ThaiPublica > คอลัมน์ > ภาษาวิบัติ, จิงง่ะ?

ภาษาวิบัติ, จิงง่ะ?

27 มิถุนายน 2014


ณัฐเมธี สัยเวช

“ภาษาวิบัติ” เป็นคำที่ได้ยินกันเสมอเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับภาษาที่ใช้กันในสังคม ซึ่งเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ ก็มักเป็นไปในทางความหมายหนึ่งของคำว่า “วิบัติ” กล่าวคือ เป็นไปในทางที่ผิดหรือคลาดเคลื่อน ขณะที่ในทางความรู้สึกแล้ว หลายคนที่ใช้คำนี้ก็อาจไปถึงความหมายที่ว่าภาษานั้นได้มาถึงแก่กาลอัน “ฉิบหาย” ของมัน

ความกังวลเรื่องความวิบัติของภาษาไทยนั้นมีให้เห็นเสมอมา ตั้งแต่ในระดับของ

1. การออกเสียง ร ล คำควบกล้ำต่างๆ ซึ่งถ้าว่ากันอย่างเคร่งครัด การกระดกลิ้นอย่าง “พอดี” ก็จำเป็นต่อการควบคุมความวิบัติทางด้านการออกเสียง

2. ในระดับของการสะกดคำ ก็จะมีตัวอย่างความกังวล หรือกระทั่งหงุดหงิดรำคาญใจให้เห็น ดังเช่นคำว่า คะ-ค่ะ ให้ถูกต้องก็ต้องเป็น “นะคะค่ะ” ไม่ใช่ “นะค่ะคะ” คำว่า “นะค่ะ” นั้นไม่มี แต่ถ้า “น่ะค่ะ” แบบนี้ก็ใช้ได้

3. คำใหม่ ซึ่งตรงนี้จะแบ่งเป็น 1) คำใหม่ในเชิงรูปแบบการสะกด กล่าวคือ เป็นคำที่มีรูปแบบการสะกดเดิมอยู่ หากแต่รูปแบบการสะกดนั้นผิดเพี้ยนไปจากเดิม เช่น เมพ ครัช และ 2) คำที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น มุ้งมิ้ง ฟรุ้งฟริ้ง

ในแบบที่ 2. และ 3. นั้น จะเป็นกรณีความกังวลที่พบมากในโลกปัจจุบันที่โลกออนไลน์ได้กลายมาเป็นช่องทางที่มีการสื่อสารด้วยการเขียน (พิมพ์) อย่างหนาแน่น

แล้วความชะงักงันทางอารมณ์หรือกระทั่งหงุดหงิดคุ้มคลั่งเมื่อได้พบเจอกับ “วิบัติการณ์” ทางภาษานั้นเป็นเพราะอะไรบ้าง ซึ่งคำตอบนั้นก็น่าจะเป็นไปได้ใน 2 ประการ คือ หนึ่ง ยึดมั่นในความถูกต้องตามกฎเกณฑ์การสะกด นี่เป็นกรณีอย่างข้อ 2. คือการสะกดผิดทั้งหลายแหล่ และ สอง ไม่เข้าใจความหมาย นี่คือกรณีอย่างข้อ 3. เรื่องคำใหม่ ซึ่งการไม่เข้าใจความหมายนั้น ในทางหนึ่งแล้วมันก็คือการไม่สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่อยู่ตรงหน้านะครับ และการไม่สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมตรงหน้านี่แหละ ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการปฏิเสธหรือกระทั่งให้ร้ายสังคมนั้นๆ (องุ่นเปรี้ยวน่ะครับ)

เมื่อพบเจอกับการสะกดผิด หรือพูดให้ชัดเจนก็คือ “ผิดหลัก” ซึ่งก็คงต้องแยกออกจากกันว่าในโลกออนไลน์นั้น มีทั้งถ้อยคำที่สะกดผิดเพราะพิมพ์พลาดจริงๆ และมีถ้อยคำมากมายที่สะกดผิด “โดยจงใจ” สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในหลายๆ กรณีที่สะกดผิดโดยจงใจนั้น ก็มีที่มาเริ่มต้นจากการสะกดผิดเพราะพิมพ์พลาด แต่ผู้พบเห็นนั้นรู้สึกว่าตลกดี ก็นำมาใช้เป็นการสะกดผิดอย่างจงใจต่อๆ ไปจนนับได้ว่าเกิดเป็น “คำใหม่ความหมายเดิม” เช่น เมพ (เทพ) ลาก่อย (ลาก่อน) ครัช (ครับ) ซึ่งหากสังเกตดีๆ แล้ว การพิมพ์พลาดนั้นก็น่าจะมีสาเหตุมาจากทั้งความเร่งรีบ และอาจเพราะเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน ที่ทำให้ขนาดของคีย์บอร์ดเล็กลง จนจิ้มพลาดไปโดนตัวอักษรที่อยู่ใกล้กันเสียแทน จากตัวอย่างที่ยกมาก็คือ กดโดน ม แทนที่จะเป็น ท ในกรณีของเมพ กดโดน ย แทนที่จะเป็น น ในกรณีของลาก่อย หรือกดโดน ช แทนที่จะเป็น บ ในกรณีของครัช เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาในโลกที่แคบเล็กและหมุนไวมากขึ้น (แต่ถ้าพูดอย่างเคร่งครัด คำว่าเมพนี่มีที่มาจากเกมออนไลน์นะครับ มาเสียก่อนที่สมาร์ทโฟนจะเติบโตขาดนี้เสียอีก)

เอาเข้าจริงแล้ว การหงุดหงิดกับการสะกดผิด ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากความคุ้นชินที่มีต่อหลักเกณฑ์ของ “ภาษาพูด-ภาษาเขียน” ด้วย

เดิมที การเขียน “เรื่องทั่วไป” ให้คนอื่นเห็นนั้นเป็นของแปลกประหลาด เป็นสิ่งหายาก แทบจะเป็นเรื่องเฉพาะที่เฉพาะทางของคนบางคนหรือบางอาชีพ หากไม่ใช่จดหมายหรือไดอารีแล้ว การเขียนดูจะเป็นสิ่งที่เรียกร้องให้มี “ความเป็นทางการ” เป็นการเขียนภายใต้กำกับของอำนาจบางอย่างที่เรารู้ว่าจับตามองเราอยู่จนเราต้องเอาความรู้สึกนั้นมาจับตามองตนเองอีกทอด เช่น เขียนการบ้าน เขียนรายงานส่งครูอาจารย์ เขียนตอบข้อสอบ เขียนจดหมายหรือรายงานต่างๆ ตามหน้าที่การงาน เหล่านี้ล้วนเรียกร้องความเป็นทางการในการเขียน สิ่งที่เป็นภาษาพูดนั้นแทบจะไม่มีโอกาสได้ปรากฏอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น (เช่น “มั้ย” น่าจะเป็นคำบาปสำหรับการเขียนอย่างทางการที่เรียกร้องภาษาเขียน ที่นั่นมีแต่ที่ทางสำหรับคำว่า “ไหม” หรือ “หรือไม่”)

ทว่า เมื่อโลกเดินทางมาถึงจุดที่การสื่อสารจำนวนมากอพยพเข้ามาสู่ภายในพรมแดนของโลกออนไลน์ ที่การพูดคุยแบบธรรมดาและไม่เป็นทางการได้ถูกแปลงสภาพมาอยู่ในรูปของตัวหนังสือ ในโลกทางอินเทอร์เน็ตที่ว่ากันจริงๆ แล้วไม่มีใครหน้าไหนมาให้คุณให้โทษทางการใช้ภาษากับเราได้ (เว้นแต่จะทำตัวเป็น “ตำรวจภาษา” กันเสียงเอง) อำนาจการควบคุมของความเป็นทางการย่อมเสื่อมลง เส้นแบ่งระหว่างภาษาพูดและภาษาเขียนย่อมเลือนรางลง สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการพยายามใช้คำเขียนให้สามารถ “ถอดเสียง” คำพูดได้ตรงหรือใกล้เคียงกับความจริงที่สุด ทั้งในแง่ทางกายภาพของการออกเสียง และการสื่อสารอารมณ์

ในการนี้ อำนาจส่วนหนึ่งในการใช้ภาษาได้ถูกถ่ายโอนจากกฎเกณฑ์ในการใช้ที่กำหนดโดยราชบัณฑิตยสถานมาอยู่ในมือของตัวผู้ใช้ภาษาเอง ผู้ที่พูดผ่านการเขียนได้มีโอกาสที่จะใช้รูปแบบการเขียนที่เป็นไปอย่างตามใจตัวเองมากที่สุด เป็นไปตามความถนัดของตัวเองมากที่สุด อย่างที่เรียกว่ากฎเกณฑ์แข็งๆ ที่ไม่ยอมลดหย่อนผ่อนปรนจะไม่มีอำนาจใดๆ ในสถานที่ออนไลน์นี้

