ThaiPublica > คนในข่าว > ยูเครนในกำมือของ 3 ผู้นำ

ยูเครนในกำมือของ 3 ผู้นำ

23 มีนาคม 2014


รายงานโดย อิสรนันท์

ใครต่อใครต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า วิกฤติการเมืองในแดนมิคสัญญียูเครนกับไทยแลนด์ที่ยืดเยื้อมานานนานร่วม 4 เดือนช่างคล้ายคลึงกันอย่างน่าประหลาดราวกับแฝดต่างฝาที่แยกกันอยู่คนละทวีป ยากจะชี้ขาดว่าใครเป็นเงาของใครหรือใครกำลังลอกเลียนแบบใคร เริ่มจากการชุมนุมประท้วงของมวลมหาประชาชน กระทั่งพัฒนาไปสู่การประกาศจะแยกดินแดน โดยเฉพาะในยูเครนนั้น อดีตประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช ที่ถูกรัฐสภาสั่งปลดกลางอากาศจนต้องเผ่นหนีไปปักหลักที่แหลมไครเมีย บริเวณชายฝั่งทะเลดำ ทางตอนใต้ของประเทศ ได้หันกลับมาแว้งกัดรัฐบาลในกรุงเคียฟ เมื่อเรียกร้องขอให้ลูกพี่ใหญ่รัสเซียช่วยสนับสนุนกระบวนการแยกดินแดนที่แหลมไครเมียไปขึ้นอยู่กับแดนหมีขาวรัสเซียเหมือนในอดีต หรือไม่เช่นนั้นก็แยกเป็นดินแดนอิสระไม่ขึ้นกับยูเครนอีกต่อไป

นับแต่นี้เป็นต้นไป อนาคตของยูเครนก็อยู่ในมือของนักการเมืองอย่างน้อย 3 คนซึ่งต่างมีบทบาทสำคัญในอดีต ปัจจุบัน และอาจจะต่อเนื่องไปถึงอนาคต

จากผู้นำมวลมหาประชาชนยูเครนสู่รักษาการนายกฯ

คนแรกก็คือนายอาร์เซนี ยัตเซนยุค วัย 40 ปี รักษาการนายกรัฐมนตรียูเครนและอดีตแกนนำฝ่ายค้านจากพรรคบาทคิฟฉชีนา หรือพรรคปิตุภูมิ ผู้โด่งดังเป็นพลุแตกพอๆ กับกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำมวลมหาประชาชนแห่งแดนดินถิ่นเจ้าพระยา ในฐานะเป็นแกนนำคนสำคัญที่นำชาวยูเครนลุกฮือประท้วงประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช กรณีที่ยกเลิกการลงนามข้อตกลงกระชับสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปอย่างกะทันหัน จากนั้นก็หันไปพึ่งพาพลังงานราคาถูกจากรัสเซียแทน ก่อนจะยกระดับการชุมนุมเป็นการเรียกร้องให้นายยานูโควิชลาออก นำไปสู่การนองเลือดหลายครั้งหลายครา แต่นายยานูโควิชก็ดื้อดึงไม่ยอมลาออก ระหว่างนั้นก็ใช้ไม้แข็งส่งตำรวจไปสลายการชุมนุมและออกกฎหมายห้ามการชุมนุมประท้วงแทบทุกประเภท ควบคู่ไปกับการใช้ไม้นวม ด้วยการเสนอนั่งโต๊ะเจรจากับนายยัตเซนยุคเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โดยสันติวิธี แต่ก็ไม่วายขุดหลุมพรางหลอกล่อฝ่ายค้านเพื่อให้แตกกันเอง ด้วยการเสนอชื่อนายยัตเซนยุคให้เป็นนายกรัฐมนตรี

นายอาร์เซนี ยัตเซนยุค ที่มาภาพ :http://static.cdn.thairath.co.th/media
นายอาร์เซนี ยัตเซนยุค ที่มาภาพ :http://static.cdn.thairath.co.th/media

