ThaiPublica > คอลัมน์ > ผู้ชนะแห่งวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ (1)

ผู้ชนะแห่งวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ (1)

5 พฤศจิกายน 2012


สมคิด พุทธศรี

ว่ากันว่า วิกฤติการณ์การเงินในปี 2007 ของสหรัฐอเมริกา นับเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงมากที่สุดในรอบ 80 ปีนับตั้งแต่เกิด ‘ความตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่’ (The Great Depression) ในทศวรรษ 1930 ผลของวิกฤติครั้งล่าสุดทำให้คนอเมริกันตกงานเป็นจำนวนมาก อัตราว่างงานในบางช่วงสูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ (แม้สถานการณ์ในปัจจุบันจะกระเตื้องขึ้นมาบ้างแต่ก็ยังอยู่ในระดับใกล้ 8 เปอร์เซ็นต์) ชาวอเมริกันกว่า 4 ล้านคน ถูกธนาคารยึดบ้าน และอีกว่า 46.2 ล้านคน ใช้ชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจนซึ่งนับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ยิ่งไปกว่านั้น วิกฤติการณ์ครั้งนี้ยังทำให้สถาบันทางเศรษฐกิจต่างๆ ถูกสั่นคลอน ความไว้วางใจสูญหาย ความน่าเชื่อถือถูกทำลายจนยากที่จะฟื้นคืนได้ในเร็ววัน

ไม่เพียงเท่านี้ วิกฤติการณ์รอบใหม่ยังทำให้ประชาคมโลกได้รู้ซึ้งถึงกระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ความที่สหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลางของระบบทุนนิยมโลกทำให้ภูมิภาคอื่นๆ ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ในยุโรป ผลกระทบของวิกฤติในสหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นหนึ่งในต้นเหตุของวิฤตยูโรโซนที่ยังไม่มีทางออกแม้ในปัจจุบัน ประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพิงการส่งออกก็พลอยต้องประสบกับความยากลำบากไปด้วยเมื่อลูกค้าขาประจำรายใหญ่ยากจนลง ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ Cristine Lagarde กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ถึงกับแสดงความกังวลว่า โลกอาจจะต้องเผชิญกับ ‘ทศวรรษที่สูญเปล่า’ (lost decades) ในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ท่ามกลางความสูญเสียและหายนะทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเช่นนี้ มีใครบ้างไหมที่เป็นผู้ชนะ?

ที่มาภาพ : http://www.foreignpolicy.com/issues/current
ที่มาภาพ : http://www.foreignpolicy.com/issues/current

นิตยสาร Foreign Policy ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2012 ได้เลือกเอาคำถามข้างต้นเป็นประเด็นหลักของเล่ม โดยมีนักคิด นักเขียน และนักวิชาการ 11 คน มาร่วมกันเลือก ‘ผู้ชนะแห่งวิกฤติ’ ในมุมมองของตน ซึ่งแต่ละคนก็มีมุมมองที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ‘ผู้ชนะ’ ที่ถูกเลือกมาก็หลากหลาย มีทั้งตัวบุคคล กลุ่มบุคคล บรรษัทเอกชน ภาครัฐ ไปจนกระทั่งโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ

เมื่อเห็นว่าสนุกและน่าสนใจ ผมจึงขอนำเรื่องราวของ ‘ผู้ชนะ’ มาเล่าต่อให้ท่านผู้อ่านฟังในที่นี้ครับ

Frederick Kaufman: แมคโดนัลด์

Kaufman เป็นนักคิดนักเขียนที่สนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหาร (food cultural) และเป็นอาจารย์พิเศษวิชาสื่อสารมวลชนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ที่ผ่านมา Kaufman เชื่อมโยง ‘โลกของการกิน’ เข้ากับ ‘โลกของการเงิน’ ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเขาเป็นหนึ่งในคนที่ออกมาวิพากษ์พฤติกรรมการเก็งกำไรอาหาร (food speculation) ของภาคการเงินว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดวิกฤติการณ์อาหารขึ้น และทำให้ผู้คนทั่วโลกหลายล้านคนต้องอดยาก