เราอาจกล่าวได้ว่า ในทางหนึ่งแล้ว นี่คือการทำให้ภาษารับใช้ผู้พูด หรือเป็นไปตามธรรมชาติของผู้พูดมากที่สุด เช่น คำว่า “จิง” ซึ่งมาจากคำว่า “จริง” ทางหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากความต้องการความเร็วในการพิมพ์ แต่ว่า ถ้าพูดกันตามการออกเสียงจริงๆ แล้ว อาจเป็นราชบัณฑิตฯ ที่ต้องทำการสังคายนา ปรับแก้คำว่าจริงเป็นคำว่าจิง เพื่อให้สอดคล้องแก่การใช้งานจริงในด้านการออกเสียงของมนุษย์

และในการที่อำนาจในการใช้ภาษานี้ตกมาอยู่ในมือผู้ใช้โดยตรง ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดคำใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีการใช้มาก่อนขึ้น อย่างคำว่า “งุงิ” หรือ “มุ้งมิ้ง” ผมก็เห็นว่าเป็นการพยายามอธิบายอาการ “ออดอ้อนออเซาะ” ของตัวเองออกมา หรือ “ฟรุ้งฟริ้ง” ก็เป็นคำที่สื่อสารภาพอันเป็นประกาย อาจเป็นมนุษย์ผู้กำลังยิ้มและดวงตาฉ่ำเยิ้ม คำแปลกๆ ใหม่ๆ ที่หลายคนมองว่ามันคือวิบัติการณ์ทางภาษา แท้จริงมันคืออุบัติการณ์ทางภาษาอันเกิดแต่ความพยายามสื่อสารให้ตรงแก่ใจเสียมากกว่า เป็นการพยายามสรรหาถ้อยคำใหม่ๆ มาอธิบายสิ่งที่มีอยู่ในโลก เนื่องจากคำเดิมๆ ที่มีอยู่จากประสบการณ์นั้นไม่ตรงกับใจเพียงพอ

ในแง่หนึ่งแล้ว การใช้คำเดิมที่มีอยู่ได้อย่างถูกต้องนั้นทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าได้แน่นอนครับ (แต่แน่นอนเช่นกันว่าไม่ใช่เหตุทั้งหมดแห่งความเจริญ) เพราะเราอยู่ในโลกที่ต้องสื่อสารกับคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อโลกกว้างขึ้นเรื่อยๆ เราต้องไม่ลืมนะครับว่า ส่วนหนึ่งแล้วความเจริญรุ่งเรืองของสังคมหนึ่งก็เกิดขึ้นได้เพราะสังคมนั้นๆ มีชุดคำมากมายที่สามารถนำมาใช้อธิบายเรื่องต่างๆ ที่ตนเองพบประสบเจอ ลองจินตนาการง่ายๆ ถึงสถานการณ์ที่เราอยากอธิบายอะไรสักอย่างแต่ไม่สามารถสรรหาคำได้ตรงกับความรู้สึกในใจ แล้วทันใดนั้น ใครสักคนที่มีชุดคำอยู่ในหัวมากกว่าเราก็สามารอธิบายสิ่งที่อยู่ในใจเรานั้นออกมาได้อย่างตรงแก่ใจเราราวกับเขาเป็นผู้รู้สึกมันเสียเอง ดังนั้น ชุดคำที่มากมาย และการสรรหาถ้อยคำใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากทั้งสำหรับการอธิบายตัวเราและอธิบายโลก

เอาเข้าจริง หากภาษาจะวิบัติ มันคงจะไม่ได้วิบัติเพราะถ้อยคำอันแปลกประหลาดที่ต่างไปจากความคุ้นเคยของผู้คนหรอกครับ แต่มันจะวิบัติเพราะผู้คนไม่สนใจจะทำความเข้าใจความแตกต่างทางภาษาที่อุบัติขึ้นมาเสียมากกว่า ถ้ารังแต่จะหงุดหงิดเมื่อเจอกับคำใหม่ที่ตัวเองไม่รู้จักและไม่เคยเข้าใจมันมาก่อนจนปฏิเสธหรือกระทั่งให้ร้ายมัน สุดท้าย คุณเองอาจจะกลายเป็นคนที่ตามโลกไม่ทันเอาเสียง่ายๆ ก็ได้

ดังนั้น หากเจอถ้อยคำอะไรใหม่ๆ หรือไม่เป็นไปตามความคุ้นเคย แทนที่จะตั้งแง่หงุดหงิดกับมัน ก็ลองมองให้เป็นโอกาสในการสื่อสารและทำความเข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างแทบจะในระดับวินาทีนี้เถอะครัช