แต่นายยัตเซนยุคไม่ยอมตกหลุมพรางนั้น ยืนกรานว่าประชาชนเท่านั้นจะเป็นคนตัดสินอนาคตของยูเครนเอง ไม่ใช่ประธานาธิบดี พร้อมกับยื่นคำขาดว่ารัฐบาลจะต้องยอมทำตามเงื่อนไขก่อน นั่นก็คือต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลดทอนอำนาจของประธานาธิบดีลง แล้วหวนกลับไปสู่ระบบที่เพิ่มอำนาจให้กับนายกรัฐมนตรีมากขึ้น และให้ปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนที่ถูกจับกุมระหว่างการประท้วง ก่อนจะประกาศยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่ทันทีจากกำหนดการเดิมที่จะมีขึ้นในปีหน้า

สุดท้าย การเจรจาก็ล้มเหลวตามคาด จากนั้นก็เกิดเหตุซุ่มยิงผู้ประท้วงด้วยปืนสไนเปอร์จนมีผู้เสียชีวิตร่วม 90 ราย กระทั่งรัฐสภายูเครนต้องตัดสินใจปฏิวัติเงียบ ประกาศยึดอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดคืนจากนายยานูโควิช ด้วยการลงมติปลดออกจากตำแหน่งในข้อหาฆาตกรรมหมู่ แล้วแต่งตั้งนายอเล็กซานเดอร์ ตูร์ชินอฟ ประธานรัฐสภาให้ควบตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี เพื่อรับผิดชอบในการจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 25 พ.ค.นี้ นายตูร์ชินอฟจึงได้ตั้งนายยัตเซนยุคเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยกันบริหารประเทศให้กลับคืนสู่ความสงบสุข ในฐานะที่นายยัตเซนยุคเป็นนักการเมืองที่ได้รับการยอมรับจากประเทศตะวันตกรวมไปถึงสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ถึงขนาดเคยจับเข่าคุยกันหลายครั้งในช่วงที่มีการขับไล่นายยานูโควิช หลังจากสวมหัวโขนนี้แล้ว นายยัตเซนยุคยังได้รับเชิญให้ไปคุยกับประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่ทำเนียบขาวด้วย อันเป็นสัญญลักษณ์บ่งบอกว่าทำเนียบขาวสนับสนุนรัฐบาลรักษาการชุดนี้ของยูเครน

นายอาร์เซนี ยัตเซนยุค เป็นนักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ ทนายความ และหนึ่งในแกนนำพรรคปิตุภูมิ พรรคฝ่ายค้านใหญ่อันดับสอง เกิดเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2517 ในยูเครนสมัยที่เป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย ในครอบครัวของนักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเชียร์นิฟต์ซี ในเขตปกครองตนเองไครเมีย ทางตอนใต้ของประเทศ โดยพ่อซึ่งมีเชื้อสายยิวขณะนี้เป็นรองคณบดีคณะประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ แม่เป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศสของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเชียร์นิฟต์ซี นายยัตเซนยุคเองก็ได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เมื่อปี 2535 ระหว่างนั้นได้ตั้งสำนักงานทนายความของนักศึกษาขึ้น หลังจากสำเร็จการศึกษาได้ทำงานที่สถาบันเศรษฐศาสตร์-การค้าแห่งเชียร์นิฟต์ซี แล้วโยกไปเป็นประธานสำนักงานทนายความยูเรค ก่อนจะข้ามไปทำงานที่ธนาคารแห่งหนึ่งในกรุงเคียฟ

ชีวิตการเมืองของนายยัตเซนยุคเริ่มขึ้นเมื่อเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจแห่งสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมียแล้วไปรั้งตำแหน่งรองประธานคนที่ 1 ของธนาคารชาติยูเครน ตามด้วยการได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการเขตโอเดสซา โอบลาสต์ ก่อนจะกระโดดเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจระหว่างปี 2548-2549 ระหว่างนั้นได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของยูเครนในการเจรจาเพื่อสมัครเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และเป็นประธานคณะกรรมาธิการยูเครน-สหภาพยุโรป ก่อนจะข้ามห้วยไปเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในปี 2550 และประธานรัฐสภาหรือเวอร์คอฟกา ราดา จากปี 2550-2551

ระหว่างที่เกิดวิกฤติการเมืองในยูเครนเมื่อปี 2551 นายยัตเซนยุคได้ขอลาออกจากตำแหน่ง แล้วตั้งกลุ่มพลังการเมืองกลุ่มใหม่ขึ้นมาเพื่อจะ “นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศ” ต่อมาได้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2552 ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งซึ่งมีข่าวลือว่านายยัตเซนยุคใช้เงินสูงถึง 60-70 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,800-2,100 ล้านบาท) ก็ถูกผู้สมัครคนอื่นใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็น “ยิวอวดดี” ที่ประสบความสำเร็จจากการรับใช้โจรที่มีอำนาจในยูเครนแล้วใช้เงินสกปรกหว่านไปทั่ว แต่เจ้าตัวโต้ว่าโปสเตอร์หาเสียงนั้นมีต้นทุนน้อยกว่าฝ่ายตรงข้ามถึง 10 เท่า เนื่องจากตัวเองใช้เงินหาเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่ไปกับการปรากฏตัวทางโทรทัศน์ ผลการเลือกตั้งครั้งนั้นปรากฏว่า นายวิกเตอร์ ยานูโควิช ที่สนิทชิดเชื้อกับรัสเซีย ชนะเลือกตั้ง ได้สวมหัวโขนประธานาธิบดีอีกครั้ง

เมื่อขึ้นมาบริหารประเทศแล้ว ประธานาธิบดียานูโควิช ได้เสนอชื่อผู้นำฝ่ายค้าน 3 คน รวมทั้งนายยัตเซนยุค ให้รัฐสภาเป็นคนคัดเลือกว่าใครเหมาะสมจะเป็นนายกฯ แต่นายยัตเซนยุคขอถอนตัวเพื่อประท้วงกรณีรัฐสภาได้ลงมติแก้ไขกฎหมายไฟเขียวให้ ส.ส. อิสระสามารถรวมตัวกันเป็นพรรคพันธมิตรที่มีเสียงข้างมากในสภาได้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและจะยิ่งทำให้วิกฤติการเมืองย่ำแย่ลง

อาจจะเป็นเพราะมีเชื้อสายยิว นายยัตเซนยุคจึงค่อนข้างต่อต้านหมีขาวรัสเซียมากเป็นพิเศษ ยืนหยัดคัดค้านแข็งขันไม่เห็นด้วยที่จะให้ภาษารัสเซียกลับมาเป็นภาษาที่สองของยูเครน รวมทั้งไม่เห็นด้วยที่ยูเครนจะเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกสหภาพศุลกากรแห่งเบรารุส คาซัคสถาน และรัสเซีย เพราะเท่ากับเปิดช่องให้รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับรัสเซีย ช่วงเดียวกันนั้น นายยัตเซนยุคก็ผลักดันเต็มที่ให้ยูเครนสมัครเป็นสมาชิกของอียู โดยให้เหตุผลว่าเพราะมีมาตรฐานสูงมากในเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล การจ่ายเบี้ยบำนาญ การจ้างงาน เสรีภาพ เทคโนโลยีใหม่ๆ และมีความก้าวหน้า สามารถถือเป็นต้นแบบที่จะขับเคลื่อนยูเครนให้เป็นประชาธิปไตยแท้จริงที่เคารพในสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ความเท่าเทียมกัน ความยุติธรรม ความปรองดองและความอดทน กำจัดการทุจริตคอร์รัปชันและสร้างกลไกใหม่ของรัฐที่มีคุณภาพ และคัดค้านการส่งทหารไปเข้าร่วมกับกองกำลังรักษาสันติภาพในต่างประเทศ

นายยัตเซนยุคยังมีจุดยืนแน่วแน่ นั่นก็คือ คัดค้านการแต่งงานของพวกรักร่วมเพศ เพราะขัดกับความเชื่อส่วนตัว คัดค้านการแปรรูปกิจการรัฐวิสาหกิจ และต้องการปฏิรูประบบข้าราชการ เพื่อให้ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียตรัสเซียเดินหน้าไปได้ โดยเสนอให้เพิ่มบทลงโทษข้าราชการที่ทุจริตฉ้อฉลให้รุนแรงมากขึ้น

การชุมนุมประท้วงของยูเครน ที่มาภาพ : http://a57.foxnews.com/global.fncstatic.com/
การชุมนุมประท้วงของยูเครน
ที่มาภาพ : http://a57.foxnews.com/global.fncstatic.com/

ไม่น่าเชื่อว่า แม้จะมีภูมิลำเนาเดิมมาจากแหลมไครเมีย แต่เมื่อขึ้นมาเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรียูเครนแล้ว งานใหญ่งานแรกที่นายยัตเซนยุคต้องทำก็คือการขัดขวางไม่ให้แหลมไครเมียแยกดินแดนไปซบอกกับรัสเซีย

ในส่วนของชีวิตส่วนตัว นายยัตเซนยุคแต่งงานกับเทเรซา วิคตอริฟนา บุตรสาวของนักวิชาการด้านปรัชญา ส่วนแม่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกและขณะนี้เกษียณแล้ว ทั้งสองมีบุตรสาวด้วยกัน 2 คน ขณะนี้พำนักในกรุงเคียฟ เป็นบ้านสองชั้นมีสระว่ายน้ำอยู่นอกบ้าน ใกล้กับบ้านพักของประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช

นายกฯ กบฏแห่งไครเมีย

ผลพวงจากการที่นายยานูโควิชหนีภัยไปที่แหลมไครเมียและยุยงส่งเสริมให้เขตปกครองอิสระนี้แยกตัวจากยูเครนไปอยู่กับรัสเซียเหมือนในอดีต ทำให้ชื่อของนายเซอร์เก วาเลเยวิค อัคสโยนอฟ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไครเมีย พลันเป็นที่จับตามองของประชาคมโลกทันที เมื่อเป็นหัวหอกที่จะสานฝันของนายยานูโควิชให้เป็นจริง โดยนอกจากผลักดันให้รัฐสภาไครเมียลงมติด้วยเสียงท่วมท้น 78 เสียงจากทั้งหมด 86 เสียงสนับสนุนญัตติขอแยกตัวจากยูเครนไปเข้าร่วมกับรัสเซียแล้ว ยังสั่งร่นเวลาการลงประชามติเพื่อถามใจชาวไครเมียว่าต้องการอยู่กับยูเครนต่อไปหรือต้องการเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย จากเดิมที่กำหนดมีขึ้นในวันที่ 30 มี.ค. เปลี่ยนเป็นวันที่ 16 มี.ค. แม้ว่าประเทศตะวันตกไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ​หรือสหภาพยุโรป (อียู) ต่างจะประท้วงเสียงดังลั่นก็ตาม

นายอัคสโยนอฟ วัย 41 ปี นิกเนม “ก็อบลิน” หรือวิญญาณเร่ร่อนที่มีรูปร่างเล็กและหน้าตาอัปลักษณ์ในตำนานของหลายประเทศในยุโรป เป็นหัวหน้าพรรครัสเซีย ยูนิตี้ หรือพรรคเอกภาพรัสเซีย ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไครเมียจากการออกเสียงของรัฐสภาไครเมียด้วยเสียงข้างมาก 55 เสียงจากทั้งหมด 64 เสียงเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ระหว่างที่วิกฤติการเมืองในกรุงเคียฟได้ลามมาถึงแหลมไครเมีย โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลรักษาการในกรุงเคียฟ เล่นเอานายอเล็กซานเดอร์ ตูร์ชินอฟ รักษาการประธานาธิบดียูเครนถึงกับเต้นเป็นเจ้าเข้าประกาศลั่นว่าการแต่งตั้งนายอัคสโยนอฟเป็นนายกฯ นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ และนายอัคสโยนอฟจะต้องถูกจับในข้อหากบฎ หวังล้มล้างรัฐธรรมนูญและยึดอำนาจรัฐ นอกเหนือจากยืนยันว่าการจัดประชามติแยกตัวออกจากยูเครนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะการจะเปลี่ยนแปลงพรมแดนของประเทศจะต้องให้ชาวยูเครนทั่วทั้งประเทศร่วมกันตัดสินใจ ไม่ใช่แค่ขอเสียงจากคนในพื้นที่เท่านั้น ก่อนจะขู่ว่ารัฐบาลจะเร่งเดินหน้ายุบรัฐสภาไครเมียโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม นายอัคสโยนอฟก็ไม่ยี่หระกับคำขู่นั้น ยืนกรานว่ารัฐบาลรักษาการของยูเครนไม่มีอำนาจอันชอบธรรมในการบริหารประเทศ และขณะนี้ไครเมียได้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียแล้ว เพราะมีกองกำลังสนับสนุนรัสเซียจำนวนมากไปยึดครองสถานที่ราชการทั้งหมดเอาไว้แล้ว

