ThaiPublica > เกาะกระแส > บทสังเคราะห์โครงการชุมชนนโยบายด้านภาษี ชี้ 10 แนวทาง “เปลี่ยนแปลงอนาคตประเทศไทย ด้วยการปฏิรูปภาษี”

บทสังเคราะห์โครงการชุมชนนโยบายด้านภาษี ชี้ 10 แนวทาง “เปลี่ยนแปลงอนาคตประเทศไทย ด้วยการปฏิรูปภาษี”

29 มีนาคม 2017


ดร.ธร ปีติดล อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ผู้เขียนรายงาน

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ จัดงานสัมมนา “เปลี่ยนแปลงอนาคตประเทศไทยด้วยการปฏิรูปภาษี: บทสังเคราะห์จากโครงการชุมชนนโยบายด้านภาษี” โดย ดร.ธร ปีติดล อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ผู้เขียนรายงาน ได้สรุป 10 แนวทาง ในการปฏิรูปภาษีของไทย ซึ่งกลั่นกรองมาจากโครงการดังกล่าวว่า

  1. กรอบแนวคิดที่รัฐบาลควรใช้ในการปฏิรูปภาษีคือการค้นหาแนวทางที่คำนึงถึงทั้งเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางการคลังและการกระจายรายได้ไปด้วยพร้อมกัน ในการจะสร้างความมั่นคงทางการคลังนั้นหลีกเลี่ยงได้ยากที่รัฐบาลจะต้องแสวงหารายได้จากภาษีเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การขยายรายได้ภาษีควรพิจารณาจากวิธีการที่จะมีศักยภาพในการลดความเหลื่อมล้ำก่อน
  2. ในการเพิ่มรายได้ภาษี แนวทางสำคัญคือการปรับปรุงภาษีเงินได้ให้มีฐานภาษีที่กว้างขึ้นโดยรัฐบาลควรมุ่งพัฒนาระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะส่งเสริมการนำประชาชนเข้าสู่ระบบภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล นอกจากนี้ รัฐบาลควรพยายามลดความซับซ้อนของระบบภาษีและทบทวนสิทธิการลดหย่อนภาษีที่ไม่มีความจำเป็น เช่น สิทธิการลดหย่อนจากการลงทุนใน LTF และ RMF แนวทางนี้นอกจากจะสร้างรายได้เพิ่มเติมแล้วยังช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับระบบภาษี เนื่องจากความซับซ้อนและสิทธิการลดหน่อยมักจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้สูง
  3. ควรมีการพิจารณาเพิ่มรายได้จากภาษีฐานทรัพย์สิน ตัวอย่างเช่น การเพิ่มศักยภาพการเก็บภาษีมรดก และการเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้ว่ารายได้จากภาษีเหล่านี้อาจจะไม่ได้มาก แต่ภาษีจากฐานทรัพย์สินมีนัยสำคัญต่อความพยายามลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาให้การเก็บภาษีเหล่านี้กระทบกับประชาชนทั่วไปน้อยที่สุด ตัวอย่างเช่น ในการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รัฐบาลอาจจะพิจารณาปรับปรุงภาษีที่เก็บกับที่ดินให้แยกจากสิ่งปลูกสร้าง และเลือกเก็บเฉพาะภาษีที่ดิน หรือหากจะต้องเก็บภาษีสิ่งปลูกสร้าง ก็อาจจะเลือกเฉพาะที่อยู่อาศัยที่มีราคาสูงมากเท่านั้น
  4. ควรมีการทบทวนการใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุน เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลและการให้สิทธิพิเศษทางภาษีของบีโอไอว่ามีความคุ้มค่าเพียงใด และควรออกแบบมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในลักษณะที่เฉพาะเจาะจงไปที่เป้าหมายมากขึ้น พร้อมกับมีระบบประเมินผลในการบรรลุเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ รัฐบาลควรหันไปพัฒนาปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขันของไทยได้อย่างคุ้มค่ามากกว่ามาตรการภาษี ตัวอย่างเช่น การลดต้นทุนที่เกิดจากความยากในการปฏิบัติตามกฎของภาษี การคุ้มครองสิทธิทางปัญญา การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนเพื่อปรับเพิ่มผลิตภาพ และควรพยายามสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกันลดอัตราภาษีเงินได้
  5. ช่องทางสำคัญที่รัฐบาลจะสามารถใช้เพิ่มรายได้ภาษีคือการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นทางเลือกที่ง่ายและมีประสิทธิภาพในการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ควรคำนึงด้วยว่าแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ไม่ได้มีศักยภาพในการลดความเหลื่อมล้ำดีเท่ากับการขยายภาษีจากฐานเงินได้และทรัพย์สิน หากจะให้การเพิ่มอัตราภาษีไม่สร้างผลเสียต่อการลดความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่จะต้องเกิดไปพร้อมกันคือการมุ่งปรับปรุงโครงสร้างรายจ่ายภาครัฐให้ไปในทางที่เพิ่มสวัสดิการและลดความเหลื่อมล้ำได้ดีขึ้น
