สมคิด พุทธศรี
แม้จะไม่เห็นด้วยกับเบื้องลึกเบื้องหลังหลายประการ แต่ไม่รู้ทำไมเพลง ‘ขอคืนความสุข’ ถึงติดหูผมเหลือเกิน กระทั่งว่า บางทีเผลอฮัมเพลงนี้ออกมาจนมีเพื่อนแซวว่า ดูแล้วผมน่าจะชอบเพลงนี้อยู่ไม่น้อย พอลองกลับมาทบทวนดูก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะตัวเองฟังบ่อย หรือว่าจริงๆ แล้วตัวเองคิดว่าเพลงนี้ ‘เพราะดี’ กันแน่ ยิ่งมีเวอร์ชั่นพี่ป้อม-อัสนี ออกมานี่ ผมยิ่งบอกไม่ถูกเลยว่า เป็นเพราะสาเหตุอะไรกันแน่ (ปกติเป็นติ่งพี่ป้อมอยู่แล้ว)
แต่พอมาคิดดูดีๆ แล้ว อาจเป็นเพราะว่า ผมคิดว่า ลึกๆ ผมคงเห็นใจทหารอยู่ไม่น้อย ผมเชื่อว่าทหารเจตนาดีและต้องการเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง อยากเห็นบ้านเมืองไปต่อ แต่เพราะเป็นทหารเลยต้องใช้ ‘วิธีแบบทหาร’ ซึ่งถึงที่สุดแล้วเป็นสิ่งที่ยากจะเห็นด้วยได้
ผมเข้าใจว่า คณะรัฐประหารไม่ได้รังเกียจคำว่าประชาธิปไตย (แต่จะเข้าใจมันอย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) เพราะอย่างน้อยที่สุด คำให้สัมภาษณ์และทัศนะก็บ่งไว้ชัดเจนว่า การรัฐประหารคราวนี้ก็เพื่อทำให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
คนที่เอาใจช่วย คสช. โดยเฉพาะ ‘กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร’ แต่เห็นว่ารัฐประหารเป็น ‘สิ่งจำเป็น’ คงไม่ได้รังเกียจประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน หากว่าประชาธิปไตยนั้นเป็น ‘ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์’ พวกเขาคาดหวังว่า การทำอย่างซื่อตรงของขุนทหาร จะทำให้แผ่นดินดีขึ้นในไม่ช้า ความสุขจะคืนมา ประเทศไทย…
แม้จะเข้าใจและเชื่อมั่นในเจตนาที่ดี แต่สิ่งที่อดสงสัยไม่ได้คือ รัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยเป็นไปได้จริงหรือไม่ อย่างไร?
เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสอ่านบทความของดานี รอดริก (Dani Rodrik) ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ซึ่งมองปัญหาเรื่องนี้ไว้อย่างคมคายและน่าสนใจ เขาชี้ให้เห็นว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์ทำให้การถกเถียงว่าด้วยคุณค่าประชาธิปไตยแพร่ขยายไปทั่วโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สำหรับเขาแล้ว ปรากฏการณ์นี้เป็นดอกผลที่มีนัยสำคัญที่สุดของโลกาภิวัตน์เลยทีเดียว
แต่ปัญหาที่น่าปวดหัวคือ ประชาธิปไตยไม่ได้ทำงานได้ดีในทุกๆ ที่ ในปัจจุบันรัฐบาลประชาธิปไตยจำนวนมากมักจะมีผลงานย่ำแย่ และอนาคตของมันก็ยังเป็นที่น่ากังขาอยู่มาก ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ปัญหาของประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา (ซึ่งมักเป็นประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่เท่านั้น) หากแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศพัฒนาแล้วด้วยเช่นกัน ทว่าธรรมชาติของปัญหาในประเทศทั้งสองกลุ่มนี้แตกต่างกัน
สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว ความไม่พอใจรัฐบาลมักมาจากการที่รัฐไม่สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้สภาพที่กระแสโลกาภิวัตน์บั่นทอนอำนาจของรัฐในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจด้วยตนเอง ในประเทศกำลังพัฒนาปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะประเทศเหล่านี้มักจะเจอปัญหาเพิ่มขึ้นมาอีกอย่าง นั่นคือ ความล้มเหลวในการปกป้องเสรีภาพทางการเมืองของพลเมือง
ในการวิเคราะห์ปัญหา รอดริกตั้งต้นด้วยแนวคิด‘ประชาธิปไตยที่แท้จริง’ ซึ่งอิงอยู่กับเสรีนิยมประชาธิปไตย โดยเขาเสนอว่า ‘ประชาธิปไตยที่แท้จริง’ คือประชาธิปไตยที่สะท้อนกฎของเสียงข้างมาก และรับประกันสิทธิของเสียงส่วนน้อย ซึ่งการจะบรรลุได้ประชาธิปไตยแบบนี้ได้จำเป็นจะต้องมีชุดของสถาบันสองชุด
สถาบันชุดแรก คือ สถาบันการเมืองของการเป็นตัวแทน เช่น พรรคการเมือง รัฐสภา และระบบการเลือกตั้ง โดยสถาบันเหล่านี้ทำหน้าที่คอยดักล้วงความต้องการทางการเมืองของพลเมือง และเปลี่ยนความต้องการเหล่านั้นให้เป็นนโยบายในภาคปฏิบัติ
สถาบันชุดที่สอง คือ สถาบันของการควบคุมอำนาจ เช่น สถาบันตุลาการและสื่อที่เป็นอิสระ เพื่อสนับสนุนสิทธิพื้นฐานต่างๆ อาทิ สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และการป้องกันไม่ให้รัฐฉ้อฉลในอำนาจ
ปัญหาสำหรับประเทศกำลังพัฒนามักอยู่ในรูปแบบของการมีแต่สถาบันการเมืองชุดที่หนึ่ง แต่ปราศจากซึ่งสถาบันการเมืองชุดที่สอง ซึ่งที่สุดแล้วมักลงเอยด้วยประชาธิปไตยไม่เสรี ระบอบเลือกตั้งที่ไม่มีนิติรัฐ ที่มีผลผลิตรูปธรรมคือ ทรราชย์เสียงข้างมาก
เมื่อประชาธิปไตยไม่สามารถนำมาซึ่งการเมืองและเศรษฐกิจที่ดีได้ ทางออกหนึ่งที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำคือ ผู้คนมักหันไปหาระบอบอำนาจนิยม และมักมองกันว่านี่คือ ‘ปีศาจร้ายจำเป็น’ เพื่อแก้ปัญหานักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่ไร้ความรับผิดชอบ
แต่รอดริกกลับเห็นว่า การหันไปหาวิถีทางแบบอำนาจนิยมคือความแพ้ภัยตัวเองอย่างถึงที่สุด การเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพเป็นการทำลายประชาธิปไตยในระยะยาว เพราะเป็นการขัดขวางพัฒนาการของวัฒนธรรมทางการเมืองที่จำเป็นของประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประนีประนอม และการเดินทางสายกลางของกลุ่มการเมืองที่แข่งขันกันอยู่ในระบบ ตราบใดที่ทหารยังเป็นตัวชี้ขาดทางการเมือง กลุ่มการเมืองก็จะให้ความสนใจกับกองทัพมากกว่าอย่างอื่น
พูดอีกอย่างคือ ในอนาคตเมื่อไหร่ที่ผู้คนไม่พอใจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พวกเขาจะเรียกร้องให้ทหารออกมาอยู่เรื่อยๆ
อีกเรื่องหนึ่งที่รอดริกเขียนไว้เพียงแค่เพียงพารากราฟสั้นๆ แต่มีความสำคัญมาก คือ เขาชี้ว่า สถาบันทางการเมืองแห่งการควบคุมอำนาจไม่ได้สร้างง่ายๆ ชั่วข้ามคืน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า ผู้มีอำนาจไม่ว่าหน้าไหนย่อมไม่อยากจะสร้างมันขึ้นมา
ในความเห็นของผม เรื่องนี้ไม่ค่อยเกี่ยวกับว่า ผู้มีอำนาจเป็นคนดีหรือคนเลว เท่ากับว่าเป็นเรื่องของโครงสร้างอำนาจที่สร้างแรงจูงใจให้ต้องทำแบบนั้น ซ้ำร้าย ยิ่งมีจิตใจมุ่งมั่นอยากทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าเท่าใด ยิ่งมีแรงจูงใจที่จะทำลายวัฒนธรรมประชาธิปไตยและสถาบันแห่งการควบคุมอำนาจ
ถูกผิดอย่างไร ประวัตศาสตร์ยุคใกล้ (มากๆ) ของเรา คงพอบอกอะไรได้อยู่บ้าง