ThaiPublica > คอลัมน์ > ค่าจ้างขั้นต่ำ: ไม่ใช่ “ขึ้นเท่าไหร่” แต่คือ “ขึ้นอย่างไร”

ค่าจ้างขั้นต่ำ: ไม่ใช่ “ขึ้นเท่าไหร่” แต่คือ “ขึ้นอย่างไร”

30 พฤษภาคม 2016


ณัฐเมธี สัยเวช

ตลอดเวลาที่ผ่านมา การเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดูจะก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบจากสังคมเสมอ โดยเฉพาะในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอย่างการใช้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน อันนำมาซึ่งความกังวลต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะสูงขึ้น เจ้าของกิจการจะแบกรับต้นทุนไม่ไหวจนต้องปิดกิจการหรือย้ายฐานการผลิตไปยังท้องถิ่นอื่นหรือประเทศอื่นที่ต้นทุนต่ำกว่า และสุดท้ายจะนำมาซึ่งการตกงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหล่านี้ล้วนไม่เป็นผลดีต่อทั้งสังคมโดยรวมและต่อตัวแรงงานผู้เรียกร้องให้เกิดการขึ้นค่าแรงเอง

คำถามก็คือ สิ่งต่างๆ ที่เป็นกังวลกันนั้น สุดท้ายแล้วเกิดขึ้นจริงหรือไม่อย่างไร

จากรายงาน “2 ปีค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท:สิ่งที่คาด สิ่งที่เกิดขึ้นจริง สิ่งที่ต้องทำต่อ” ที่จัดทำโดย “สถาบันอนาคตไทยศึกษา” ซึ่งเผยแพร่ในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2557 พบว่า หลังจากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลา 2 ปี จากที่มีการคาดการกันไว้ว่าจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ แต่ในความเป็นจริง ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2556 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยกลับอยู่ที่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 2.6 เปอร์เซ็นต์ ของช่วงปี พ.ศ. 2551-2553 ซึ่งเป็นช่วงก่อนจะมีนโยบาย และนั่นหมายความว่า แม้ราคาข้าวของจะสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้รุนแรงเท่าที่คาดการณ์

ในด้านของผลกระทบต่อเจ้าของกิจการ รายงานดังกล่าวพบว่า แม้จะมีสถานประกอบการปิดกิจการเพิ่มขึ้นถึง 2.4 เท่า คือจากประมาณ 7,000 รายในช่วงปี พ.ศ. 2551-2553 เป็นประมาณ 16,000 รายในช่วงปี พ.ศ. 2554-2556 แต่ก็พบว่า ในด้านของการย้ายกิจการออกจากจังหวัดที่ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมาก สัดส่วนการจ้างงานในกลุ่มจังหวัดดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงลดลงมากแต่อย่างใด โดยเฉพาะใน 20 จังหวัดที่ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นสูงสุด จังหวัดที่มีการจ้างงานลดลงมากที่สุดก็ยังลดลงเพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์

และในส่วนของความกังวลว่าคนจะตกงานเพิ่มขึ้น พบว่าในความเป็นจริงแล้ว อัตราคนว่างงานเฉลี่ยกลับลดลง คือ จาก 1.1 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี พ.ศ. 2551-2553 กลายเป็น 0.7 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี พ.ศ. 2554-2556

จะเห็นได้ว่า เมื่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะเลวร้ายไปตามที่คาดคิด

ที่มาภาพ: รายงาน “2 ปีค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท:สิ่งที่คาด สิ่งที่เกิดขึ้นจริง สิ่งที่ต้องทำต่อ”
ที่มาภาพ: รายงาน “2 ปีค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท:สิ่งที่คาด สิ่งที่เกิดขึ้นจริง สิ่งที่ต้องทำต่อ”

ทว่า แม้หลายสิ่งจะสวนทางกับที่กังวล แต่ก็ไม่ใช่ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนั้นจะไม่มีปัญหาใดๆ เลย กล่าวคือ นอกจากจากเรื่องของสถานประกอบการที่ปิดกิจการมากขึ้นดังกล่าวไปแล้ว รายงานยังพบว่า มีแรงงานที่ได้ค่าแรงน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น คือ จาก 22 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี พ.ศ. 2551-2553 เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี พ.ศ. 2554-2556, สวัสดิการต่างๆ ที่ลูกจ้างได้รับก็ลดลงราว 20 เปอร์เซ็นต์ (แต่สวัสดิการนั้นก็คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงทั้งหมด และรายได้อื่นๆ เช่น ค่าโอที ก็เพิ่มขึ้นถึง 15 เปอร์เซ็นต์) และความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตก็ลดลง เนื่องจากความสามารถในการผลิตของแรงงานนั้นเติบโตไม่ทันกับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยังผลิตได้เท่าเดิมหรือน้อยกว่า แต่แบกรับต้นทุนในส่วนของค่าจ้างเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีข้อดีและข้อเสียดังกล่าวไปแล้ว คำถามสำคัญที่ยังต้องคิดก็คือ ระดับค่าแรงขั้นต่ำที่ 300 บาทต่อวันในปัจจุบันนั้น เพียงพอต่อการดำรงชีพของแรงงาน หรือคือเพียงพอต่อการเข้าถึง “ชีวิตที่ดี” ในระดับพื้นฐานหรือไม่

ต่อคำถามดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2559 ณ ห้องจั๊คส์ อัมโยต์ ชั้น 4 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการเสวนาในหัวข้อ “ทำไมค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั่วประเทศ” ในการเสวนาดังกล่าว ดร.ศยามล เจริญรัตน์ จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับรายจ่ายครัวเรือนของบางสำนัก โดยการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า รายจ่ายของครัวเรือนจากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ปี พ.ศ. 2558 มีค่าเฉลี่ยทั่วประเทศที่ครัวเรือนละ 12,410 บาทต่อเดือน คิดเฉลี่ยเป็นคนละ 4,000 บาทต่อเดือน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2559) ขณะที่การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทย พ.ศ. 2557 และรอบ 6 เดือนของ พ.ศ. 2558 พบว่ามีค่าใช้จ่ายของครัวเรือนอยู่ที่ 20,892 บาท และ 21,818 บาท ตามลำดับ

ดังนั้น ภายใต้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน หรือคิดเป็นเดือนละ 9,000 บาท (ในกรณีที่ไม่หยุดงานทั้งเดือน) ก็ย่อมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างแน่นอน และยังห่างไกลจากนิยามขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization; ILO) ที่ระบุว่าค่าแรงขั้นต่ำควรจะสามารถเลี้ยงดูแรงงานและครอบครัวอย่างน้อยรวมสามชีวิตให้สามารถอยู่รอดได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีระดับหนึ่ง

อนึ่ง ในงานเสวนาดังกล่าว รศ. ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นไม่จำเป็นต้องทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเสมอไป เช่น สมมติมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสองเท่า ก็ไม่ได้แปลว่าสินค้าจะต้องราคาเพิ่มขึ้นสองเท่า เพราะจริงๆ แล้วต้นทุนในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำนั้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของต้นทุนทั้งหมดในการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ คนมักสับสนระหว่างค่าแรงขั้นต่ำกับค่าแรงทั่วๆ ไปรวมถึงโบนัส ดังจะเห็นได้จากความคิดของผู้ประกอบการทำนองว่า อย่างไรก็ตั้งใจจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่แล้ว แต่ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี อยากให้รอก่อนได้หรือไม่ ซึ่ง ดร.แลให้ความเห็นว่า ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่ต้องขึ้นเงินเดือนหรือโบนัส แต่ค่าแรงขั้นต่ำนั้นเป็นค่าต่อลมหายใจของแรงงาน เป็นปัจจัยที่ต่อรองไม่ได้ และจะเอาความสามารถในการจ่ายของนายจ้างมากำหนดปากท้องของลูกจ้างไม่ได้ ซึ่งหากจะให้อธิบายเพิ่มเติมก็คือ เงินเดือนทั่วไปหรือโบนัสนั้นอาจจะเพิ่ม ลด หรือคงที่ ไปตามสภาพเศรษฐกิจ แต่จะลดอย่างไรก็ต้องห้ามต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นค่าแรงที่ต้องเพียงพอต่อการดำรงชีวิต

ที่มาภาพ: เว็บไซต์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม (https://goo.gl/i237zQ)
ที่มาภาพ: เว็บไซต์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม (https://goo.gl/i237zQ)

ขณะเดียวกัน ดร.ศยามลยังชวนให้ลองตั้งคำถามกันใหม่ว่า โจทย์ของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจไม่ใช่เรื่องของการคุยกันว่าจะปรับเท่าไหร่ แต่คือเราต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมจริงๆ หรือไม่ และเราจะลดได้อย่างไร เพราะแรงงานเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคม ถ้าจะลดความเหลื่อมล้ำ ต้องเริ่มที่กลุ่มนี้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรอยู่บนพื้นฐานของค่าแรงที่เป็นธรรม (fair wage) คือเหมาะสมกับค่าครองชีพและเพียงพอต่อการเข้าถึงชีวิตที่ดี โดยเราจะต้องเริ่มจากการมองหาเส้นมาตรฐานการครองชีพที่ชัดเจน แล้วปรับค่าจ้างขั้นต่ำไปสู่จุดนั้น โดยให้ดีที่สุดคือควรจะสูงกว่าเส้นนั้น

ทั้งนี้ ดร.ศยามลยังเสนอว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ควรทำอย่างได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย (win-win) หรือถ้ามีฝ่ายไหนเสียประโยชน์ ก็ต้องอยู่ในจุดที่ยอมรับร่วมกันได้มากที่สุด ไม่ใช่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องจำทนรับมากกว่าใคร พร้อมทั้งเสนอว่า

  • ภาครัฐต้องมีส่วนในการจูงใจภาคธุรกิจ เช่น การใช้มาตรการภาษี เพื่อให้ผู้ผลิตรู้สึกว่า แม้จะต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก็ยังได้รับประโยชน์ในด้านอื่นๆ
  • ต้องมีการเพิ่มผลิตภาพทั้งทางฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง โดยในส่วนของนายจ้างนั้น ต้องได้รับการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีหรือความรู้ใหม่ๆ ในการผลิต ส่วนทางกลุ่มลูกจ้าง ต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้สูงขึ้นเรื่อยๆ
  • ต้องมีหน่วยงานในการติดตามดูแลค่าครองชีพเพื่อสร้างเส้นมาตรฐานที่ทุกภาคส่วนยอมรับได้
  • ภาคการศึกษาต้องเร่งผลิตแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดให้มากขึ้น เพราะไม่อย่างนั้น หากไม่ตรงตามความต้องการของตลาด แรงงานที่มีศักยภาพก็จะถูกผลักไปเป็นแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำ

ดังนั้น โดยสรุปแล้ว หากจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต่อจากนี้ โจทย์คงจะไม่ใช่ “ขึ้นเท่าไหร่” แต่คือ “ขึ้นอย่างไร” โดยเอาชีวิตที่ดีของแรงงานเป็นหลัก แล้วมองหาวิธีที่จะทำอย่างไรจึงจะไปถึงจุดนั้นได้โดยทุกฝ่ายได้ประโยชน์ หรือต่างก็เสียประโยชน์ในระดับที่ต่างยอมรับได้