รายงานโดย ปวีร์ ศิริมัย
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 ได้มีการแถลงรายงานวิจัยและเสวนาในหัวข้อ “เลื่อน-เลิกประมูล 4G ใครได้-ใครเสีย : รัฐ ผู้ประกอบการ ประชาชน? ”ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีวิทยาการ 4 คน คือ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, นายธีระ กนกกาญจนรัตน์ นักวิเคราะห์อาวุโสด้านไอซีที บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน, ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร. ธร ปีติดล ผู้ดำเนินการเสวนา จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่มาของงานเสวนานี้เกิดขึ้นมาจาก คำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 94/2557 ที่ให้ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช. ) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระมีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ชะลอการประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคมออกไป 1 ปี และให้ กสทช. แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการจัดสรรคลื่นในอนาคต โดยคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่มีกำหนดหมดสัญญาในวันที่ 15 กันยายน 2556 ได้เคยมีการเลื่อนการประมูลมาครั้งหนึ่งแล้วและได้มีการเลื่อนอีกครั้งจากคำสั่งฉบับนี้
นางสาวสารี กล่าวว่าสาเหตุการเลื่อนประมูลคลื่น 1800 MHz นั้นเกิดจากความล่าช้าของ กสทช. เนื่องจากไม่สามารถจัดการประมูลได้ก่อนจะถึงเวลาหมดสัมปทาน เมื่อผู้ประกอบการหมดสัญญาสัมปทานแล้วจะทำให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการอยู่ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไปหรือมีปัญหาซิมการ์ดใช้การไม่ได้ ในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้มีการเสนอให้ผู้ประกอบการแจ้งเตือนผู้บริโภคล่วงหน้าถึงกำหนดเวลาการหมดสัญญาที่ได้ให้บริการอยู่ และต้องมีการช่วยผู้บริโภคเปลี่ยนโครงข่ายที่ใช้บริการได้อย่างสะดวก โดยไม่มีเงื่อนไขนอกจากที่กฎหมายกำหนด
นายธีระ ได้พูดถึงผลกระทบและโอกาสของภาคส่วนต่างๆจากการเลื่อนการประมูลสัญญาณ ในเภาครัฐจะต้องทบทวนยุทธศาสาตร์ต่างๆที่เกี่ยวกับโครงข่ายโทรคมนาคม และเป็นโอกาสที่ กสทช. จะแก้ไข ปรับเลี่ยนมุมมองของภาคส่วนอื่นๆที่มีต่อ กสทช. คือให้เป็นมิตรและช่วยรักษาผลประโยชน์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย
เกี่ยวกับภาคธุรกิจ นายธีระกล่าวว่า ในต่างประเทศได้มีหลักฐานว่าการการเปิดให้บริการ 4G สามารถเพิ่มปริมาณการใช้งานบริการข้อมูลนี้จาก 3G เป็นจำนวนมาก และช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆที่ 3G ทำไม่ได้ เช่นการนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไปสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตหรือระบบสุขภาพ โดยการเลื่อนการประมูล 4G ออกไปทำให้การจ้างงานที่จะเพิ่มขึ้น 15,000 ตำแหน่งหายไป
นายธีระยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การเลื่อนการประมูล 4G ในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสของผู้ให้บริการโครงข่ายที่มีอยู่ในปัจจุบันในการพัฒนาการลงทุนเกี่ยวกับระบบ 3G ที่มีอยู่ เนื่องจากในปัจจุบันระบบ 3G ในประเทศยังไม่ได้มีการใช้งานที่เต็มประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องความเร็ว ความเสถียร และพื้นที่ให้บริการ ซึ่งเมื่อได้มีการพัฒนาระบบ 3G ที่มีอยู่ให้ดีขึ้นแล้ว ก็จะมีประโยชน์เกิดขึ้นในส่วนของผู้บริโภครายย่อยด้วย คือผู้บริโภคจะเข้าถึงบริการมากขึ้นและได้รับบริการที่หลากหลายจากการแข่งขัน จากในปัจจุบันที่มีผู้เข้าถึงบริการ 3G เพียงแค่ในเมืองใหญ่ๆเท่านั้น
