เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ผลงานแรกคือการอนุมัติเงินเพื่อจ่ายให้แก่ชาวนาที่เข้ารวมโครงการจำนำข้าวที่กำลังเดือดร้อน เนื่องจากไม่ได้รับเงินมาแล้วกว่า 6 เดือน และมาตรการแก้ไขปัญหาอื่นๆ โดย คสช. ประกาศแนวนโยบายชัดเจนว่าไม่เอา “ประชานิยม”
ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ที่ผ่านมา คสช. คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อแก้ไขปัญหาแก่ชาวนา และจัดการเรื่องข้าวที่คั่งค้างโดยเฉพาะ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหนึ่งในชุดทำงานที่มีส่วนร่วมและมีส่วนนำเสนอนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวนาในเบื้องต้น สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ถึงมาตรการช่วยเหลือชาวนาในฤดูการผลิตปี 2557/58 นี้ว่า
“โดยภาพรวมขณะนี้เท่าที่ผมติดตามสถานการณ์โดยปัจจุบัน เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาก็เริ่มที่จะปรับสภาพการผลิตของตัวเกษตรเอง ผมคิดว่าเมื่อสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะมาตรการของภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลง และภาวการณ์ตลาดเริ่มกลับมาทำงานตามปกติ เกษตรกรก็ปรับตัวของเขาเอง ข้อมูลนี้มาจากการพูดคุยกับเกษตรกรชาวนา จากแกนนำชาวนา และผู้ประกอบการค้าข้าว โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงสีก็ให้ข้อมูลสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน”
ทั้งนี้ ชาวนาเขาพยายามที่จะดูแลการทำกินให้อยู่รอดได้ในสภาพที่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เห็นได้ชัดขณะนี้คือ เขาเริ่มที่จะวางแผนการปลูกข้าวในช่วงเวลาที่เหมาะสม แล้วก็พบว่าในบางพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการผลิต ก็เริ่มที่จะเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นพืชอื่น
“อันนี้ได้รับคำยืนยันจากกลุ่มผู้ประกอบการที่เขาขายเมล็ดพันธุ์ก็ดี กลุ่มโรงสี เขาบอกว่าเดี๋ยวนี้ในพื้นที่เขาเริ่มปรับเปลี่ยนไปแล้ว เพราะเขาไม่มั่นใจว่าต่อไปจะมีโครงการของภาครัฐจะเข้ามาดูแลในเรื่องของผลผลิตข้าวเขาได้มากเหมือนกับช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา”
จากเหตุผลนี้ เข้าใจว่าพื้นที่การปลูกข้าวจะน้อยลง จากเดิมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประมาณการว่าข้าวนาปี 2557/58 น่าจะออกมาประมาณ 28 ล้านตันข้าวเปลือก ล่าสุดเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับข้อมูลส่วนหนึ่งว่าทางกระทรวงเกษตรฯ เริ่มปรับการพยากรณ์ใหม่ เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวมีการเปลี่ยนแปลง เขาคิดว่าน่าจะลดลงไปประมาณ 2 ล้านตัน เพราะฉะนั้น ปริมาณข้าวนาปีน่าจะเหลือ 26 ล้านตัน ไม่ใช่ 28 ล้านตันข้าวเปลือกของข้าวรวมทั้งหมดของนาปี อันนี้เป็นส่วนที่ 1
ส่วนที่ 2 เกษตรกรเองพยายามที่จะปรับการผลิตที่จะต้องเน้นเรื่องคุณภาพ แล้วก็ให้ตรงตามความต้องการตลาดขณะเดียวกันก็ต้องบริหารต้นทุนการผลิต เพราะว่าเห็นแล้วว่าราคาข้าวที่เขาสามารถผลิตและขายได้น่าจะอยู่ที่ราคาตลาดตามปกติ เนื่องจากในระดับนโยบายส่งสัญญาณมาค่อนข้างชัดในรอบเดือนที่ผ่านมาว่าจะไม่เข้ามาแทรกแซงตลาด ปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน ไม่มีนโยบายประชานิยม หมายความว่า ไม่มีจำนำ ไม่มีประกันรายได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้ตัวเกษตรกรเองเขาต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด
“ชาวนาเขาจะยอมรับราคาข้าวได้ที่ราคาเท่าไร เท่าที่พูดคุย ถ้าเป็นข้าวขาว 100% เขาบอกว่าถ้าได้ราคาประมาณ 8,000-8,500 บาท เขาก็อยู่ในระดับที่เขายอมรับได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แสดงว่าถ้าเขายอมรับราคาที่เขาขายได้ก็คำนวณย้อนกลับมาว่าราคาต้นทุนเขาจะเป็นเท่าไร เมื่อบวกกลับคืนไปแล้วก็ทำให้เขามีความกังวลว่า เขาอาจจะได้รับผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า ก็เลยมีการเสนอความคิดไปยัง คสช. ว่าจะช่วยเขาได้อย่างไรบ้าง”
