
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปาฐกถาในงานสัมมนาหัวข้อ “A mirror of Thailand” จัดโดยสมาคมคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย) โดยมีทูตานุทูต คณะกงสุล นักธุรกิจชาวไทยและต่างประเทศ รวมทั้งสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวถึงวิวัฒนาการเศรษฐกิจไทยว่า ก่อนปี 2500 เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 4.5% ต่อปี พึ่งพิงภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก สินค้าส่งออกสำคัญคือสินค้าเกษตรกับแร่ดีบุก จากนั้นก็เข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ปี 2504-2509 ตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าในประเทศ ทดแทนการนำเข้า โดยอาศัยความได้เปรียบเรื่องแรงงานราคาถูก ปี 2505 มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เศรษฐกิจไทยช่วงปี 2504-2521 ขยายตัวเฉลี่ย 7.53% ต่อปี และปี 2522-2528 ขยายตัวเฉลี่ย 5.42% ต่อปี
ปี 2525 บริษัท ปตท. ก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และเริ่มผลิตก๊าซในปี 2528 พอถึงปี 2530 สร้างนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) สร้างเสร็จเรียบร้อยปี 2534 จากนั้นการลงทุนของไทยขยายตัวในอัตราที่สูงมาก มีการลงทุนผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้ปริมาณการส่งออกและบริการของไทยขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น และมีความหลายหลาก เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2529-2539 ขยายตัว 9.25% ต่อปี
พอถึงช่วงปี 2540-42 เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคฟองสบู่ เกิดวิกฤติต้มย้ำกุ้ง เศรษฐกิจไทยติดลบ 2.5% ต่อปี ปี 2543-2550 ภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ช่วงนี้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวเฉลี่ยที่ 5.08% ต่อปี
ปี 2551-2555 ปัญหาขาดแคลนแรงงานทวีความรุนแรงมากขึ้น และกลุ่ม NGOs คัดค้านโครงการลงทุนในอีสเทิร์นซีสบอร์ด ทำให้โครงการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักๆ ต้องหยุดชะงักไป 2-3 ปี โดยรัฐบาลขณะนั้นต้องเร่งออกระเบียบที่เข้มงวดมาดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบกับปัญหาวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจไทยช่วงนี้ขยายตัวเฉลี่ย 2.92% ต่อปี
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวย้ำว่า “หากไม่ทำอะไร คงไม่เห็นเศรษฐกิจของประเทศกลับมาขยายตัวที่ 6-7% ต่อปีอีก เพราะต่อจากนี้ไปคงไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่เหมือนในอดีต จะมีแต่ขยายกำลังการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน หรือผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม คำถามคือ หากการลงทุนใหญ่ไม่มี ทำอย่างไรประเทศไทยถึงจะมีรายได้เพิ่ม”
ดังนั้น แนวนโยบายที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรนำเสนอต่อ คสช. เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวเฉลี่ย 5-6% ต่อปีอีกครั้ง ยุทธศาสตร์สำคัญคือ ต้องสนับสนุนให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาคอาเซียน” (Trading nation) โดยอาศัยประโยชน์จากการเปิดประชาคมอาเซียนปี 2558 ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ สิ่งที่ คสช. ต้องเร่งดำเนินการจึงมีทั้งหมด 5 เรื่อง แต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ขอเน้นที่ 3 ประเด็นหลักดังนี้
1. การผลักดันประเทศเป็น “Trading nation” ให้ได้ ต้องเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ถนนเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยมีระบบขนส่งทางถนนดีที่สุดในภูมิภาคอินโดจีน แต่มีราคาแพงมาก เพราะต้องจ่ายค่าน้ำมัน จึงต้องหันมาใช้ระบบรางช่วยเสริม ปัจจุบันประเทศไทยมีรถไฟทางเดี่ยวอยู่แล้ว 3,000 กิโลเมตร ต้องลงทุนเพิ่มอีก 3,000 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้วิธีทยอยก่อสร้างไปเรื่อยๆ เพราะงบประมาณมีจำกัด เช่น เฟสแรก ลงทุนสร้างรางรถไฟ 1,000 กิโลเมตรใช้เวลา 6 ปี ควรเลือกลงทุนสายหลักที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านก่อน แต่ในระหว่างที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ ก็ใช้ระบบขนส่งทางถนนกับทางน้ำไปพลางๆ ก่อน
