ThaiPublica > เกาะกระแส > เสียงสะท้อนสัมมนาวิชาการฯ ธปท. ครั้งที่ 13 จากอุดมคติสู่ความเป็นจริง (6 ): ผู้ว่า ธปท. แจงวิธีลดขาดทุน

เสียงสะท้อนสัมมนาวิชาการฯ ธปท. ครั้งที่ 13 จากอุดมคติสู่ความเป็นจริง (6 ): ผู้ว่า ธปท. แจงวิธีลดขาดทุน

29 กันยายน 2012


“ดร.ประสาร” เตรียมรับมือเงินสกุลหลักด้อยค่า วางแนวทางบริหารทุนสำรองฯ โดยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ พร้อมแจงแนวคิด ธปท. กับ ดร.ศุภวุฒิคล้ายกัน

ข้อกังวลเกี่ยวกับเงินสกุลหลัก ได้แก่ ดอลลาร์ ยูโร เยน และปอนด์สเตอร์ลิง มีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเจ้าของเงินทั้ง 4 สกุล จะเป็นแรงกดดันทำให้ ธปท. มีความเสี่ยงจะขาดทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากในเงินสำรองระหว่างประเทศที่ถืออยู่มีสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นเงินหลัก 4 สกุลจะด้อยค่าลง

ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ บรรเทาปัญหาขาดทุน

แนวทางบริหารจัดการเรื่องนี้. เพื่อบรรเทาปัญหาขาดทุนของ ธปท. ดร.ประสารแนะนำว่า ในเบื้องต้นถ้าทำได้คือ ถ้าค้าขายกับประเทศใดก็ใช้สกุลเงินของประเทศคู่ค้า หากเป็นที่นิยม ที่เชื่อถือได้ ก็จะช่วยลดการพึ่งพาสกุลเงินหลัก หรือเงินสกุลที่สาม และหวังว่าในอนาคตจะมีเงินสกุลอื่นมาเป็นทางเลือก ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น หยวน ของจีน ที่เศรษฐกิจใหญ่ และอยู่ในฐานะค่อนข้างดี ก็น่าจะเป็นทางเลือกในอนาคต แต่แนวทางนี้ต้องอาศัยเวลา และความเป็นจริง ไปฝืนไม่ได้

ส่วนเงินสกุลหลัก นอกจากสกุลหลักที่ ธปท. ถือแล้ว ธปท. ได้กระจายไปสกุลอื่นที่มีความมั่นคงพอสมควร และมีสภาพคล่อง เรียกว่า เงินสำรองที่ ธปท. ถืออยู่พยายามกระจายออกไปหลายสกุล ไม่ใช่เฉพาะ 4 สกุล ไม่นับทองคำที่เราพยายามรักษาสัดส่วนเอาไว้ขณะนี้ประมาณ 150 ตัน (ในจำนวนนี้มีทองคำบริจาคหลวงตามหาบัว 13 ตัน) หรือมีสัดส่วนประมาณ 3% ของทุนสำรองทั้งหมด

ส่วนการแก้ปัญหา ธปท. ก็อาศัยหลักพื้นฐานคือ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้”

วิธีลดรายจ่ายที่ดี คือ แบ่งให้คนอื่นถือบ้าง และถือแบบมีหลักด้วย เช่น เขาไปลงทุนในกิจการที่ดีในต่างประเทศ หรือว่าช่วงสั้นๆ ยังไม่ลงทุนแต่คิดว่าจะลงทุน ธปท.ก็อนุญาตให้เขาฝากได้ในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD: Foreign Currency Deposit) ถ้าเขาอยากจะใช้ภายใน 1 ปี จะมีเงินตราต่างประเทศใน FCD วงเงินเท่าไรก็ได้ โดยไม่มีเพดาน แต่ถ้าเกิน 1 ปี และไม่รู้ว่าจะลงทุนเมื่อไร ธปท. กำหนดเพดาน FCD ไม่ให้เกิน 100 ล้านเหรียญ แต่ถ้าอยากจะขยายตรงจุดนี้ ธปท. ก็ยินดีพิจารณา