โดยภาพรวม หลังจากที่ช่วงปลายของรัฐบาลที่แล้ว (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) กับช่วง 2 สัปดาห์แรกที่ คสช. เข้ามาบริหาร ทางผมก็ได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับเกษตร เก็บข้อมูล เขาก็บอกว่าถ้ามีนโยบายช่วยเขาเพิ่มปริมาณข้าวเปลือกสักตันละ 1,000-1,500 บาท/ตันเขายอมรับได้
ประกอบกับมีความชัดเจนเรื่องของนโยบายว่าจะไม่มีนโยบายจำนำข้าว และกลไกตลาดเริ่มทำงานดีขึ้นแล้ว อาทิ ระบบการขายข้าวของคณะกรรมการระบายข้าวก็มีภาพชัดเจนขึ้นว่ามันจะไม่เร่งระบายแล้ว เพราะว่าหลังจากที่เรามีแหล่งเงินจ่ายในโครงการจำนำข้าวแล้วก็ไม่ต้องไปเร่งขายข้าวในโครงการ พอข้าวในโครงการไม่ออกมาขาย ราคาตลาดก็ถีบตัวขึ้นไปตันละ 500 บาทโดยประมาณ ถึงตอนนี้ผมเข้าใจว่าวิ่งไปเกือบๆ 1,000 บาทแล้ว
“มีการพูดคุยกันในระดับนโยบายกับผู้ประกอบการเหมือนกันว่าราคาข้าวควรจะเป็นเท่าไร แล้วกลไกตลาดจะทำงานได้ดีแค่ไหน เขาบอกว่าเขามั่นใจเลยว่าถ้ารัฐบาลไปบริหารข้าวในสต็อกดีๆ ไม่ทุ่มขายออกมา เขาบอกว่าแทบไม่ต้องทำอะไรเลย เขามั่นใจว่าราคาข้าวต้องเพิ่มสูงขึ้น”
ไทยพับลิก้า : แต่การระบายข้าวในสต็อกเก่า ยังไงก็ต้องระบายใช่ไหม
ต้องระบาย แต่ตอนนี้ก็ต้องนิ่ง เพราะเขาสั่งห้ามเคลื่อนย้ายข้าว เอากุญแจดอกที่ 4 ไปคล้องไว้ที่โรงสี ไว้ในโกดังข้าวแล้ว ราคาข้าวมันก็ขึ้น แล้วก็ขึ้นจริงๆ ด้วย เพราะฉะนั้นตอนนี้ราคาข้าวถีบตัวขึ้นมาแล้ว เพียงแต่ว่าอาทิตย์ที่แล้วกับอาทิตย์นี้ผมไม่ได้เช็คว่าราคาเป็นเท่าไร อันนี้คือบรรยากาศทั่วไป
เพราะฉะนั้น โดยภาพรวมขณะนี้คือ
1. ปริมาณข้าวที่จะออกมามันลดน้อยลง เกษตรกรปรับตัว แล้วปรากฏว่าพอเราตรวจสอบไปตอนนี้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในหลายพื้นที่มันแล้ง แต่ชาวนาหว่านครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ไปแล้ว เพราะอย่างนั้นปริมาณผลผลิตก็ยิ่งตกลงไปอีก ซึ่งผมคิดว่าคงต้องมีการประมาณการรอบที่ 3 อีกว่าตกลงจะเป็นเท่าไร แต่ ณ วันนี้ ประมาณการเบื้องต้นว่าปริมาณข้าวฤดูผลิตนี้น่าจะน้อยลงไป 2 ล้านตันข้าวเปลือกแล้ว
ข้าวในโกดังของรัฐบาลเริ่มระบายน้อยลง เริ่มมีความชัดเจนว่าจะไม่ทุ่มขายแบบทั่วไป ไม่เร่งต้องการเอาเงินมาแล้ว เพราะฉะนั้นกลไกตลาดเริ่มทำงาน ผู้ประกอบการข้าวถุงก็ดี ข้าวส่งออกก็ดี เขาก็ต้องหาซื้อข้าว เขาก็เริ่มให้ราคา ราคาตลาดก็ถีบตัวสูงขึ้นไปแล้ว อันนี้คือโดยภาพรวมก่อน
2. ในระดับนโยบาย หลังจากที่ คสช. เข้าบริหาร ก็มีตั้ง นบข. (คณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว) แล้วก็มีอนุกรรมการขึ้นมาอีก 3 คณะ ก็มีการพูดคุยว่าจะช่วยชาวนาอย่างไร เมื่อนโยบายชัดเจนว่าไม่มีประชานิยมแล้วก็มาเน้นเรื่องลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร ก็จะใช้กลไกของภาครัฐเข้ามา โดยผ่านระบบของกระทรวงเกษตร
กระทรวงเกษตรทำอะไรบ้าง นโยบายคือดูแลเรื่องของเมล็ดพันธุ์ข้าว ปัจจัยการผลิต แล้วกระทรวงพาณิชย์ก็จะมาดูและเรื่องของการควบคุมที่อาศัยกลไกของกระทรวงพาณิชย์
สำหรับนโยบายการลดต้นทุนการผลิตโดยภาพรวม คาดว่าน่าจะลดต้นทุนได้ประมาณ 432 บาทต่อไร่ ซึ่งก็จะประกอบด้วย
– การขอความร่วมมือผู้ประกอบการปุ๋ยเคมี เรียกบริษัทปุ๋ยมาคุย เขาบอกว่าฤดูการผลิตนี้เขายินดีที่จะให้ความร่วมมือ คาดว่าน่าจะลดราคาปุ๋ยที่ขายอยู่ตามท้องตลาดลงมาที่ราคาแนะนำของกระทรวงพาณิชย์ ควบคุมไปถึงระดับพื้นที่ลงไร่ละประมาณ 40 บาท
– ค่าเคมีเกษตร ยาปราบศัตรูพืชประมาณ 20 บาทต่อไร่
– ค่าเมล็ดพันธุ์ กรมข้าวเขามั่นใจว่าเขามีเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านระบบของเขา แล้วก็ขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่มีอยู่ 2-3 บริษัทที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ด้วย ลดได้ประมาณ 122 บาท/ไร่
– รถเกี่ยวข้าวเมื่อไปผ่านสมาคมของผู้ประกอบการก็น่าจะลดลงมาได้สัก 50 บาท
– สุดท้ายก็คือ ค่าเช่าที่นา ต้องยอมรับว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา พอราคาจำนำมันสูงขึ้นไปมาก เจ้าของที่นาให้เช่าเขาก็ไป top up ราคาเช่าเข้าไป พอตอนนี้ก็บอกว่าราคาหดลงมาเขาก็ยอมถอยกลับคืนมา
ก็ใช้กลไกของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเข้าไป คาดว่าน่าจะลดลงมาได้ไร่ละ 500 บาท จากเดิมราคา 1,000 บาท ตอนนี้คิดว่าน่าจะถอยกลับมาที่ 500 บาท
ไทยพับลิก้า : ราคาค่าเช่านาลดลง 500 บาทต่อไร่
ใช่ ต่อไร่ ต่อรอบการผลิต อันนี้คือราคาลดไม่ใช่ราคาเช่า ตอนที่มีโครงการจำนำข้าวในช่วงที่ผ่านมา ราคาค่าเช่าไร่ละประมาณ 1,000-1,200 บาท/ครอป ถ้าแปลงงามๆ สวยๆ ถึง 1,500 บาทก็มี แต่ว่าเดิมที่เราถามก่อนหน้านี้ราคาเช่าที่นา 500 บาทเอง ก็น่าจะถอยลงไปที่ 500 หรือ 700 บาท อันนี้เขาคิดว่าเขาน่าจะลดค่าเช่านาได้โดยเฉลี่ยไร่ละ 200 บาท
ดังนั้น ถ้ากลไกตลาดทำงาน ต้นทุนรวมก็จะลดลงได้ 432 บาท/ไร่
เมื่อสักครู่ที่ผมบอกว่าพอราคาข้าวเขาขายตามกลไกตลาด มันดีดตัวขึ้นไป แทนที่มันจะตกต่ำลงมา ตอนนี้ขึ้นไปแล้ว 500 บาท 800 บาท ได้เพิ่มแล้วลดต้นทุนอีก ชาวนาก็ยังพอไปได้ อันนี้คือมาตรการหลัก
ไทยพับลิก้า : แล้วมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ
ส่วนมาตรการเสริมเขาก็จะใช้กลไกของธนาคารเข้ามาช่วย จากการหารือกัน ประกอบด้วย 4 โครงการของธนาคารเอง(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)
มาตรการที่ 1 คือ โครงการลดดอกเบี้ยสำหรับชาวนาที่มากู้เงินไปทำนาข้าวโดยลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 6 เดือน แล้วก็กำหนดวงเงินว่า ที่ลดดอกเบี้ยนี้เน้นให้กับชาวนารายย่อย กล่าวคือ สำหรับชาวนาที่เป็นหนี้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท หมายความว่าใครก็ตามที่กู้เงินไปทำนาข้าวไม่เกิน 5 หมื่นบาท จะได้รับการลดดอกเบี้ย 3% เป็นระยะเวลา 6 เดือน 3% ที่ลดลงไป ทางรัฐก็จัดตั้งงบประมาณมาชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร อันนี้กรอบวงเงินจะใช้ประมาณ 2,292 ล้านบาท โดยคำนวณจากชาวนาที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรทั้งหมดในปี 2556 ประมาณ 5.7 ล้านครอบครัว
แล้วก็เราคิดว่า ถ้าทั้งหมด 5 ล้าน 7 แสนครอบครัว คิดเป็นวงเงินเฉลี่ยที่ 5 หมื่นบาท/ราย ตามที่ขึ้นทะเบียนคือ 3.57 ล้านราย
ไทยพับลิก้า : ลด 3% แล้วดอกเบี้ยจริงๆ เท่าไร
ดอกเบี้ยจริงๆ เฉลี่ยตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 7% ลด 3 ก็เหลือ 4% คือดอกเบี้ย ธ.ก.ส. สำหรับเกษตรกรชั้นดีประมาณ 7% อันนี้เป็นดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นดีแล้ว รายย่อยชั้นดี อันนี้คือมาตรการที่ 1
มาตรการที่ 2 ก็คือมาตรการที่จะทำให้กลไกตลาดทำงานคือเราจะเติมสภาพคล่องให้กับระบบสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร เข้ามาทำหน้าที่ในการรวบรวมข้าวจากสมาชิก เพื่อให้สหกรณ์ได้มีเงินทุนหมุนเวียนไปรวบรวมหรือซื้อข้าวจากสมาชิก แล้วก็เอาข้าวมาขายต่อให้โรงสี วงเงิน 18,000 ล้านบาท
แล้วก็มีวงเงินอีก 2,000 ล้านบาท เพื่อที่จะให้สหกรณ์ไปซื้อข้าวมาแล้วสีแปรรูปเป็นข้าวสาร แพ็คเป็นข้าวถุงขาย หรือข้าวสารเกรดพรีเมียม รวมวงเงินนี้ช่วยเหลือในส่วนนี้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ก็เป็นวงเงินสำหรับให้สหกรณ์การเกษตร หรือกลุ่มเกษตรกร ให้มีขีดความสามารถในการทำธุรกิจข้าว
ผมคิดว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะว่า 3 ปีที่ผ่านมาระบบสหกรณ์ก็ไม่ได้เข้ามามีบทบาทในเรื่องกลไกตลาดทั้งๆ ที่เขาเป็นสถาบันของเกษตรกร ซึ่งผมเองได้พยายามพูดเรื่องนี้ในทุกเวที แต่ว่าในหลายครั้งทางกรรมการที่เกี่ยวข้องหลายคนยังมองว่าระบบสหกรณ์ยังไม่มีความพร้อม แต่เราเองก็พยายามสนับสนุนในฐานะที่เราเป็นสถาบันการเงิน เป็นสถาบันเกษตรกรด้วย เราก็บอกว่าความจริงเรามีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่กำกับดูแลก็เป็นพี่เลี้ยงได้ แล้วก็มีสหกรณ์หลายแห่งที่เขาเข้มแข็ง แม้มีโครงการจำนำข้าว 3 ปีที่ผ่านมาเราก็ยังเห็นสหกรณ์หลายแห่งที่เขามีขีดความสามารถในการซื้อข้าวสู้กับราคาจำนำ เขาซื้อที่ 2 หมื่นบาทด้วยซ้ำ ข้าวหอมมะลิ แล้วทำเป็นข้าวถุงขายก็มีอยู่
