ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > บอร์ดบีโอไอยุค “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ประชุม 3 ครั้ง อนุมัติ 121 โครงการ วงเงินลงทุน 3 แสนกว่าล้านบาท

บอร์ดบีโอไอยุค “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ประชุม 3 ครั้ง อนุมัติ 121 โครงการ วงเงินลงทุน 3 แสนกว่าล้านบาท

22 สิงหาคม 2014


การอนุมัติงบประมาณเพื่อบริหารประเทศในช่วงที่ผ่านมา ใช้บารมีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขับเคลื่อนทุกรายการอย่างรวดเร็ว ทั้งอนุมัติล้างท่องบประมาณ ผูกพันงบประมาณ การใช้งบกลางกรณีฉุกเฉิน จำเป็นเร่งด่วน ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการ คสช. ชุดใหญ่เพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ 11 ครั้ง ประมาณ 5 แสนล้าน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 2557

ในบทบาทกึ่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้นำเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 วงเงิน 2.57 ล้านล้านบาท มีการอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปแล้ว วงเงิน 3 แสนกว่าล้านบาท และในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้านโครงสร้างคมนาคม ได้เห็นชอบกรอบงบประมาณลงทุน 2.4 ล้านล้านบาท รวมทั้งในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ มีการอนุมัติให้รัฐวิสาหกิจลงทุนไปแล้วหลายหมื่นล้านบาท

ภายใต้บทบาทหัวหน้า คสช. พล.อ. ประยุทธ์ ยังเป็นประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาระดับชาติ ที่ตามนัยแล้วเป็นภารกิจของนายกรัฐมนตรี ในการจัดการด้านเศรษฐกิจประเทศเป็นหลักอีก 8 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ 2. คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ 3. คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ 4. คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5. คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 6. คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 7. คณะกรรมการที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้านโครงสร้างคมนาคม และ 8. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ดังนั้น ภารกิจการอนุมัติสารพัดโครงการในการแก้ปัญหาประเทศ จึงอยู่บนบ่าของ พล.อ. ประยุทธ์ อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ซึ่งไม่เพียงต้องนั่งหัวโต๊ะทุกคณะกรรมการระดับชาติ แต่ยังมีหน่วยงานด้านการเงินการคลัง ที่ต้องบริหารระดับ “สายงานขึ้นตรง” กับหัวหน้า คสช. ถึง 5 หน่วยงานหลัก และหนึ่งในนั้นคือสำนักงบประมาณ

โครงสร้างการบริหารเช่นนี้ บังเอิญสอดคล้องกับโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินในยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เรียบเรียงไว้ในงานวิจัยที่ชื่อ “คอรัปชั่นกับประชาธิปไตยไทย” บทหนึ่งว่า “จอมพลสฤษดิ์ ได้เข้าควบคุมกลไกของรัฐที่ทำหน้าที่ตัดสินใจในนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรง คือสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงบประมาณ โดยหน่วยงานเหล่านี้จะขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรีโดยตรง”

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวยังสรุปว่า “ในยุครัฐบาลภายใต้สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อัตราการคอรัปชั่นสูงสุด ซึ่งสอดคล้องจากข้อความที่ทีมวิจัยได้จากการสัมภาษณ์ข้าราชการระดับสูงในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ระบุว่า…รัฐบาลเผด็จการมีโอกาสคอรัปชั่นสูงสุด เพราะการกระจุกตัวของอำนาจมีสูง และไม่ต้องแบ่งกับใคร ยุคประชาธิปไตยอัตราการคอรัปชั่นน่าจะต่ำกว่า เพราะทำได้ยากขึ้น และจะเกี่ยวพันกับโครงการซึ่งขึ้นอยู่กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นประธานว่า การประชุมครั้งนี้นับเป็นการประชุมบอร์ดครั้งที่ 3 ภายหลัง คสช. ได้ตั้งบอร์ดบีโอไอตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2557 โดยที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ และบอร์ดบีโอไอแล้วรวม 106 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 278,301.5 ล้านบาท หากรวมผลการประชุมครั้งนี้ก็จะมีโครงการได้รับการอนุมัติรวม 121 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 318,839.5 ล้านบาท(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

มติคณะกรรมการบีโอไอครั้งที่ 1

Web

Web

ในคราวเดียวกันนี้ ได้ให้ความเห็นชอบ “ร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี” (2558-2564) ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนแก่อุตสาหกรรมที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย สร้างมูลค่าเพิ่ม และเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อขยายกิจการ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา มาตรการส่งเสริมกิจการเอสเอ็มอีไทย ส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า รวบรวมโครงการที่ผ่านการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 3 เดือนที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธานบอร์ด มีการอนุมัติโครงการลงทุนไปแล้วรวมทั้งสิ้น 318,839.5 ล้านบาท จำแนกตามมติที่ประชุมบอร์ด 3 ครั้ง 50 โครงการ ที่เหลือเป็นการอนุมัติจากการประชุมระดับอนุกรรมการ

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ จำนวน 15 คน ประกอบด้วย นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอเป็นประธาน ผู้บริหารระดับสูงของบีโอไอ ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

คณะอนุกรรมการชุดนี้ มีอำนาจและหน้าที่พิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุนแก่โครงการที่มีขนาดการลงทุนตั้งแต่ 200-750 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน และโครงการที่เป็นกิจการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ และมีขนาดการลงทุนเกิน 200 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองการส่งเสริมการลงทุนสำหรับโครงการที่มีขนาดการลงทุนเกิน 750 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน