ThaiPublica > เกาะกระแส > โรดแมปคืนความสุขคสช. : “ตุลาคมมีครม.-เขตเศรษฐกิจพิเศษป้องกันการลักลอบสวมสิทธิ์สินค้าเกษตร-แนวคิดปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน”

โรดแมปคืนความสุขคสช. : “ตุลาคมมีครม.-เขตเศรษฐกิจพิเศษป้องกันการลักลอบสวมสิทธิ์สินค้าเกษตร-แนวคิดปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน”

14 มิถุนายน 2014


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ :  http://www.straitstimes.com/sites/straitstimes.com/files/20140526/Prayuth-Chan-ocha-thai-nation-address-260514e.jpg
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ที่มาภาพ : http://www.straitstimes.com/sites/straitstimes.com/files/20140526/Prayuth-Chan-ocha-thai-nation-address-260514e.jpg

เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวในรายการ”คืนความสุขให้คนในชาติ”ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานในทุก ๆ ด้านที่ผ่านมาว่าสำหรับงานการเดินหน้าเรื่องการปฏิรูป ปัจจุบันระยะที่ 1 สามเดือนแรกมีความคืบหน้าไปมาก เราคาดหวังว่าในระยะที่ 2 ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถ้าไม่มีปัญหาแทรกซ้อนใด ๆ ทั้งระยะที่ 1 ระยะที่ 2 เราน่าจะเดินได้ตามที่เราต้องการตามที่ได้เตรียมการไว้ ซึ่งระยะที่ 1 วันนี้เรากำหนดไว้ชัดเจนว่าเราน่าจะมีรัฐบาลในเดือนกันยายน เพื่อจะได้ดำเนินการขับเคลื่อนประเทศต่อไป ในส่วนของรัฐบาล สภานิติบัญญัติก็เช่นเดียวกันคงต้องเกิดขึ้นมาก่อน พร้อม ๆ กับการประกาศการใช้ธรรมนูญชั่วคราว

“หลังเดือนกันยายนไปแล้ว คือเดือนตุลาคม ที่ผมย้ำเดือนเพราะว่ามีคำถามมาโดยตลอดว่าเมื่อไหร่อย่างไร ผมเลยเกรงว่าจะใช้ปฏิทินคนละฉบับ วันนี้น่าจะใช้ฉบับเดียวกันแล้ว ผมก็ยืนยันกับท่านว่าตั้งแต่ตุลาคมเป็นต้นไป คงจะเป็นการบริหารประเทศในลักษณะเป็นรัฐบาลที่มีครม. พยายามจะขับเคลื่อนไปในทางที่ใกล้เคียงกับการบริหารราชการแบบปกติที่ผ่านมาให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันแผนต่าง ๆ การดำเนินการต่าง ๆ ยังคงเป็นไปตามที่วางแผนไว้ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพราะอะไรครับ เพราะประชาชนให้ความร่วมมือกับพวกเราเป็นอย่างดี เป็นกำลังใจให้เราเสมอมา สำหรับบางประเทศที่มีท่าทีที่ยังไม่เห็นชอบหรือไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ผม และ คสช.เคารพในความคิดของทุกประเทศ ไม่ไปตอบโต้ประเทศเหล่านั้น ความสัมพันธ์เหล่านั้นยังคงมีอยู่ และยังคงต้องอยู่ต่อไป ในเรื่องของความร่วมมือและบรรยากาศที่ดี ทั้งภาคราชการ ภาคเศรษฐกิจ และประชาชน ต้องใช้เวลาให้ประเทศเหล่านั้นได้ศึกษาทำความเข้าใจถึงบริบทสังคมไทย ปัญหาของเรา ให้เห็นการปฏิบัติงาน และผลงานของ คสช.อย่างแท้จริง”

ในด้านเศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา เราเน้นเรื่องความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐบาล หรือ คตร. โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบหารือกำหนดนโยบายต่าง ๆ ให้เกิดความโปร่งใส คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง คือจะต้องใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนโดยรวม ไม่ให้เกิดปัญหาอย่างเช่นที่ผ่านมา

โครงการใดที่เราตรวจสอบแล้วพิจารณาว่าไม่เหมาะสม เราคงต้องหยุดดำเนินการ ขั้นต้นเราจะตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท และพิจารณาถึงแผนงานต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสมที่จะดำเนินการต่อไปหรือไม่อย่างไร ในการตรวจสอบนั้นจะตรวจสอบโครงการทั้งที่ยังไม่ได้ดำเนินการ และโครงการที่ได้อนุมัติดำเนินการไปแล้วด้วย เพื่อให้คลายความวิตกกังวล ความสงสัยของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณ จะต้องมีการระมัดระวัง เตรียมการป้องกันในการทุจริตคอร์รัปชันทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะกล่าวว่าใครทุจริตหรือคอร์รัปชัน ต้องมีการพิสูจน์ยืนยัน มีหลักฐานให้ชัดเจน โดยหน่วยงานเจ้าของงบประมาณจะต้องยืนยัน หากเราเร่งอนุมัติจำหน่ายหรือสั่งจ่ายไปในวันนี้ โดยไม่ได้ทำการตรวจสอบ อาจเกิดการทุจริตในขั้นตอนการจัดทำความต้องการ หรือการกำหนด TOR ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งผลกระทบที่มีต่อรัฐจะมีมากมาย คณะกรรมการตรวจสอบประกอบด้วยภาคส่วนอื่น ๆ อาทิ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สภาพัฒน์(สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) สำนักงบประมาณ และคณะกรรมการที่เพิ่มเติมโดย คสช. จัดตั้งขึ้น และยืนยันว่าเราจะทำให้ดีที่สุด

จ่ายหนี้ชาวนา 70,000 ล้านบาท – ทำแผนแก้ปัญหาน้ำ

ในส่วนการจ่ายเงินเยียวยาให้กับชาวนาวันนี้ จ่ายเงินไปจำนวนทั้งสิ้น 600,000กว่าราย จำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 70,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จให้ทันภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2557 ตามที่กำหนดไว้เดิม

สำหรับการกำหนดแนวทางการช่วยเหลือในฤดูกาลหน้า เราได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว จะเร่งรัดทำมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งขณะนี้ คสช. ได้ประชาสัมพันธ์ให้กับพี่น้องเกษตรกรทราบ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในรายละเอียดของมาตรการต่าง ๆ นั้น วันนี้กำลังอยู่ในขั้นการพิจารณาเพื่อตกลงใจและสั่งการ คงจะต้องครอบคลุมไปถึงผลิตผลทางการเกษตรอื่น ๆ ด้วย

การประชุมอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557
การประชุมอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557

ในเรื่องของแนวทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศเรานั้น เรามีปัญหาเรื่องน้ำมาโดยตลอด วันนี้ได้มีการประชุมทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ คงไม่ใช่พูดเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของการเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 มาดูว่าเฉพาะเรื่องน้ำมีการดำเนินการมาอย่างไร เราพิจารณาแล้วว่ายังมีปัญหาในเรื่องความเป็นเอกภาพ การบูรณาการ แผนงาน งบประมาณของทุกกระทรวง ทบวงกรมที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำ ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

“ฉะนั้นผมคิดว่าถ้าเราทำได้อย่างนี้ ในระยะแรกคือปี 2557 นี้เริ่มต้นได้ก่อน จะบูรณาการไปยังแผนใหญ่ในอนาคต และแผนพัฒนาฉบับที่ 11 ได้ ผมเรียนว่าคงไม่ใช่เรื่องน้ำอย่างเดียว เพราะแผนที่ 11 กำหนดไว้หลายด้านด้วยกัน ถ้าเราสามารถเริ่มต้นได้ในปี 2557 ต่อไปเราจะดำเนินการให้เป็นทั้งแผนงานเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่มีความเดือดร้อนของประชาชน และต่อไปเป็นระยะกลาง ระยะยาว คือต้องตอบคำถามได้ว่า 10 ปี เราจะแก้ปัญหาน้ำได้อย่างไร ทุก 5 ปีจะเกิดอะไรขึ้น และจากนั้นจะย้อนกลับมาว่าแต่ละปีเราจะทำอะไร ใช้งบประมาณตรงไหน ไม่ว่าจะเป็นงบรายจ่ายประจำปี หรืองบลงทุนร่วมภาครัฐภาคเอกชน หรือจะใช้งบประมาณจากที่ใดก็ตาม ต้องมีการขับเคลื่อนเริ่มต้นจากวันนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ให้ได้โดยเร็ว”

โครงการสินค้าราคาถูก

ทางด้านการบรรเทาความเดือดร้อนจากค่าครองชีพของประชาชน กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญผู้ประกอบการทั้งหมด เกี่ยวกับสินค้าอุปโภค บริโภค ที่มีความจำเป็นพื้นฐานในการบริโภค จำนวน 205 รายการ มาร่วมประชุม โดยยืนยันว่าจะคงราคาสินค้าที่จำเป็นดังกล่าวไว้ที่ราคาเดิมต่อไปอีก 6 เดือนข้างหน้า

นอกจากนั้นยังมีนโยบายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือใครก็ตามที่อยากจะช่วยเรา ที่มีขีดความสามารถในการบรรเทาความเดือดร้อนปัญหาค่าครองชีพ ได้จัดกิจกรรมช่วยเหลือประชาชน อาทิ การจัดการจำหน่ายสินค้าราคาถูกโดยตรงจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค มุ่งเน้นในเรื่องการดูแลเกษตรกรผู้ผลิตรายย่อย ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ จัดทำแผนงานหรือมาตรการในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ผลไม้ให้มีราคาสูง เพื่อเกษตรกร ประชาชนจะได้ผลประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ในเรื่องของนมโรงเรียน ต้องเน้นย้ำให้มีคุณภาพ มีความโปร่งใส และให้นักเรียนทั้งประเทศได้ดื่มอย่างทั่วถึง รวมทั้งการแก้ปัญหาให้กับสหกรณ์โคนมอย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย

แรงงานต่างด้าว

ในเรื่องของการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่มีปัญหามากมาย มีแรงงานต่างด้าวประมาณ 90,000 คน ที่ยังไม่ได้อยู่ในการควบคุมอย่างชัดเจน เราได้กำหนดไปแล้วโดยให้หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง คือผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบในการเชิญหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการ จัดรูปแบบของคณะกรรมการบริหารในภาพรวม เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ให้เกิดความรวดเร็ว ต้องดำเนินการให้เร็วที่สุดในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย

สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้คือการควบคุมแรงงานทั้งเช้าไปเย็นกลับ ทั้งตามฤดูกาลและในส่วนของรายปี ปัญหาคือการรอพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งเราจำเป็นจะต้องตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติของเราให้ได้โดยเร็ว วันนี้เราตั้งข้างเดียวคงไม่ได้ ต้องขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านด้วย ว่าต้นทางมาอย่างไร ปลายทางเราจะส่งกลับไปอย่างไร มีการจัดศูนย์การส่งแรงงานกันหรือไม่ อันนี้ต้องคุยกันใช้เวลาพอสมควร คิดว่าจะเร่งให้เสร็จโดยเร็วภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปี

แรงงานต่างด้าว ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2656050
แรงงานต่างด้าว ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2656050

เขตเศรษฐกิจพิเศษ-ป้องกันการลักลอบสวมสิทธิ์

ในเรื่องการกำหนดแนวทางเปิดพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ที่เรามุ่งเน้นคือไม่ใช่เฉพาะช่องทางเข้าออกเท่านั้น เราเน้นไปสู่ในชนบทด้วย เพราะเราได้เคยเสนอมาทุกรัฐบาลแล้ว ในเรื่องของการทำอย่างไรจะไม่มีคนเข้ามาในพื้นที่ตอนใน ไม่มีการกระทำผิดกฎหมาย อาชญากรรม ยาเสพติดอะไรต่าง ๆก็แล้วแต่ ฉะนั้นถ้าเรากันคนเหล่านี้ไว้ได้ตามแนวชายแดน ให้เขาสามารถที่จะมีรายได้ของเขาเช้าไปเย็นกลับได้จากเพื่อนบ้าน และคนของเราสามารถมีงานทำเพื่อจะให้คนในครอบครัวมีรายจ่ายประจำวันได้ ก็จะลดปัญหาลงไปได้มาก

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งประการสำคัญคือในเรื่องของการสวมสิทธิ์ผลิตผลทางการเกษตร ที่คุณภาพอาจจะต่ำกว่าเรา ซึ่งมักจะเป็นปัญหามาโดยตลอด ถ้าเราสามารถทำได้ เป็นแนวคิดแนวพิจารณาในขณะนี้ ได้มอบไปแล้วว่า เป็นไปได้หรือไม่ถ้าเราจะสร้างระบบสหกรณ์ของภาคประชาชนให้เข้มแข็งตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมมติว่าเข้มแข็งได้ ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเหล่านั้น จะมีการซื้อขายโดยมีข้อยกเว้นด้วยภาษี กฎหมายบางประการ คำว่า “เศรษฐกิจพิเศษ” คือว่า ถ้าทุกคนยังถือกฎหมายคนละฉบับ ทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ของเหล่านี้ก็รั่วไหลเลยเป็นบ่อเกิดของการทุจริต ผิดกฎหมาย สารพัด ถ้าเราทำให้ถูกต้อง มีการยกเว้นได้บ้าง อันนี้เป็นแต่เพียงการพิจารณา ถ้าเป็นไปได้ จะได้บรรเทาการลักลอบเข้ามาสวมสิทธิ์กันในประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป และการที่เอาเข้ามาตรงนี้ ไม่ใช่เข้ามาแล้วมาขายในบ้านเรา คงไม่ใช่ เข้ามารวบรวมไว้มีการบริหารจัดการโดยท้องถิ่นอะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ แล้วเราปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น จากคุณภาพต่ำให้ดีขึ้น เราก็ไม่ขายในประเทศ เราอาจจะไปส่งขายในประเทศอื่น ๆ จะทำให้การสวมสิทธิ์ของเรานั้นลดลงโดยอัตโนมัติ

ปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน

ปัญหาโครงสร้างพลังงาน อยากจะเรียนชี้แจงว่า บางครั้งจากคำถามของพี่น้องประชาชน ผมเข้าใจว่าท่านเดือดร้อน ท่านมีความเป็นห่วงในเรื่องของความโปร่งใส ผลประโยชน์ของชาติอะไรก็แล้วแต่ วันนี้ผมคิดว่าข้อมูลไม่ค่อยตรงกัน อาจจะเป็นคำอธิบายที่ยากเกินไป วันนี้ผมได้กำหนดแนวทางไปแล้วว่า ทุกคนจะต้องสื่อสารให้ถึงประชาชนโดยรวมให้ได้ โดยการใช้ภาษาที่ไม่ใช่ภาษาราชการมากนัก เอาคำถามของประชาชนที่สงสัยมาเป็นโจทย์ แล้วก็ข้าราชการทุกส่วน ทุกภาค ต้องตอบเป็นภาษาง่ายๆ ไม่ใช่ภาษาราชการฟังไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นประชาชนก็ขาดการติดต่อสื่อสารที่ดี ข้อมูลก็ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วนกระบวนความ เลยเกิดเรื่องของความขัดแย้งมาโดยตลอด

สำหรับการพิจารณาด้านพลังงาน คงไม่ใช่เฉพาะเรื่องราคาเท่านั้น คงจะต้องไปคิดต่อว่าเราจะสามารถจัดหาพลังงานให้เพียงพออย่างไร สำหรับความต้องการที่ใช้เพิ่มเติมในอนาคต พลังงานสำรอง การจัดหาพลังงานภายในประเทศ วันนี้การบริหารจัดการพลังงานของเราวันนี้ เช่น น้ำมัน ไม่ใช่เรื่องของการเจาะและนำมาผลิตเองทั้งหมด ถ้าแบบนั้นเราสามารถกำหนดราคาได้เองบ้าง

แต่วันนี้เราได้ประโยชน์จากพลังงาน แหล่งพลังงานในประเทศ มาจาก 2 อย่างด้วยกัน คือค่าสัมปทาน และค่าภาษีต่าง ๆ ตามขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ โดยสรุปแล้วเหมือนกับเราเป็นการนำเข้าพลังงานเกือบทั้งหมด ทั้งแก๊ส น้ำมัน อันนี้ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน แต่ถ้าไม่ใช่คณะกรรมการจะพิจารณาขึ้นมาอีกที ในขณะนี้ก่อนว่าเรายังไม่มีความสามารถที่จะเป็นประเทศที่ผลิตเอง ส่งออก และใช้ในประเทศอย่างครบถ้วนอย่างที่หลาย ๆ ฝ่ายอาจจะคิดกัน เป็นเรื่องของรายได้ที่กลับมาบางส่วน ส่วนหนึ่งเป็นส่วนของรัฐวิสาหกิจ ส่วนหนึ่งเป็นส่วนของภาคธุรกิจ บริษัทมหาชน มันต้องแยกกันให้ออกว่ากำไรที่มาทั้งหมดที่ว่าเป็นจำนวนมาก ๆ มาอย่างไร ผมคิดว่าผมมีแนวคิดอยู่พอสมควรได้มอบหมายไปแล้ว ทำอย่างไรประชาชนจะเข้าใจ ผมคิดว่าต้องขอความร่วมมือจาก ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทที่มีทั้งสองอย่างในการทำงาน ทั้งในการเป็นรัฐวิสาหกิจ และการเป็นบริษัทมหาชนด้วย

ในเรื่องของพลังงานทดแทน ผมคิดว่าวันนี้เราคงมุ่งหวังจะใช้จากแก๊ส ไฟฟ้า น้ำมัน อย่างเดียวไม่ได้แล้ว เราคงต้องสร้างเสริมพลังงานทดแทน และใช้ผลผลิตภายในประเทศ เพื่อลดภาระการนำเข้าของพลังงานเดิม รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีอยู่อย่างจำกัด

“ผมเรียนว่าข้อมูลที่ผมได้มาในวันนี้นั้น เราไม่ได้มีมากมายเท่าไหร่นัก เพราะฉะนั้นต้องอยู่ที่เราจะวางแผนการใช้อย่างไร เพื่อให้มีพลังงานสำรองในอนาคตไว้ด้วย ถ้าเราขุดเจาะมา และเอามาใช้ทั้งหมด มันก็หมดเร็ว วันหน้าเราจะไม่มีพลังงานเหลืออยู่เป็นพลังงานสำรอง เพราะฉะนั้นเราต้องใช้พลังงานทดแทนในทุก ๆ ด้าน อย่างทั่วถึง ในทุกพื้นต้องแก้ไข ต้องเร่งดำเนินการ”

ทางด้านราคาต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ จะต้องไปพิจารณาโดยรวมทั้งระบบ ต้นทุนมาจากไหน การกำหนดราคากำหนดมาได้อย่างไร จากผู้ผลิต ผู้บริโภค สอดคล้องกับการตลาดในประเทศ นอกประเทศ มีเหตุผลหรือไม่ที่จะตอบคำถามได้ ทั้งนี้เราต้องการไม่ให้เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชน และไม่กระทบต่อโครงสร้างรายได้ของประเทศด้วย เพราะมีผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น จากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง มีการยึดโยงมากมาย

ในเรื่องกองทุนน้ำมันเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทุกคนให้ความสนใจ วันนี้เรามีข้อมูลมากพอสมควรในเรื่องนี้คือเป็นการจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2516 ได้แก้ปัญหาทางด้านพลังงาน โดยไม่มีน้ำมันกับก๊าซมาโดยตลอด วันนี้จะต้องศึกษา และสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่า ถ้าลดตรงนี้ ตรงนั้นต้องเพิ่มไปตามกลไกตลาดจะรับได้ไหม ถ้ารับไม่ได้เราจะทำอย่างไร วันนี้กองทุนน้ำมันติดลบประมาณ 7,400 ล้าน ถ้าเราไม่เก็บจะได้ไหม ไม่เก็บแล้วทำอย่างไร ต้องหาคำตอบ ตอนนี้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่แต่งตั้งขึ้นมาเร็ว ๆ นี้ จะไปแก้ไข

“รวมความไปถึงคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อันนี้เป็นกลไกที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ใช่ว่าสั่งปุ๊ปได้ปั๊บ เหมือนเปิดไฟปิดไฟไม่ได้หรอก ไม่อย่างนั้นไฟปิดทั้งหมด ทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นจะต้องพิจารณาข้อมูลกับการดำเนินงานทั้งหมดให้เป็นธรรม และเกิดประโยชน์ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลผู้ที่มีรายได้น้อยเป็นหลัก เราต้องฟังเสียงข้างน้อยบ้าง ที่ผ่านมาบางครั้งบางทีการสื่อสารไม่เข้าใจกัน การสื่อสารต้องมีทั้งสองทาง จากบนลงล่าง ล่างขึ้นบน และฟังเสียงข้าง ๆ ด้วย ไม่งั้นปัญหาแก้ไม่ได้อย่างยั่งยืน ก็เกิดปัญหาต่อไปในอนาคต”

ในส่วนของการขับเคลื่อนอื่น ๆ นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานเราต้องคำนึงถึงความมั่นคงด้วย วันนี้ถ้าเราพึ่งพาอาศัยจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเดียว แต่เราต้องคำนึงถึงว่าประเทศเราต้องการพลังงานเท่าไหร่ ถึงจะอยู่ได้ด้วยตนเอง วันนี้เราต้องเตรียมการเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าต้องพึ่งทั้งหมด ถ้าพึ่งทั้งหมดไม่ได้ เราต้องทำเอง ทำเอง ถ้าเราใช้พลังงานจากใต้ดินไม่พอ เราต้องส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งในการใช้พลังงานทดแทนให้ได้โดยเร็ว

ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน

ในเรื่องของการส่งเสริมการลงทุน วันนี้ คสช. ได้ออกประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่เรียกว่าบีโอไอ เรียบร้อยไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านได้ ได้รวบรวมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นคณะกรรมการเพิ่มเติมด้วย เดิมเราจะเพิ่มอีกหลายส่วนด้วยกัน วันนี้พยายามจะเพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาด ๆ อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้นายกสมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าไปร่วมด้วย

สำหรับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ จะรีบประชุมโดยเร็ว มีโครงการต่าง ๆ ที่ขอรับการสนับสนุนส่งเสริมขนาดการลงทุนเกิน 200 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน ประมาณ 400 กว่าโครงการ วงเงินลงทุนประมาณ 7.6 แสนล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายในเวลาประมาณ 2 เดือน เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยเร็ว

นอกจากนั้นแล้ว คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจะพิจารณาถึงยุทธศาสตร์ในอนาคต ซึ่งได้มอบนโยบายไปแล้วว่าจะต้องมุ่งเน้นอุตสาหกรรมทั้งที่ใช้เทคโนโลยีสูง ควบคู่ไปด้วยกับกิจการที่ใช้แรงงานด้วย เพราะเราจะต้องสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนที่มีรายได้น้อยด้วย ที่ผ่านมาเราจะมุ่งเน้นในเรื่องของการใช้แรงงานเป็นหลัก วันนี้เราต้องส่งเสริมในเรื่องของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง และต้องการให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่คนไทยได้อย่างแท้จริง เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มในการใช้วัตถุดิบในประเทศให้ได้มากที่สุด มีการประหยัดพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น เอทานอล ไบโอดีเซล ก๊าซชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวมวล พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ นอกนั้นต้องเป็นอุตสาหกรรมที่สะอาด ไม่เพิ่มมลภาวะ เพิ่มมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อจะให้ประเทศเรานั้นมีความเข้มแข็งมากขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เราจะได้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต

ใบอนุญาต ร.ง.4

ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตในการจัดตั้งโรงงานไปแล้วนั้น เช่น โรงงาน 4 (ร.ง 4) ที่รออนุมัติอยู่แล้ว เราจะพิจารณาให้จัดตั้งให้ได้แล้วเสร็จโดยเร็ว ตามข้อพิจารณาที่เรากำหนดเพิ่มเติมไป ให้อยู่ในกฎเกณฑ์ที่จะทำให้เราเข้มแข็งขึ้นจะได้ลำดับความเร่งด่วนก่อน สิ่งที่เป็นปัญหาวันนี้เราต้องมาดูกันว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ฉะนั้นวันนี้เรามาดูว่าถ้าเราอนุมัติไปแล้ว ภายใน 1 ปี ยังไม่ได้มีการสร้าง ไม่มีการเริ่มต้น อาจจะต้องพิจารณายกเลิกใบอนุญาตที่อนุมัติไปแล้ว และห้ามเปลี่ยนสิทธิใบอนุญาตภายใน 2 ปีโดยประมาณ เพื่อป้องกันการทุจริตหรือการนำใบอนุญาตดังกล่าวไปขายต่อ

ส่วนการดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ นั้นปัญหาปากท้องเป็นเรื่องเร่งด่วนที่คสช.จะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ที่ผ่านมาได้ชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน ไว้ที่ราคาเดิม จากเดิมต้องปรับขึ้น ก่อนหน้านั้นมีคำสั่งมาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมาต้องปรับขึ้น วันนี้เราได้พยายามที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบ มีการชะลอ มีการพิจารณามาตรการอื่น ๆ คงต้องรอการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในภาพรวมให้ได้โดยเร็ว

ความโปร่งใสบอร์ดรัฐวิสาหกิจ

การพิจารณาความมีประสิทธิภาพความโปร่งใสของบอร์ดรัฐวิสาหกิจ จะต้องเอาหลักเกณฑ์ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มาเข้าเป็นตัวกำหนดด้วย นอกจากกฎหมายพระราชบัญญัติต่าง ๆ แล้ว หรือโดยผู้ถือหุ้น คงต้องกำหนดกติกาขึ้นมาชัดเจนขึ้น ปัจจุบันนั้นอยากจะเรียนว่าคงไม่ใช่ทั้งหมดที่จะใช้อำนาจโดยไม่มีการควบคุม คิดว่าเป็นการควบคุมโดยกฎกติกาของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย และมีการควบคุมอยู่แล้ว แต่คราวนี้เป็นปัญหาซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจ คงต้องหามาตรการอื่นเพิ่มเติม อาจจะต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ มีคุณภาพ มีคุณธรรม ธรรมาภิบาล เข้ามาเป็นกรรมการ ลดสิทธิผลประโยชน์ตอบแทนที่เกินความจำเป็น ให้เหมาะสม ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายและข้อบังคับอีกเป็นจำนวนมาก และประเด็นสำคัญคือบางท่านอาจจะมองว่าทำไมมีข้าราชการเยอะอยู่ตามบอร์ดต่าง ๆ มันเป็นกฎหมาย ถ้าเป็นบอร์ดใดที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ วันนี้บริษัทเหล่านั้น เนื่องจากรัฐเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ อาจจะต้องมีปลัดกระทรวง รองปลัดต่าง ๆ ไปดูแล ตามความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงแต่ละงาน ไม่ใช่เรานึกจะตั้งใคร ปลดใคร ไม่ได้ทั้งนั้นในขณะนี้ เพราะเรามีกฎหมายคุ้มครองกันอยู่ เราก็พยายามจะแก้ปัญหานี้ให้ได้ พยายามทำความเข้าใจกับบอร์ดทุกบอร์ดอยู่ในขณะนี้

การเบิกจ่ายงบประมาณปี’57

การจะเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเร่งรัดเบิกจ่ายให้ได้ 95 % จากเหตุการณ์ความไม่สงบต่าง ๆ ทำให้งบประมาณทั้งหมดเบิกจ่ายไปเพียง 62% วันนี้เพื่อจะให้เม็ดเงินต่าง ๆ ไปถึงมือประชาชน พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ต้องผ่านการตรวจสอบทุกอย่าง โดยคณะกรรมการตรวจสอบฯคตร. โครงการไหนไม่ผ่าน ไม่มีประโยชน์ ประชาชนรู้สึกไม่ไว้วางใจ ต้องระงับไว้ก่อน ความซ้ำซ้อนจะต้องปรับแผนงาน

งบประมาณปี 2557 เหลืออยู่เป็นจำนวนมากพอสมควร เราก็ไม่อยากจะไปหยุดงานต่าง ๆ ที่จะต้องดำเนินการให้ได้ในปีนี้ เพราะฉะนั้น เราจะมาปรับดูว่าถูกต้อง ผ่านกฎเกณฑ์กติกาต่าง ๆ หรือยัง ถ้าเราทำได้ เราจะให้ทำในแผนงานของแต่ละกระทรวง โดยเจ้าของงบประมาณอยู่แล้ว ผมไม่สามารถจะปรับเขาออกมาได้ แต่จะให้ทำโดยผ่านการตรวจสอบและให้บูรณาการกันตั้งแต่งบรายจ่ายประจำปี อย่างที่ผมเรียนข้างต้นไปแล้ว