ปีนี้เราก็เตรียมวงเงินนี้ขึ้นมา 2 หมื่นล้านบาท โดยมีความเชื่อว่าสหกรณ์จะไปรวมข้าวจากสมาชิกได้ประมาณ 3-4 ล้านตันข้าวเปลือก ถ้าเข้ามาในระบบได้จะยิ่งทำให้กลไกตลาดทำงานดีขึ้น ผมมองว่าสหกรณ์เขาอยู่ในแต่ละอำเภอ กลุ่มเกษตรกรอยู่ในแต่ละตำบล ถ้าเขาเห็นว่าในตำบลนี้มีแปลงนาข้าวที่ผลิตข้าวมีคุณภาพ เป็นข้าวที่เป็นความต้องการของตลาด เขาก็จะไปซื้อข้าวจากเกษตรกรเหล่านั้นมา การที่สหกรณ์เข้าไปซื้อข้าวมา เท่ากับมีผู้ซื้อเข้าไปซื้อข้าวจากสมาชิกโดยตรงเพราะเป็นสมาชิกของเขา หรือกลุ่มเกษตรกรไปซื้อ พ่อค้าที่เขาต้องการข้าวเขาก็ต้องการด้วยเขาก็ต้องเข้าไปซื้อด้วย เพราะอย่างนั้นจึงเกิดการแข่งขัน จากเดิมที่สหกรณ์ไม่เข้าไปซื้อวันนี้สหกรณ์การเกษตรเข้าไปซื้อแล้ว มันจะเกิดเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ด้านราคา ผมมองว่าอย่างนั้นนะ กลไกตลาดจะทำงาน เกษตรกรจะมีทางเลือกว่าจะขายให้สหกรณ์หรือจะขายให้กับพ่อค้า อันนี้ภาพที่หนึ่ง
แต่ภาพที่สอง เราเชื่อว่ามีสมาชิกอยู่จำนวนไม่น้อยที่ทำข้าวคุณภาพเกรดพรีเมียม เรามั่นใจว่าข้าวเหล่านี้ยังไงก็ตามเขาไม่ขายให้เอกชนอยู่แล้ว เขาต้องขายให้กับสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่ทำข้าวถุงที่เราซื้อข้าวถุงขายกัน แม้กระทั่ง สกต. (สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.) ของ ธ.ก.ส. ก็ทำอยู่
เพราะฉะนั้นพ่อค้าต้องไปบวกราคาจากราคาที่สหกรณ์ซื้อเขาจึงขายให้กับพ่อค้า ถ้ามีสมาชิกที่มีวินัยดีๆ เขาไม่ขายให้อีก ผมคิดว่าโอกาสที่เอกชนจะได้ข้าวไปจะไม่มี อันนี้คือกลไกตลาดที่มันจะทำงาน จากระบบที่เราให้สินเชื่อ ซึ่งวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท
แต่ว่าในโครงการนี้ธนาคารคิดดอกเบี้ยปกติ คือ MLR คือ ร้อยละ 5 เพราะฉะนั้นเราก็ขอให้รัฐอุดหนุนด้านการเงิน คือ MLR-1 ก็คือ ร้อยละ 4 โครงการนี้รัฐก็จะอุดหนุนดอกเบี้ยประมาณ 600 ล้านบาท อนุมัติงบประมาณแล้วเห็นชอบแล้ว แล้วก็เราขอว่าเนื่องจากเราให้สินเชื่อแก่สหกรณ์มันก็ต้องมีหลักประกันที่มั่นคง เราก็จะให้สหกรณ์ทำประกันภัยด้วย ค่าเบี้ยกระกันเราให้รัฐเป็นคนจ่ายให้แก่สหกรณ์วงเงิน 100 ล้านบาท อันนี้วงเงินประมาณ 700 ล้านบาท อันนี้เป็นโครงการที่สอง
ไทยพับลิก้า : จำนวนสหกรณ์มีเท่าไหร่
สหกรณ์ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 500 สหกรณ์ ที่เราหารือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์เรากำลังให้กรมคัดสรรสหกรณ์ที่มีขีดความสามารถ มีความพร้อม มีฉาง มีลานตาก หรืออาจจะไปเช่าฉางเอกชนก็ได้ รวมทั้งกลุ่มเกษตรกร คิดว่าน่าจะเข้าโครงการไม่น้อยกว่า 400 สหกรณ์ จาก 464 สถาบัน ที่จะเข้ามาร่วม ปริมาณข้าวเราตั้งใจว่าจะให้เข้ามาในระบบนี้ประมาณสัก 3-4 ล้านตันข้าวเปลือก
ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมาเคยส่งเสริมสหกรณ์อย่างนี้ไหม
ไม่ได้ทำแบบนี้ ผมเสียดายมาก ที่ผ่านมาในระดับนโยบายบายเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับสหกรณ์ เราเสียโอกาสไปมาก เราพยายามผลักดัน ที่ผมกล้าพูดเรื่องนี้ เพราะว่าผมได้เสนอในที่ประชุม และผมได้พยายามคุยกับผู้ใหญ่หลายคนนอกรอบ ว่าผมจะเสนอมาตรการนี้ แล้วก็ให้ช่วยด้วยแต่ไม่ได้รับการตอบรับ
แล้วในที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. เองเรามีท่านอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์นั่งเป็นบอร์ดด้วย มีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นรองประธาน ท่านก็ฝากเรื่องนี้ให้กับฝ่ายจัดการในที่ประชุมบอร์ด แล้วผมก็รับมอบหมายในเรื่องนี้ ในทุกเวทีที่ผมไปมีส่วนร่วม ผมก็จะไปผลักดัน ซึ่งผมก็ทำตามที่พูดแต่ก็ยังผลักดันไม่สำเร็จในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าเสียดาย
