วิกฤติการเมืองที่ยืดเยื้อมานานตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ปัจจุบันส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งภาคการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว ต่างชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ยกเว้นการส่งออกที่ยังคงเติบโตได้ตามเป้า
ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) “ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย” ปี 2557 หรือ “จีดีพี” เหลือ 2.6% ต่อปี จากเดิมเคยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 4% ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้รัฐบาลรักษาการก็มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น การอนุมัติงาน โครงการใหม่ และงบกลาง รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำให้เครื่องยนต์ที่รัฐบาลใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีน้ำหนักประมาณ 19% ของจีดีพี เกิดอาการสะดุด
การเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงรัฐบาลรักษาการ ส่วนใหญ่จึงเป็นการเบิกจ่ายงบประจำ ประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง และสวัสดิการ ขณะที่งบลงทุนเบิกจ่ายแค่ 150,402 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34% ของงบลงทุน 441,510 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ยอดการเบิกจ่ายสูงกว่าเป้าหมาย 3.24% โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยอดการเบิกจ่ายงบฯ โดยรวมสูงกว่าเป้าหมาย เนื่องมาจากช่วงปลายปีที่แล้วกรมบัญชีกลางโอนงบอุดหนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) วงเงิน 1 แสนล้านบาท แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางจะทยอยโอนเงินให้ อปท. ทุกๆ 3 เดือน ส่วนงบลงทุนเบิกจ่ายไปแล้ว 1.5 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 0.24% สำหรับงบลงทุนที่เหลืออีก 2.9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีโครงการลงทุนที่ยังไม่ลงนามในสัญญา หรือ “ก่อหนี้ผูกพัน” วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เนื่องจากรัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจอนุมัติ ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่
สรุป การเบิกจ่ายงบฯ ปี 2557 โดยภาพรวมไม่มีปัญหา แต่ที่เป็นน่าห่วงที่สุดคือเรื่องการเบิกจ่ายงบฯ ปี 2558 ขณะนี้ล่าช้ากว่ากำหนดถึง 6 เดือน หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ตุลาคม 2556 เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบฯ และปฏิทินงบฯ ปี 2558 แล้ว กำหนดการเดิมวันที่ 7 มกราคม 2557 สำนักงบประมาณต้องนำแผนการจัดสรรงบฯ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศส่งให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติ ปรากฏว่าวันที่ 9 ธันวาคม 2556 รัฐบาลประกาศยุบสภาไปเสียก่อน รัฐบาลรักษาการจึงไม่มีอำนาจกำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบฯ ทำให้กระบวนการจัดทำงบฯ ต้องหยุดชะงักลง และต้องรอไปจนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามากำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ
วันที่ 31 มีนาคม 2557 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูง กระทรวงการคลัง หลังจาก สศค. รายงานภาพรวมเศรษฐกิจล่าสุด ปรับลดจีดีพีปี 2557 เหลือ 2.6% ต่อปี ขณะที่การจัดทำงบฯ ปี 2558 มีปัญหาล่าช้ากว่ากำหนด อาจกระทบต่อการเบิกจ่ายงบฯ ปี 2558 (เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป) เบิกจ่ายได้เฉพาะงบประจำวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ส่วนงบลงทุนเบิกจ่ายไม่ได้ โดยนายรังสรรค์สั่งการให้ สศค. เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นไปที่ภาคการบริโภคเป็นหลัก เช่น เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประจำ และเร่งให้ส่วนราชการทำสัญญาผูกพันไว้แล้วให้มาเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2558
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเน้นไปที่ฝั่งของรายจ่ายเป็นหลัก เนื่องจากมาตรการภาษีมีข้อจำกัด ที่ผ่านมารัฐบาลเพิ่งปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% เหมือนเดิม ทำให้ผลการจัดเก็บภาษีช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 ต่ำกว่าเป้าหมาย 38,000 ล้านบาท” นายรังสรรค์กล่าว
ด้านนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณศึกษามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท แล้ว หลักการคือใช้วิธีโยกงบฯ จากโครงการลงทุนไม่มีความพร้อมไปใช้ในโครงการลงทุนที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสามารถเบิกจ่ายเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป นอกจากนี้ สำนักงบประมาณได้รวบรวมโครงการลงทุนที่ยังไม่ได้ก่อหนี้ผูกพันเตรียมไว้เสนอ ครม. ชุดใหม่อนุมัติ
“ตอนนี้ผมไม่สามารถตอบได้ว่า งบประมาณรายจ่ายปี 2558 มียอดรวมและวงเงินขาดดุลเท่าไหร่ เพราะยังไม่ได้ประชุมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ฯ จึงยังไม่ได้กำหนดวงเงินและโครงสร้างงบประมาณ แต่ในระหว่างนี้สำนักงบฯ เปิดให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจยื่นความประสงค์ขอใช้เงินงบประมาณ ล่าสุดมีวงเงินรวมกว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งการจัดสรรงบฯ ให้กับส่วนราชการ คงต้องรอนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ ยอมรับว่าการจัดทำงบฯ ปี 58 ล่าช้ากว่ากำหนด 6 เดือน” นายสมศักดิ์กล่าว