ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ 26 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม2557
– แบงก์พันปลอมระบาดหนัก-แบงก์ชาติเตือนประชาชนระมัดระวัง
– นสพ. ASTV พิมพ์ปกดำประท้วง คสช. หลังถูกเตือนเสนอเนื้อหาด้านลบ
– สถานการณ์อีโบลาระบาดรุนแรง-เซียร์ราฯ ประกาศภาวะฉุกเฉิน
– ท่อส่งแก๊สระเบิดกลางเมืองไต้หวัน ดับหลายสิบ-เจ็บร่วม 300
– ตำรวจเอาจริงห้ามใช้มือถือขณะขับรถ เจอปรับ-เถียงจับขึ้นศาล
แบงก์พันปลอมระบาด-แบงก์ชาติเตือนประชาชนระมัดระวัง
เมื่อวันที่ 26 ก.ค.เว็บไซต์ข่าวสดรายงาน ในพื้นที่ จ.ตรัง มีแก๊งมิจฉาชีพออกอาละวาดนำธนบัตรใบละ 1,000 บาท หมายเลขเดียวกัน คือ 9A 3828862 มาต้มตุ๋น ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ถูกแก๊งมิจฉาชีพนำมาใช้หลายพื้นที่โดยเฉพาะ อ.เมือง และอำเภอใกล้เคียง
นางสุภาพร สมศรีงาม อายุ 37 ปี อาชีพทำธุรกิจส่วนตัว ขายเครื่องดื่มชาพะยอม หน้าโรงพยาบาลศูนย์ตรัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 19.00 น. ขณะกำลังขายของอยู่ ได้มีลูกค้าลักษณะคล้ายทอมกับผู้หญิงคู่หนึ่ง อาศัยช่วงชุลมุนมีลูกค้าเยอะทำทีเข้ามาซื้อน้ำในร้าน โดยสั่งชาเย็น 1 แก้ว และจ่ายธนบัตร 1,000 บาทสภาพใหม่เอี่ยมให้ทางพนักงานในร้าน เพิ่งมาทราบว่าเป็นธนบัตรปลอมก็ตอนที่ปิดร้านและทำบัญชีแล้ว
ส่วนผู้เสียหายอีกรายคือ น.ส.นิลเนตร เงินศรี อายุ 31 ปี แม่ค้าขายไก่ทอด 5 ดาว สาขาใกล้กับโลตัส เอ็กซ์เพรส ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.ตรัง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ประมาณ 1 ทุ่มเศษ มีผู้หญิงเข้ามาซื้อของที่ร้าน ในราคา 37 บาท โดยใช้ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท หมายเลข 9A 3828862 และเหรียญบาทอีก 7 เหรียญ รวม 1,007 บาท จ่ายให้ แต่พอกลับมาตรวจสอบอีกครั้งพบว่าเป็นธนบัตรปลอม จึงรีบมาแจ้งความ
พล.ต.ต. จีรวัฒน์ อุดมสุด ผบก.ตรัง กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนว่ามีผู้นำธนบัตรปลอมใบละ 1,000 บาทมาใช้ในพื้นที่ จ.ตรัง จริง ซึ่งได้แจ้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเพื่อให้ประชาชนระมัดระวังแล้ว เมื่อรับธนบัตรมาให้ตรวจสอบทุกครั้ง ทั้งนี้ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนทุกพื้นที่ หากประชาชนพบผู้ต้องสงสัย หรือผู้กระทำความผิดให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อติดตามจับกุมได้ที่ โทร.191 ตลอด 24 ชั่วโมง