เพราะโครงการจำนำ เรามีค่าใช้จ่ายในหลายกิจกรรม แต่ที่เราเห็นแน่ๆ คือ เราต้องเอาข้าวเปลือกมาแล้วสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารไปเก็บในโกดังกลาง เราต้องจ่ายค่าสีข้าวเปลือกตันละ 500 บาท แล้วค่าเก็บรักษาค่าฝากค่าโน่นนี่นั่นอีกเยอะแยะ ตกทั้งระบบโครงการจำนำทุกๆ 1 ตันข้าวเปลือก คิดหยาบๆ มีค่าใช้จ่ายมากกว่า 1,000 บาท
ถ้าคิดแบบเร็วๆ สมมติถ้าข้าวมาจำนำ 100 ตัน รัฐต้องเสียค่าใช้จ่าย กับถ้าข้าวมาจำนำแค่สมมติ 50 ตัน อีก 50 ตัน ระบบสหกรณ์ทำงานดูดซับข้าวเข้าไป รัฐไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เมื่อสหกรณ์มาดูดซับข้าวไป รัฐก็ไปสนับสนุนสหกรณ์ได้ไหม แล้วสหกรณ์ก็จะเข้มแข็งใช้เงินน้อยกว่านี้ด้วย เพื่อให้กลไกตลาดมันทำงาน
ไทยพับลิก้า : ถ้าใช้กลไกนี้เข้ามาช่วย จริงๆ แล้วมันสามารถลดภาระของภาครัฐ ได้มากพอสมควร
แน่นอน แต่ว่าความสามารถของสหกรณ์มันทำได้ไม่ทั้งหมด ในข้าว 100% มันอาจจะทำได้ 5% หรือ 10% แต่ว่า 5% 10% มันช่วยส่วนหนึ่ง แล้วใช้อีกหลายๆ มาตรการเข้ามาในเรื่องของการดูแลเสถียรภาพราคาผมว่ามันมีหลายมาตรการ อันนี้เป็นหนึ่งในมาตรการ และจะมีมาตรการของกระทรวงพาณิชย์อีก
ไทยพับลิก้า : ถ้ากลไกสหกรณ์ทำงาน ชุมชนจะเข้มแข็ง
ใช่ ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งเขาต้องเข้มแข็ง สหกรณ์ที่เข้มแข็งอยู่แล้วก็จะเข็มแข็งต่อไป ส่วนสหกรณ์ไม่เข้มแข็งเขาก็พัฒนาตัวเขาเอง คือเราพยายามทำให้กลไกมันทำงาน
มาตรการที่ 3 เป็นโครงการสินเชื่อเพื่อรอการขายข้าว อันนี้ก็คือเรามองว่าเกษตรกรภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขาทำข้าวหอมมะลิกับข้าวเหนียว ซึ่งข้าว 2 ชนิดนี้มันมีตลาดรองรับค่อนข้างแน่นอน และเกษตรกรเหล่านี้จะมียุ้งฉางเป็นของตนเอง ปกติเดิมก่อนหน้าที่หลายปีก่อนธรรมชาติของเกษตรกรเหล่านี้เขาจะเก็บข้าวขึ้นยุ้งรอการขาย รอราคาแล้วเขาจะขาย เราก็อยากให้เกิดกิจกรรมแบบนี้มันกลับมา ถ้าราคาดีเขาก็ขาย ถ้าราคาไม่ดีก็เก็บไว้ก่อน ในระหว่างเก็บข้าว ถ้าเขามีความจำเป็นต้องการใช้เงิน ธนาคารก็จะให้เงินกู้ไปหมุนเวียนก่อน เรียกว่าเงินกู้เพื่อรอการขายผลิตผล
เพราะฉะนั้น เราก็จะมีโครงการให้เขานั้นเก็บข้าวเปลือกขึ้นยุ้ง ตากให้แห้งแล้วเก็บขึ้นยุ้ง แล้วเราก็จะใช้ข้าวเป็นหลักประกัน เราก็จะให้เงินกู้เขาไประหว่างรอขายข้าว เราก็เสนอเป็นโครงการไป คิดว่าจะทำประมาณ 1.5 ล้านตันในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เราจะให้เขากู้เงินได้ในระยะเวลา 4 เดือน นับจากเดือนที่รอการขายข้าวที่เขามาขอสินเชื่อจากเรา แล้วก็ดอกเบี้ยเราขอให้รัฐบาลชำระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร
ทีนี้ เพื่อให้เป็นการรอการขายที่สมเหตุสมผลตามหลักการให้สินเชื่อของเราแต่เดิม เราก็จะให้สินเชื่อ 80% ของราคาตลาด เพราะฉะนั้นเราก็จะคิดราคาตลาด ปีนี้เราก็มองกันว่าราคาตลาดควรจะเป็นเท่าไร ข้าวหอมมะลิ เราประมาณการราคาตลาดน่าจะอยู่ที่ประมาณ 16,000 บาท/ตัน เราก็จะให้สินเชื่อไป 80% ก็ 12,800 บาท/ตัน เป็นเงินที่เราจะให้สินเชื่อโดยที่เกษตรกรไม่ต้องรับภาระดอกเบี้ย อันนี้คือมาตรการเสริมอีกมาตรการหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่ามาตรการนี้ก็จะไปช่วยสนับสนุนมาตรการที่ 2 ที่กล่าวมาคือกลไกการรวบรวมข้าวของสหกรณ์การเกษตร
หมายความว่าวันนี้เกษตรกรมีทางเลือก ทางเลือกที่ 1 ขายข้าวเลย ถ้าราคาพอใจ ขาย ทางเลือกที่ 2 มีสหกรณ์มาซื้อ พอใจก็ขายสหกรณ์ ทางเลือกที่ 3 เก็บข้าวเพื่อรอขาย เราก็จะไปบอกสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกร เพราะเรารู้ว่าข้าวอยู่ในยุ้งฉางเกษตรกรบ้านไหนตำบลไหนที่เป็นข้าวที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นยุ้งฉางของเกษตรกรก็จะเหมือนแก้มลิงเล็กๆ ที่เก็บข้าวไว้ ที่สหกรณ์ไม่ต้องมาเก็บ พ่อค้าไม่ต้องมาเก็บ เกษตรกรเก็บไว้แล้ว