“ลดรายจ่ายแบบแบ่งให้คนอื่นถือบ้าง ซึ่งเขาอาจนำไปลงทุนได้ผลตอบแทนดีกว่าเรา และเราก็หวังว่าเขาจะมีการบริหารความเสี่ยงได้ดีพอสมควร”

ทั้งนี้ ดร.ประสารย้ำว่า ที่ ธปท. ส่งเสริมให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศ ไม่ใช่ไปบีบบังคับเขา คือ เขาก็คิดตามธุรกิจของเขา เขาคุ้มเขาก็ลงทุน ไม่ว่าจะลงทุนในกัมพูชา ลาว พม่า ธปท. ไม่เคยไปบีบบังคับให้เขาต้องไปลงทุน เรื่องนี้ช่วยผ่องถ่ายเงินตราต่างประเทศไปมาก โดยปีที่แล้วมีเงินไหลออกไปลงทุนต่างประเทศกว่า10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 8 เดือนแรกของปีนี้ อีกประมาณ 8,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.

ขณะที่ ด้านรายได้ ธปท. พยายามกระจายออกไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เรื่องกระจายสินทรัพย์มาพร้อมกับความเสี่ยง ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

“ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องนี้ เราไม่ใช่สถาบันพิเศษที่ไม่แย่แสกับเรื่องการขาดทุน แต่อยากให้เข้าใจบริบทที่ซับซ้อน และพยายามแก้ไข”

ฝัน “ดร.ประสาร” วันหนึ่งจะเลิกอุ้มบาท

ในการสัมมนาวิชาการฯ ของ ธปท. ตลอด 2 วัน ประเด็นหนึ่งที่มีความเห็นเป็นสองขั้วชัดเจนคือ เรื่องการดูแลค่าเงินบาท ขั้วแรกเห็นว่า ธปท. ไม่ควรแทรกแซงค่าเงินบาท อาทิ ดร.อัมมาร สยามวาลา ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ส่วนขั้วที่สองเห็นว่า ธปท. ยังมีความจำเป็นต้องแทรกแซงค่าเงินบาท อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวากุล ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ซึ่งกลุ่มหลังส่วนใหญ่เป็นนักปฏิบัติ เคยทำงานที่ ธปท.

ประเด็นความเห็นต่างนั้น ดร.ประสารอธิบายว่า ที่เห็นชัดสะท้อนออกมาจากอาจารย์อัมมาร บอกว่าความจริงธปท. ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท ปล่อยให้บาทแข็ง และให้ผู้ส่งออก หรือธุรกิจไทยได้ปรับตัว และบอกเรื่องนี้ให้ชัดเจน และไปเปรียบเทียบกับเรื่อง 300 บาท

“คือท่านไม่อยากให้เห็นเหมือน 300 บาท ประกาศพรวดมาทันทีทันใด คนก็ต้องอกตกใจ ท่านก็เปรียบเทียบ 300 บาท กับเงินบาทแข็ง ก็คือ ช่วยความมั่งคั่งของคนไทย ท่านพูดในมุมที่ว่า ถ้าบาทแข็ง ฐานะของคนไทยที่ถือบาทดี หรือเงิน 300 บาทที่เพิ่มรายได้คนไทย แต่ท่านอยากให้มีกระบวนการนำไปสู่จุดนั้น”

ความจริงเรื่องนี้ในแบงก์ชาติเราพูดกันเยอะ เพียงแต่ว่า ข้อต่อหรือกลไกที่นำไปสู่เศรษฐกิจจริงไม่ได้อยู่ในมือแบงก์ชาติ นี่กำลังพูดถึงการปฏิรูปอุตสาหกรรม ปฏิรูปภาคการผลิต อุตสาหกรรมการค้า เรื่องประสิทธิภาพ เทคโนโลยี ผลิตภาพการผลิต แต่ที่จริงเพื่อความเป็นธรรม ถึงอยู่ในมือ ธปท. ก็เป็นการบริหารที่ค่อยยาก แต่ต้องทำ

ในโลกอุดมคติ ถ้าเราสามารถปล่อยให้เงินบาทแข็ง แต่ถ้าภาคเศรษฐกิจ ภาคการค้า ปรับตัวได้ก็จะ “win-win” เหมือนสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเงินสวิสฯ ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาแข็งมาก แต่เขามีเทคโนโลยี มีผลิตภาพการผลิต และเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาคเศรษฐกิจจริง

ในโลกในอุดมคติ อาจทำไม่ได้สมบูรณ์ เพราะสภาพความเป็นจริงที่เห็นคือ มีลักษณะการผสมผสานกันพอสมควร ตรงที่ว่า ไม่ได้ปล่อยกลไกตลาดทำงาน 100% ตลอดกาลชั่วนิรันดร์ บางช่วงบางตอนหนักไป ธปท. ก็ใช้กลไกที่เรามีอยู่บ้างเข้าประคับประคองสถานการณ์บางช่วงบางตอน แต่จะเห็นว่าทำเท่าที่จำเป็น

“วันหนึ่งเราจะสามารถมั่นใจเต็มที่ พูดออกมาได้เต็มปาก ในขณะนี้ดูตามความเป็นจริงก็เห็นว่ายังจำเป็นต้องผสมผสาน พอเอาเข้าจริงเป็นการผสมผสานเครื่องมือหลายๆ อย่างให้เหมาะสมกับสถานการณ์ หลายๆ ประเทศก็ทำอย่างนั้น ก็มีความตั้งใจอยู่ จะสังเกตเห็นว่าช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา เราไม่ได้เข้าไปยุ่งหรือแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเลย ทำให้ทุนสำรองทางการเงินไม่เพิ่ม”

ดร.ประสารอธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าปล่อยบาทแข็ง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะกระทบภาคเศรษฐกิจจริง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ สวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งขึ้นเชื่อว่ามีความเข้มแข็งในภาคการผลิตและภาคบริการมาก เมื่อเกิดวิกฤติยูโร เงินสกุลอื่นก็วิ่งเข้าหาเงินฟรังก์สวิส จนกระทั่งเงินเขาแข็งขึ้น จาก 1 ฟรังก์สวิส เท่ากับ 80 เซ็นต์ หรือ 5 ฟรังก์สวิส เท่ากับ 1 ยูโร แต่ไต่ระดับเป็น 1 ฟรังก์สวิส เท่ากับ 1.2 ยูโร และอาจเกินจากนี้ไป เขาก็บอกเขาไม่ไหว ถ้าใช้ตำรานี้ เศรษฐกิจเขาจะเข้าสู่ภาวะถดถอย สวิสฯ ก็เลยประกาศว่าจะดูแลไม่ให้เกิน 1 ฟรังก์สวิส ต่อ 1.2 ยูโร

“กรณีนี้เป็นตัวอย่างว่า ในสภาพโลกความเป็นจริง มันจะไม่มีอุดมคติ ในที่สุดทุกคนเอาเรื่องความเป็นจริงมากกว่าแรงดลใจ และนี่คือหน้าที่ของผู้บริหารหรือผู้นำ”

ดร.ประสารเล่าว่า มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามว่าหน้าที่ของผู้นำคืออะไร ก็จะเห็นว่า หน้าที่ผู้นำมี 2 อย่าง คือ ต้องไม่หนีจากสภาพความเป็นจริง แต่อย่าท้อถอย ต้องมีความหวัง และสามารถสร้างแรงดลใจให้กับผู้ตามเราหรือผู้ติดตามเรา

“เราต้องมีความหวัง มีโลกอุดมคติ แต่ฝันอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเข้าใจความเป็นจริงด้วย เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนก็เหมือนกัน นักเศรษฐศาสตร์เก่งๆ ของที่นี่เข้ามาก็บอกเลยว่า ผู้ว่าฯ ต่อไปนี้เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน จะไม่แทรกแซงเลย เห็นไหม แทรกแซงแล้ว ทำให้มีต้นทุน ทำให้ขาดทุน เราก็ต้องมีความหวัง แต่ความเป็นผู้ว่าฯ มีอีกขาหนึ่ง คือ เรื่องความเป็นจริง โลกความเป็นจริง เราต้องยอมรับความจริง แต่อย่าไปหมดหวัง เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนก็เหมือนกัน”