  6. รัฐบาลควรพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำภาษีรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาใช้ ตัวอย่างเช่น ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (earmarked tax) ที่จะช่วยสร้างความชัดเจนว่ารายได้จากภาษีจะถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด earmarked tax จะช่วยสร้างการยอมรับกับประชาชนได้ว่าการเก็บภาษีจะนำมาซึ่งประโยชน์อันใดกับพวกเขาตามมา อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีในลักษณะนี้มีปัญหาที่การใช้จ่ายจะไม่ได้รับพิจารณาในกระบวนการงบประมาณปกติจากตัวแทนของประชาชน จึงต้องถูกออกแบบให้มีช่องการทางการมีส่วนร่วมจากประชาชนในทางอื่นทดแทน ภาษีอีกรูปแบบที่ควรพิจารณาคือภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (capital gains tax) ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในการขยายรายได้พร้อมกับลดความเหลื่อมล้ำ แต่การเริ่มเก็บภาษีในลักษณะนี้ต้องทำอย่างระมัดระวังและต้องศึกษาผลกระทบให้ชัดเจนก่อนนำมาใช้จริง โดยเฉพาะผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน
  7. เพื่อส่งเสริมการกระจายอำนาจการคลัง ควรมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีความสามารถมากขึ้นในการบริหารจัดการทางการคลังด้วยตนเอง และสนับสนุนให้ อปท. มีความสามารถมากขึ้นในการให้บริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ควรลดความสำคัญของเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางและหันไปสนับสนุนให้ อปท. มีอำนาจในการจัดเก็บรายได้ด้วยตนเองแทน ผ่านการสนับสนุนให้ อปท. เข้ามามีบทบาทในการเก็บและแบ่งรายได้จากภาษีรูปแบบใหม่ๆ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีสรรพสามิตหรือค่าธรรมเนียมการใช้บริการที่สะท้อนการใช้สาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะในระดับท้องถิ่น
  8. ควรมีการพิจารณามาตรการทางภาษีเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทางเลือกที่จะสามารถนำมาใช้ได้ประกอบไปด้วยการนำภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีคาร์บอน มาใช้ในประเทศไทย โดยอาจเก็บได้จากการใช้เชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การมีมาตรการเช่นภาษีคาร์บอนนอกจากจะช่วยสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศแล้ว ยังช่วยส่งเสริมความสามารถของประเทศในการส่งออกสินค้าไปสู่ประเทศที่มีมาตรการสิ่งแวดล้อมเข้มงวด  นอกจากนี้ รัฐบาลยังอาจพิจารณาออกมาตรการทางภาษีในการลดมลพิษและขยะ เช่น ภาษีบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โฟมและถุงพลาสติก โดยนำรายได้จากภาษีดังกล่าวไปช่วยอุดหนุนผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  9. รัฐบาลต้องมุ่งสร้างความโปร่งใสทางการคลังโดยพัฒนาฐานข้อมูลทางการคลังที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น ฐานข้อมูลทั้งด้านภาษีและการใช้จ่ายของรัฐบาล การเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้สาธารณชนทราบถึงรายได้จากภาษีว่าถูกนำไปใช้อย่างไร โดยรัฐบาลเองก็ควรมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการใช้งบประมาณและทำการประเมินประสิทธิภาพการใช้งบประมาณอย่างต่อเนื่อง การเปิดเผยข้อมูลและการสื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงประโยชน์ของเงินภาษีที่ย้อนกลับมาสู่ตนเองเป็นกระบวนการที่สำคัญยิ่งที่จะช่วยลดการต่อต้านและสร้างการยอมรับในหมู่ประชาชนกับกระบวนการปฏิรูปภาษี
  10. สิ่งที่ควรเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการปฏิรูปภาษีก็คือการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางภาษีมีความเชื่อมโยงกับกับการต่อรองอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง สภาพที่จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีเป็นไปในทิศทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนทั่วไปได้ดีที่สุดก็คือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้สามารถมีส่วนกับการกำหนดและตรวจสอบนโยบายรัฐได้ และจะต้องคำนึงถึงการปฏิรูปองค์กรต่างๆ ทั้งที่ออกแบบนโยบายภาษี บริหารการเก็บภาษี และจัดสรรรายได้จากภาษี เพื่อให้ตอบสนองกับเป้าหมายเดียวกันนี้