‘ผู้ชนะแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ’ ในสายตาของ Kaufman คือ แมคโดนัลด์ (Mcdonald’s) ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของทุนนิยมอเมริกัน Kaufman ให้เหตุผลว่า ตราบใดที่ผู้คนยังต้องการที่จะบริโภคอาหารราคาถูกและไม่พร้อมที่จะเป็นมังสวิรัติไปตลอดชีวิต แมคโดนัลด์ก็อยู่ในจุดที่พร้อมจะเติบโตได้อยู่เสมอ ไม่ว่าสถานการณ์ในภาคเศรษฐกิจจริงจะยากลำบากเพียงใดก็ตาม ตรรกะของ Kaufman มีอยู่ว่า แม้เศรษฐกิจมหภาคและความอิ่มท้องจะมีความเกี่ยวข้องกัน แต่ถึงที่สุดแล้ว มันก็ยังเป็นคนละเรื่องกันอยู่ดี อาหารราคาถูกที่มีรสชาติดีเป็นสิ่งที่คนเราต้องการอยู่เสมอ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ก็ตาม

แมคโดนัลด์ไม่ได้มีดีแค่เรื่องราคาเท่านั้น Kaufman ชี้ให้เห็นว่า วัฒนธรรมด้านอาหารของแมคโดนัลด์เป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน แม้แมคโดนัลด์จะเป็นร้านอาหารแฟรนไชส์ที่มีสาขากว่า 33,500 สาขาใน 119 ประเทศทั่วโลก แต่แมคโดนัลด์ไม่ได้เสิร์ฟอาหารแบบเดียวกันทั่วโลก

อันที่จริงแล้ว สิ่งที่ครัวของแมคโดนัลด์ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เลยก็คือ ‘การปรุงรสข้ามวัฒนธรรม’ กล่าวคือ แมคโดนัลด์จะมีเมนูพิเศษสำหรับผู้คนในท้องถิ่นเสมอ ในเอเชียด้วยกันเอง เมนูแมคฯ ในญี่ปุ่นและอินเดียก็มีความแตกต่างกันมาก แมคโดนัลด์ในกรุงนิวเดลีมีเมนูพิเศษอย่างแซนด์วิชมันฝรั่งซึ่งหากินได้ยากในประเทศอื่นๆ ในขณะที่เมนูที่ขายในญี่ปุ่นอย่างเบอร์เกอร์สเต็กกุ้งและสลัดนั้นก็ไม่ได้มีขายในอินเดีย

กล่าวอีกอย่างคือ แมคโดนัลด์นั้นไม่ได้ส่งออกวัฒนธรรมเบอร์เกอร์แบบอเมริกันดังที่เคยเชื่อกันอีกต่อไปแล้ว หากแต่ขายเบอร์เกอร์ท้องถิ่นในราคาที่ผู้คนส่วนใหญ่ยอมรับได้

นอกจากนี้ แมคโดนัลด์ยังมีความได้เปรียบจากการบริหารจัดการความเสี่ยงในระดับโลกที่ดีอีกด้วย ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แม้โลกจะต้องเจอกับวิกฤติราคาอาหารถึง 3 ครั้ง แต่ด้วยเครือข่ายที่กว้างขวางและอำนาจซื้อในระดับโลก แมคโดนัลด์ก็สามารถจัดการปัญหาได้อย่างราบรื่น

http://www.foreignpolicy.com/articles/2012/10/08/mcdonalds
http://www.foreignpolicy.com/articles/2012/10/08/mcdonalds

ปัจจุบันแมคโดนัลด์ก่อให้เกิดการจ้างงานหลายล้านตำแหน่งทั่วโลก เฉพาะในสหรัฐอเมริกา แมคโดนัลด์จ้างแรงงานมากถึง 1 ล้านคน ต่อไป ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียวในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ในปี 2013 ที่จะถึงนี้ แมคโดนัลด์มีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มเติมในประเทศจีนเพิ่มขึ้นอีก 700 สาขา Kaufman เชื่อว่า ด้วยวัฒนธรรมอาหารและราคาที่เป็นที่ยอมรับได้ แมคโดนัลด์จะประสบความสำเร็จในจีนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าพิจารณาว่าลูกค้าใหม่ของแมคโดนัลด์คือกลุ่มคนที่ไม่เคยลิ้มรสแมคโดนัลด์มาก่อนเลย

แมคโดนัลด์เคยเผชิญวิกฤติมาหลายครั้งแต่ก็ผ่านมาได้ นี่เป็นอีกครั้งที่บรรษัทแห่งนี้ถูกเลือกให้เป็น ‘ผู้ชนะแห่งวิกฤติ’

Stephen Galloway : ฮอลลีวู้ด

Galloway เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร The Hollywood Reporter ซึ่งเป็นหนึ่งในสองนิตยสารที่ทำข่าวเกี่ยวกับแวดวงฮอลลีวูดที่ใหญ่ที่สุดในโลก แม้จะทำงานในนิตยสารบันเทิง แต่งานเขียนของ Galloway เน้นที่การวิเคราะห์อุตสาหกรรมภาพยนตร์และนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศต่างๆ เป็นสำคัญ

ในสายตาของ Galloway อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกาหรือที่เรียกติดปากกันว่า ‘อุตสาหกรรมฮอลลีวูด’ นั้นถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เฟื่องฟูมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่งในช่วงท่ามกลางวิกฤติการณ์เศรษฐกิจรอบนี้ จริงอยู่ว่า ในภาวะยากลำบาก คนอเมริกันนั้นอาจจะไปดูหนังและซื้อดีวีดีกันน้อยลงจนทำให้รายได้ของอุตสาหกรรมที่ได้จากตลาดภายในประเทศนั้นเติบโตค่อนข้างช้า กระนั้น ‘ฮอลลีวูด’ กลับประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดต่างประเทศ
ความสำเร็จในต่างประเทศนั้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอุตสาหกรรมฮอลลีวูดอย่างมีนัยสำคัญ

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา รายได้รวมจากต่างประเทศ (หมายถึงรายได้ที่ได้จากภูมิภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทวีปอเมริกาเหนือ) ของอุตสาหกรรมนั้นเพิ่มขึ้นถึง 35 เปอร์เซ็นต์ จนทำให้ในปี 2011 อุตสาหกรรมฮอลลีวูดมีรายได้รวมจากต่างประเทศสูงถึง 11,000 ล้านเหรียญอเมริกัน ในขณะที่มีรายได้จากภายในเพียงแค่ 7,600 ล้านเหรียญอเมริกันเท่านั้น นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมฮอลลีวูดมีรายได้จากตลาดต่างประเทศกว่า 69 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว

ความสำเร็จในการปรับตัวโดยมุ่งสู่ตลาดโลกไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมในภาพรวม Galloway ชี้ว่า หนังฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวูดนั้นมีแนวโน้มที่จะเน้นความเป็นแอ็คชั่นและเทคนิคการถ่ายทำมากขึ้น ในขณะที่พยายามจะลดความซับซ้อนของบทสนทนาให้น้อยลง เพื่อที่ว่าภาษาจะไม่กลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญในการชมภาพยนตร์

นอกจากนี้ การพยายามต่อรองเพื่อลดการจำกัดการเข้าฉายภาพยนตร์ฮอลลีวูดและการทำการตลาดต่างๆ ก็ประสบความสำเร็จค่อนข้างดี ในกรณีของจีน แม้ยังมีการจำกัดจำนวนหนังเข้าฉายไว้ที่ 20 เรื่องต่อปี แต่ก็มีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยอนุญาตให้หนังที่ใช้เทคนิคการถ่ายทำแบบพิเศษ (สามมิติหรือไอแมกซ์) เข้าฉายได้ไม่เกิน 14 เรื่องต่อปี โดยจะไม่นับรวมกับโควต้า 20 เรื่องที่จำกัดไว้ ในกรณีของอินเดีย หนังฮอลลีวูดเริ่มตีตลาดหนังบอลลีวูดได้มากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ถูกปฏิเสธจากคนอินเดียมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันฮอลลีวูดมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ในตลาดหนังของอินเดีย ซึ่งกว่าครึ่งเป็นส่วนแบ่งที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่มีการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรม ไม่เพียงเท่านี้ ด้วยการเดินหน้าลุยตลาดต่างประเทศอย่างเต็มที่ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ฮอลลีวูดจะมีส่วนแบ่งประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดหนังแดนภารตะ

Stephen Galloway บรรณาธิการบริหารนิตยสาร The Hollywood Reporter ที่มาภาพ : http://www.hollywoodreporter.com
Stephen Galloway บรรณาธิการบริหารนิตยสาร The Hollywood Reporter ที่มาภาพ : http://www.hollywoodreporter.com

ไม่เพียงแต่การเจรจาต่อรองทางด้านนโยบายเท่านั้น ผู้ผลิตรายใหญ่หลายรายในอุตสาหกรรมฮอลลีวูดต่างหันไปร่วมทุนกับบริษัทสัญชาติจีนเพื่อสร้าง ‘หนังจีนแบบฮอลลีวูด’ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดด้านโควตา ตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้คือ หนังเรื่อง สามก๊ก: ศึกผาแดง (The Red Cliff) ที่ยักษ์ใหญ่ในวงการภาพยนตร์อย่างบริษัท 20th Century Fox เป็นผู้ออกทุนสร้างร่วมกับผู้ผลิตของจีนนอกจากนี้ สตูดิโอยักษ์ใหญ่ในฮอลลีวูดต่างเข้าไปเปิดบริษัทสาขาในประเทศต่างๆ เพื่อทำให้การทำธุรกิจมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

Galloway ชี้เห็นว่า จริงๆ แล้วอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกาเองกำลังมาถึงช่วงอิ่มตัวพอดี โรงหนังจำนวนมากได้ขยายไปแทบทุกพื้นที่ในสหรัฐอเมริกาแล้ว อีกทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างหนังสามมิติเองก็ไม่ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับอุตสาหกรรมและตลาดภายในประเทศเท่าที่ควร

ดังนั้น อุตสาหกรรมภาพยนตร์จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมุ่งไปสู่ตลาดโลกมากยิ่งขึ้น การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจภายในประเทศจึงเป็น ‘โชคดีในโชคร้าย’ ของอุตสาหกรรม เพราะวิกฤติเป็นตัวเร่งทำให้อุตสาหกรรมปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ดังกล่าวนี้ ฮอลลีวูดจึงเป็นหนึ่งใน ‘ผู้ชนะแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ’

ben wildavsky: การศึกษาขั้นสูง

Wildavsky เป็นนักวิชาการอาวุโสและเป็นนักออกแบบนโยบายการศึกษาแห่ง มูลนิธิ Ewing Marion Kauffman ซึ่งเป็นมูลนิธิที่สนับสนุนการทำงานของผู้ประกอบการ (entrepreneurships) ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา Wildavsky มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในหัวข้อว่าด้วยการศึกษาขั้นสูง (Higher Education) โดยเขาทำวิจัยเขียนหนังสือ และทำงานสื่อสารมวลในด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ Wildavsky ยังเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของรัฐบาลอเมริกันในโครงการปฏิรูปการศึกษาขั้นสูงด้วย

ทำไมการศึกษาขั้นสูงจึงเป็นผู้ชนะ?

