ThaiPublica > คอลัมน์ > เหลียวหลังเพื่อแลหน้า 60 ปีที่ผ่านพ้น (ตอนที่ 1)

เหลียวหลังเพื่อแลหน้า 60 ปีที่ผ่านพ้น (ตอนที่ 1)

10 สิงหาคม 2014


บรรยง พงษ์พานิช

ความเป็นไปของการเมืองไทย เศรษฐกิจไทย โลกาภิวัตน์ ระบบการเงินไทย

ปีนี้ผมอายุครบหกสิบ แซยิดไปเมื่อสามเดือนก่อน หลายๆ คนเห็นว่าเป็นผู้อาวุโส อยู่มานาน น่าจะมีความรู้อยู่บ้าง พอเจอะเจอกันทีไรก็มักจะไต่ถามขอให้ทำนายทายทักเรื่องราวอนาคต ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย เรื่องตลาดหุ้น เรื่อยไปจนถึงเรื่องการเมือง การโกงกิน

เรื่องทำนายอนาคต ทำตัวเป็นกูรู เป็นโหรเศรษฐศาสตร์ นี่เป็นเรื่องที่ผมไม่ถนัดเอาเสียเลย ไม่ใช่ว่าไม่อยากเท่ไม่อยากดังหรอกครับ เมื่อก่อนสมัยที่ทำงานตลาดหุ้นใหม่ๆ ก็เคยอยากทำตัวเป็น “กูรู้” ไปทุกเรื่อง อยากทำนายอนาคตได้ ชี้นำราคาหุ้นเจ๋ง อ่านตลาดขาด แข่งกันเป็น “เซียน” เหมือนคนอื่นๆ ในวงการแหละครับ แต่พอทำไปได้สักพัก ก็พบว่ามันทำนายวืดเสียมาก มีผิดมากกว่าถูกเสียด้วยซ้ำ ไอ้ครั้นจะแกล้งทำเป็นมั่ว ลืมๆ ไอ้ที่ทำนายผิด คุยเน้นแต่ที่ทำนายถูกเหมือนที่บางคนชอบทำ ก็สำนึกดีว่าคนอื่นเขาคงไม่ยอมลืมๆ ด้วย โดยเฉพาะคนที่หลงเชื่อแล้วฉิบหาย ไอ้ครั้นจะไปตระเวณหาคนกลุ่มใหม่มาเป็นสาวก ลองมั่วเผื่อ ฟลุคต่อๆ ไป มันก็เป็นเรื่องเหนื่อยเกินไป แถมคงไม่มีวันยั่งยืนอีกตะหาก

เอาตัวอย่างฝีมือการทำนายง่ายๆ เมื่อสามเดือนที่แล้ว ผมยังฟันธงอยู่เลยว่าการปฏิวัติรัฐประหารไม่มีทางเกิดได้ในเมืองไทยอีกแล้ว เผลอแผลบเดียว ท่านไปโรดแมปขั้นที่ 2 เสียแล้ว หรือเอาแค่เมื่อหกเดือนที่แล้ว ตัวผมยังเข้าร่วมประกาศอุดมการณ์กับกลุ่ม “สองเอา สองไม่เอา” อยู่เลย คือ “เอาเลือกตั้ง เอาปฏิรูป ไม่เอาความรุนแรง ไม่เอารัฐประหาร ” แต่พอเขาปฏิวัติ ขอให้เข้าไปช่วยงาน กลับรับไปเป็น “กรรมการนโยบาย รสก.” หรือ “ซูเปอร์บอ(ร์)ด” อะไรนั่นไปเสียฉิบ กลายเป็น “บุคคลที่เกี่ยวข้อง” ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97 ไปเสีย (เรื่องนี้ห้ามวิจารณ์นะครับ มันผิดกฎหมาย) ทำนายพฤติกรรมตัวเองยังทายผิดเลย ไม่น่าจะเอาดีด้านเป็นโหรนักทำนายไปได้

คราวนี้เลยจะไม่มาทำนายอะไรนะครับแต่จะทำตัวน่าเบื่อเป็น “คนแก่ เล่าเรื่องเก่า” ตามธรรมเนียมดั้งเดิม และก็คงจะเล่ายาวๆ ตามแบบคนแก่น่าเบื่ออีกสักครั้ง (เป็นอันว่าจะบรรเลงซีรีส์ยาวหลายตอนอีกแล้วนะครับ)

ที่มาภาพ : http://izquotes.com/quotes-pictures/quote-again-you-can-t-connect-the-dots-looking-forward-you-can-only-connect-them-looking-backwards-so-steve-jobs-94798.jpg
ที่มาภาพ : http://izquotes.com/quotes-pictures/quote-again-you-can-t-connect-the-dots-looking-forward-you-can-only-connect-them-looking-backwards-so-steve-jobs-94798.jpg

สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) เคยพูดไว้ว่า You can’t connect the dots looking forward; you can only connect them looking backwards. So you have to trust that the dots will somehow connect in your future. (ใน Commencement Speech ที่ Stanford ปี 2005) การเหลียวมองสิ่งที่ผ่านมา ถึงจะไม่ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ แต่เราก็เรียนรู้กับมันได้ และที่สำคัญทุกสิ่งที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ย่อมเป็นผลมาจากเหตุ จากปัจจัยที่เป็นมาในอดีตทั้งสิ้น และแน่นอน อนาคตที่จะเป็นไปก็ย่อมมีรากฐานผูกพันมาจากอดีตและปัจจุบันด้วยเช่นกัน การเรียนรู้อดีตจึงเป็นเรื่องสำคัญเสมอ

ในโลกปัจจุบัน ที่มีความเชื่อมโยงสูง มีปัจจัยเกี่ยวข้องสลับซับซ้อน มีความผันผวนไม่แน่นอนตลอดเวลา การพยากรณ์อนาคตย่อมทำได้ยากขึ้น โอกาสถูกต้องแม่นยำต่ำ นักเศรษฐศาสตร์พยากรณ์ทั้งหลายถูกลดความนิยม คนส่วนใหญ่ต้องเรียนรู้ถึงองค์ประกอบปัจจัยต่างๆ มากกว่าที่จะรอฟังพยากรณ์แบบฟันธงลูกเดียว (ในวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 มีนักธุรกิจไม่น้อยพังยับเพราะหลงเชื่อกูรูผู้รู้ นักทำนาย “โหรเศรษฐกิจ”)

สมัยนี้ คำว่า “Out of The Box” ดูจะเป็นคำวิเศษ เท่สุดๆ สำหรับคนที่ต้องการประสบความสำเร็จโดดเด่น สำหรับคนที่ต้องการ “ความแตกต่าง” แต่ผมจะเตือนเพื่อนร่วมงานทุกคนเสมอว่า ก่อนจะไป Out of The Box ขอให้เข้าใจให้ถ่องแท้ก่อนว่าใน Box นั้นมีอะไรบ้าง มีไว้ทำไม เชื่อมโยงกันอย่างไร ถ้าจะให้ดีต้องรู้ไปถึง Under The Box คือรู้ว่ามันมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ถ้าไม่อย่างนั้นเอะอะก็จะ Jump Out of The Box เสียเลย ย่อมมีโอกาสสูงที่ความคิดสร้างสรรสุดบรรเจิดที่หวัง จะไร้สาระ ขาดความเชื่อมโยง นำมาปฏิบัติไม่ได้ หรือไม่ก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามภาวะได้ดี

เอาละครับ แค่เกริ่นก็ยืดยาวเสียแล้ว ผมจะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงหกสิบปีของชีวิตผม คือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2497-2557 (1954-2014) แต่จะไม่เล่าเกี่ยวกับตัวผมหรอกครับ ผมจะร้อยเรียงเรื่องราวหลักๆ สี่ด้าน ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น คือ เรื่องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของไทย เรื่องพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย เรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลก และเรื่องพัฒนาการของตลาดการเงินไทย ซึ่งทั้ง 4 เรื่องนี้มีประวัติการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ และเกี่ยวเนื่องสอดคล้องกัน ซึ่งผมจะเล่าทีละเรื่อง โดยหวังว่าความรู้ความเข้าใจถึงบริบทเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาจะทำให้เข้าใจภาวการณ์ปัจจุบันได้ดีขึ้น รวมทั้งอาจนำไปพยากรณ์อนาคต เพื่อการวางแผนได้บ้าง

ก็คงต้องออกตัวอีกแล้วว่า ที่จะเขียนจะเล่านี้ ก็มาจากความทรงจำ และความเข้าใจของผมเสียเป็นส่วนใหญ่ ถึงจะพยายามค้นคว้าตรวจสอบให้ถูกต้อง แต่ก็ไม่ขอรับประกันความแม่นยำเสียทั้งหมด แถมการเลือกเรื่องเลือกแนวที่จะเล่า ก็เป็นการเชื่อมโยงให้เข้ากับความเชื่อเข้ากับวาระการกล่าวของตัวเองเสียมาก ขอท่านผู้อ่านจงใช้วิจารณญาณในการอ่านการเชื่อให้มากด้วย

ขอเกริ่นไว้แค่นี้ก่อน รอติดตามอ่านกันนะครับ (ตอนที่2)

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 7 สิงหาคม 2557