
เมื่อ 29 สิงหาคม 2557 ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม 2557 ว่าการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 ตามความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลไปยังนโยบายภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนกำลังซื้อ เช่น มาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) และน้ำมันดีเซล โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคปรับขึ้นจาก 143.5 ในเดือนมิถุนายน เป็น 146.7 ในเดือนถัดมา
เมื่อดูในรายละเอียด พบว่าส่วนใหญ่การปรับตัวเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าไม่คงทน ขณะที่สินค้าคงทนยังหดตัว โดยเฉพาะยานยนต์ เนื่องจากฐานที่สูงในช่วงก่อนหน้าและสถาบันการเงินมีความระมัดระวังที่จะปล่อยสินเชื่อมากขึ้น อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าไม่คงทนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องมากขึ้น โดยในอนาคตมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงและรายได้เกษตรกรตกต่ำตามราคาผลผลิต
ทั้งนี้ การปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ที่ระบุว่าการใช้จ่ายของเอกชนจะเป็นตัวชี้วัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจลำดับแรกที่จะปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวและการลงทุนเอกชนจะปรับตัวตามมา
ด้านการส่งออกสินค้า เดือนกรกฎาคม หดตัวอีกครั้งที่ -0.5% จากระยะเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่า 18,700 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและยังมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง แม้ประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) จะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่สามารถชดเชยได้เพียงพอ
ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2557 การส่งออกขยายตัวเป็นบวกเพียง 2 เดือนเท่านั้น ได้แก่ กุมภาพันธ์และมิถุนายน ขยายตัวได้ 2.1% และ 3.8% จากระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ ขณะที่ 5 เดือนที่เหลือหดตัวทั้งหมด (ดูตาราง) ทำให้ภาคการส่งออกอาจจะออกมาต่ำกว่าที่ ธปท. เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3% และต้องทบทวนอีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังทรงตัวจากเดือนก่อน การลงทุนเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในภาคก่อสร้างในพื้นที่นอกเขตเทศบาล (ซึ่งไม่รวมอยู่ในดัชนีการลงทุนภาคเอกชน) เนื่องจากผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มลงทุนหลังจากได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนและใบอนุญาต รง.4 แต่โดยรวมยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้นจากเดือนมิถุนายน หดตัว -2.7 เป็น -3.4 ในเดือนกรกฎาคม
ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังทรงตัว เนื่องจากผู้ประกอบการยังเร่งระบายสินค้าคงคลังที่เก็บไว้ 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ โดยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (ปรับฤดูกาลแล้ว) หดตัวลดลงจากเดือนมิถุนายนที่หดตัว -2.8% เหลือ -0.1% ในเดือนกรกฎาคม
“ผู้ประกอบการก็ได้ระบายสินค้าคงคลังมาหลายเดือนแล้ว มาถึงจุดที่ถ้าอุปสงค์ไปต่อได้ ก็จะเริ่มขยายระดับการผลิตได้ ส่วนการลงทุนยังไม่ได้เห็นชัดเจนมากนักแต่ก็มีสัญญาณที่ดีขึ้น” ดร.รุ่งกล่าว
ด้านเถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะปรับตัวหลังจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานมีมติปรับลดราคาน้ำมันลงเมื่อ 28 สิงหาคม 2557
“การลดราคาพลังงานลง คงมีผลทั้งในทันทีและเฉลี่ยทั้งปี ก็คงจะเห็นการปรับลดของค่าประมาณกลางเราลงไปบ้าง แต่ไม่ถึงกับมาก แต่เงินเฟ้อพื้นฐานคงไม่มีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นการปรับลง ซึ่งมักจะไม่ส่งผ่านเหมือนการปรับขึ้น” ดร.รุ่งกล่าว
สำหรับภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ดร.รุ่งระบุว่า ต้องรอการประเมินใหม่หลังประชุมคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนหน้า แต่คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง แม้จะค่อยๆ ทยอยปรับตัวดีขึ้นก็ตาม
“ถ้าให้มองตอนนี้ คิดว่าเครื่องยนต์ต่างๆ มันไม่ได้มีเครื่องยนต์เดียว แต่มันหลายเครื่องยนต์และเริ่มทำงานมากขึ้น แต่ว่าจะบอกว่ามันทำงานเต็มที่ แล้วมีพระเอกตัวเดียวก็อาจจะยังไม่ถึงขนาดนั้น ก็เป็นเรื่องของการช่วยเหลือกันแต่ละเครื่องยนต์ อย่างการบริโภคที่เริ่มไปได้ การลงทุนก็เริ่มมีสัญญาณเบื้องต้นว่าจะดีขึ้นแต่ยังไม่ชัดเจนมากนัก การคลังก็ขับเคลื่อนมากขึ้น ส่วนการส่งออกก็ยังคงรออยู่” ดร.รุ่งกล่าว