ThaiPublica > เกาะกระแส > นพ.ดำรัส โรจนเสถียร แจงผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง ชี้ตัวเลขไทยตายสูงปริ๊ด 28%

นพ.ดำรัส โรจนเสถียร แจงผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง ชี้ตัวเลขไทยตายสูงปริ๊ด 28%

5 สิงหาคม 2014


ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เคยนำเสนอข่าว “แจงข้อเท็จจริงไตวายเรื้อรังเพิ่ม 800 คน/เดือน จี้ สปสช. ทบทวนล้างไตทางช่องท้อง ชี้เสียชีวิตสูงกว่า 6 พันคน” รวมทั้งข่าว “กางข้อมูล สปสช. โต้ สปสช. – เปิดสถิติผู้เสียชีวิตล้างไตทางช่องท้องสูง 40% แต่ สปสช. ยังยันเป็นวิธีที่ดีที่สุด” โดยที่ผ่านมามีการระบุว่าน้ำยาล้างไตที่ส่งให้ผู้ป่วยถึงบ้านนั้นไม่ได้มาตรฐาน อาทิ ถุงแตกเนื่องจากระบบการจัดส่ง รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้อัตราการตายของผู้ป่วยก็ยังสูงอยู่

นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(ขวา)และนพ.ดำรัส โรจนเสถียร
นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(ขวา)และนพ.ดำรัส โรจนเสถียร

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2557 นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมเปิดเผยว่า จากที่ตนเข้ามารับตำแหน่งเมื่อต้นปีงบประมาณ 2557 ได้เล็งเห็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งชีวิตและงบประมาณของประเทศในการดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่รักษาด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้อง โดยอัตราของการเสียชีวิตมากกว่าปีละ 2,000 ราย หรือร้อยละ 28 ซึ่งเป็นอัตราการตายที่สูงมาก เมื่อเทียบกับทั่วโลกซึ่งมีอัตราเฉลี่ยที่ 5%

นพ.สุวัชกล่าวว่า ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการจัดหาน้ำยาล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) และยาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งร่วมกันพัฒนาระบบการรักษาโรคไตวายเรื้อรังของ สปสช. (CAPD First) อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา รวมระยะเวลา 6 ปี แต่พบว่าประสิทธิภาพการรักษาและการบริหารจัดการของโครงการยังต้องมีการพัฒนาปรับปรุงอีกหลายด้าน เช่น อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย ปัญหาการบริหารสต็อกสินค้า เช่น ปริมาณการส่งน้ำยา CAPD ที่ไม่สามารถตรวจสอบปริมาณและความต้องการใช้ตามเวลาจริงได้อย่างครบวงจร อีกทั้งน้ำยาที่ใช้เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศกว่า 80% จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำยาขาดแคลน

“การนำเข้าน้ำยาล้างไตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ปี 2558 คาดว่าจะนำเข้า 20 ล้านถุง วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท จาก 2 บริษัท” ผู้อำนวยการเภสัชกรรมกล่าว

อนึ่ง น้ำยาล้างไตสั่งซื้อจาก 1. บริษัท แบ็กซ์เตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ (Baxter) ประมาณ 80% ของการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าจากโรงงานต่างๆ หลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินเดีย จีน สิงคโปร์ เป็นต้น และ 2. Fresenius Medical Care (FMC)

นพ.สุวัชกล่าวต่อว่า เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ทาง อภ. ในฐานะผู้จัดหาและให้บริการผลิตภัณฑ์ยาในระบบสาธารณสุขได้ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น รวมทั้งจัดตั้งคณะทำงานบริหารโครงการ CAPD โดยมี นพ.ดำรัส โรจนเสถียร ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษาผู้ป่วยโรคไตมานานกว่า 20 ปี มาดูแลโครงการนี้เมื่อต้นปี 2557 โดยคณะทำงานได้จัดตั้งศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดเพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง (Dialysis Backup Center: DBC) ขึ้น ในระยะแรกเป็นโครงการนำร่องในการศึกษาวิจัยเพื่อสำรองน้ำยา CAPD อุปกรณ์ต่างๆ ให้หน่วยบริการข้างเคียงเพื่อไม่ให้น้ำยาล้างไตขาดแคลน และเป็นศูนย์คัดกรองผู้ป่วยไต โดยมุ่งเน้นการศึกษาในกลุ่มผู้ไตวายเรื้อรังที่รักษาด้วยวิธีการล้างไตผ่านทางช่องท้อง หากได้ผลดี จะสามารถเป็นต้นแบบในการขยายสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศ

“ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ หากได้ผลดีจะช่วยรัฐบาลลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคไตได้ประมาณ 100-200 ล้านบาท และคาดว่าจะเกิดผลดีกับผู้ป่วยทั้งในด้านคุณภาพชีวิตและลดอัตราการเสียชีวิตลงได้” นพ.สุวัชกล่าว

สำหรับการเลือกโรงพยาบาลมหาสารคามอินเตอร์เนชั่นแนลเพื่อจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่เน้นการรักษาโรคเฉพาะทางคือโรคไตวายเรื้อรังและโรคมะเร็ง สามารถรองรับผู้ป่วยไตวายเรื้องรังในพื้นที่ 5 จังหวัดโดยรอบ ได้แก่ มหาสารคาม นครราชสีมา ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ ซึ่งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ป่วยไตวายมากที่สุด เฉพาะพื้นที่ให้บริการ 5 จังหวัดนี้มีผู้ป่วยไตวายที่ใช้การล้างไตผ่านช่องท้องประมาณ 1,000 ราย จึงเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ดี โดยที่ อภ. ไม่ต้องลงทุนเรื่องการก่อสร้างหรือจ้างงานใดๆ เพิ่มเติม มีเพียงค่าเช่าในอัตรา ตารางเมตรละ 500 บาท ต่อเดือน รวมทั้ง นพ.ดำรัสไม่รับค่าตอบแทนใดๆ

“ดังนั้น จากตัวเลขของผู้เสียชีวิตด้วยการล้างไตทางช่องท้อง การตายโดยคร่าวๆ ยังสูงอยู่ คือ 28 % ซึ่ง สปสช. น่าจะมีตัวเลขนี้ ในส่วนองค์การเรามาพัฒนาระบบในแง่ระบบข้อมูลให้สามารถตรวจสอบสินค้าในสต็อกได้ตามเวลาจริง และทำเรื่อง User Manage Inventory (UMI) เสริมเข้ามาเพื่อให้ข้อมูลในส่วนกลางและในพื้นที่ตรงกัน เมื่อข้อมูลตรงกันแล้วการที่จะเข้าไปดูแลหลังการส่งสินค้าให้คนป่วยจะเป็นไปตามเวลาจริงมากขึ้น ลดข้อบกพร่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตได้”

นอกจากนี้ อภ. ยังมี GPO Shop เพื่อจะเติมเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการนำเสนอให้ผู้ใช้บริการว่า หากต้องการเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวกับระบบล้างไต เรามีเวชภัณฑ์สนับสนุนให้ในกรณีที่เร่งด่วนหรือฉุกเฉินกรณีที่จำเป็นต้องใช้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการบริการหลังการขายหลังจากที่โรงพยาบาลได้ดูแลผู้ป่วยแล้ว แต่กรณีที่ผู้ป่วยมีเรื่องจำเป็นหรือกรณีสงสัยสามารถมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์นี้ได้โดยทีมงานแพทย์ที่จะมาช่วยการพัฒนาตรงนี้ เมื่อระบบนี้เป็นตัวอย่างดีขึ้น จากนั้นก็จะค่อยๆ เพิ่มในเขตพื้นที่อื่นๆ ที่จะให้บริการแบบนี้ โดยทาง อภ. จะปรับระบบภายในให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นพ.ดำรัส โรจนเสถียร
นพ.ดำรัส โรจนเสถียร