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกหนังสือชี้แจงเรื่องการพบธนบัตรปลอม ชนิดราคา 1,000 บาท โดยระบุว่า ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการพบการใช้ธนบัตรปลอมชนิดราคา 1,000 บาทในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.ตรัง ซึ่งขณะนี้มีผู้เสียหายมาแจ้งความดำเนินคดีแล้วกว่า 10 คน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประสานกับตำรวจเพื่อให้ติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมให้ผู้เชี่ยวชาญออกมาให้ข้อมูลและสังเกตดูธนบัตรจริงกับธนบัตรปลอมว่า แตกต่างกันอย่างไร ซึ่งมี 3 วิธี คือ การสัมผัสกับเนื้อกระดาษธนบัตร และยกธนบัตรส่องกับแสงสว่าง และการพลิกเอียงบริเวณมุมของธนบัตร
ในการนี้ ธปท. ขอความร่วมมือจากประชาชนเพิ่มความระมัดระวังและสังเกตก่อนรับธนบัตรด้วย วิธีง่ายๆ 3 วิธี ดังนี้
1) การสัมผัส เนื้อกระดาษธนบัตรเป็นกระดาษชนิดพิเศษ มีความเหนียว แกร่ง ทนต่อการพับดึง และให้ความรู้สึกแตกต่างจากกระดาษทั่วไป และการสัมผัสตัวเลขแจ้งราคา และคําว่ารัฐบาลไทย จะรู้สึกสะดุดกับหมึกพิมพ์
2) การยกส่อง เมื่อยกธนบัตรส่องกับแสงสว่าง จะเห็นลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ในเนื้อกระดาษอย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รวมถึงรูปลายไทยขนาดเล็กที่มีความโปร่งแสงเป็นพิเศษ และแถบสีโลหะฝังอยู่ในเนื้อกระดาษ บนแถบมีตัวเลขแจ้งชนิดราคาหรือตราสัญลักษณ์ฯ ด้วย
(3) การพลิกเอียง บริเวณมุมของธนบัตร พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์ชนิดพิเศษ เมื่อพลิกธนบัตรไปมาสีของตัวเลขจะเปลี่ยนสลับจากสีหนึ่งเป็นอีกสีหนึ่งได้ สําหรับผู้ที่ได้รับธนบัตรปลอม หรือสงสัยว่าเป็นธนบัตรปลอม ขอความร่วมมือไม่นําออกใช้ เพราะจะมีความผิดตามกฎหมาย แต่ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตํารวจ หากการแจ้งเบาะแสนี้นําไปสู่การจับกุมผู้กระทําความผิดฐานปลอมแปลงธนบัตร ผู้แจ้งจะได้รับรางวัลนําจับ
นอกจากการปลอมธนบัตรชนิด 1,000 บาทแล้ว ล่าสุดวันที่ 1 ส.ค. พบธนบัตร 100 บาท ปลอมระบาดหนักในพื้นที่ จ.ตรัง รายงานระบุ มีผู้ได้รับธนบัตรปลอมในพื้นที่ ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง ผู้เสียหาย คือ นางพัชรีหรือเพ็ญ สุขคง อายุ 37 ปี ผู้เสียหายอาชีพค้าขาย ใน อ.เมือง จ.ตรัง เผยว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 07.00 – 08.30 น. ขณะที่กำลังขายขนมจีนและข้าวเหนียวหมูปิ้งอยู่นั้น ได้มีลูกค้ามาซื้อของที่ร้านเป็นจำนวนมาก จึงไม่ทันได้สังเกตว่าได้รับธนบัตรปลอม ใบละ 100 บาท หมายเลขบนธนบัตร 6D1542021 มาตั้งแต่ตอนไหน มาทราบอีกทีตอนที่จะจ่ายเงินค่าน้ำแข็งหลอด โดยคนส่งน้ำแข็งได้รับไปแล้วพบว่าเป็นธนบัตรปลอม จึงส่งคืนมาให้
นางพัชรีกล่าวต่อว่า ตนรู้สึกใจหายทันทีที่ทราบว่าเป็นธนบัตรปลอม แต่ตนก็ไม่รู้ว่าได้รับมาตอนไหน เพราะตอนเช้าก็มัวแต่ยุ่งไม่ได้สังเกตให้ดี ก่อนหน้านี้ เมื่อประมาณครึ่งเดือนที่แล้ว ก็เกือบโดนหลอกมาแล้วด้วย เป็นวัยรุ่นในพื้นที่ ทำทีมาซื้อของที่ร้าน โดยให้ธนบัตรใบละ 1,000 บาท แต่ตนสังเกตเห็นว่าเป็นธนบัตรปลอม จึงให้คืนไป วัยรุ่นคนดังกล่าวก็บอกว่าไม่รู้ที่มาของธนบัตร โดยอ้างว่าได้มาจากพ่อ แล้วรีบจ่ายเงินก่อนจะรีบออกจากร้านไป