Wildavsky ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาถดถอยและงานเป็นสิ่งที่หายาก หนุ่มสาวชาวอเมริกันจึงเลือกที่จะไปเรียนต่อในระดับสูงแทนที่จะออกมาหางานทำ ในปี 2008 และปี 2009 จำนวนผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้น 4.9 และ 7.9 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่มากกว่าสภาวะปกติ โดยคนส่วนใหญ่จะเลือกเข้าศึกษาในวิทยาลัยชุมชน (community colleges) ที่มีค่าธรรมเนียมการศึกษาไม่แพงนัก

อย่างไรก็ตาม ‘ในดีย่อมมีร้าย’ แม้คนจะหันหน้าเข้าสู่สถานศึกษามากขึ้น แต่เศรษฐกิจที่ตกต่ำกลับทำให้สถาบันการศึกษาขั้นสูงหลายแห่งต้องพบกับความยากลำบากทางการเงิน เนื่องจากภาครัฐได้ตัดเงินอุดหนุนทางการศึกษาเป็นจำนวนมาก ในปี 2012 งบประมาณของภาครัฐที่ใช้สนับสนุนการศึกษาขั้นสูงโดยรวมลดลงถึง 7.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการลดลงที่มากที่สุดในรอบ 50 ปีเลยทีเดียว

กระนั้น ‘ในร้ายก็กลับกลายว่ายังมีดีอยู่อีก’ ความยากลำบากทางงบประมาณได้เป็นโอกาสให้สถาบันการศึกษาขั้นสูงได้ใช้ ‘อาวุธ’ ที่ตนเองถนัดมากที่สุดในการจัดการกับปัญหา นั่นคือ การใช้องค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนให้ต้นทุนถูกลงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ การเปิดหลักสูตรออนไลน์คุณภาพสูงจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะราคาถูกมากแล้ว หลักสูตรเหล่านี้ยังถูกออกแบบมาให้ใกล้เคียงกับหลักสูตรที่สอนในมหาวิทยาลัยจริง อีกทั้งยังสอนโดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียงสังกัดมหาวิทยาลัยดังอีกด้วย

หลักสูตรออนไลน์ที่มีชื่อเสียงมากคือ edx.org ซึ่งเป็นศูนย์รวมหลักสูตรของสถาบันการศึกษาชั้นนำ 4 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สถาบันเอ็มไอที มหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์แห่งแคลิฟอเนีย และมหาวิทยาลัยเทกซัส ซึ่งชื่อชั้นของสถาบันการศึกษาดังกล่าวนี้ก็ดึงดูดให้มีผู้เข้ามาลงทะเบียนเรียนเป็นจำนวนมาก

ben wildavsky ที่มาภาพ : http://resources1.news.com.
ben wildavsky ที่มาภาพ : http://resources1.news.com.

อีกหลักสูตรหนึ่งที่เป็นที่นิยมมากเช่นกันคือ Udacity.com ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ร่วมก่อตั้งโดย Sebastian Thrun ศาสตราจารย์ด้านคอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แม้ Udacityจะเพิ่งก่อตั้งในปี 2011 แต่ก็มีนักเรียนมาลงทะเบียนเรียนมากถึง 160,000 คนจาก 119 ประเทศ

แน่นอนว่า หลักสูตรออนไลน์ย่อมมีจุดอ่อนในเรื่องของความเอาใจใส่ของผู้เรียน แต่ภายใต้ทรัพยากรทางการศึกษาที่จำกัด หลักสูตรออนไลน์จึงเป็นนวัตกรรมที่มีนัยสำคัญอย่างมากต่อการเข้าถึงการศึกษาของผู้คนจำนวนมากทั้งในสหรัฐอเมริกาและในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

สำหรับ Wildavsky ปัจจัยที่ทำให้หลักสูตรออนไลน์แพร่ขยายนั้นมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของเทคโนโลยี และการพัฒนาสื่อสารมวลชนในรูปแบบใหม่ๆ กระนั้น วิกฤติเศรษฐกิจก็มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้มีการคิดถึงการศึกษาขั้นสูงในรูปแบบใหม่ๆ ที่สามารถเอาชนะข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรทางการศึกษาได้

นี่คือเหตุผลที่การศึกษาขั้นสูงเป็นหนึ่งใน ‘ผู้ชนะแห่งวิกฤติ’