ด้าน นพ.ดำรัส โรจนเสถียร กล่าวเสริมว่า “ที่ผ่านมาเมื่อคนไข้มาพบผู้ให้การรักษาแล้วจึงมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษา เมื่อทำการรักษาแล้วก็จะมีการประเมินผล เพื่อจะได้ดูว่าผิดพลาดอย่างไร หากผิดก็แก้ไข เพื่อให้อัตราการตายจะลดลง แต่ที่ผ่านมา 6 ปีกว่าแล้ว การตายยังสูงอยู่เลย หมายความว่าอย่างไร คนไข้ไม่ดี ถึงได้ตายง่าย หรือคนไข้มาผิดที่ เราจึงต้องวิจัยว่าวิธีที่รักษาที่ดีกว่ามีอะไร ถามว่าวิธีล้างไตทางช่องท้องเป็นวิธีเดียวที่จะรักษาโรคไตวายเรื้อรังหรือไม่ ไม่ใช่ และต้องเป็นวิธีแรกเท่านั้นหรือไม่ ก็ไม่ใช่ แล้วทำไม สปสช. เขียนว่า “CAPD First” เขาเอาคำสองคำมารวมกัน แต่ทิ้งความหมายตรงกลางไป คนไข้ไตวายเบื้องต้น ปัจจุบันเขาทำการใส่ท่อแล้วล้างไตเลย (ฟอกเลือด) ง่ายดี ใช้เวลาแป๊บเดียว แล้วทำไมต้องทำ CAPD กว่าจะได้ผลตั้งนาน อันนี้แหละมันมีข้อความที่หายไปตรงกลาง หากไปถามนักวิชาการที่มีความรู้โรคไตทั้งหมดทั้งประเทศไทย และในต่างประเทศ ก็รู้ว่าที่หายไปเพราะการ “ไม่บอกหรือจงใจไม่ให้รู้” ว่าการรักษาไตวายมีทางเลือกอื่น กล่าวคือผู้ป่วยที่จะล้างไตทางช่องท้องต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ 1. ต้องแข็งแรง ช่วยตัวเองได้พอสมควร ไม่ใช่นอนแปะอยู่บนเตียง 2. ต้องทำงานเลี้ยงชีพและครอบครัว 3. อยู่ไกลสถานที่ล้างไตทางท่อ (ฟอกเลือด) 4. อื่นๆ มือไม่สั่น ตาไม่บอด เป็นต้น จึงสามารถทำ CAPD ได้ แต่ สปสช.เขียนว่าการรักษาไตวายเรื้อรัง ต้อง CAPD First แปลว่าผู้ป่วยไตวาย ก็จับทำ CAPD เลย มันถึงได้ตายมหาศาลอย่างนี้ สมัยแรกๆ ที่มีนโยบายนี้ บางโรงพยาบาลผู้ป่วยเข้าไปร้อยตายร้อยทั้งๆ ที่ได้รับการรักษา ผมถึงถามว่าทำไมตายเยอะจัง จึงเสนอให้ สปสช. ทบทวน ทำให้อัตราการตายลดลง แต่ขณะนี้ก็ยังเฉลี่ยที่ 28% ของผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้อง”

นพ.ดำรัสกล่าวต่อว่า “เรื่องนี้ผมรู้จริง ผมถึงได้กล้าถามว่า สปสช. ทำอยู่ได้อย่างไร ผมจึงมาแก้ไข อย่างเรื่องน้ำยาล้างไต ตอนนี้กลับมาดูที่คุณภาพ ขณะนี้ได้มาตรฐานตามที่ อภ. ซื้อแล้ว ที่ผ่านมาในโลกนี้มีผู้ผลิตน้ำยาหลายราย แต่ทำไมซื้ออยู่ 2 ราย ซึ่งเรื่องนี้มันอีรุงตุนังกันน่าดู ต่อไปนี้ อภ. ซื้อให้ถูกต้อง ผู้ป่วยไตวายเขาจะได้ฟ้องถูกคน ผมจะปลุกคนล้างไตทางช่องท้องลุกขึ้นมาฟ้องให้หมด ว่าทำเฮงซวยกับผู้ป่วย ผู้ป่วยถึงตาย และการบริหารจัดการไม่ดี สปสช. บอกว่าจะดูแล จะจ่ายเงินให้หมอ พยาบาล เป็นค่าที่ให้บริการ แต่ยังค้างอยู่ ทั้งหมอและพยาบาลกำลังฟ้อง ขณะที่กองทุนโรคไตของ สปสช. ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนผู้จัดการกองทุนไป 12 คนแล้ว”

CAPD สถิติคนป่วยไตวายเรื้อรัง

อนึ่ง ผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้อง ขณะนี้จะใช้น้ำยาล้างไตเดือนละ 120 ถุงต่อเดือน จากเมื่อก่อนประมาณ 150 ถุงเดือน ทั้งนี้จากระบบที่ อภ. ปรับปรุงใหม่ พยายามที่จะปรับการใช้น้ำยาล้างไตให้ลดลง เพราะสถิติข้อมูลของฮ่องกงที่รูปร่างใกล้เคียงกับคนไทย ใช้อยู่ที่ 90 ถุงต่อเดือน ซึ่งจะทำให้ประหยัดเงินได้ประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี ส่วนการจัดซื้อจัดจ้าง ถ้าวงเงินเกิน 100 ล้านบาท จะต้องเสนอให้คณะกรรมการ อภ. พิจารณาอนุมัติ