แล้วคุณก็ไปดูสิ ถ้ามีรายการสั่งซื้อข้าว คุณต้องการข้าวเปลือกไปสีเป็นข้าวสารก็สามารถไปซื้อได้เลย เขาก็เลือกขายได้ อันนี้ผมคิดว่าจะทำให้กลไกตลาดทำงาน ตรงนี้เราคิดว่าเราพยายามดึงดูดซับให้ได้ประมาณ 1.5 ล้านตันข้าวเปลือก โดยโครงการนี้เราคิดว่าเราจะสนับสนุนดอกเบี้ยประมาณ 1,120 ล้านบาท โดยที่ประมาณการวงเงินที่เราจะใช้ประมาณ 17,280 ล้านบาท(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)
มาตรการที่ 4 เป็นโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชาวนา คือ เราก็อยากให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตัวเอง ก็คือระบบประกันความเสี่ยงความเสียหายจากแปลงนาข้าว ด้วยการทำโครงการประกันภัยข้าวปี 2557/58 ซึ่งกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย และคณะกรรมการบริหารและกำกับระบบประกันภัย (คปภ.) เข้ามาดูให้เกิดความเป็นธรรม ก็เลยเกิดโครงการประกันภัยข้าว ประมาณการเป้าหมาย 1.5 ล้านไร่
ทั้งนี้ให้เกษตรกรซื้อประกันโดยกำหนดค่าเบี้ยประกันตามความเสี่ยงของพื้นที่ คือระบบประกันที่เราทำโครงการนี้ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ได้มีการเก็บสถิติย้อนหลัง 8 ปีจากพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง น้ำท่วมวาตภัย พายุลูกเห็บ ดินถล่ม แผ่นดินไหว แมลงศัตรูพืช พอได้สถิติย้อนหลัง 8 ปี เราก็กำหนดความเสี่ยงเป็น 5 ระดับ
พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำโอกาสเกิดภัยน้อยค่าเบี้ยก็จะถูก พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงโอกาสเกิดภัยมากค่าเบี้ยก็จะแพง บริษัทประกันภัยโดยสมาคมประกันวินาศภัย และ คปภ. ก็ไปศึกษาวิเคราะห์ตามระบบของคณิตศาสตร์ประกันภัยแล้วค่าเบี้ยต่ำสุดไร่ละ 120 บาท สูงสุด 475 บาท แบ่งเป็น 5 ระดับ 120-230 ไล่เรียงลงไป เราก็เสนอโครงการว่า เพื่อที่จะกระตุ้นให้เกษตรกรบริหารความเสี่ยงด้วยตัวเอง แล้วก็รัฐเข้ามาสนับสนุนเขา ก็ขอให้เกษตรกรออกค่าเบี้ยครึ่งเดียว ขั้นต่ำ 60 บาท/ไร่ แล้วถ้าทุกๆ ความเสี่ยงให้เกษตรกรเพิ่มความเสี่ยงไร่ละ 10 บาท เพราะฉะนั้นเกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกัน 60, 70, 80, 90 และ 100 บาทสูงสุด ที่เหลือรัฐจ่ายร่วมกับ ธ.ก.ส. เราสมทบค่าเบี้ย ถ้าเป็นลูกค้าไร่ละ 10 บาท
ดังนั้น ถ้าต่ำสุด ค่าเบี้ย 120 บาท รัฐออกให้ครึ่งหนึ่ง 60 ธ.ก.ส. ออกให้ 10 บาท เกษตรกรจ่ายแค่ 50 บาท ถ้าเสี่ยงสูงสุด 475 บาท เกษตรกรออก 100 บาท ธ.ก.ส. ช่วยไป 10 บาท เกษตรกรก็เหลือแค่ 90 บาท ที่เหลืออีก 375 บาทรัฐออก อันนี้คือภาพของโครงการทั้งหมด
อันนี้ก็จะเป็นโครงการหนึ่งที่ผมคิดว่าจะทำให้เกษตรกรมีส่วนร่วม แล้วถ้าเราให้ความรู้เขามากขึ้นก็จะทำให้เขาเกิดความเข้าใจว่าเขาต้องบริหารความเสี่ยงด้วยตัวเองแล้ว ระบบนี้ผมคิดว่าจะเป็นสุดยอดของพัฒนาการในระบบการประกันภัยพืชผล ซึ่งผมยังฝันว่าในปีสองปีนี้เราจะผลักดันให้ความรู้และทำเรื่องนาข้าว จะขยายไปที่ข้าวโพด มันสำปะหลัง และพืชอื่นๆ ก็จะทำให้ลดภาระด้านงบประมาณของภาครัฐ หมายความว่ากลไกในระบบประกันภัยเราก็จะดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการมาจัดการตรงนี้ เพราะว่าในแต่ละปีรัฐก็จะมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของระบบการจ่ายค่าความเสียหายจากภัยพิบัติทั้งหลายประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท/ปี
ซึ่งในปี 2556 คสช. อนุมัติกรอบวงเงินในการช่วยเกษตรกรไป 5,400 ล้านบาท แล้วปีที่น้ำท่วมใหญ่เราจ่ายชดเชยไปกว่า 21,000 ล้านบาท ผมคิดว่าถ้าระบบนี้เข้ามา มันจะทำงานของมันได้ อันนี้ก็ทำให้เกษตรกรมีส่วนร่วม ซึ่งปีนี้เรากำหนดเป้าหมาย 1.5 ล้านไร่ จะกระจายไปทั่วประเทศ ประกันภัยทั้งระบบ ทางรัฐจะอุดหนุนเงินทั้งหมด 400 กว่าล้านบาท แต่ในปี 2557 ได้รับงบประมาณมาแล้ว 118 ล้านบาท ส่วนงบประมาณเพิ่มเติมอีก 376 ล้านบาท อันนี้ คสช. เห็นชอบกับโครงการนี้แล้ว