“ขนาดความกว้างของรางรถไฟ หลายคนมักเข้าใจผิดว่ามาตรฐานความกว้างของรางรถไฟคือ 1.42-1.56 เมตร แต่หารู้ไม่ว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเขมร ลาว พม่า เวียดนาม มาเลเซีย รางรถไฟกว้างแค่ 1 เมตร มีจีนเท่านั้นที่กว้าง 1.42 เมตร ถ้าเอาตามมาตรฐานสากล ก็เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ แทนที่จะลงทุนเพิ่ม 3,000 กิโลเมตร ก็ต้องลงทุน 6,000 กิโลเมตร และต้องเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เงินลงทุน 3 เท่าตัว แต่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ คำถามต่อไปแล้วจะเชื่อมโยงกับรถไฟจีนอย่างไร คำตอบคือฝรั่งเศสขนาดราง 1.42 เมตร ส่วนสเปนขนาดราง 1.56 เมตร เวลาขนสินค้าผ่านแดนใช้รถเครนยกเปลี่ยนถ่ายสินค้า เสียเวลา 1 ชั่วโมง ทำให้คนที่นั่นก็มีรายได้ค่าเฟดเพิ่มด้วย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวต่อไปอีกว่า ระบบโลจิสติกส์ที่ดี นอกจากอำนวยความสะดวกแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งของประเทศด้วย ส่วนเรื่องความเร็ว รถไฟที่มีขนาดรางกว้าง 1 เมตร เร่งความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผมขอแค่ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็พอ แต่ต้องตรงเวลา รถไฟอเมริกาวิ่งช้ามาก แต่ขบวนยาว หากต้องการทำให้รถไฟวิ่งเร็ว ขบวนต้องสั้น ค่าขนส่งก็แพง ผมคิดว่ารถไฟความเร็วสูงขนคนตอนนี้ยังไม่จำเป็น จึงเสนอให้ คสช. ตัดโครงการรถไฟความเร็วสูง 8 แสนล้านบาทออกไปก่อน แต่ในระยะยาวต้องทำ ดังนั้นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องลงทุนภายใน 6-7 ปีมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท
2. ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก อ.ปากบารา จังหวัดสตูล เชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ขณะนี้ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังค่อนข้างแออัดมาก สินค้าทุกชนิดที่ส่งออกจากท่าเรือแหลมฉบังจะถูกส่งไปทวีปอเมริกา ญี่ปุ่น จีน เกาหลี แต่ถ้าส่งไปยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา ต้องขนผ่านช่องแคบมะละกา อ้อมสิงค์โปร์ เสียเวลา แพง และอัตราการเพิ่มของคาร์โกที่ช่องแคบมะละกากำลังใกล้เต็มภายใน 4 ปีข้างหน้า ทำให้การขนส่งสินค้ายิ่งล้าช้า จึงจำเป็นต้องเร่งก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งอันดามันเชื่อมโยงกับฝั่งอ่าวไทย สินค้าจากจีนตอนใต้ที่ส่งออกไปยุโรป ตะวันออกกลาง ก็จะผ่านเข้าไทย
3. ส่งเสริมนักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ จากปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำให้คำขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีแนวโน้มลดลง ขณะที่นักลงทุนไทยรายใหญ่ๆ ที่ออกไปลงทุนต่างประเทศต้องหาตลาดเอง นอกจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานใด ยังมีอุปสรรคในเรื่องของภาษี ยกตัวอย่าง นักลงทุนไทยได้รับสิทธิ BOI ในต่างประเทศ ไม่ต้องเสียภาษีในประเทศที่ไปลงทุน แต่ถ้ามีกำไรเกิดขึ้น ส่งกำไรประเทศไทย ต้องเสียภาษี นักลงทุนไทยจึงนิยมเปิดบริษัทใหม่ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทแม่ และก็ไม่ส่งกำไรกลับประเทศ
“การส่งส่งเสริมลงทุนต่างประเทศทำได้หลายวิธี ยกตัวอย่าง ทำไม BOI เปิดสาขาที่นิวยอร์ก ฝรั่งที่นิวยอร์กจะมาลงทุนเมืองไทยได้อย่างไร ในเมื่อตอนนี้ยังเอาตัวไม่รอด หากเป็นผมจะปิดสาขานิวยอร์กแล้วมาเปิดสาขาที่พม่า เขมร ลาว เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยให้ขยายฐานการผลิตที่ประเทศเพื่อนบ้าน สร้างเน็ตเวิร์กทางการค้าและการลงทุน” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
4. ส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติและนักธุรกิจไทยจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters: ROH) ปัญหาคล้ายข้อเสนอที่ 3 ปัจจุบันนักลงทุนไม่นิยมเปิด ROH ในไทย เพราะถ้าเปิดสำนักงานตัวแทนในประเทศไทย แต่ไปประกอบธุรกิจประเทศอื่นมีกำไร ต้องนำกำไรที่เกิดขึ้นมาเสียภาษีด้วย กรมสรรพากรควรยกเลิกกฎระเบียบลักษณะนี้ ถึงอย่างไรก็เก็บภาษีไม่ได้ เพราะไม่มีนักลงทุนให้เก็บภาษี วิธีง่ายๆ คือ สิงคโปร์ หรือฮ่องกง กำหนดระเบียบในเรื่องนี้อย่างไร ควรจะไปคัดลอกมาเลย
5. ผ่อนคลายกฎระเบียบทางการค้าของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน เช่น ลดคำขอใบอนุญาต หรือรายงาน ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค
“หากดูวิวัฒนาการ Trade nation ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกัน ญี่ปุ่น เริ่มจากเกษตรก่อนแล้วไปอุตสาหกรรม จากนั้นก็เกิดธุรกิจบริการ ตามมาด้วยการขยายฐานการผลิตในต่างประเทศ ญี่ปุ่นเดินแบบนี้มาตลอด เกาหลีกำลังเดินตาม สำหรับประเทศไทยคงเป็น Trading nation ของโลกเหมือนกับญี่ปุ่นไม่ได้ แต่ถ้าเป็น Trading nation ในภูมิภาคอาเซียน เชื่อว่าทำได้ เพราะประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้เป็นจำนวนมาก หลากหลาย และมีเทคโนโลยีพอสมควร แต่ไม่ถึงขั้นไฮเทค หากขยายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านได้ค่าแรงราคาถูก วางระบบโลจิสติกส์ให้ดีจะทำให้เกิดธุรกรรมทางการค้ารูปแบบใหม่ๆขึ้นอีกมากมาย เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวที่ 4-5% ได้อีกครั้ง” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวทิ้งท้าย