“อันนี้ต้องขอยกเว้นรายการการโอนงบประมาณที่เหลืออยู่ ที่ยังไม่มีแผนงานโครงการที่ชัดเจน ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก กำลังตรวจสอบรายละเอียดอยู่ ขอกันว่าอย่าไปเปลี่ยนแปลงงบประมาณดังกล่าวเหล่านั้น ไปเป็นในลักษณะการโอนงบประมาณไปเพื่อเดินทางต่างประเทศ ดูงาน จัดซื้อยานพาหนะ หรือเรื่องอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องของข้าราชการ ผมอยากให้ช่วงนี้เป็นการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้มากที่สุด อะไรที่ไม่ควรจ่ายก็อย่าเพิ่งไปจ่าย อะไรที่ไม่ควรใช้ก็อย่าไปใช้ เราเป็นข้าราชการ ต้องคิดถึงประชาชนไว้ก่อน”

พื้นที่สีเขียวปอดของคนกรุงเทพฯ

โรงงานยาสูบ ซึ่งแผนเดิมจะย้ายไปที่ตั้งแห่งใหม่ในปี 2558 ยังคงให้เดินหน้าต่อไปตามแผนงานเดิม เราต้องดูนโยบายให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นสวนสาธารณะเพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และปอดของคนกรุงเทพฯ ให้ต่อเนื่องจากระยะที่ 1 ถ้าหากว่าจะทำประโยชน์จากที่ดินตรงนี้ หรือจะริเริ่มโครงการ จะกันที่จอดรถ ต่าง ๆ ในข้างใต้ก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาดำเนินการ และให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน แต่ข้างบนเป็นสวนสาธารณะแน่นอน ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าดีใจของคนกรุงเทพฯ

การเร่งรัดโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และตรวจสอบความโปร่งใสแล้ว เช่น รถไฟทางคู่บางสาย รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายบางสาย จะต้องสามารถเริ่มดำเนินการได้ก่อนสิ้นสุดปี 2557 โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ เรามีทางเดี่ยวมานานแล้ว ทางคู่ทางเดี่ยวคือวิ่งสวนกัน ทางคู่ไม่ต้องจอดรอกัน คู่ขนานกันไป

เรื่องระบบการศึกษาที่คนเป็นห่วงนั้น เราจะปรับปรุงทั้งหมด มุ่งส่งเสริมเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย ความมีวินัย มีคุณธรรม ศีลธรรม มีคำแนะนำมามากมาย ทำอยู่แล้วใจเย็น ๆ ให้คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ รู้จักหน้าที่ของตน รู้จักทั้งสิทธิและหน้าที่ การบริหารจัดการศึกษามุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคล วันนี้ให้กระทรวงศึกษาธิการไปทำอยู่ ทั้งครู นักเรียน และใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลางมากกว่าการพัฒนาด้านวัตถุ หรืออะไรต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องที่ใช้งบประมาณมาก ๆ วันนี้เราต้องดูเด็กก่อนว่าคุณภาพเป็นอย่างไร ต้องมุ่งหวังคุณภาพมากกว่าปริมาณ

การผลิตบุคคลในสายวิชาชีพ เพื่อเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ หรือเป็นแรงงานฝีมือของประเทศนั้น จบมาก็มีงานทำ จะให้ไปดูเรื่องการศึกษาของพวกช่างกล ช่างฝีมือต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้จบมาแล้วมีงานทำ

“วันนี้มีปัญหาเรื่องการส่งคืนเงินกู้ กยศ. กำลังให้ทบทวนดูจะทำอย่างไร ที่กู้ไปแล้วยังไม่ส่งคืน และจะกู้ใหม่จะทำอย่างไร เม็ดเงินตรงนี้ไม่กลับมาก็กู้ใหม่ไม่ได้ กำลังพิจารณาอยู่เหมือนกัน ถ้าเราไม่ปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด จะไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ผ่อนชำระเงินกู้ไม่ได้ นี่คือปัญหาที่เราต้องดูให้ครบระบบ ทั้งนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้มีกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการแล้ว ต้องให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ยกตัวอย่างหลายๆประเทศ เช่น เรามีวิทยาลัยเทคนิคไทย-เยอรมัน อันนั้นก็เอาแนวทางของเยอรมัน มาเป็นแบบอย่างในการสอน ในการให้ความรู้ต่าง ๆ และประเทศเขาก็เข้มแข็ง แข็งแกร่ง แรงงานมีคุณภาพ”

การศึกษานั้นผมอยากให้มุ่งเน้นสายวิชาชีพให้มากขึ้น วันนี้แรงงานต้องมีการพัฒนา เพราะฉะนั้นถ้าเราลงทุนมาก ๆ จากภายใน ภายนอกประเทศก็แล้วแต่ คนของเราจะได้ไม่รั่วไหลออกไปนอกประเทศ ไปทำงานต่างประเทศมากมาย

การต่างประเทศนั้น วันนี้เราเร่งดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ต่อเนื่องและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น สร้างบรรยากาศ เราคบกับมิตรประเทศต้องมีความไว้วางใจต่อกัน ไม่หวาดระแวงต่อกัน และมีความเท่าเทียมกัน เป็นธรรม ผลประโยชน์ร่วมกันอย่างทั่วถึง ให้ความร่วมมือกัน ผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทวิภาคี พหุภาคี ในภูมิภาคอาเซียน และการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน AEC ในระดับโลก

ปรับปรุงมาตรการการปราบคอร์รัปชัน

ในเรื่องการปรับปรุงระบบบริหารราชการและแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันทั้งระบบนั้น ที่เป็นโครงสร้างใหญ่ ๆ ที่เราพูดไว้เดิมมีประมาณ 8 – 9 เรื่องที่ต้องปฏิรูปกัน ผมอยากเรียนว่าระยะที่ 1 เราไม่ได้เอาอะไรมาเป็นข้อสรุป เป็นแต่เพียงว่าเอาข้อเสนอทุกคนไปให้เขาอ่านเขาดูกัน และเขาไปคุยกัน เพื่อจะได้ไปสู่ระยะที่ 2 ก็ไปว่ากันคือหลังจากมีรัฐบาลแล้วคือเดือนกันยายน คงปฏิรูปกันตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป สามารถดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ การจัดตั้ง การดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลา ไม่ใช่ทำวันนี้พรุ่งนี้ได้ คงไม่ใช่ ตามระยะเวลาที่บอกไว้เรื่องการปฏิรูป

เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขวันนี้มีมากมาย เราก็ใช้ช่วงเวลาเหล่านี้ ใช้ คสช. ในการแก้ปัญหาให้ท่าน สิ่งใดก็ตามที่มีผลกระทบต่อรัฐและประชาชนต้องแก้ไขด่วนทันที เช่น การตรวจสอบแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรอิสระ อาทิ กสทช. หรือบริษัท ทีโอที จะต้องหาจุดที่พบกันว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความสงสัยหวาดระแวงของประชาชนหรือสังคมทั่วไปในอนาคต หน่วยงานเหล่านี้จะต้องร่วมมือกันในการแก้ปัญหา การทุจริตเชิงนโยบาย

“วันนี้ คสช. ยืนยันว่าไม่ต้องการผลประโยชน์แม้แต่บาทเดียว เพราะฉะนั้นใครไปอ้าง ท่านตรวจสอบมา ถามมาได้ตลอดเวลา การจัดซื้อจัดจ้างในราคาที่สูงเกินความเป็นจริง มีแนวโน้มส่อไปในทางทุจริต จะต้องได้รับการตรวจสอบ อย่าไปเชื่อเขา วันนี้ผมให้นโยบายไปแล้วว่า ถ้าเราสามารถขจัดการทุจริตได้ เราสามารถจะลดการใช้จ่ายงบประมาณไปได้ อย่างน้อยน่าจะ 10- 30% ถ้าเราลดได้ บางอย่างก็ลดไม่ได้ ท่านอย่ามองว่าทุจริตทั้งหมด บางอย่างราคาเป็นธรรม บางอย่างอาจจะมีจุดรั่วไหลตรงนั้นตรงนี้นิดหน่อย ก็ต้องคิดกัน ถ้าเรามองทุกคนด้วยความไม่ไว้วางใจทุกโครงการหมด ก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งหมด ติดขัดไปเสียทั้งหมด ท่านต้องเข้าใจ สงสัยก็หาข้อมูลมา ลดได้ก็ลด ถ้าลดไม่ได้มีเหตุผลมาหรือไม่ว่าทำไมถึงราคานี้ ก็ว่ากันมา”

วันนี้ใช้เวลามามากพอสมควร ทำไมผมต้องพูดเยอะ ทำไมผมต้องอธิบายเยอะ เพราะที่ผ่านมานั้นท่านไม่ได้รับข้อมูลจากส่วนราชการมากนัก และภาษาที่พูดกับท่านก็เป็นภาษาราชการเสียส่วนใหญ่ ผมคิดว่าท่านเข้าใจยาก วันนี้ผมได้สั่งหน่วยราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ต้องไปหาคำพูดที่ให้ประชาชนเข้าใจ ไปเอาคำถามของประชาชนมา และตอบให้ตรงคำถาม ผมเตือนมาหลายครั้งแล้ว ไม่อย่างนั้นก็ไม่เข้าใจกันอยู่แบบนี้ ผมเองฟังบางทีก็ยังงงๆอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องเป็นภาษาที่ประชาชนเข้าใจง่าย ๆ

วันนี้เราถูกกดดันมากพอสมควร ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ด้วยปัญหาที่สะสมกันมายาวนาน ด้วยเวลาที่จำกัด และความคาดหวัง ความไว้วางใจของประชาชน พ่อแม่พี่น้องคนไทยทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเราพยายามที่จะทำอะไรไม่ผลีผลาม เร่งด่วนจนเกิดผลกระทบระยะยาว ไปสร้างปัญหาให้กับอนาคต