ดร. เดือนเด่น กล่าวว่า คำสั่ง คสช. ที่ให้ กสทช. ชะลอการประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคมออกไป 1 ปี โดยเหตุผลเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
ในประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า การป้องกันไม่ให้ผู้ใช้บริการคลื่นความถี่ 1800 MHz ของบริษัททรูมูฟ จำกัด และบริษัทดิจิตอล โฟน จำกัด เกิดปัญหาหาซิมการ์ดไม่สามารถใช้บริการได้เมื่อหมดเวลาสัมปทาน การที่จะเลื่อนการหมดสัมปทานไปเรื่อยๆเพื่อรอให้ผู้ใช้บริการเปลี่ยนไปใช้บริการกับรายอื่นคงจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี ดร.เดือนเด่นจึงเสนอให้กำหนดเงื่อนไขในการประมูล ให้ผู้รับสัมปทานรายถัดไปดูแลลูกค้าเก่าของบริษัทดังกล่าว ให้ได้รับบริการภายใต้เงื่อนไขเดิม ราคาเดิม จนกว่าจะถึงเวลาสิ้นสุดสัญญา ซึ่งในตอนนี้มีแต่ความพยายามที่จะให้ลูกค้าเก่าเปลี่ยนผู้ให้บริการ
เรื่องประโยชน์สาธารณะ ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า รูปแบบการประมูลที่ผ่านมายังมีผู้เข้าประมูลเพียงแค่ 3 ราย แสดงถึงการแข่งขันที่ต่ำ หากมีการแข่งขันสูงจะทำให้รัฐมีประโยชน์มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และผู้บริโภคก็มีตัวเลือกในการใช้บริการมากขึ้น ดังนั้น กสทช. ต้องมีการปรับกฎเกณฑ์ต่างๆให้เอื้อกับผู้ให้บริการรายใหม่ๆเข้ามาสู่ตลาดมากขึ้นเพื่อเพิ่มการแข่งขัน เช่นปรับแก้ประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำของโดยคนต่างด้าว 2555เนื่องจากมี พรบ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอยู่แล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้มีบริษัทเข้ามาในตลาดมากขึ้น
ดร.เดือนเด่น เสนอด้วยว่า ควรเพิ่ม Network sharing คือต้องมีการใช้โครงข่ายที่มีอยู่ร่วมกัน เช่น เสากระจายสัญญาณ เพื่อลดต้นทุนให้บริษัทใหม่ๆที่จะเข้ามาในตลาด ซึ่ง กสทช. ก็มีกฎระเบียบเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วแต่ไม่ได้มีการปฏิบัติจริง และต้องมีการปรับลด Interconnection charge คือค่าบริการที่ต้องเสียเมื่อลูกค้าในเครือข่ายหนึ่งติดต่อข้ามไปอีกเครือข่าย ซึ่งมีราคาสูงเกินไปสำหรับบริษัทรายย่อยที่จะเข้ามาให้บริการ
ดร. พรเทพ กล่าวในประเด็นที่มีการทบทวนการประมูลคลื่นสัญญาณว่า ในทางเศรษฐศาสตร์การประมูลที่ออกแบบอย่างเหมาะสม เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และผู้ที่ชนะการประมูลจะเป็นผู้ที่สร้างประโยชน์ได้สูงสุด เนื่องจากการประมูลมีความโปร่งใสและเป็นธรรมเพราะเป็นการแข่งขันกันด้วยราคา มีความรวดเร็ว ไม่มีการใช้ดุลพินิจ แทรกแซงได้ยาก สามารถกำหนดเงื่อนไขได้ อีกทั้งยังสามารถหารายได้ให้รัฐเป็นผลพลอยได้ แตกต่างจากการคัดเลือก (Beauty Contest) ที่ขาดความโปร่งใสเนื่องจากต้องใช่ดุลพินิจในการพิจารณาผู้ที่มีความเหมาะสม การตัดสินอาจผิดพลาดเนื่องจากไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ ใช้เวลานาน และเกิดการแทรกแซงหรือคอรัปชั่นได้ง่าย
ดร. พรเทพ กล่าวว่า การประมูลเป็นวิธีที่การจัดสรรคลื่นความถี่มีความเหมาะสมมากกว่าในบริบทของไทย แต่ปัจจุบันมีมายาคติเกี่ยวกับการประมูลหลายข้อ เช่น การประมูลทำให้ค่าใช้จ่ายเอกชนสูงเกินไป หรือ การประมูลทำให้ผู้ประกอบการมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องคิดค่าบริการที่แพงขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่อาจมีการตกลงร่วมกันของผู้ประกอบการเพื่อตั้งอัตราค่าบริการสูงแต่ประเด็นนี้เป็นปัญหาของการกำกับดูแลไม่ใช่การประมูล