นอกจากนี้ หลังจากที่เกิดเรื่องก็มีคนมาสอบถามหลายคน และเพิ่งทราบจากเพื่อนบ้านว่า มีร้านค้าในพื้นที่ ต.น้ำผุด เคยรับธนบัตรปลอมใบละ 100 บาท มาแล้วด้วย โดยคนร้ายมาซื้อลูกอม 5 บาท ให้ธนบัตร 100 ทอนกลับไป 95 บาท ตนจึงอยากฝากไปยังพ่อค้าแม่ค้า ให้ตรวจสอบให้ดีก่อนรับเงินมา ยิ่งช่วงนี้มีธนบัตรปลอมระบาดหนักในพื้นที่ จ.ตรัง ทั้งธนบัตรใบละ 100 บาท หรือ ธนบัตร ใบละ 1,000 บาท ส่วนทางร้านก็จะระมัดระวังให้มากกว่าเดิม และไม่รับธนบัตรใบละ 1,000 บาท อย่างเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมายระบุว่า ผู้กระทำความผิดฐานปลอมแปลงเงินตรา ระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-40,000 บาท หากรู้ว่าเป็นเงินปลอมแต่ยังนำมาใช้ ก็มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-30,000 บาท แต่หากได้มาโดยไม่รู้หรือรู้ในภายหลังแต่ยังนำออกมาใช้ โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นสพ. ASTV พิมพ์ปกดำประท้วง คสช. หลังถูกเตือนเสนอเนื้อหาด้านลบ
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ได้มีการเผยแพร่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 108/2557 เรื่องการตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม โดยระบุว่าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 วันที่ 26 ก.ค. – 1 ส.ค. 2557 ตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่องด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จโดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของ คสช. โดยในชั้นนี้เห็นสมควรตักเตือนผู้เขียนบทความ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของหนังสือพิมพ์ดังกล่าว หากฝ่าฝืนอีกจะดำเนินการตามกฎอัยการศึก ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา และส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายด้วย นอกจากนี้ ยังสั่งให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้ฝ่าฝืนดังกล่าวข้างต้นเป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพต่อบุคคลเหล่านั้น แล้วรายงานผลการดำเนินการให้ คสช. ทราบโดยเร็ว
จากนั้นในวันที่ 28 ก.ค. คสช. โดยคณะทำงานด้านกฎหมาย ส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักเลขาธิการ คสช. ได้ส่งหนังสือมายังสภาการหนังสือพิมพ์ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 108/2557 เป็นหนังสือที่ คสช. (สลธ) 1.10/55 ระบุถึงรายละเอียดจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 108 พร้อมระบุว่า หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์ฉบับดังกล่าวมีข้อความเสียดสี-ลงข้อมูลเท็จ-มีเจตนาไม่สุจริต ทำลายความน่าเชื่อถือ คสช.
ต่อมาในวันที่ 29 ก.ค. สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้เรียกประชุมด่วน เพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนของ คสช. ภายหลังการประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง นายจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรจาก คสช. เรียบร้อย และมีมติให้นายสิทธิโชค ศรีเมือง รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ นำเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการพิจารณาตรวจสอบตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2540 และข้อบังคับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554 ทั้งนี้ ทางตัวแทนของเอเอสทีวีผู้จัดการที่เข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่ายินดีที่จะชี้แจงและจะไม่เข้าร่วมในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งนี้ หากผลสอบสวนของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ออกมาเป็นเช่นไรก็พร้อมปฏิบัติตาม
ล่าสุดเมื่อ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส รายงาน หนังสือเอเอสทีวี ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับ 252 ซึ่งวางแผงวันที่ 1 ส.ค. ตีพิมพ์ปกสีดำ ไม่มีข้อความพาดหัว หลังถูก คสช. กล่าวหาตีพิมพ์ข้อความเสียดสีและเป็นเท็จ จนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติรับเรื่องไปสอบสวน พร้อมยุติตีพิมพ์ 4 ฉบับหน้าเพื่อลดแรงกดดันให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
ไทยพีบีเอสออนไลน์ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวในกอง บ.ก. ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ว่า การตีพิมพ์ปกดำในฉบับนี้ เพื่อประท้วงการใช้อำนาจแทรกแซงสื่อมวลชนของ คสช. และหลังจากนี้อีก 4 ฉบับ (ฉบับที่ 253-256) จะไม่มีการตีพิมพ์เป็นกระดาษออกมา แต่ยังจะนำเสนอในรูปแบบออนไลน์เพียงอย่างเดียว เพื่อลดแรงกดดันให้กับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในการเข้ามาสอบสวนข้อเท็จจริง
สถานการณ์อีโบลาระบาดรุนแรง-เซียร์ราฯ ประกาศภาวะฉุกเฉิน
เมื่อ 31 ก.ค. ไทยรัฐออนไลน์รายงาน นับตั้งแต่พบการระบาดครั้งใหม่ของเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก เมื่อ ก.พ. ที่ผ่านมา สหประชาชาติรายงานมีผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 729 ราย และในจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ในเซียร์ราลีโอน ถึง 233 ราย ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกประกาศแผนรับมือฉุกเฉิน เตรียมทุ่มเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรับมือกับวิกฤติการณ์เชื้ออีโบลาระบาดหนักในทวีปแอฟริกา โดยร่วมมือกับ 3 ชาติแอฟริกาตะวันตกที่เป็นต้นตอการระบาด
สำหรับประเทศที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุดในขณะนี้ คือ กินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ทางการต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการระบาดของโรค เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่า 1,323 คนแล้ว ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งอพยพหน่วยอาสาสมัครพีซคอร์ปที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในทั้ง 3 ประเทศกลับเป็นการด่วน เพื่อป้องกันตัวจากเชื้ออีโบลา ขณะที่ในสหรัฐฯ เอง ทางการรับรองว่าโอกาสที่เชื้อร้ายดังกล่าวจะแพร่เข้ามาในสหรัฐฯ นั้นมีน้อยมาก เพราะได้วางระบบคัดกรองและดักจับไว้อย่างรัดกุมแล้ว
ทั้งนี้ มีรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ประธานาธิบดีเออร์เนสต์ บาอิ โคโรมา แห่งเซียร์ราลีโอน ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในประเทศเซียร์รา ลีโอนแล้ว เพื่อพยายามจะควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ หลังจากการระบาดของไวรัสอีโบลากำลังสร้างความหวั่นวิตกให้กับชาวโลกอย่างย่ิง เมื่อตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอีโบลาพุ่งไม่หยุด อีกทั้ง นายแพทย์ชีค อูมาร์ คาน หัวหน้าแพทย์ซึ่งทุ่มเททำงานเพื่อพยายามรักษาผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลากว่า 100 รายในเซียร์รา ลีโอน ต้องมาติดเชื้อไวรัสมรณะและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา
สำหรับมาตรการเบื้องต้นในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาของทางการเซียร์ราลีโอนนั้น เริ่มจากการกักบริเวณทางภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาด โดยได้ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในการดำเนินมาตรการดังกล่าว
นอกจากนั้น บรรดาผู้โดยสารที่สนามบินทุกแห่งในเซียร์ราลีโอน จะต้องล้างมือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และตรวจวัดว่ามีไข้หรือไม่ ขณะเดียวกัน หากมีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นในบ้านไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม บรรดาญาติพี่น้องจะต้องแจ้งให้ทางการทราบ ก่อนจะนำศพไปฝัง โดยเบื้องต้น ทางการเซียร์ราลีโอนจะดำเนินมาตราการควบคุมการระบาดของเชื้ออีโบลาดังกล่าว เป็นเวลา 60-90 วัน
การออกมาประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขแห่งชาติของประธานาธิบดีเซียร์ราลีโอนนั้น หลังจากรัฐบาลไลบีเรีย ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของอีโบลาเช่นกัน ได้สั่งปิดโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ รวมถึงชุมชุนบางแห่ง เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรค นอกจากนั้น ประธานาธิบดีโคโรมา ของเซียร์ราลีโอน และประธานาธิบดีเอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ แห่งไลบีเรีย ยังได้ยกเลิกการไปเยือนกรุงวอชิงตันเพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ และแอฟริกาในสัปดาห์หน้า เนื่องจากต้องรับมือกับวิกฤติการณ์อีโบลาระบาดหนัก
ในส่วนของประเทศไทย นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา ว่าสำหรับประเทศไทยมีความเสี่ยงน้อยมาก ขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก โดยโรคนี้พบในทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และไนจีเรีย ซึ่งการเดินทางระหว่างไทยกับประเทศเหล่านี้ไม่มีเที่ยวบินบินตรง การเฝ้าระวังตามคำแนะขององค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้แต่ละประเทศมีการเตือนประชาชน แต่ไม่ได้มีการห้ามเดินทาง
สำหรับประเทศไทย ได้มีมาตรการดังนี้ 1. ให้สำนักระบาดวิทยาเฝ้าระวังสถานการณ์และติดตามคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด 2. ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเฝ้าระวังผู้ป่วย ไม่แตกต่างจากโรคโคโรนาไวรัส และ 3. ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตรียมความพร้อมตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ
นอกจากนี้ นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า เชื้ออีโบลานี้ติดต่อจากการสัมผัสเลือด น้ำลายผู้ป่วย สารคัดหลั่งเท่านั้น ไม่ได้มีการติดต่อแพร่ระบาดเหมือนซาร์ส โคโรนาไวรัส ฉะนั้นการติดเชื้ออีโบลาไม่ใช้ติดกันง่ายๆ
สำหรับระยะฟักตัวของเชื้อ 2-21 วัน แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักเสียชีวิตภายใน 8-10 วัน ซึ่งจะมีไข้สูง ปวดเมื่อย มีตุ่มหรือผื่นตามตัว อาเจียนเป็นเลือด โอกาสติดเชื้อจะเกิดขึ้นในลักษณะนี้
ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวระบุว่า หลังวิกฤติเชื้ออีโบลาระบาดในแอฟริกาตะวันตกน่าวิตก มีหมอและพยาบาลติดเชื้อมรณะจนเสียชีวิตมากขึ้น ขณะที่สายการบิน ASKY ระงับทุกเที่ยวบินทั้งขาเข้าและออกประเทศไลบีเรียและเซียร์ราลีโอนแล้ว หวังป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้น
ท่อส่งแก๊สระเบิดกลางเมืองไต้หวัน เสียชีวิตหลายสิบ-เจ็บร่วม 300
เมื่อกลางดึกของวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา เกิดเหตุแก๊สระเบิดอย่างต่อเนื่องที่ไต้หวัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 24 คน และบาดเจ็บกว่า 270 คน เว็บไซต์ครอบครัวข่าวรายงานเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นที่เมืองเกาสง ทางตอนใต้ของไต้หวัน หลังจากที่มีคนได้กลิ่นแก๊สรั่ว ก่อนที่จะเกิดระเบิดอย่างรุนแรงหลายระลอก แรงระเบิดทำให้เกิดลูกไฟขนาดใหญ่ สูงประมาณตึก 20 ชั้น ผู้คนวิ่งแตกตื่นออกมาจากอาคาร เปลวเพลิงได้ทำให้เกิดเพลิงไหม้เป็นบริเวณกว้าง 2-3 กิโลเมตร อาคารหลายหลังได้รับความเสียหายอย่างหนัก ถนนหลายสายเกิดรอยแยก และเป็นหลุมยาวตามแนวท่อส่งแก๊ส ขณะที่รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ที่จอดริมถนนพลิกคว่ำ
ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ผู้นำไต้หวัน ได้สั่งให้ปฏิบัติการช่วยเหลืออย่างเต็มรูปแบบ ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นเมืองเกาสง ได้ร้องขอทางบริษัทจัดส่งแก๊สให้ระงับการส่งแก๊สชั่วคราว
สำนักงานดับเพลิงแห่งชาติของไต้หวัน แถลงว่า หลังจากทางเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานดับเพลิงในเมืองเกาสงได้รับแจ้งเหตุร้าย ว่าเกิดเหตุท่อส่งแก๊สรั่ว จากนั้นได้เกิดระเบิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดไฟไหม้ และสร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้างถึง 2-3 กม. ขณะที่แรงระเบิดของแก๊สยังทำให้มีรถยนต์และรถจักรยานยนต์หลายคันพลิกคว่ำได้รับความเสียหาย
ผู้รอดชีวิตรายหนึ่งซึ่งบ้านพักอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุเพียงเล็กน้อย เปิดเผยว่า ในช่วงที่เกิดเหตุ บ้านของตนเกิดสั่นไหวคล้ายกับเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมื่อตนเองเปิดประตูออกมา ก็เห็นควันสีขาวพวยพุ่งเต็มไปหมด และเต็มไปด้วยกลิ่นแก๊ส
ขณะที่เจ้าหน้าที่จากบริษัท CPC Corp. บริษัทผู้วางเครือข่ายท่อแก๊สใต้ดินของไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลไต้หวันเป็นเจ้าของ ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการระเบิด นอกจากนี้ ยังได้ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลหรือเหตุผลที่ทำให้เกิดเหตุระเบิดในครั้งนี้ด้วย ขณะที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงคาดว่า สาเหตุอาจจะมาจากการรั่วไหลของก๊าซโพรพีน แต่สาเหตุและต้นตอของการรั่วไหล ยังไม่มีความชัดเจน
ตำรวจเอาจริงห้ามจับต้องมือถือขณะขับรถ เจอปรับ-เถียงจับขึ้นศาล
เมื่อ 29 ก.ค. พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. ดูแลงานจราจร กล่าวว่า กรณีที่ปัจจุบันนี้ มีประชาชนบางรายนำอุปกรณ์ยึดโทรศัพท์มือถือมาติดไว้ที่พวงมาลัยรถ และนิยมเล่นโทรศัพท์ขณะขับรถ โดยเฉพาะโปรแกรมแชทต่างๆ ขอเตือนว่า การกระทำดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้ เพราะถือว่าเป็น การใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ มีความผิดตามกฎหมาย เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยมีอุปกรณ์เสริมสำหรับสนทนา (สมอลทอล์ก) โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เท่านั้น
การใช้อุปกรณ์ยึดโทรศัพท์มือถือดังกล่าวถือว่าเป็นการรบกวนสมาธิในการขับรถอย่างมากเนื่องจากต้องละสายตาจากท้องถนนและการพิมพ์ข้อความก็ต้องละมือข้างหนึ่งไปจากการควบคุมพวงมาลัยรถ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายมีโทษปรับไม่เกิน 400-1,000 บาท