Michel Lind: พวกที่รวยระเบิด

Lind เป็นผู้อำนวยการโครงการ Economic Growth Programme ของ มูลนิธิ New America Foundation เขามีงานเขียนมากมายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังเป็นคอลัมนิสต์ประจำนิตยสารและหนังสือพิมพ์ชื่อดังหลายฉบับ นอกจากนี้ Lind ยังเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และยังเคยสอนที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปส์กินส์ อีกด้วย

เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจอุบัติขึ้น พวกคนที่รวยระเบิด (Ultra riches) ต่างได้รับความเสียหายกันอย่างถ้วนหน้า มีการประมาณการไว้ว่า คนที่รวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ของสหรัฐอเมริกานั้นต้องสูญเสียความมั่งคั่งไปประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ กระนั้น พวกเขาก็กลับมาเป็น ‘ผู้ชนะ’ ได้อีกครั้งเมื่อเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องขึ้น คนกลุ่มนี้คือเจ้าของรายได้กว่า 93 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่เกิดจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจในปี 2010 (ซึ่งเป็นปีแรกที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัว)

Lind อธิบายว่า เหตุผลที่ ‘พวกรวยระเบิด’ สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเป็นเพราะรายได้ส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้มาจากการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ อาทิ หุ้น พันธบัตร ฯลฯ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจมีรายได้มาจากค่าจ้างและเงินเดือน โชคร้ายก็ตรงที่ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจดันไม่ก่อให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกกันว่า ‘jobless recovery’ ในแง่นี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจึงเป็นประโยชน์ต่อคนพวกแรกมากกว่าคนพวกหลัง

นอกจากนี้ ความมั่งคั่งของคนอเมริกันส่วนใหญ่มีที่มาจากการเป็นเจ้าของบ้าน แต่ความที่ต้นตอของวิกฤตินั้นมาจากฟองสบู่ในตลาดบ้าน ดังนั้น แม้การฟื้นตัวจะทำให้ราคาสินทรัพย์หลายอย่างเพิ่มขึ้นแต่ก็ยากที่จะทำให้ราคาบ้านเพิ่มขึ้นได้ ข้อมูลในเดือนมิถุนายน 2012 ระบุว่า เจ้าของบ้านชาวอเมริกันกว่า 31 เปอร์เซ็นต์ กำลังผ่อนบ้านในราคาที่สูงกว่ามูลค่าในตลาด

เมื่อรัฐให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพในภาคการเงินเป็นสำคัญ ‘พวกที่รวยระเบิด’ ก็พลอยได้รับอานิสงตามไปด้วย อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะทำให้ผลกำไรของการลงทุนเพิ่มมากยิ่งขึ้น ในขณะที่การทุ่มเททรัพยากรเพื่อแก้ไขวิกฤติในภาคการเงินกลับไม่ค่อยเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ของประเทศมากนัก

นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ‘กลุ่มคนที่รวยระเบิด’ ทั่วโลกล้วนเป็นผู้ชนะด้วยกันทั้งสิ้น ข้อมูลสถิติชี้ว่า ในปี 2010 มูลค่ารวมของความมั่งคั่งของคนที่รวยที่สุด 10 ล้านคนบนโลกนั้นได้กลับมาสู่จุดที่พวกเคยอยู่ในช่วงปี 2007 แล้ว ในขณะที่ภาพที่ใหญ่กว่านั้นแสดงให้เห็นว่า คนรวยที่สุดในโลก 1 เปอร์เซ็นต์ มีส่วนแบ่งความมั่งคั่งสูงถึง 44 เปอร์เซ็นต์ของความมั่งคั่งรวมของโลก ในขณะที่คนอีกประมาณ 3,500 ล้านคน มีส่วนแบ่งความมั่งคั่งประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของความมั่งคั่งรวมของโลก

สำหรับ Lind ความสามารถในการฟื้นตัวจากวิกฤติที่รวดเร็วกว่าคนธรรมดามากมายหลายเท่า ทำให้ ‘พวกที่รวยระเบิด’ กลายเป็น ‘ผู้ชนะแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ’