ThaiPublica > คอลัมน์ > ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชัน (ตอนที่ 2 ): Anna Hazare ผู้ปลุกจิตวิญญาณต่อต้านคอร์รัปชันของชาวอินเดีย

ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชัน (ตอนที่ 2 ): Anna Hazare ผู้ปลุกจิตวิญญาณต่อต้านคอร์รัปชันของชาวอินเดีย

12 เมษายน 2014


Hesse004

ปัจจุบันการต่อต้านคอร์รัปชันมิได้จำกัดบทบาทอยู่เพียงแค่ “ภาครัฐ” แต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่การต่อสู้กับปัญหาดังกล่าวยังขยายไปถึงภาคเอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาสังคมที่เข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชันด้วย

กรณีการต่อต้านคอร์รัปชันของภาคประชาสังคม (Civil Society Organization) สามารถทำได้โดยสองรูปแบบใหญ่ๆ กล่าวคือ หนึ่ง การจัดตั้งองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน เช่น กรณีการจัดตั้งองค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International -TI) ที่ภายหลังได้เผยแพร่แนวคิดเรื่องความโปร่งใสไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกคล้ายกับการเปิดแฟรนไชส์ TI

ขณะที่การต่อต้านในรูปแบบที่สอง คือ การจัดตั้งมวลชนหรือ “ม็อบ” เพื่อเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง

หากจะว่าไปแล้ว การต่อต้านคอร์รัปชันในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา คือตัวอย่างที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับปัญหาการคอร์รัปชัน เพราะเราจะไม่สามารถหาตัวอย่างการต่อต้านคอร์รัปชันโดยภาคประชาชนจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วได้ เนื่องจาก ประเทศเหล่านี้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้มีประสิทธิภาพดีกว่าประเทศกำลังพัฒนา

ดังนั้น ภาคประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาจึงมีบทบาทสำคัญต่อการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นอย่างยิ่ง

โดยความเห็นส่วนตัว ผู้เขียนเห็นว่าการต่อต้านคอร์รัปชันของภาคประชาสังคมใน “อินเดีย” และ “ฟิลิปปินส์” คือ ตัวอย่างของการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างเข้มข้นและเข้มแข็งที่สุด

ขบวนการต่อต้านคอร์รัปชันของทั้งสองประเทศแสดงออกทั้งในรูปการจัดตั้งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันและดึงมวลชนเข้ามาเพื่อเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่าง “ไม่ลูบหน้าปะจมูก” หรือทำกันแบบขอไปที

สำหรับในตอนนี้ ผู้เขียนจะเริ่มต้นด้วยภาพการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในประเทศอินเดีย ซึ่งกล่าวกันว่า การต่อสู้ดังกล่าวจะเริ่มต้นไม่ได้ ถ้าไม่มีผู้ชายคนหนึ่งที่อุทิศตัวให้กับอินเดียมาตลอดชีวิต

ผู้ชายคนนี้เชื่อมั่นในวิถีทางการต่อสู้แบบ “สัตยานุเคราะห์” ของมหาตมะคานธี และลงมือต่อสู้หลายครั้งหลายคราตามแนวทางของคานธี จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “คานธีคนที่สอง” ผู้ชายคนที่ว่านี้ คือ อันนา ฮาซาเร (Anna Hazare)

อันนา ฮาซาเร เกิดเมื่อปี 1937 พื้นเพเป็นชาวรัฐมหาราษฎระ (Maharashtra) รัฐนี้มีเมืองสำคัญ คือ มุมไบ (Mumbai) หรือบอมเบย์ เมืองเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของอินเดีย

ชื่อเดิมของเขาคือ ไคซาน (Kizan) ส่วนคำว่า “อันนา” เป็นภาษาถิ่นมีความหมายว่า “พี่ชายคนโต” เพราะอันนาเป็นลูกชายคนโตของครอบครัวฮาซาเร

ครอบครัวฮาซาเรมีฐานะยากจน แต่ด้วยความมานะของเขา ทำให้อันนาดิ้นรนเข้าเรียนต่อที่มุมไบจนสำเร็จการศึกษา

ในวัยหนุ่ม อันนาถูกเกณฑ์เข้ากองทัพอินเดีย ทำงานในฐานะพลขับรถถัง ร่วมรบในสงครามใหญ่ๆ 2 ครั้ง คือ สงครามระหว่างอินเดียกับจีน (Indo China War) และสงครามระหว่างอินเดียกับปากีสถาน (Indo-Pakistani War)

อันนา ฮาซาเร ในวันที่รับใช้กองทัพอินเดีย ที่มาภาพ : http://brilliantbharat.com/wp-content/uploads/2013/06/anna-hazare-military_old.jpg
อันนา ฮาซาเร ในวันที่รับใช้กองทัพอินเดีย
ที่มาภาพ: http://brilliantbharat.com/wp-content/uploads/2013/06/anna-hazare-military_old.jpg

ไม่มีใครรู้ว่าในเวลาต่อมาเขาจะกลายเป็น “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” ในการต่อต้านคอร์รัปชันของชาวอินเดีย

การเข้าร่วมรบในสงครามทำให้เขาได้เห็นอีกด้านหนึ่งของสงครามที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายทารุณ ซึ่งอันนาได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า “คนยากคนจน” คือเหยื่อของสงคราม หาใช่คนร่ำรวยแต่อย่างใด

การที่เขาต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายหลายครั้ง ทำให้อันนามองเห็น “สัจธรรม” ของชีวิตว่าชีวิตเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน ดังนั้น เขาจึงมีปณิธานแรงกล้าที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีคุณค่าเพื่อผู้อื่นและอินเดีย

ครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับชีวประวัติส่วนตัวไว้ว่า จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตเขาคือ “สงคราม” เพราะทำให้เขามองเห็นคุณค่าของชีวิต และตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อชาวอินเดียทั้งมวล

หลังสงคราม อันนาปลดประจำการจากกองทัพเป็น “ทหารผ่านศึก” เขาเลือกที่จะกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเดิมและพัฒนาบ้านเกิดที่หมู่บ้านราเรกัน สิทธิ (Ralegan Siddhi Village)

แต่เดิมหมู่บ้านนี้เผชิญปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก อันนาได้ริเริ่มโครงการสร้างฝายและบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร หลังจากนั้นเขารณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านค่านิยมของผู้คนในหมู่บ้าน โดยเฉพาะการลด “อบายมุข” ทั้งหลาย ตั้งแต่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน

อันนา ฮาซาเร The New Gandhi  ตำนานแห่งการต่อต้านคอร์รัปชันของชาวอินเดีย ที่มาภาพ : http://3.bp.blogspot.com/-3S16gz89-bA/TlgvMuzKMMI/AAAAAAAAANQ/PVdAOr_Cmvs/s1600/anna-hazare.jpg
อันนา ฮาซาเร The New Gandhi ตำนานแห่งการต่อต้านคอร์รัปชันของชาวอินเดีย
ที่มาภาพ: http://3.bp.blogspot.com/-3S16gz89-bA/TlgvMuzKMMI/AAAAAAAAANQ/PVdAOr_Cmvs/s1600/anna-hazare.jpg

บทบาทในฐานะนักพัฒนาท้องถิ่น ทำให้อันนาค่อยๆ เปลี่ยนแปลงหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ให้กลายเป็นหมู่บ้านตัวอย่างของรัฐมหาราษฎระ เขาพยายามส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านอ่านออกเขียนได้ รณรงค์ให้ล้มเลิกประเพณีล้าหลัง เช่น ผู้หญิงต้องจ่ายค่าสินสอดแพงๆ สนับสนุนให้ผู้คนเลิกกีดกันทางวรรณะซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

เพียงช่วงเวลาสิบกว่าปี อันนาได้ทำให้หมู่บ้านราเรกัน สิทธิ กลายเป็นชุมชนตัวอย่างที่สามารถพึ่งพิงตนเองได้และเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่น1

ชีวิตของอันนา ฮาซาเร ดูคล้ายกับพล็อตหนังเชิดชูฮีโร่ พระเอกแบบ “ครูบ้านนอก” ที่มีอุดมการณ์พัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนโดยเริ่มต้นด้วยความยากลำบากและต้องต่อสู้กับเหล่าอันธพาล นักเลงท้องถิ่น

อย่างไรก็ดี การต่อสู้ของอันนาที่ผ่านมาได้กลายเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่านั่งนิ่งเฉยโดยไม่ลงมือทำอะไรเลย

การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาเหมือนกับการปลูกต้นไม้ กว่าเราจะได้ชื่นชมกับ “ผลไม้” เราต้องใช้เวลาและความอดทนในการประคบประหงมดูแล เช่นเดียวกันกับการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงของอันนาซึ่งเป็นสิ่งที่ยากยิ่งนัก

ลองนึกภาพดูว่า ใครจะเชื่อถือทหารผ่านศึกที่ไม่ได้มีหัวนอนปลายเท้า ไม่มียศสูงส่งอะไร หนำซ้ำไม่มีสง่าราศีหรือบารมีมากพอจะทำให้คนศรัทธานับถือได้

แต่ด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่นของอันนา กลับทำให้ผู้คนในหมู่บ้านเห็นถึงความตั้งใจจริงของเขา และจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่หมู่บ้านราเรกัน สิทธิ จนถึงวันนี้ อันนาได้กลายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับชาวอินเดียไปแล้ว

…จะเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

หมายเหตุ: 1 ผู้สนใจเรื่องการพัฒนาหมู่บ้านราเรกัน สิทธิ ตามแนวทางของอันนา ฮาซาเร สามารถเข้าไปชมคลิปสารคดี เรื่อง Ralegan Siddhi documentary: Anna Hazare initiative

ป้ายคำ :