อย่างไรก็ตาม การติดอุปกรณ์ยึดโทรศัพท์มือถือหากเปิดลำโพงเสียงเพื่อสนทนาเท่านั้นไม่ถือว่าเป็นความผิด ซึ่งจะมีคล้ายกับการใช้สมอลทอล์ก โดยกฎหมายดังกล่าวได้เริ่มประกาศใช้ไปตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. 2551 แล้วทั้งนี้หากตำรวจดำเนินการจับกุมแล้วผู้กระทำผิดไม่ยอมรับจะต้องมีการนำเรื่องไปพิจารณาบนชั้นศาลเพื่อดูหลักฐานพยานว่ามีเจตนาเล่นโทรศัพท์ขณะขับรถหรือไม่
พล.ต.ต. อดุลย์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจุบันนี้จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่ามีประชาชนส่วนมากที่นิยมเล่นโทรศัพท์ขณะขับรถ โดยเฉพาะโปรแกรมไลน์ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถือว่าอันตรายมากเพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้วนั้นที่สำคัญจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุและการจราจรติดขัดมากยิ่งขึ้นเพราะขณะที่กดโทรศัพท์หลายครั้งจะทำให้สมาธิจดจ่ออยู่กับหน้าจอและเมื่อสัญญาณไฟเขียวก็จะทำให้มองไม่เห็น อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่อยากจะจับกุมพฤติกรรมเหล่านี้เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความวุ่นวายบนท้องถนนโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน แต่ได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มองเห็นถึงความสำคัญเพราะหากไม่ดำเนินการตามกฎหมายก็จะส่งผลเสียในหลายด้านอาจเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงต่อผู้ขับขี่หรือผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ดังนั้นผู้ที่ขับรถจึงควรมีจิตสำนึกสาธารณะด้วย
ขณะเดียวกันเว็บไซต์ครอบครัวข่าวรายงาน
ปัญหาอุบัติเหตุจากพฤติกรรมผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ จากผลการทดสอบด้วยเครื่องจำลองการขับขี่ จะทำให้การตอบสนองต่อการขับขี่ช้าลง แตะเบรก หรือบังคับพวงมาลัยไม่ทัน เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
จากที่ตำรวจนครบาล เตรียมคุมเข้มวินัยผู้ขับขี่จราจรที่กระทำผิดใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ ทั้งการคุยโทรศัพท์ ก้มเล่นเกม หรือหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เพราะเข้าข่ายความผิดใช้โทรศัพท์ขณะขับรถตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2551 มาตรา 43 ห้ามมิให้ผู้ขับรถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถ ยกเว้นถ้าใช้อุปกรณ์เสริม หรือสมอลทอล์ก
ทีมข่าวได้ไปทดสอบปฏิกริยาการตอบสนองของผู้ขับขี่เมื่อใช้โทรศัพท์โดยเครื่องจำลองการขับ พบว่าการพูดคุยโทรศัพท์ขณะขับรถ และจับพวงมาลัยมือเดียว และการก้มหน้าเล่นมือถือ ให้ผู้ขับขี่ใช้เวลาคิดที่จะแตะเบรก หรือพวงมาลัยเพื่อหยุดรถ หรือหลบหลีกได้ช้าลง ส่งผลให้ระยะการเบรกใช้เวลานานขึ้น เนื่องจากสมองของผู้ขับขี่จดจ่ออยู่กับการพูดคุย หรือเล่นมือถือไม่ใช่การขับรถ โดยเฉพาะการก้มหน้าเล่นจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายมาก โดยหากระยะเวลาการตอบสนองของผู้ขับขี่เกิน 1 วินาที จะเป็นระยะเวลาที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
จากการทดลองขับ และใช้โทรศัพท์มือถือไปด้วย พบว่าการตอบสนองส่วนใหญ่เกิน 1 วินาที ไปจนถึง 4-5 วินาที เสี่ยงอุบัติเหตุอันตรายมาก นอกจากนี้ คนมักเข้าใจผิดว่าการใช้สมอลทอล์กขณะขับรถ จะทำให้ขับรถได้ปลอดภัยขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วอันตรายเท่ากับการไม่ใช้สมอลทอล์ก เพราะสมองของคนขับไม่ได้จดจ่ออยู่กับเส้นทาง ทั้งนี้ การใช้มือถือขณะขับรถทำให้ประสิทธิภาพการขับรถช้าลง 1.5 เท่า และ อันตรายเทียบเท่ากับการดื่มแอลกอฮอล์