ขณะนี้มาตรการช่วยเหลือมีความก้าวหน้าแล้ว คือในหลายพื้นที่ที่เขาปลูกข้าวไปแล้ว แล้วก็อยู่ในช่วงระยะเวลาเงื่อนไขที่โครงการกำหนด ก็คือว่าเขาต้องซื้อประกันภัยใน 45 วันหลังจากปลูกข้าวตอนนี้ก็น่าจะเริ่มขายไปแล้วกว่า 2 หมื่นไร่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2557
ตอนนี้เกษตรกรบางพื้นที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในระบบประกันภัย ซึ่งเราให้คนของเราเข้าไปพูดคุยกับเกษตรกร ประชุมเกษตรกรในพื้นที่
มาตรการที่ 5 คือโครงการสนับสนุนให้เก็บสต็อกข้าวของภาคเอกชน โดยกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปดำเนินการ อันนี้เขาจะขอชดเชยดอกเบี้ย คือช่วยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการร้อยละ 3 คือผู้ประกอบการเวลาเขาไปขอเงินกู้จากสถาบันการเงิน หรือ ธ.ก.ส. ก็แล้วแต่เขา packing credit หมายความว่า ผมอยากจะไปซื้อข้าวสัก 100 ล้านบาท หรือ 50 ล้านบาท แต่ว่าเงินผมมีแค่ 10 ล้าน ขาดอีก 30-40 -50 ล้านบาท ก็ไปกู้ธนาคาร ซึ่งก็ต้องเสียดอกเบี้ย รัฐก็บอกว่ากรณีอย่างนี้มันเป็นการช่วยดึงข้าวเข้ามาในระบบแล้วมาเก็บไว้ รัฐก็จะอุดหนุนดอกเบี้ยให้เขา 3% อันนี้กระทรวงพาณิชย์จะไปดำเนินการ
ผมคิดว่ามาตรการทั้งหมดนี้จะทำได้มากน้อยแค่ไหนความสำเร็จมันไม่ได้วัดที่ผลของการที่เราจะให้สินเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน ให้สินเชื่อเพื่อรอการขายข้าวได้กี่ตัน แต่ผมคิดว่าตัวผลลัพธ์ที่เราต้องการคือ ดูแลราคาให้มีเสถียรภาพ แล้วก็กลไกตลาดทำงาน ราคาข้าวสูงขึ้น แม้เราทำโครงการได้น้อย แต่ราคาข้าวสูงขึ้น อันนั้นผมคิดว่าประสบความสำเร็จ
“ผมพูดมาตลอดว่า โครงการดูแลเสถียรภาพราคาข้าวจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นไม่ได้อยู่ที่ผลการดำเนินงานของโครงการ ไม่ได้วัดที่ปริมาณของเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ เม็ดเงินสินเชื่อที่เราจ่าย ปริมาณข้าวที่เรารวบรวมอันนี้ยังไม่ใช่ความสำเร็จของโครงการ แต่ความสำเร็จของโครงการเมื่อประกาศนโยบายแล้วนโยบายนี้ได้ไปดำเนินการจริง แล้วเกิดกลไกตลาด (market mechanism) แล้วราคาตลาดมีเสถียรภาพราคาสูงขึ้นถือว่าประสบความสำเร็จ บางโครงการแม้เราทำได้แค่ 100 ตัน แต่ว่าราคาข้าวสูงขึ้นก็สำเร็จ บางโครงการแม้ทำได้เป็นล้านตันแต่ราคาข้าวไม่สูงขึ้นก็ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจริงๆ แล้วต้องใช้หลายๆ กลไก หลายๆ มาตรการร่วมกัน”
ไทยพับลิก้า : ในแง่ของยุ้งฉาง มีเพียงพอไหม ต้องไปช่วยอะไรเขาอีกไหม
ตอนนี้เราก็เริ่มสำรวจ เพราะว่าก็ต้องยอมรับความจริงเหมือนกันว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โครงการรับจำนำข้าวทำให้ระบบยุ้งฉางไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ ก็คือว่าพฤติกรรมเปลี่ยนเป็นเกี่ยวสด เขาก็รีบเอาข้าวไปจำนำ เพราะมันได้เงินแน่นอน ก็เลยไม่ได้เก็บข้าวขึ้นยุ้ง
เว้นแต่บางพื้นที่ที่เขายังคงมีประเพณีที่ต้องเก็บข้าวขึ้นยุ้ง ทำขวัญข้าว ปิดยุ้งแล้วไม่เปิด ถึงเวลาแล้วจึงเปิดข้าว วัฒนธรรมนี้ยังมีอยู่ ภาคอีสานยังมีอยู่บางแห่ง วันก่อนผมไปที่จังหวัดพิษณุโลกก็ยังมี เขาบอกเขายังเก็บข้าว เราดูแล้วดีใจ อันนี้เป็นวัฒนธรรมของเขา เราอยากคงตรงนี้ไว้ คราวนี้ยุ้งที่ไม่ได้ใช้หากชำรุดเราก็จะให้สินเชื่อไปต่อยอดให้เขาปรับปรุงยุ้งฉาง รวมทั้งวันก่อนบอร์ด ธ.ก.ส. ได้คุยกันว่า หากชาวบ้านไม่มียุ้งเป็นของตนเอง แต่เขาสามารถรวมกันที่จะทำเป็นยุ้งฉางกลางยุ้งฉางรวมจะได้ไหม เราบอกไม่ขัดข้องเลย เพราะว่าระยะหลังในช่วงที่เราไปส่งเสริมวิสาหกิจชุมชุน มีหลายชุมชนที่เข้มแข็ง แล้วเขาเอาข้าวเป็นผลิตผลหลักของเขา เขาก็มองว่าจะทำอย่างไรดี เขาบอกอย่างนั้น เขามีพื้นที่กลางหมู่บ้านอยู่แล้ว เขามีศาลาอยู่แล้ว เขาไปกั้น 4 ด้านขึ้นมามันก็เป็นยุ้งฉางเก็บข้าวได้แล้ว แทนที่จะเอาไปขายๆ ก็เอามาเข้ายุ้งฉางรวมแล้วเขาก็เอาข้าวนี้ไปสีแปรรูป เพราะฉะนั้นกรณีอย่างนี้เราก็สามารถให้สินเชื่อสนับสนุนเรื่องการสร้าง ปรับปรุง ต่อเติมยุ้งฉางได้