ธปท. ซื้อไอเดีย “ดร.ศุภวุฒิ” แต่ค้าน ดร.โกร่ง

ดร.ประสารกล่าวว่า แนวคิดเรื่องนโยบายการเงินขณะนี้ที่เราชัดเจนคือ แนวคิดของ ดร.ศุภวุฒิ ที่สุดท้ายบอกว่า ธปท. มี 2 ทางเลือก ทางหนึ่ง คือ ใช้อย่างที่เราใช้อยู่ คือใช้ดอกเบี้ย แต่อย่าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน ทางเลือกนี้เราเห็นด้วย และแนวคิดของเราก็ไปแบบนั้น

แต่อีกทางเลือกหนึ่ง ดร.ศุภวุฒิเสนอให้ใช้กำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนแบบสิงคโปร์ ทางเลือกนี้เราไม่เห็นด้วย เพราะว่า การที่ติดตามประเทศที่ใช้เป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน เขาก็พูดว่า ถึงแม้เขาใช้เป้าหมายเงินเฟ้อ เขาก็มีปัญหา เงินเฟ้อเขาสูง และประสบการณ์พบว่าในทางปฏิบัติไม่ง่าย เพราะถ้ามีปัญหาเงินเฟ้อ จะขึ้นอัตราแลกเปลี่ยนแข็งกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อประกาศทันทีอัตราแลกเปลี่ยนก็ขึ้นไปรอตามที่ประกาศเลย และสมมติเงินเฟ้อขึ้นสูง และ ธปท. จะทำให้บาทแข็ง ผู้ส่งออกคงออกมาวุ่น

“เราเลือกทางเลือกหนึ่งของ ดร.ศุภวุฒิ ซึ่งเขาไม่ขัดถ้าจะใช้อัตราดอกเบี้ย เพียงแต่ขอว่าอย่าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน อันนี้เราซื้อ ความจริงดร.ศุภวุฒิมีความคิดคล้าย ธปท. มาก แต่เราขอไว้หน่อยว่า ถ้ามีเงินไหลเข้ามาทำให้เงินบาทเกิด overshooting เพราะเราไม่ใช่นักวิเคราะห์ เขาเขียนได้ แต่เราต้องรับผิดชอบ”

ดร.ประสารยอมรับว่า ฟังข้อเสนอของดร.ศุภวุฒิชัดเจนและเข้าใจ แต่แนวคิดของท่านประธานบอร์ด ธปท. (ดร.วีรพงษ์ รามางกูร) เรายังไม่ชัดว่าเป็นอย่างไร โดย ดร.วีรพงษ์บอกว่า เงินเฟ้อเราคุมไม่ได้หรอก เพราะเงินเฟ้อไทยจะล้อตามเงินเฟ้อโลก แปลว่า ไม่ต้องไปพูดเรื่องว่าจะใช้อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนหรอก แต่คุณอย่าไปทำเรื่องเงินเฟ้อ

“ท่านบอกว่า เงินเฟ้อเนี่ยลืมๆ ไปซะ ความจริงท่านยังพูดอีกว่า เงินเฟ้อไทยสูงขึ้นอีกหน่อย ถ้าไม่เกิน 5% ก็ไม่เป็นไร และท่านบอกว่า เอาอัตราแลกเปลี่ยนไปคุมเรื่องเงินทุนไหลเขา ถ้าเงินไหลเข้าเยอะก็ให้บาทแข็ง ถ้าเงินไหลน้อยหรือออก ก็ให้บาทอ่อน นั่นก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือน ดร.ศุภวุฒิ”

ดาวโหลดบทความของ ธปท. ที่นำเสนอในงานสัมมนาวิชาการ ธปท. ประจำปี 2555

บทความที่ 1 หลักการและบทบาทของธนาคาร

บทความที่ 2 การดำเนินนโยบายการเงิน – เครื่องมือที่เหมาะสม

บทความที่ 3 เสถียรภาพระบบการเงิน: มิติใหม่ของธนาคาร

บทความที่ 4 สถานะทางการเงินของธนาคารและนัยเชิงนโยบาย

บทความที่ 5 การพัฒนาระบบการเงินกับการเติบโตของเศรษฐกิจ