ข้อมูลป้อนกลับ – เพราะคนเรามักไม่รู้ตัวว่าเราทำอะไรได้ดีหรือไม่ดี หรือมีอะไรที่ฉุดรั้งให้เราไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่หรือไม่ การให้ข้อมูลป้อนกลับแบบ 360 องศาจึงเป็นเครื่องมือที่สามารถให้มุมมองเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานได้ เมื่อคนเราได้รับข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของตนเองอย่างชัดเจน เขาก็จะรู้ว่ามีพฤติกรรมใดบ้างที่ควร unlearn และตรงไหนบ้างที่ควร relearn

ขั้นที่สี่ ให้ความช่วยเหลือในลักษณะของการโค้ช – การเปลี่ยนนิสัยของตนเองโดยที่ไม่มีผู้ช่วยเหลือหรือให้คำปรึกษาถือเป็นเรื่องยาก ดังนั้น การโค้ชจะช่วยให้คนเราเลิกนิสัยเก่าๆ และเริ่มปรับตัวเป็นคนใหม่ได้ง่ายขึ้นตามแนวทางที่วางไว้อย่างเป็นแบบแผน เพราะโค้ชจะสามารถชี้ให้เรามองเห็นนิสัยแย่ๆ ที่เป็นปัญหาต่อทั้งตนเอง เพื่อนร่วมงาน และองค์กร ได้อย่างชัดเจน

ขั้นตอนสุดท้าย เริ่มต้นที่ตนเอง – ปัญหาที่พบในผู้นำหลายคนคือ พวกเขาต้องการให้ลูกน้องได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ตัวผู้นำเองกลับไม่สนใจที่จะทำเพราะคิดว่าการกระทำดังกล่าวให้ดีขึ้นเป็นเรื่องของลูกน้องเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ผู้นำที่ดีต้องเริ่มต้นกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องที่ตนเองก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีและเพื่อกระตุ้นให้ผู้อื่นดำเนินรอยตาม

เรื่องของการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องพื้นฐานที่ผู้นำหลายคนคิดว่าเข้าใจอยู่แล้ว ความเชื่อเช่นนี้ควรที่จะถูก unlearn และ relearn ใหม่ว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของการเรียนรู้ใหม่ๆ แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังรวมถึงการไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา และการเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ๆ ด้วย ดังที่นักเขียนชาวอเมริกันกล่าวไว้ว่า “คนที่ไม่รู้หนังสือในศตวรรษที่ 21 จะไม่ได้หมายถึงผู้ที่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ แต่จะหมายถึงผู้ที่ไม่สามารถเรียนรู้ ละทิ้งความรู้เดิม แล้วเริ่มเรียนรู้ใหม่ได้”…

หมายเหตุ: อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทที่ปรึกษา เอพีเอ็ม กรุ๊ป
ตีพิมพ์ครั้งแรก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2557