ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > Design Activism…ความคาดหวังบทบาทสถาปนิกในการทำงานเพื่อสังคมและชุมชน

Design Activism…ความคาดหวังบทบาทสถาปนิกในการทำงานเพื่อสังคมและชุมชน

4 พฤษภาคม 2014


ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/asafanpage/photos/oa.236886269807549/436340636470344/?type=1&theater
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/asafanpage/photos/oa.236886269807549/436340636470344/?type=1&theater

เมื่อ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดเสวนาในประเด็น Design Activism … “ความคาดหวังบทบาทของสถาปนิกในการทำงานเพื่อสังคมและชุมชน” ร่วมเสวนาโดย นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา สถาปนิก และผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชียในประเทศไทย นายโตมร สุขปรีชา นักเขียน นักแปล พิธีกร และบรรณาธิการบริหารนิตยสารจีเอ็ม และนางสาวฤณี อาชวานันทกุล นักแปล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และกรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ดำเนินรายการโดยนายทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ทีปกร: วันนี้เราจะมาพูดเรื่องการออกแบบเพื่อพัฒนาชุมชน หัวข้อแรกที่เราจะพูดคุยคือ เมื่อพูดถึงการออกแบบ เราจะต้องคิดถึงว่ามีปัญหาอะไร เราจะต้องออกแบบอะไรเพื่อแก้ปัญหานั้น แล้วตอนนี้ปัญหาสังคมไทยมีอะไรต่างไปจากอดีตบ้าง โจทย์ใหญ่ของสังคมไทยคืออะไร

สมสุข: ตามที่เราต้องเจอทุกวันตามข่าว บลูสกายบ้าง อะไรบ้าง เป็นสังคมของความแตกแยก ความคิดต่างๆ กัน ถ้าเราดูไปแล้วสังคมเมืองโดยเฉพาะเป็นสังคมปัจเจก ต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างไป ระบบที่มีชุมชน ระบบที่มีวัฒนธรรมช่วยคิดช่วยทำยังมีเชื้ออยู่แต่มันคล้ายๆ จางไป โลกทุกวันนี้คือทุกคนต้องรวย ทุกคนคิดอย่างอเมริกา ซึ่งสังคมเขาก็มีชุมชนเหมือนกัน แต่ว่าของเราเป็นโครงสร้างของสังคมที่เดินไปโดยโครงสร้างเศรษฐกิจ แล้วการพัฒนากายภาพทั้งหลายก็เป็นผู้พัฒนาอยากทำอะไรก็ทำไป จิตวิญญาณของการอยู่ร่วมกัน การช่วยกัน การเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เล็กๆ น้อยๆ ยอมๆ กันบ้าง มาตกลงกันมาคิดด้วยกัน ความเป็นสังคมเล็กๆ โยงไปเป็นสังคมใหญ่ๆ มันน้อยลง

โครงสร้างคอนโดฯ แบบใหม่ก็เอื้อให้ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีอะไรที่มาร่วมกัน มาคิดด้วยกัน หรือมีโครงสร้างเชื่อมโยง มันก็เป็นสังคมในลักษณะที่จะสร้างความแตกฉาน ตัวใครตัวมัน ความเป็นสังคมความเป็นชุมชนหายไป ความเป็นปัจเจกมากขึ้น เราไปเชื่อว่าระบบต้องบริหารโดยนิติรัฐ กฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ ประโยคเดียวในกฎหมายก็แปลไม่เหมือนกัน ไม่มีการมาคุยกันว่าใครที่ลำบากก็เอื้อให้เขาหน่อย กลไกที่จะทำให้เกิดระบบเหล่านี้น้อยลง การจัดการเชิงเทคนิคเป็นการจัดการแบบเซกเทอรัล (Sectoral) เช่น ใครทำเรื่องคลอง หรือที่ดิน ก็จะทำแต่เรื่องนี้ เป็นส่วนๆ กระจัดกระจาย ไม่มีการผสมผสาน ไม่มีการมาคิดด้วยกัน การอะลุ่มอล่วยของพื้นที่ตรงนี้คือสิ่งที่หายไปในพื้นที่สมัยใหม่

ทีปกร: คุณโตมรมองปัญหาของสังคมไทยตอนนี้คล้ายๆ แบบนี้ไหม หรือว่ามีความคิดเห็นอย่างไร

โตมร: คำถามมันสามารถทำเป็นหัวข้อเสวนาได้สัก 3 วัน เอาแบบนี้แล้วกัน พูดในเชิงการออกแบบ เมื่อสักปีที่แล้วกรมการส่งเสริมการส่งออกเชิญผมไปพูดเรื่องการสื่อสาร เขาบอกว่าคนไทยออกแบบเก่งแต่สื่อสารไม่เป็น ทำอย่างไรออกแบบแล้วจะสื่อสารได้ ผมก็มานั่งนึกดูว่าทำไมถึงสื่อสารไม่ได้ ลองนึกถึงวิเวียน เวสต์วูด (Vivienne Westwood) ซึ่งเป็นดีไซเนอร์เสื้อผ้า ทำไมเขาถึงมีการสื่อสารข้อความที่ต้องการจะสื่อออกไป (message) ที่ทรงพลังมาก หรือแม้กระทั่งนักออกแบบอื่นๆ

เช่น เสื้อผ้าที่วิเวียนออกแบบบมีความคิดในเรื่องชนชั้นในอังกฤษเต็มไปหมดเลย การออกแบบเมือง การออกแบบเส้นทางจักรยานที่สอดคล้องกับชีวิต การออกแบบทั้งหลายที่เราเห็นว่ามันมีพลัง มีแรงกดอยู่ภายใน มันถึงได้มียุคโมเดิร์น (Modern) ตามด้วยโพสต์โมเดิร์น (Post-Modern) ต่อต้านยุคก่อนหน้ามาเรื่อยๆ การออกแบบทั้งหลายที่เราเห็นว่าพลังแรงนั้นมีข้อความที่จะส่งต่อไปยังผู้คนทั้งหลาย มันคือการออกแบบที่มีแรงขับจากภายใน ไม่แปลกที่เป็นการทำงานทางศิลปะ เพียงแต่ว่าเอาการออกแบบนั้นมาขายได้ด้วย

แต่ถ้ามาดูการออกแบบของไทย ที่คุณบอกว่าสื่อสารไม่ได้ ผมไม่แน่ใจว่าออกแบบเป็นแล้วสื่อสารไม่ได้ หรือว่าจริงๆ แล้วไม่ได้ออกแบบเลยสื่อสารไม่ได้ เพราะไม่มีข้อความที่จะบอกหรือเปล่า ถ้าเราดูการออกแบบทั้งหลายในไทย ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ (product design) หรือว่าอะไรอื่นๆ ส่วนใหญ่ผมว่าไม่ใช่การออกแบบ แต่คือการเลียนแบบ เติมอะไรบางอย่างเข้าไปนิดๆ หน่อยๆ พอเป็นแบบนั้นมันเลยไม่มีพลังข้างใน

ทีปกร: แยกการออกแบบกับการเลียนแบบอย่างไรครับ

โตมร: เราจะแยกได้อย่างไร ดูจากศิลปะในห้องนี้ก็ได้ว่ามันตกอยู่ภายใต้โครงสร้างวัฒนธรรมแบบรถยนต์อย่างไร แล้วไม่มีการป้อน (feed) คนโดยคนส่งมวลชนอย่างไร แม้กระทั่งการออกแบบทีวีดิจิทัลก็ยังเป็นแบบอเมริกัน มีช่องเต็มไปหมด การออกแบบทางเท้า การออกแบบถนนของเรา เราเรียนรู้จากตะวันตกว่าถนนต้องมีทางเท้า แต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของเรา เช่น วัฒนธรรมตลาด วัฒนธรรมการเดิน ถ้าเราไม่เดินแต่สมาทานวัฒนธรรมรถยนต์แล้วเราจะสร้างทางเท้าทำไม เรื่องสำคัญคือเมื่อไม่มีแรงขับข้างในเลยไม่เห็นว่าเรามีปัญหาอะไร สักแต่ว่าออกแบบ เจ้านายให้โจทย์มาก็ทำ แต่ไม่เห็นประเด็นความขัดแย้งเบื้องหลังการออกแบบที่มีพลังสำคัญจริงๆ กับวิถีชีวิตของเรา

สฤณี: เนื่องจากว่าเราไม่มีเวลา 3 วัน เวลามีคนเริ่มต้นด้วยคำถามก็จะมีความรู้สึกอยากบ่น มีเรื่องให้เราบ่นมากมาย คุณโตมรตั้งประเด็นไว้อย่างน่าสนใจว่าเมืองไทยไม่เห็นการออกแบบเพราะว่าเรามองไม่เห็นแรงขับภายในหรือเปล่า จริงๆ มันเป็นการเลียนแบบหรือเปล่า

อยากจะมองแรงขับในระดับที่ใหญ่กว่า ด้วยความที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ก็พยายามมองสังคมในเชิงการออกแบบว่าเราไม่มีทิศทางว่าสังคมควรจะไปทางไหน แล้วทำไมถึงไม่มีฉันทามติ เพราะว่าเราเป็นสังคมที่หลากหลาย ซึ่งเป็นสังคมที่หลากหลายกว่าที่เราคิด จากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมานี้อาจจะทำให้หลายๆ คนเพิ่งตระหนักว่าเราหลากหลายขนาดไหน

ทำไมเราถึงไม่มีฉันทามติว่าเราควรจะไปทางไหน คำตอบหนึ่งคือเพราะเราไม่เคยคิดถึงกระบวนการหาฉันทามติ หรือการมีส่วนร่วม การคุยกันให้ตกผลึกที่จะนำไปสู่ฉันทามติ เมื่อเร็วๆ นี้ ได้อ่านสัมภาษณ์ของอดัม คาเฮน (Adam Cahen) ผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้ง และมีประสบการณ์มาแล้วหลายประเทศ เขาพูดไว้อย่างน่าสนใจว่าหลายคนอาจนึกว่าทางออกของความขัดแย้งคือให้ทุกคนที่มีปัญหาความขัดแย้ง คิดไม่เหมือนกัน มาอยู่ในห้องเดียวกัน แล้วให้พูดถึงปัญหาที่ตัวเองมอง จริงๆ มันไม่ใช่ มันคือจุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง

จุดเริ่มต้นก็คือ มีเวทีที่ทำให้คนรู้สึกไว้ใจมาอยู่ แล้วคุยกันว่ามีปัญหาอะไร หลังจากนั้นก็จะมีกระบวนการว่าใครคิดอะไรอย่างไร เรื่องอะไรที่เป็นปัญหา แล้วปัญหานั้นมีอะไรที่เป็นจุดร่วมที่เห็นตรงกันได้ อะไรที่เห็นต่างเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ มันมีกระบวนการอีกมากมายที่นำไปสู่ข้อสรุปที่เรียกว่าพอรับกันได้ กระบวนการตรงนี้เราไม่ค่อยคิดถึงมัน แต่ก็ไม่กล้าพูดถึงเรื่องออกแบบเพราะเป็นคนรสนิยมแย่มาก เวลามีอะไรก็จะให้เพื่อนๆ เลือก

สฤณี อาชวานันทกุล
สฤณี อาชวานันทกุล

การออกแบบไม่ใช่แค่รูปธรรมที่สำคัญ มันสำคัญต่อกระบวนการ ของประเด็นอะไรก็แล้วแต่ที่มันมีคนจำนวนมากที่หลากหลาย ยิ่งมองไม่ตรงกัน ผลประโยชน์ไม่ตรงกัน ยิ่งต้องมีการออกแบบ แม้แต่กระบวนการก็ยิ่งต้องมีการออกแบบอย่างระมัดระวัง ปัญหาสังคมไทยส่วนหนึ่งคือไม่มีการออกแบบ สังคมไทยต้องการอะไรสำเร็จรูป อย่างเช่น มีปัญหาต้องหาคนกลาง(ที่มาเป็นนายกรัฐมนตรี)ที่พอรับกันได้ เรานึกไม่ออกว่าตกลงคือใคร มันก็มีประเด็นตามมาไม่สิ้นสุด ปัญหาโดยรวมก็คือเราไม่ค่อยเชื่อมโยงเรื่องการออกแบบที่มีแรงขับจริงๆ ที่ไม่ใช่การลอกเลียน ไม่คิดถึงกระบวนการการออกแบบที่มันควรจะมี

ทีปกร: ก่อนหน้านี้มีการพูดถึง sense of community (สำนึกความเป็นชุมชน) ในเมืองไทย ทั่วโลกน่าจะมีปัญหาแบบนี้เหมือนกัน คิดว่าปัญหาแบบนี้ในไทยมีลักษณะเฉพาะหรือเปล่า

สมสุข: จริงๆ ก็เป็นกันทั่วโลก เป็นการบ้านเศรษฐกิจขนานใหญ่ แต่สังคมเอเชียโดยเฉพาะไทย การช่วยเหลือเกื้อกูลน้อยลง เราไปใช้โครงสร้างของระบบที่ต่อเข้าแต่ละคนไป มันไม่ใช่ระบบที่เอื้อให้โครงสร้างเดิมที่อยู่ร่วมกันเข้มแข็งขึ้น แต่หลังๆ ชุมชนท้องถิ่นก็มีการฟื้นฟูมันขึ้นมามากขึ้น มีความพยายามจะรณรงค์ ในเอเชียเกิดปัญหานี้มากทีเดียว

ในยุโรปอย่างประเทศเดนมาร์ก มีโครงสร้างชุมชน มีคณะกรรมการชุมชน ดูแลงบประมาณ ระบบสิ่งแวดล้อม เป็นแนวคิดที่ว่าไม่ว่าจะทำงานโครงสร้างชุมชนหรือระบบที่อยู่อาศัยที่ไหน ต้องคิดชุดจัดการดูแลร่วมกัน แต่ระบบที่อยู่อาศัยในเอเชียคือระบบอุตสาหกรรม สร้างแล้วขาย สร้างแล้วขาย จิตวิญญาณที่จะอยู่ร่วมกันไม่ได้ซึมซับ แต่ประเทศบางประเทศก็ยังคงลักษณะนี้ได้ บางประเทศก็มีโครงสร้างนี้แต่ไม่ได้สืบต่อกัน เราจะฟื้นคุณภาพเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไรด้วยบทบาทของสถาปนิก เชื้อดีๆ ยังมีอยู่เต็มไปหมด

ทีปกร: คิดว่าเมืองในประเทศไทย สิ่งที่ขาดไปจริงๆ คืออะไร

โตมร: ไม่รู้จะพูดอย่างไรดี เมื่อสองสามวันก่อนได้ไปแถวธรรมศาสตร์ รังสิต มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ บริเวณย่านมหาวิทยาลัย อย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือขอนแก่น มันมีลักษณะเป็นย่านที่อยู่อาศัยและค้าขาย มันไม่สวยเลย น่าเกลียดมาก ไม่มีอะไรถาวรเลย เพราะทุกคนที่อยู่ตรงนั้น ตระหนักว่ามาอยู่ตรงนี้แค่ 4 ปีแล้วก็ไป ไม่ต้องทำอะไรให้มันดี ถาวร มั่นคง สวยงาม รสชาติอาหารก็ไม่ต้องทำให้ดีเพราะขายแพงมากไม่ได้ ลูกค้าอยู่ 4 ปีเดี๋ยวก็ไป ไม่ต้องทำอะไรให้มันดีมาก สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ คนจำนวนมากที่เข้ามาอยู่ที่นี่ไม่รู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้าน คนขับแท็กซี่ แม่บ้าน หรืออะไรก็ตาม ทุกคนบอกว่าถ้าหาเงินได้สักก้อนก็จะกลับไปบ้าน แล้ว กรุงเทพฯ มี sense of belonging (สำนึกความเป็นเจ้าของ) น้อยมาก คำถามคือทำไม

ชุมชนในสมัยโบราณก่อนหน้าที่จะเป็นรัฐสมัยใหม่มันเป็นเมืองเล็กๆ ที่ยังมีจิตวิญญาณ แต่มันถูกกวาดต้อนจาก centralization (การรวมศูนย์อำนาจ) ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นในยุครัชกาลที่ 5 เพื่อบอกโลกว่าเป็น modern state (รัฐสมัยใหม่) มันก็เลยกลายเป็นเมืองรวมศูนย์มากจนดึงเอาทรัพยากรเข้ามาหากรุงเทพฯ คนก็มีความจำเป็นต้องเข้ามา แล้วชุมชนเป็นอย่างไร เมื่อเรามองย้อนไปเมื่อ 10-20 ปีก่อน ต่างจังหวัดมีแต่คนแก่และเด็ก คนหนุ่มสาวต้องเข้ามาในเมือง แต่ในระยะหลังเมืองใหญ่เริ่มเกิด ในอีสานมีเมืองใหญ่ที่เกิดมาเต็มไปหมด อย่าง ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี ในขณะที่ทางเหนือยังไม่ค่อยมี มีแต่เชียงใหม่

เมื่อเราเข้ามาอยู่ในเมืองมันมีการรวมศูนย์ ทำให้ กรุงเทพฯ ไม่มีการแบ่งเป็นเมืองย่อย ถ้าเราไปดูเมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิส (Los Angeles) เราจะพบว่ามีเมืองย่อยๆ อย่างซานตาโมนิกา (Santa Monica) ฮอลลีวูด (Hollywood) มีอะไรต่อมิอะไรซึ่งมีศูนย์กลางย่อยของมัน แต่กรุงเทพฯ ไม่มี เวลาไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ รังสิต อยากชอปปิ้งก็ต้องไปฟิวเจอร์พาร์คแต่ถ้าให้มันเก๋จริงก็เข้ามาตรงกลาง มันควรจะต้องมีการแตกเป็นเมืองย่อยได้แล้ว เพราะเราโตมากเกินกว่าที่จะใช้แนวคิดแบบการรวมศูนย์อำนาจ

โลกได้เปลี่ยนไปจากการที่มีเฟซบุ๊ก มีสื่ออินเทอร์เน็ต มันได้ทำลายโครงสร้างการรวมศูนย์อำนาจแบบแนวตั้ง ทำให้เราไม่สามารถที่จะใช้คำสั่งจากกระทรวงหนึ่งแล้วทุกคนต้องทำตามแบบเดียวกันทั้งประเทศ เชยแล้ว มันพังโครงสร้างแบบนี้ไปจนโครงสร้างเป็นแนวราบมากขึ้น

การรวมศูนย์อำนาจจึงกลายเป็นเรื่องตลก มันกลายเป็น decentralize naturally (กระจายอำนาจโดยธรรมชาติ) คนที่เห็นเรื่องนี้ไม่ใช่รัฐไทย คนที่เห็นคือศูนย์การค้า จะเห็นว่าจังหวัดที่ผมพูดไปข้างต้นมีห้างใหญ่อย่างเซ็นทรัลเปิดเต็มไปหมด เปิดที่ไหนก็กลายเป็นดาวน์ทาวน์ แต่รัฐไม่มี แล้วก็ยังไปขอเขาใช้ด้วยซ้ำ อย่างการเปิดที่ทำพาสปอร์ตในห้าง ผมว่ามันเป็นเรื่องน่าอายของรัฐ นอกจากจะตามเมืองตัวเองไม่ทัน ตามเอกชนไม่ทัน ยังต้องไปใช้ของเขาด้วย

ทีปกร: การที่รัฐไม่เห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจมันเป็นปัญหามากหรือไม่ แล้วเอกชนหรือคนทั่วไปสามารถสร้างการกระจายอำนาจด้วยตัวเองได้จริงหรือเปล่า

สฤณี: คำตอบก็คงต้องขึ้นอยู่กับว่าอำนาจรัฐมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวกับเรา ถ้าเรามองเรื่องการย้ายคนไปอยู่ตามที่ต่างๆ อยากจะสนับสนุนที่คุณโตมรพูดเรื่องของห้างว่าเป็นตัวนำการรวมศูนย์ต่างๆ ตอนนั้นเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน มีลูกค้ามาปรึกษาเรื่องการเปิดห้างที่อุดรฯ เขาบอกว่าสดใสแน่นอนเพราะว่าจะมีคนลาวมาเที่ยวในวันเสาร์-อาทิตย์มาก แล้วก็จริงตามนั้น ตอนนี้ก็เลยบูมมาก

ต่อให้รัฐมีความสามารถในการย้ายหรือคนมีความสามารถในการย้ายไปอยู่ตามที่ต่างๆ อะไรบ้างที่เราบอกว่ารัฐมีหน้าที่ เช่น บริการสาธารณะต่างๆ เราเป็นสังคมสมัยใหม่ซึ่งก็คิดว่าคงไม่มีที่ไหนในโลกบอกว่าเรื่องของสิทธิเป็นเรื่องการรักษาพยาบาล การศึกษา เป็นเรื่องที่รัฐไม่มีหน้าที่ เราพ้นยุคนั้นมาแล้ว

เรื่องของความเจริญมันมีแรงขับเชิงพาณิชย์ แต่เรื่องของบริการสาธารณะอย่างไรก็ต้องพึ่งรัฐ เช่น โรงเรียนที่จะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่องขนส่งสาธารณะ ถ้าเรามองความเหลื่อมล้ำมันก็เป็นปัญหาในสังคมไทย ปัญหาของกรุงเทพฯ อีกเรื่องหลักๆ คืองบประมาณ เราต้องสนใจและต้องเรียกร้องให้รัฐตามเมืองให้ทัน นอกจากเรื่องบริการสาธารณะแล้วก็ยังมีการจัดสรรค์งบประมาณเพื่อการจัดการท้องถิ่น เคยมีงานศึกษามากมายว่ากรุงเทพฯ มีการใช้งบประมาณเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เป็นตัวเลขที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ลงไปตามจังหวัดต่างๆ การกระจายอำนาจเราก็เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพการจัดการที่ดีเท่าที่ควร

ถ้าสังเกตเรื่องการจัดการงบประมาณของรัฐมันก็เป็นตัวปัจจัยที่สำคัญเหมือนกัน ถ้าดูจากบทเรียนจากต่างประเทศที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้ความเจริญในแง่ของการบริการมันกระจาย เช่น การให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษีที่ดินเพื่อไปพัฒนาแทนที่จะรอรับจากส่วนกลางอย่างเดียว

เสริมเรื่องประเด็นความเป็นเมือง ความสำคัญของการออกแบบกระบวนการ แนวโน้มคนจะอยู่เมืองแน่นอน โครงสร้างของเมืองจะเป็นโครงสร้างหลักของโลก เมืองเป็นประโยชน์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการหางาน หาคู่ครอง เราจะปรับปรุงเมืองอย่างไรให้เข้ากับการใช้ชีวิต ยังไม่นับประเด็นที่เป็นปัญหาระดับโลก เช่น ถ้าดูปัญหาสิ่งแวดล้อม อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนนั้นมาจากเมืองทั่วโลกรวมกัน 50-60%

แนวโน้มที่น่าสนใจคือว่า ข้อตกลงหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เขาเริ่มจะเข้าไปที่ระดับเมือง เพราะเขารู้สึกว่าไปพูดกันระดับโลก รัฐบาลแต่ละประเทศดูเหมือนจะตกลงกันไม่ค่อยได้ เลยมาจับมือกับเมืองแล้วกัน เริ่มมีข้อตกลงระหว่างเทศบาลคุยกัน ประกาศแผนว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างไร กระบวนการก็สำคัญตรงนี้ เพราะคิดว่าเมืองมันต้องพัฒนาไป ต้องลดความเหลื่อมล้ำ แล้วก็ต้องให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะด้วย หนีไม่พ้นว่าต้องออกแบบกระบวนการให้คนสามารถมีส่วนร่วมได้

ปีที่แล้วได้ไปโครงการไอเซนฮาวร์ เฟลโลว์ชิปส์ (Eisenhower Fellowships) หลายๆ เรื่องที่เป็นความรู้ใหม่ที่ได้จากชาวเอเชียด้วยกันเอง เพื่อนชาวอินโดนีเซียที่เป็นสถาปนิกเล่าว่า ที่อินโดนีเซียมีกฎหมายกระจายอำนาจ ล่าสุดเปิดให้ประชาชนมีอำนาจ คือ การมีส่วนร่วมในการจัดการงบประมาณ (participatory budgeting: PB) เป็นการให้คนในชุมชนมีสิทธิกำหนดเลยว่าอยากให้มีการนำงบท้องถิ่นไปทำอะไร เป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียที่มีกฎหมายนี้

หน้าที่ของสถาปนิกจึงไม่ใช่แค่การช่วยชุมชนออกแบบว่าจะใช้สอยพื้นที่อย่างไร แต่เป็นการเข้าไปถึงกระบวนการว่าแต่ละปีต้องมีการทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม จะออกแบบให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร ทำอย่างไรให้คนในชุมชนที่จนที่สุดได้เข้าถึงกระบวนการนี้ ไม่อยากให้คนที่เสียงดังที่สุดซึ่งมักจะเป็นคนฐานะดีได้เสนอโครงการแล้วคนอื่นไม่ได้เสนอ น่าสนใจมาก โดยโครงสร้างและนโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้อาชีพของเขามีขอบเขตกว้างกว่าเดิม

ทีปกร: คุณสมสุขทำงานเกี่ยวกับชุมชนที่อยู่อาศัยหรือชุมชนแออัด รัฐมีวิธีมองหรือจัดการเรื่องชุมนแออัดอย่างไรบ้าง แล้วปัญหาที่เราไปเจอมาต่างกับปัญหาที่คุณสฤณีเล่ามาอย่างไรบ้าง

สมสุข: ขอเติมเรื่องการรวมศูนย์ของประเทศเรา เป็นปัญหามากๆ เท่าที่รู้จักจะบอกว่าแย่ที่สุดในเอเชีย ในระบบการจัดการสมัยใหม่เขาพยายามดูว่าคนในเมืองเป็นย่าน เป็นกลุ่มอาชีพเดียวกันจะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอย่างไร ในละตินอเมริกามีการนำการมีส่วนร่วมในการจัดการงบประมาณมาใช้มากพอสมควร เอเชียก็เริ่มแล้ว เช่น ปีหนึ่งเมืองนี้มีเงินเท่าใด สมมติว่า 80 ล้าน แต่ละพื้นที่ต้องมีการทำอะไรบ้าง ก็เสนอกันเข้ามา

จริงๆ แล้วก็เสนอ กทม. มาหลายรอบ เป็นความคิดที่ดี แต่พอไปดูกฏเกณฑ์ของ กทม. แล้วปรากฏว่าทำยาก เพราะข้าราชการต้องการควบคุมโครงการเอง มีสายผู้รับเหมา การเข้าไปมีอำนาจในระบบมีผู้จัดการเงินไม่กี่คน นี่ไม่ใช่โลกสมัยใหม่ โลกสมัยใหม่เป็นโลกที่เปิดกว้าง คนอยากรู้ข้อมูล อยากเข้ามามีส่วนร่วม คนอยากจัดการตัวเอง ช่วยกันทำประเดี๋ยวเดียวก็ทำเสร็จ ก็ต้องรอให้องค์กรมาตรวจสอบ ประมูลอะไรมากมาย ทำไม่เคยดี จะดูแลทั่วถึงเหรอ เมืองๆ หนึ่งมันมากมายก่ายกอง

ประชาชนสามารถเข้ามาเป็นผู้เล่น (actor) เข้ามาเป็นผู้จัดการเมือง เป็นผู้ร่วมสร้างเมืองได้ ถ้าเราคิดเรื่องระบบงบประมาณชนิดที่เรากระจายออกไป และให้คนรู้เห็น แก้เรื่องคอร์รัปชันได้และก็จะทำให้เมืองทั้งเมืองแข็งขันและมีสีสัน

ในเรื่องสลัม เมืองที่เกิดขึ้นมาด้วยระบบเศรษฐกิจที่โยงขึ้นมา มันก็มีคนจนตามเข้ามาด้วย ประเทศจำนวนมากไม่มีแผน ไม่รู้จะทำอย่างไรกับคนเหล่านี้ สมัยก่อนจะมีการสร้างแฟลต แล้วก็ไม่มีคนอยู่กัน เมื่อเราไม่มีนโยบาย ไม่มีเงิน ไม่มีความรู้ ไม่มีคนสนใจ ก็ไปอยู่ในสลัม เคยมีคนใช้ภาษาว่าสลัมเป็นทางแก้ (solution) ไม่ใช่ปัญหา (problem) เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ไม่คิดเลย ไม่มีแผนอะไรเลย

ถ้าเราเห็นว่าเขาเป็นมนุษย์ เราต้องคิดวางแผนได้หมดว่าจะอยู่อย่างไร แต่เราเลือกที่จะวางแผนบางอย่าง เราเลือกที่จะไม่วางแผนบางอย่าง แล้วก็ไปกล่าวโทษว่าสกปรก ผิดกฎหมาย ผลก็คือไล่ที่เวลาตัดถนน การพัฒนาของประเทศไทยค่อนข้างมีพัฒนาการที่ก้าวหน้า แต่ยังต้องแก้ คือต้องให้คนในชุมชนแก้ปัญหาตัวเอง เราต้องสร้างงบให้ยืดหยุ่นหน่อย มีกองทุนให้ชาวบ้านมานั่งคุยกันดู ให้รวมเป็นสหกรณ์ จะซื้อที่ จะสร้าง จะเช่าอย่างไรก็ส่งสถาปนิกไปช่วยออกแบบ ใช้แรงของคนจนให้มาเป็นผู้ทำ ไม่ใช่เห็นว่าคนจน ไม่มีการศึกษา ไม่รู้กฎหมาย คนเดี๋ยวนี้โตกันหมดแล้ว เขาอยากเปลี่ยนแปลง เข้ามาในเมืองโดยที่การศึกษาก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี แต่สร้างบ้านได้ ส่งลูกเรียนได้ หางานทำได้ เก่งภายใต้ความไม่มี เอาพลังทางสังคมขึ้นมาเป็นพลังการเปลี่ยนแปลง สามารถทำได้

พอคิดแบบนี้ได้แล้วจะพบว่ายิ่งมีคนสลัมมากก็ยิ่งมีพลังมาก เรามีกลไกการแก้ปัญหามหาศาล มองคนว่าเป็นผู้แก้ปัญหา เครื่องมือที่ต้องใช้คืออะไร นี่คือโจทย์ของการพัฒนา นักวางผังวางแผน คุณต้องคิดให้ออก คนจนทั้งหลายเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง นี่คือศาสตร์ที่ได้พัฒนากันขึ้นมา มีสถาปนิก มีอาจารย์มาร่วมทำงาน ตอนนี้ทำในทุกจังหวัดแล้วประมาณ 900 กว่าโครงการ เราก็ขยายวิธีนี้ไปในเอเชีย ส่งเสริมให้คนในประเทศหันมารวมตัวกัน ไม่ว่ารัฐบาลจะเฮงซวยขนาดไหนเราก็ทำได้ ตรงไหนทำได้ทำเลย ไปรอรัฐบาลเปลี่ยน ไม่ได้ทำอะไรหรอก

ทีปกร: งบประมาณนี้ได้จากไหน

สมสุข: ของบจากต่างประเทศ แต่ว่าในไทยเราก็มีโอกาสสร้างกองทุนโดยรัฐบาล ทำอย่างไรให้กองทุนมีความยืดหยุ่น และสามารถส่งไปให้คนในชุมชนซื้อที่สร้างบ้าน พัฒนาด้านสังคม จัดการอะไรต่างๆ ด้วยตนเองได้ ถ้าเข้าใจโจทย์เราจะมองเรื่องการพัฒนาเป็นเรื่องสนุก การพัฒนาโดยมนุษยนั้นยิ่งใหญ่มหาศาล อยู่ที่ว่าเราจะสร้างวิธีส่งเสริมจัดการอย่างไร

ถ้าเราทำให้สเกลใหญ่ เมืองหนึ่งมีเกือบจะทุกชุมชนมานั่งคุยกัน ในโลกของประชาธิปไตยกระท่อนกระแท่นในเอเชียนี่ก็มีแรงต่อรองมากเหมือนกัน เป็นการต่อรองเชิงบวก เราอยากจะทำโน่นทำนี่ อยากสร้างกองทุน มันก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้พอสมควร

ทีปกร: ในฐานะคนทั่วไปคนหนึ่ง นักออกแบบคนหนึ่ง หรือบริษัทหนึ่ง จะมีบทบาทอย่างไรในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

โตมร ศุขปรีชา ที่มาภาพ : www.v-reform.org
โตมร ศุขปรีชา ที่มาภาพ : www.v-reform.org

โตมร: ใครจะทำอะไรก็ทำ ใครไม่อยากทำอะไรก็ไม่ต้องทำ คิดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่อยู่ๆ วันหนึ่งมีคนบอกว่า ตื่นเช้าขึ้นมาคิดจะเปลี่ยนสังคม หรือคิดจะเปลี่ยนตัวเอง ส่วนใหญ่เวลาคิดจะเปลี่ยนสังคม ตัวเราจะไม่ค่อยเปลี่ยน ถ้าตัวเราเปลี่ยนตัวเองสังคมอาจจะเปลี่ยนก็ได้ เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

ผมคิดว่า ชุมชนมี 2 แบบ คือ แบบแรก ชุมชนแบบมดปลวก ที่มีการรวมศูนย์ แต่จะแข็งแรงมาก อย่างจีน ที่มีคำสั่งโดยการใช้ฟีโรโมนจากนางพญามด นางพญาปลวก ทุกคนก็จะทำตามราวกับว่าทุกคนทุกตัวเป็นอวัยวะหนึ่งของนางปลวก เช่น มดหนึ่งตัวไม่ใช่หมดหนึ่งตัว แต่คือแขน ขา ของนางพญา ทั้งหมดชีวิตอยู่แค่นางพญาปลวกนั่นเอง แบบที่สอง ชุมชนที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งมดแต่ละตัวมีสิทธิอำนาจในตัวเอง มีความเป็นปัจเจกของตัวเอง

ซึ่งถ้าสังคมสองแบบนี้สุดขั้วไปเลยมันก็ไม่ดี เราจะเป็นอวัยวะของใครก็ไม่รู้ หรือว่าจะเป็นปัจเจกจนกระทั่งเราไม่มีความสัมพันธ์กับใครเลยมันก็แย่ ที่น่าสนใจคือสังคมตะวันตกเป็นชุมชนที่เคลื่อนไหวได้เพราะมันมีความเป็นปัจเจกอยู่ในโครงสร้างการประสานงานกันเป็นอย่างดี ปัจเจกสามารถตรวจสอบกันได้ตลอดเวลา ต่อให้เรามีลำดับความสำคัญ เช่น การเป็นประธานไม่ได้หมายความว่าเราต้องกราบประธานตลอดเวลา เราสามารถตรวจสอบได้ในชุมชน

ชุมชนแบบนี้จะสุขภาพดี ตรวจสอบกันได้ มีฉันทามติร่วมกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ว่าชุมชนในแบบที่เราเห็นในไทย มันยังไม่พ้นชุมนแบบมดปลวกเท่าไหร่ บางส่วนก็บอกว่าอยากจะเป็นชุมชนมดปลวก บ้างก็จะกระโดดไปเป็นแบบปัจเจกเลย จะต้องฆ่าทำลายโครงสร้างแบบมดปลวกไปให้หมด สมมติว่าเราอยู่ในคอนโดมิเนียม เดินสวนกัน เรายังไม่รู้เลยว่าคนข้างๆ ทำอะไร อย่างในเมืองนอก เดินสวนกันก็จะทักกัน ยิ้มกัน มันจะเห็นปฏิสัมพันธ์บางอย่าง แต่ในกรุงเทพฯ หลายคนก็มักจะบ่นว่าทำไมมันถึงไม่มีเรื่องแบบนี้

สมมติว่าเรามีความสัมพันธ์แบบมดปลวก เราจะไม่มีจิตสำนึกสาธารณะ เพราะว่าทุกอย่างต้องมาจากคำสั่ง จากฟีโรโมนของนางพญา เราจะไม่ลุกมาทำอะไร บางทีเราลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างตำรวจจับอีกต่างหาก เพราะว่าคุณไม่มีอำนาจทำ ต้องให้ กทม. มาทำ บางคนก็พยายามกระโดดไปเป็นปัจเจกล้วนๆ ก็จะไม่มีสาธารณะอีก การที่คนจะลุกขึ้นมาอาสาเป็นกรรมการนิติบุคคลจะน้อย ในที่สุดแล้วอำนาจก็จะตกอยู่ที่คนบางคน แล้วคนนั้นก็จะพยายามเสนอตัวเป็นนางพญามดอีกที

แต่ว่าในชุมชนในสังคมที่เป็นปัจเจกที่เข้าใจว่าต้องทำงานประสานกันอย่างไร อยู่ด้วยกันเพราะมีสำนึกสาธารณะที่มันช่วยให้ชุมชนนั้นช่วยประสาน

สฤณี: เสริมคุณโตมร สังคมไทยดูเหมือนว่าเป็นมดปลวกอยู่หรือเปล่า ด้วยเทคโนโลยี เห็นเพจต่างๆ ที่คนพยายามคัดค้านหรือรวมพลังเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง ก็อาจจะดีกว่าสังคมมดปลวกนิดหนึ่ง เราเริ่มเห็นแล้วว่ามันมีเชื้ออยู่ การที่จะกระโดดไปสู่การรวมพลังอย่างสร้างสรรค์มีอีกหลายขั้น ช่วงที่ไปอเมริกาก็ได้เจอคนที่ทำเรื่องสื่อ สร้างให้คนรวมพลังกัน เช่น ไปคุยกับ www.change.org ในการสร้างแคมเปญต่างๆ ก็มีบทเรียนที่น่าคิดว่าการที่จะให้คนเข้ามามีส่วนร่วม มีหลายแนวทาง หลายเฉด ตั้งแต่มีส่วนร่วมเล็กน้อย (low engagement) ไปจนถึงมีส่วนร่วมอย่างมาก (high engagement) แต่อ่อนไปหาเข้ม

จะทำอย่างไรให้มามีส่วนร่วมแบบเบาๆ ก่อน เช่น เพจอยากเห็นทางเท้าที่ดีกว่าเดิม เราก็อาจจะเข้าไปคลิกไลก์ นี่ก็เป็นการมีส่วนร่วมแบบเบาๆ อย่างหนึ่ง จะทำอย่างไรให้คนรวมกลุ่มไปทำอะไรที่มากกว่านั้น เช่น มีการรวมกันไปยื่นจดหมาย ไปคุยกับเทศบาลหรือผู้ว่าฯ ทำให้สื่อมา กระบวนการที่ทำให้คนจากที่มีส่วนร่วมแบบอ่อนไปมีส่วนร่วมแบบแข็งได้อย่างไร มันต้องใช้การออกแบบ มันก็กลับไปที่กระบวนการคิดว่าใครถนัดอะไร มีการพูดคุยกันจริงๆ นี่ก็เป็นกระบวนการที่ทำให้คนเริ่มมีสำนึกสาธารณะ หลายคนที่อาจจะไม่แสดงออกคือเกิดความรู้สึกเหนื่อยว่าบ่นไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น หรือมีคนคิดแบบเราหรือเปล่า เช่น เรื่องที่จอดรถ การวางกรวยในพื้นที่สาธารณะ เรื่องแบบนี้อาจจะมีหลายๆ คนตั้งคำถามก็ได้

ฉะนั้น การมองเห็นกระบวนการก็เรื่องหนึ่ง การออกแบบกระบวนการก็เรื่องหนึ่ง

ทีปกร: อยากให้คุณสมสุขเล่ากระบวนการที่เป็นรูปธรรมของการพัฒนาชุมชน เรามีกระบวนการเรียกคนที่มีพลังเข้ามาร่วมกับเราอย่างไร ทำอย่างไรให้เขามีสำนึกสาธารณะขึ้นมาด้วย

สมสุข: จริงๆ ก็เข้าใจตอนคุณโตมรพูดเรื่องมด สังคมเอเชียเป็นสังคมที่ชอบการปกครอง เป็นตัวแทนของระบบแบบ top-down mechanism (กลไกจากบนลงล่าง) ที่จะเข้าไปควบคุม แต่จริงๆ โลกมันเปลี่ยนไปมากแล้ว ชุมชนคล้ายๆ เป็นระบบที่คนได้มาคุย เมื่อมีคำถามที่ว่าจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร จุดเริ่มต้นคือการมาคุยกัน ในโลกโซเชียลมีเดียคุยกันถี่มาก แต่ไม่มีการมานั่งคุยกันจริงๆ พยายามเอาทัศนะต่างๆ มาสู่จุดร่วม ต้องเริ่มจากคนทั้งหลายที่อยู่ในชุมชน แล้วจะแก้ด้วยวิธีไหน ลองทำเลย ใช้งบเล็กๆ น้อยๆ ให้ลองเริ่มทำจากกิจกรรม มันเป็นเครื่องช่วยในการทำให้คนมีจุดร่วมในการทำอะไรบางอย่างร่วมกัน เพื่อการเดินไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์

เดี๋ยวนี้ในกระบวนการพัฒนาชุมชนจะมีความหลากหลายมาก มีกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มข้อมูล คนที่เก่งเรื่องช่าง คนที่ทำเรื่องเยาวชน กลุ่มแม่บ้าน สารพัด นี่เป็นอีกระบบหนึ่งเลยที่มีการจัดตัวเองและมีการโยงเครือข่าย ต้องทำเรื่องการจัดโครงสร้างให้เป็นแนวราบมากที่สุด

ในเรื่องการพัฒนาชุมชนใหม่ ถ้าเราได้สถาปนิกมันก็จะมีความน่าสนใจ นักเคลื่อนไหวกับสถาปนิกไม่เหมือนกัน นักเคลื่อนไหวก็อาจจะออกไปเรียกร้องประเด็นต่างๆ สถาปนิกเป็นนักเคลื่อนไหวอีกแบบหนึ่ง สถาปนิกแบบเก่าคือสถาปนิกที่เราให้เขาออกแบบแล้วก็จบ ไม่ใช่สถาปิกแบบนักเคลื่อนไหว

สถาปนิกที่ใช้การผสมผสานต้องไปนั่งคุยกับชาวบ้าน ใช้การออกแบบเพื่อปลดล็อกแล้วข้อมูลมันจะออกมา เขาคิดว่าอยากจะทำอะไร สิ่งที่สำคัญคือการมองไปข้างหน้า ในการสร้างชุมชนใหม่เราจะสร้างพื้นที่ทางสังคมอย่างไร เราพยายามให้ชาวบ้านร่วมกันออกแบบไม่ใช่ไปคุ้ยปัญหาและความเศร้าโศกไปสู่การกระทำ เราจะเปลี่ยนอย่างไร ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ให้รัฐเข้ามาบอกว่าเราจะเปลี่ยนอย่างไร พลังอันนี้จะเกิดขึ้นจากการที่ชุมชนมาช่วยกันทำและมีนักออกแบบที่เข้าใจกระบวนการเหล่านี้

การทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างนามธรรมกับรูปธรรม ระหว่างฟังก์ชันที่หลากหลาย ทั้งทางสังคม ทางกลุ่มต่างๆ ทางการจัดการ ทางการเงิน ให้มันผสมผสานและลงตัว นี่เรียกว่าการออกแบบที่ไม่ได้เกิดจากสถาปนิก แต่สถาปนิกเป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวกอย่างมีส่วนร่วมและเท่าเทียมกัน รูปแบบที่ออกแบบต้องทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีสถานะดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำลง มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การมีน้ำใจ ความไว้วางใจ การมีการจัดการ จากไม่เคยรู้ว่าเงินจัดการกันอย่างไรก็ได้รู้

มีการสร้างพื้นที่ของการพัฒนา การเรียนรู้ การช่วยเหลือ เกิดความคิดสร้างสรรค์ทางสังคม สร้างการเรียนรู้ไปด้วย อาชีพสถาปนิกและนักวางผังมีบทบาทที่สำคัญ ถ้าเราสามารถพัฒนารูปธรรมที่สร้างสรรค์กับสังคมที่สร้างสรรค์เราก็สามารถไปด้วยกันได้ พวกเราก็จะเป็นพวกที่มองไปข้างหน้า อยากจะหาความลงตัวของระบบคน กายภาพ มนุษย์มีศักดิ์ศรีที่จะอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น ทั้งหมดเป็นเรื่องพัฒนาชุมชนที่สถาปนิกจะมีบทบาทสำคัญ ให้คนที่อยู่ในพื้นที่รู้สึกเป็นเจ้าของ

นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ที่มาภาพ : http://www2.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=1955505
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา
ที่มาภาพ : http://www2.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=1955505

โตมร: เวลาจะพูดถึงเมือง สิ่งที่สนใจในเรื่องของเมืองมากคือเส้นทางสัญจร เพราะมันคือความสัมพันธ์ของกลุ่มคนกับกลุ่มคนที่ปรากฏเป็นรูปธรรม เวลาเราพูดกันว่าโครงสร้างทางสังคมเราจะมองไม่ค่อยเห็น แต่ถนนนี่โครงสร้างชัดๆ ถามว่าถนนมีไว้เพื่ออะไร ถนนมันให้ความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตอะไรมากที่สุด ถนนก็ต้องมีไว้ให้รถ สมมติว่าไปมีถนนอย่างถนนวิภาวดีรังสิตตัดผ่านชุมชน คนที่เคยอยู่ตรงนี้เคยทำพะแนงเนื้อแบ่งกับข้างบ้าน แต่พอมีถนนตัดผ่านก็ต้องไปกลับรถ 2 กิโลเมตรเพื่อเอาไปให้อีกบ้าน

สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าเส้นทางการสัญจรในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับรถมากกว่าอย่างอื่น เป็นสำนึกบางอย่างที่อยู่ในใจเราด้วย สมมติว่ามีแม่ลูกเดินออกจากตึก เดินบนทางเท้า มีรถกำลังแล่นออกมา แม่จะกล้าเชิดหน้าลูกแล้วตัดหน้ารถไหม แม่ทั้งร้อยบอกให้ลูกระวัง กลัวลูกจะตาย ทำไมเราต้องกลัวรถขนาดนั้น เพราะมันชนจริง แล้วทำไมมันถึงกล้าชนเรา เพราะว่ามันมีอะไรบางอย่างในนั้น มีความกลัวระดับหนึ่ง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเรารู้ว่ารถเป็นวัตถุที่มีอำนาจทางกายภาพเหนือกว่าเรา มันสามารถทำร้ายเราได้ถึงขั้นชีวิต หากไปดูเมืองนอกเราแค่ย่างเท้าไปบนถนน รถที่แล่นมาก็จะหยุด แต่ของเราความตายบนทางม้าลายเกิดได้ตลอดเวลา นี่เป็นความกลัวแบบเบื้องต้นที่แม่ปลูกฝังเรา เป็นการปลูกฝังทางวัฒนธรรมความกลัวระดับแรก ผมเคยขี่จักรยานมาที่เมืองทองครั้งหนึ่ง ไม่มีอะไรที่เอื้อต่อคนขี่จักรยานเลย

ระดับสอง คือความกลัวที่ซ่อนมากับสถานภาพของรถยนต์ สมมติว่าถ้าเราปั่นจักรยานหรือเดินอยู่ แล้วเจอรถเก่ากับรถหรู เราจะต้องเดินหนีรถหรูก่อน เพราะไม่แน่ใจว่าชายกระโปรงไปกรีดรถหรูเขาเป็นรอยทีหนึ่งเราจะต้องเสียค่าซ่อมแซมให้มันเท่าไหร่ นอกจากรถยนต์จะมีอำนาจในตัวมันเองแล้ว รถยนต์ยิ่งหรูก็ยิ่งมีอำนาจแฝงอยู่ในตัว มันเลยสร้างความกลัวได้สองระดับ

เมื่อรถยนต์แสดงอำนาจได้ขนาดนี้ทำไมเราจะไม่อยากใช้รถ มีงานวิจัยของคนหนึ่งในเยอรมันบอกว่า วิธีการออกแบบเมืองเป็นการออกแบบของผู้ชายมากๆ (masculinity) คือ มีย่านศูนย์การค้าอยู่ตรงกลาง มีย่านที่อยู่อาศัยรอบๆ แล้วก็ต้องสัญจรด้วยรถยนต์ เพราะผู้ชายไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ขับรถออกจากบ้านไปทำงาน ทำงานหาเงิน เอาเงินกลับมาที่บ้าน แต่ถ้าเป็นผู้หญิงขับรถ คือคิดว่าจะต้องไปซักผ้า ทำผม ต้องส่งลูกไปโรงเรียน ต้องแวะตรงนั้นตรงนี้ ขับไปแล้วจอด ขับไปแล้วจอด แต่เมืองทั้งเมืองออกแบบให้ขับไปรวดเดียวขึ้นทางด่วนจากบ้านถึงที่ทำงาน ไม่ได้ออกแบบให้มีความเป็นผู้หญิง ฉะนั้นผู้หญิงที่ชอบแวะๆ นี่เป็นปัญหาจารจร เพราะเมืองไม่ได้ออกแบบให้มีความเป็นผู้หญิง มันเลยไปถึงเรื่องเวลาที่เราเห็นคนขับรถห่วยต้องเป็นผู้หญิงแน่เลย

เราถูกทำให้เสพติดรถยนต์ เวลาสังคมจะสร้างอะไรขึ้นมาจึงพบว่ารถยนต์เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับลำดับความสำคัญที่สูงกว่าคนอื่น มันไปพันกับสถานภาพ อำนาจ และการสร้างความกลัวให้สิ่งมีชีวิตอื่นบนท้องถนน แย่ยิ่งกว่านั้นคือคนชั้นกลางจำนวนมากขวนขวายหาซื้อรถยนต์เพื่อที่จะขับจากไหนไม่รู้ไปทำงานในเมือง

นอกจากถนนยังไม่มีเส้นทางให้คนเดินหรือจักรยานเท่าไหร่แล้ว กับคนที่เลี้ยงดูเมืองก็ไม่มี คือ แม่ค้าส้มตำ ทุกคนที่ขับรถไปทำงานตามตึกสูง เมื่อถึงช่วงพักกลางวันก็ถอดส้นสูงใส่รองเท้าแตะเดินลงมากินส้มตำ ใครจะไปกินในห้างได้ทุกวัน นี่ก็โยงไปถึงค่าครองชีพที่แย่ นี่ยังไม่พูดถึงค่าหนังสือซึ่งแพงมากเมื่อเทียบกับข้าวหนึ่งมื้อ ถ้าไปดูในสหรัฐฯ แล้วราคาหนังสือเท่ากับข้าวจานหนึ่ง

สุดท้ายแล้วคุณกินของข้างถนน มันคือวัฒนธรรมตลาดซึ่งมีความผูกพันกับเรามาตลอด แต่ถนนไม่เคยออกแบบวัฒนธรรมตลาด เราอาจจะมีเลนทางเท้าเพราะตามแบบถนนของตะวันตก แต่ทางเท้าของเรามีไว้เพื่อเปลี่ยนกระเบื้องทุกปี ตรงที่ไม่เสียก็เปลี่ยน เปลี่ยนกันตลอดเวลา บางที่ที่แย่มากก็ไม่มีการเปลี่ยน

เมื่อเป็นแบบนี้เราก็ไม่สนใจเรื่องการเดิน เราเห็นว่าหาบเร่เป็นปัญหาที่ต้องกำจัด ทางเท้าที่ใหญ่เกินไปทำให้รถยนต์ไม่มีที่วิ่ง เราเห็นชัดว่าโครงสร้างของอำนาจนั้นอะไรใหญ่ แล้วรถยนต์เป็นตัวแทนของอะไรบ้าง ใครที่สามาถเดินทางได้โดยที่รถไม่ติด ใครที่สามารถเดินทางได้โดยที่รถไม่ติด สามารถหารถนำขบวนได้ ยิ่งเห็นว่าสังคมมดปลวกเป็นในสังคมในระดับที่มันซ้อนอยู่ข้างในอีกชั้น

เราลงไปกินส้มตำที่หาบเร่แผงลอย แต่พอเราขับรถเราเห็นว่าป้าที่เข็นรถอยู่ข้างหน้าเรามันเกะกะเหลือเกิน ขับชนเลยดีไหม ซึ่งเมื่อกลางวันก็เพิ่งกินมาเพราะคุณไม่มีปัญญากินอาหารแพงๆ มันก็เลยเห็นความหน้าไว้หลังหลอกในสังคมของเรา พอขี่จักรยานในเมืองเราก็เห็นว่าทำไมไม่ที่ทางให้ป้าเขาเลย เรารู้สึกว่าเขามีบุญคุณกับจักรยาน เวลาผมปั่นเขาจะอยู่ข้างหลังเรา แล้วก็มีบุญคุณกับเราทั้งหมดที่ต้องเข้ามาทำงานในเมือง

คนที่เข้ามาอยู่ในเมืองจะอายุยืนกว่า เพราะมีระบบสาธารณสุขที่ใกล้กว่ามีฐานะดีกว่าเพราะมีแหล่งงาน และเมืองที่มีความกะทัดรัดเป็นสัดส่วน (compact) ไม่ใช่เมืองอย่างที่กรุงเทพฯ หรือลองแอนเจลิสกำลังเป็น จะมีความยั่งยืนมากกว่า เพราะไม่ต้องไปพยุงระบบใหญ่มาก พอคนมาอยู่ในเมืองมากขึ้น คนต้องการอะไร มีการวัดว่าเมืองที่น่าอยู่นั้นเป็นอย่างไร มีเรื่องของความสามารถที่จะเดินได้ด้วย กรุงเทพฯ ได้ 15/100 ถ้าเป็นนักเรียนสอบตกซ้ำซากไม่มีวันได้ผุดได้เกิด

เมืองที่มีความพร้อมด้านการเดินมันสะท้อนสาธารณะอย่างไร สะท้อนความพร้อมของสำนึกสาธารณะ แต่ถ้าเป็นสภาพเมืองกรุงเทพฯ จะมีการสร้างบ้านอยู่ชานเมือง เป็นบ้านอุดมคติของสถาบันครอบครัว ที่เป็นตัวถ่ายทอดค่านิยม วิธีคิด อคติทางเพศ เช่น ห้องนอนลูกสาวสีชมพู ห้องนอนลูกชายทาสีฟ้า แต่ข้อดีของครอบครัวคือเป็นที่เยียวยาจิตใจ

บ้านในอุดมคติต้องอยู่ชานเมือง มีสนามหญ้าสีเขียว เลี้ยงหมาวิ่งไปวิ่งมา เย็นๆ ก็มารดน้ำต้นไม้กัน ความจริงคือกลับบ้านตีหนึ่ง รถติดกว่าจะถึง แล้วก็ออกจากบ้านตี 4 แบบนี้คือการสร้างพื้นที่สีเขียวที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวเอาไว้รับใช้เฉพาะครอบครัวตัวเอง ในอนาคตจะต้องมีการมาอยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น คนที่จะยอมมีพื้นที่ส่วนตัวที่แคบลง คนสมัยก่อนจะนึกไม่ถึงว่าทำไมต้องมาอยู่พื้นที่แค่นี้ แต่คนเหล่านี้จะมีพื้นที่สาธารณะร่วม เช่น พิพิธภัณฑ์ หรือสาธารณูปโภคทางปัญญาที่สามารถใช้ร่วมกัน ถ้าเมืองมีการจัดการที่ดี มีการส่งผ่านความรู้ที่ดี จะทำให้มีความยั่งยืน พื้นที่ที่สำคัญที่สุดของเมืองในอนาคตคือชั้นที่เป็นพื้นดิน นอกจากจะเป็นชั้นที่เป็นพื้นฐานสำหรับทุกอย่างแล้ว มันเป็นชั้นเดียวที่ปลูกต้นไม้ใหญ่ได้จริงๆ นอกจากปลูกต้นไม้แล้วยังทำการเกษตรได้ด้วย มันมีดินที่หล่อเลี้ยงเรา สร้างอาหารให้เรา ฉะนั้นแล้วเมืองจะต้องถูกล้อมด้วยพื้นที่เกษตรแล้วเชื่อมกันด้วยศูนย์กลางให้เป็นเครือข่าย

ในอนาคตรถยนต์เวลาเข้าในเมืองอาจจะต้องไปอยู่ใต้ดินทั้งหมด เพราะมันมีมลพิษ การอยู่ในระบบปิดสามารถลดและกำจัดมลพิษได้ง่ายขึ้น เราลงทุนกับรถยนต์ได้มาก เราสามารถสร้างทางด่วนที่ใช้เงินได้มากมาย แต่เราเคยเห็นทางเท้าที่มีหลังคาคลุมไหม ทางเท้าที่มีต้นไม้ใหญ่ไหม เราไม่เห็นแบบนั้น ตอนนี้ที่สามเสนมีการสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง เขาตัดกระถินณรงค์และต้นมะฮอกกานีออกหมดเลย เราไม่มีการออกแบบทางเท้าที่มีหลังคาเพราะฝรั่งไม่เคยมี ที่เขาไม่มีเพราะฝรั่งไม่ร้อน แต่บ้านเราร้อน ทำไมเราถึงจะไม่มี

โยงกลับมาเรื่องออกแบบ เวลาที่เราดูฝรั่งออกแบบอะไรก็ตามมันจะมีความร้อนออกมา อย่างเช่น แอร์ รถยนต์ เพราะว่าเขาหนาว แต่เราออกแบบของเราเองมันอาจจะมีลมเย็นออกมาก็ได้ แต่เนื่องจากเราไม่เคยคิด เราก็เลยมีเมืองที่ร้อน นั่นนำไปสู่ความคิดที่ว่าเราไม่เคยออกแบบ เราได้แต่ลอกเลียนมา

สฤณี: เวลาเราใช้คำว่าการเป็นนักเคลื่อนไหว (Activism) มันคือการเคลื่อนไหว จริงๆ ในโลกสมัยใหม่ใครๆ ก็เป็นนักเคลื่อนไหวได้ เพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีเทคโนโลยี

การเป็นนักเคลื่อนไหวด้านการออกแบบ (Design Activism) ก็คือการชักจูงให้คนเห็นระยะยาวมากกว่าระยะสั้น ถ้าคิดสั้นคุณตายแน่ๆ ฉะนั้นมันคือความจำเป็นว่าทำไมต้องมีนักเคลื่อนไหว โลกยุคใหม่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของคนหลายๆ ส่วนประกอบกัน เช่น ถ้าอยากให้คนเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนวิธีคิด นักออกแบบต้องมาทำงานกับนักเศรษฐศาสตร์ เพราะตอนนี้ก็เริ่มมีการคิดคำนวณราคาของสิ่งต่างๆ ที่เมื่อก่อนเรามองไม่เห็นเพราะรู้สึกว่ามันไม่ได้อยู่ในตลาด เช่น การสร้างอาคารเพื่อความยั่งยืน แต่ราคามันแพง ถ้าเราเชื่อมโยงให้เห็นเรื่องวัฏจักรของอายุการใช้งาน (life cycle) กระจกมันแพงแต่ตลอดชีวิตของมันช่วยให้คุ้มทุนได้ มันช่วยประหยัดค่าพลังงาน มันก็เป็นตัวอย่างของข้อมูลที่จะเชื่อมโยงกันเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ภาครัฐโดยเฉพาะในยุโรปเริ่มมองถึงการมีส่วนร่วมของภาคต่างๆ เช่น ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเพื่อสังคม แล้ววิธีที่รัฐเข้าไปสนับสนุนคือมันจะช่วยลดภาระของรัฐได้เท่าไหร่ ตรงนี้ก็เป็นแรงจูงใจ การคิดยาวมากกว่าคิดสั้นเป็นประโยชน์

อย่างเรื่องน้ำท่วมใหญ่เรื่องเมื่อสองปีกว่าที่แล้ว ความเสียหายก็ไม่ได้เกิดจากแค่ธรรมชาติ ก็มีปัญหาเรื่องการจัดการ ถ้าเราไปถามว่าการป้องกันน้ำท่วมในละแวกที่จะมีการน้ำท่วม การป้องกันสำหรับคุณมีมูลค่าเท่าไหร่ มูลค่าก็คืออะไรก็ได้ที่น้อยกว่านั้น ถ้าเขารู้ว่าทำแบบนี้แล้วไม่ต้องเสียเงินเพิ่มเขาก็ทำ ข้อมูลแบบนี้สำคัญมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างกระบวนการสร้างความจูงใจให้มีการเห็นอนาคตร่วมกัน (common future)

ทีปกร: ยังมีความหวังถึงอนาคตร่วมกันในไทยหรือเปล่า

สมสุข: เหตุการณ์บ้านเมืองมาถึงจุดที่เราต้องคิดให้มาก การปฏิรูปมันจะใช่หรือเปล่า ดิฉันว่าเราอาจจะมาถึงการที่ทุกคนต้องเป็นดีไซเนอร์ เพื่อสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าเราจะทำอะไรเราต้องมองสิ่งที่เราทำให้ดีขึ้น ให้สร้างสรรค์ ให้เกิดความเท่าเทียม ให้สัมพันธ์กับธรรมชาติ เราจะทำแบบสัมพันธ์กับผู้คนทั้งหลาย เราต้องเปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม การมีสำนึกสาธารณะ เพื่อการเปลี่ยนแปลงเราอาจจะต้องคิดถึงกระบวนการนี้มากขึ้น เราไม่อาจหวังว่าหน่วยงานต่างๆ จะมาช่วย

เราจะต้องออกแบบสิ่งที่เราเกี่ยวข้อง เราจะต้องสามารถเข้าไปมีส่วนอยู่กับการมีพื้นที่ระหว่างกัน เราเป็นนักออกแบบที่ทำให้ทุกคนมาร่วมกันออกแบบ เราเรียนรู้การออกแบบจากคนที่เราออกแบบ จากสิ่งที่เราออกแบบ เราออกแบบเพื่อสร้างสรรค์ สังคมดีขึ้นผู้คนดีขึ้น ขณะที่เราก็คงความมั่นอกมั่นใจ การเป็นคนที่มีวุฒิภาวะในสังคมนี้ให้ได้ เราต้องการพลังของแต่ละคนแต่ละอาชีพ เพื่อเข้ามาออกแบบสังคมใหม่ ไม่ใช่อะไรที่ตามกระแส ต้องหยุด สร้างความเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุด

โตมร: อาจารย์สรุปได้ดี ขอเสริมนิดเดียวว่าสังคมไทยยังมีความหวังอยู่ เราเป็นเมือนแอ่งอารยธรรม คือรับอะไรง่าย ผสมผสานอะไรง่าย ดัดแปลงเปลี่ยนแปลงตัวเองง่าย มีความหลากหลายพร้อมที่จะเปิดรับความแตกต่างหลากหลาย อาการที่เกิดกับสังคมไทยตอนนี้คืออาการป่วยชั่วคราว คนที่ป่วยชั่วคราวก็อาจจะฆ่ากันตาย คนที่ไม่ป่วยก็อาจจะอยู่ต่อไปได้

ในที่สุดแล้วการยอมรับความแตกต่างหลากหลายก็จะกลับมา ริชาร์ด ไฟน์แมน (Richard Phillips Feynman) นักฟิสิกส์บอกว่า หลักการแรกสุดคือเราต้องไม่ถูกหลอก แต่คนที่จะหลอกเราได้มากที่สุดคือตัวเราเอง เรามักจะตรวจสอบแต่คนอื่น เราต้องหมั่นหันมาตรวจสอบตัวเองและกลับไปที่การตั้งคำถาม เราก็จะได้เป็นดีไซเนอร์ ออกแบบความสัมพันธ์ สิ่งรอบตัว ไม่ใช่ปล่อยให้มันเป็นอย่างที่มันเป็น

สฤณี: ในฐานะที่ไม่เคยออกแบบอะไร ตอนนี้มาทำบริษัทป่าสาละที่ทำเรื่องเกี่ยวกับความยั่งยืนเป็นหลัก ก็เห็นความสำคัญของการออกแบบกระบวนการมากขึ้น การพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนต้องอาศัยทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมมือใจกัน สมมติว่าเราทำวิจัยไปแล้วพบว่าข้อมูลบางอย่างมันใช่ แต่ถ้าคนอื่นไม่เชื่อ ไม่ไว้ใจ ทำให้เราต้องทบทวนกระบวนการ ทำอย่างไรให้เขาเชื่อว่าบริษัทจะได้ประโยชน์ ทำอย่างไรให้เขาคิดยาวขึ้น การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นเรื่องสำคัญ และก็อย่างที่คุณโตมรพูดเรื่องเราหลอกตัวเอง เราไม่สามารถคิดว่าคนอื่นเชื่อเหมือนเรา เราไม่ได้เอาใจเขามาใส่ใจเราจริงๆ

อย่างเช่นเมื่อสองสัปดาห์ก่อนมีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมจับกลุ่ม แล้วทายวันเกิดกันโดยที่ไม่ให้บอก ห้ามเขียนอะไรทั้งนั้น อย่างวันจันทร์มีบางคนใช้รูปพระจันทร์เสี้ยว เราก็ถามว่าถ้าเกิดเราไปเล่นเกมนี้ในอเมริกา คนเกิดวันจันทร์จะมาหาเราได้ไหม ถ้าเราไปเล่นที่ญี่ปุ่นเขาก็อาจจะไม่รู้เรื่องอะไร

แค่กิจกรรมง่ายๆ ก็ทำให้เห็นว่าเวลาเราตั้งสมมติฐานไม่ตรงกับคนอื่นบางทีต้องใช้เวลา เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เห็นอะไรที่คนอื่นไม่เห็น เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเริ่มมีนักศึกษามาสนใจ อยากจัดกลุ่มลงไปช่วยที่ชุมชน ทำอะไรที่ไม่ใช่แค่การสร้างค่าย เช่น การสร้างระบบบัญชี แต่ปัญหาคือว่าจะทำอย่างไรให้เขารู้ว่าตัวนักศึกษามีความต่างกับชุมชนอย่างไร ทำอย่างไรที่จะรู้ว่าบัญชีที่ชุมชนทำมันเวิร์กหรือไม่เวิร์ก โดยที่ไม่ต้องทำตามรูปแบบบัญชีเป๊ะๆ ก็ได้ ชุดความรู้แบบนี้สำคัญและไม่ได้เกิดขึ้นเอง ต้องไปเรียนรู้แบบส่วนร่วม ถ้าพูดภาษาดีไซน์ คือ Design Thinking