โครงการเวทีระดมสมองเพื่อสร้าง“ชุมชนนโยบายด้านภาษี”

โครงการเวทีระดมสมองเพื่อสร้าง “ชุมชนนโยบายด้านภาษี” (Policy Community on Taxation) มุ่งหมายสร้างเครือข่ายทางสังคมเพื่อนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยที่มีพลังจากรากฐานและการมีส่วนร่วม สำหรับการสร้างชุมชนทางนโยบายในครั้งนี้ เป้าหมายคือการปรับปรุงระบบภาษีของประเทศไทย การสร้างชุมชนโนบายทางด้านภาษีต้องการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพลังทางสังคมจากหลากหลายกลุ่มทั้งจากภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะในด้านสภาพปัญหาและแนวทางในการปรับปรุงระบบภาษี และเพื่อสร้างความเข้าใจและวิสัยทัศน์ร่วมกันต่อการสร้างระบบภาษีที่ดีขึ้นของประเทศไทยในอนาคต นอกจากนี้ เป้าหมายสำคัญอีกประการของการสร้างชุมชนโยบายทางภาษีคือสร้างชุดข้อเสนอในการปรับปรุงระบบภาษีของประเทศไทย โดยชุดข้อเสนอนี้จะบันทึกการแลกเปลี่ยนความรู้จากเวทีระดมสมองที่จัดขึ้นทั้งหมดเพื่อกลั่นกรองออกมาเป็นแนวทางปรับปรุงระบบภาษีของประเทศไทยที่ครอบคลุมทุกแง่มุมที่สำคัญ

โครงการระดมสมองเพื่อสร้างชุมชนนโยบายด้านภาษีได้จัดเวทีระดมสมองขึ้น 6 ครั้งในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2558 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 โดยเวทีระดมสมองในแต่ละครั้งได้มุ่งเน้นการพูดคุยถึงแง่มุมสำคัญต่างๆ ของระบบภาษีในประเทศไทย อันประกอบไปด้วย การลดความเหลื่อมล้ำ การกระจายอำนาจ การสร้างความยั่งยืน การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การขยายฐานภาษี และในขั้นตอนสุดท้าย ได้มีการจัดเวทีร่วมสังเคราะห์ข้อมูลสำหรับสร้างข้อเสนอทางนโยบาย

สำหรับเวทีระดมสมองที่จะจัดขึ้นในแต่ละครั้ง ได้เน้นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน ไม่ใช่การรับฟังการบรรยาย โดยเวทีการระดมสมองในแต่ละครั้งจะเริ่มจากการเชิญผู้เข้าร่วมที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้นำเสนอประเด็นการอภิปราย และหลังจากนั้นจะเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมทุกท่านได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เวทีระดมสมองของโครงการชุมชนนโยบายด้านภาษี 6 ครั้งที่ถูกจัดขึ้นมีรายละเอียดดังนี้

ครั้งที่ 1: “การสร้างชุมชนนโยบายด้านภาษีอากรเพื่อสร้างเศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้”
ครั้งที่ 2: “การปฏิรูปภาษีเพื่อกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ”
ครั้งที่ 3: “การปฏิรูปภาษีและการกระจายอำนาจ”
ครั้งที่ 4: “การปฏิรูปภาษีเพื่อความยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขัน”
ครั้งที่ 5: “การขยายรายได้ภาษี”
ครั้งที่ 6: “ข้อเสนอในการปฏิรูประบบภาษีของประเทศไทย”