ไทยพับลิก้า : ถึงขั้นจะเป็นห้องแอร์เลยไหม เพราะข้าวหอมมะลิถ้าต้องการให้คงคุณภาพจะต้องเก็บในห้องแอร์
ไม่จำเป็นครับ ในแง่ข้าวเปลือก ข้าวเปลือกเพียงแต่ตากให้แห้ง เก็บเกี่ยวให้มันสุกเต็ม ตากแห้งแล้วขึ้นเก็บก็ใช้ได้แล้ว แล้วผมรับรองเลยว่าเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะว่าสิ่งที่เราพบในโครงการจำนำหลายโครงการที่ผ่านมา พื้นที่ที่เกษตรกรเก็บข้าวดีๆ มักจะไม่ได้ระบายข้าว คือ เกษตรกรไม่ต้องเอาข้าวเข้ามาสู่ระบบระบาย เพราะผู้ซื้อเขาเห็น ถ้าเข้าไปในบ้านนี้เขาบอกว่าบ้านนี้ข้าวสวยจังเลยเขา Top up ราคาเลย เขาบวกตันละ 50 บาท วันนี้ก็ยังมีอยู่
ผมยังได้ยินพ่อค้าบางคนบอกว่าน้ำท่าเป็นอย่างไรปีนี้ พอเขารู้น้ำท่า พอเขารู้พันธุ์ข้าวเกษตรกร พวกนี้เป็นเกษตรกรแบบที่ใช้พันธุ์ข้าวที่ดีอยู่แล้ว แล้วข้าวบ้านนี้เป็นแหล่งที่เขามาสีเป็นข้าวสารแล้วได้ต้นข้าวที่ดี คือได้ข้าวเมล็ดเต็ม เวลาไปทำข้าวถุงในแง่การทำกำไรมันดีเขาบอกอย่างนั้น ราคาตลาดเท่าไรเดี๋ยวผมบวกให้อีก 50 บาท/ตัน อย่างนี้เป็นต้น
ไทยพับลิก้า : ข้าวเน่าที่อยู่ในโกดังต่างๆ ที่บอกให้ชะลอการขายข้าวต้องทำอย่างไร
อันนี้ข้อมูลผมยังไม่ชัดเจน ขอผมเช็คข้อมูลอีกที หลักคืออาจจะมีข้าวบางส่วนที่เก็บไม่ถูกวิธีอาจจะเสื่อมคุณภาพเสียหาย ธ.ก.ส. ไม่มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องนี้ แต่ว่าในแง่ของธนาคารเอง ในฐานะที่เราเป็นอนุกรรมการในทุกชุด เราก็พยายามแนะนำ
ผมเคยเสนอว่าขอทราบความก้าวหน้า ตั้งแต่สีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารว่าสีตามระยะเวลาไหม แล้วส่งมอบครบไหม แล้วผมก็จะถามว่าถ้าเป็นไปได้ผมอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอรายละเอียด ชื่อโรงสีแต่ละจังหวัดว่ามีโรงสีจังหวัดไหนบ้างที่ไม่ส่งมอบข้าวตามระยะเวลาที่กำหนด แล้วผมอยากให้เอารายชื่อนี้ส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปกำกับอีกครั้งหนึ่ง ถ้าโรงสีไหนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ก็ให้คิดค่าปรับ
สอง ผมเสนอว่าน่าจะต้องมีการสุ่มตรวจสอบโกดังเพื่อดูคุณภาพข้าว แล้วก็ในแง่ของการระบาย เราเคยให้ความเห็นไปเหมือนกันว่า ถ้าข้าวที่เราพบว่ามันเสื่อมคุณภาพเพราะเก็บไว้นาน ยิ่งเก็บนานค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนเกิดขึ้น เราก็บอกว่าช่วยคำนวณค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนให้หน่อย และยิ่งเก็บนานข้าวจะยิ่งด้อยค่า กลายเป็นว่าราคาข้าวที่อยู่ในมือเรามันน้อยกว่าราคาค่าเช่าค่าใช้จ่ายที่เสีย ถ้าอย่างนั้นเราให้คำแนะนำว่าตัดสินใจเลยขาย ถ้าขายไม่มีผู้ซื้อบริจาคก็ได้ หรือไปทำอะไรกันก็ได้ ดีกว่าเก็บเอาไว้แล้วเสียค่าเช่า
มันไม่มีเหตุผลที่เราเอาของที่เสื่อมคุณภาพไปฝากแล้วต้องเสียค่าเช่าทุกเดือน เมื่อของมันด้อยค่า เราหยุดความสูญเสียตรงนี้ (stop lost) ตรงนี้ หยุดค่าเช่าซะ
คือกรณีมันมีหลายกรณี อย่างข้าวที่เสียโกดังจะต้องจ่ายเราหรือเปล่าเพราะเขาดูแลไม่ดี ถ้าในสัญญาการฝากเก็บข้าวเจ้าของโกดังต้องรับผิดชอบสินค้าเขาก็ต้องรับผิดชอบ ตอนนี้ก็มีอยู่หลายคดีที่ฟ้องร้องกัน
ไทยพับลิก้า : นโยบายของ คสช. เป็นอย่างไร
เท่าที่โดยภาพรวมก็มีความชัดเจน ขณะนี้ก็เช็คสต็อกให้ชัดเจนว่ามีครบไม่ครบ มีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพ แล้วก็มาดูช่องทางการระบายว่าจะระบายอะไรอย่างไร เป็นการจัดการอย่างมีระบบอยู่ ของใหม่ก็จะไม่ทับเข้าไปอีก เพราะอย่างนั้นมันทำให้เกิดภาพชัดเจนเห็นอนาคตของตลาดข้าว ผู้ประกอบการเขาเห็นแล้ว เพราะฉะนั้นข้าวของใหม่มาเขาก็ต้องซื้อ
ไทยพับลิก้า : อย่างนี้มีการขึ้นบัญชีดำผู้ประกอบการไม่ดี ไม่ว่าโรงสี โกดัง จะมีไหม
มี ต้องมี เราจะพยายามพูดบัญชีดำเสมอ ผมเป็นคนหนึ่งที่เห็นด้วยว่าเราต้องส่งเสริมคนทำดี แล้วเราต้องพยายามที่จะมีมาตรการชัดเจนกับผู้ที่ทำไม่ดี ผมว่าทำตรงไปตรงมาแล้วบอกให้มันชัด