แม้จะเป็นนายกฯ ไครเมีย แต่ชาวไครเมียน้อยคนนักที่จะรู้จักประวัติส่วนตัวของนายอัคสโยนอฟ ส่วนใหญ่รู้เพียงแค่ว่าเคยเป็น ส.ส. มาก่อนเท่านั้น แต่จากการสืบค้นประวัติ พบว่านายเซอร์เก วาเลเยวิค อัคสโยนอฟ สืบเชื้อสายมาจากครอบครัวกบฏแบ่งแยกดินแดนเต็มตัว เพราะเป็นบุตรชายของผู้นำชุมชนรัสเซียที่ทรานส์นีสเทรียผู้ เป็นนักต่อสู้เพื่อแยกดินแดนมอลโดวาที่รัสเซียหนุนหลังอยู่ เกิดเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2515 ที่เมืองบอลตี ในสาธารณรัฐมอลโดเวีย สมัยที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตรัสเซีย สำเร็จการศึกษาที่วิทยาลัยการเมือง-การทหารระดับสูงที่ซิมเฟโรโพล เมื่อปี 2536 จากนั้นได้เดินเข้าสู่ธุรกิจอาหารโดยได้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการบริษัทเอลลาดา เมื่อปี 2541 จนถึง มี.ค. 2544 แล้วย้ายไปเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการบริษัทแอสเตริคส์ จากนั้นก็ย้ายไปเป็นรองผู้อำนวยการบริษัทเอคาดา นอกเหนือจากเป็นประธานองค์การยกน้ำหนักเกรโค-โรมันในไครเมียด้วย

เริ่มกระโจนเข้าสู่วงการเมืองในไครเมียตั้งแต่ปี 2551 เมื่อได้เป็นสมาชิกกลุ่มที่สนับสนุนรัสเซีย 3 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่ม “ชุมชนชาวรัสเซียแห่งไครเมีย” กลุ่ม “องค์การกิจพลเรือนแห่งไครเมีย” และนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาก็ได้เป็นสมาชิกของกลุ่ม “เอกภาพรัสเซียในไครเมีย” ที่เอียงข้างรัสเซีย ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่โดยมีคนเชื้อสายรัสเซียถึงเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นประธานร่วมของสภาความร่วมมือของกลุ่มนี้ เป็นผู้นำขบวนการ “เอกภาพรัสเซีย” ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วแหลมไครเมีย ระหว่างการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาแห่งไครเมียเมื่อปี 2553 นายอัคสโยนอฟ หัวหน้าพรรคเอกภาพรัสเซีย ได้รับเลือกเป็นผู้แทนฯ และได้รับเลือกให้เป็นรองประธานสภาแห่งไครเมียด้วย

ระหว่างเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาไครเมีย นายอัคสโยนอฟได้ฟ้อง ส.ส. คนหนึ่งในข้อหาหมิ่นประมาทกรณีกล่าวหาว่าตัวเองเคยเป็นสมาชิกกลุ่มอันธพาลกวนเมืองกลุ่ม “ซาเลม” เมื่อช่วงกลางทศวรรษ 2553 โดยก่อนหน้านี้แก๊งนี้เคยก่อเหตุปะทะกับแก๊งคู่อริในเมืองซิมเฟโรโพลนานติดต่อกัน 1 เดือนทำให้มีคนตายถึง 30 คน อย่างไรก็ดี เมื่อกลุ่มซาเลมมีสมาชิกมากขึ้นถึง 1,200 คน แก๊งนี้ก็เปลี่ยนแผนยึดครองเมืองใหม่จากการใช้ความรุนแรงมาเป็นการต่อสู้บนสนามเลือกตั้งท้องถิ่นแทน ทำให้สมาชิกแก๊งนี้ถึง 40 คนรวมทั้งนายอัคสโยนอฟได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น

ทันทีที่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ ของไครเมีย นายอัคสโยนอฟก็สำแดงธาตุแท้ความเป็นเผด็จการที่ชูธงรัสเซียเต็มตัว ด้วยการประกาศยึดอำนาจหน่วยรักษาความมั่นคง ตำรวจ กองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ และกองกำลังป้องกันชายแดน พร้อมกับย้ำว่าทุกคนต้องฟังคำสั่งของตัวเองแต่เพียงผู้เดียว ส่วนใครไม่เห็นด้วยก็ให้ลาออก นอกจากนี้ ก็ยังใช้อำนาจสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ช่อง “1+1” ของยูเครนในไครเมียแล้วให้คลื่นความถี่แก่ช่อง “รอสสิยา” ของรัสเซียแทน สมกับที่ประกาศจุดยืนว่า “พวกเรากับรัสเซียจะร่วมกันสร้างอนาคตใหม่ขึ้นที่นี่”

นางยูลิอา ทิโมเชนโก     ที่มาภาพ : http://static.guim.co.uk/sys-images/Guardian/
นางยูลิอา ทิโมเชนโก ที่มาภาพ : http://static.guim.co.uk/sys-images/Guardian/

จากนายกฯ สู่ว่าที่ประธานาธิบดีหญิงคนแรก

ช่วงเดียวกับที่รัฐสภายูเครนลงมติปลดนายยานูโควิชกลางอากาศ รัฐสภายังได้ลงมติให้ปล่อยนางยูลิอา ทิโมเชนโก วัย 53 ปี อดีตแกนนำการปฏิวัติสีส้มและอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศตามคำเรียกร้องของอียูเพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม หลังจากเธอถูกรัฐบาลนายยานูโควิชสั่งจับและถูกศาลตัดสินจำคุก 7 ปี ในข้อหาทุจริตคอร์รัปชันและใช้อำนาจโดยมิชอบ นับเป็นแกนนำฝ่ายค้านคนหนึ่งที่ได้รับผลบุญมากที่สุดจากการปฏิวัติประชาชนครั้งนี้เฉกเช่นเดียวกันกับที่เคยได้รับผลจากการปฏิวัติสีส้ม

สื่อของยูเครนหลายสื่อต่างวิเคราะห์ในทำนองเดียวกันว่า ในยุค “ฟ้าสีทองผ่องอำไพ” นี้ นางยูลิอา ทิโมเชนโก อดีตนายกฯ หญิง 2 สมัย มีสิทธิจะกลับมาบริหารประเทศอีกเป็นสมัยที่ 3 หรืออาจจะก้าวไกลไปถึงการเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศก็เป็นได้ เนื่องจากชาวยูเครนต่างเชื่อมั่นว่าเธอจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื้อรังในประเทศได้ ในเมื่อต่างประจักษ์แจ้งในฝีมือแท้จริงของหญิงเหล็กขวัญใจของประชาชน ซึ่งก้าวมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่เพราะ “พี่ประเคนให้” หากมาจากความสามารถของตัวเองล้วนๆ เริ่มจากการเป็นหนึ่งในแกนนำการปฏิวัติสีส้ม จนได้รับสมญาว่า “โจนส์ ออฟ อาร์ค” ไปจนถึงการมีชื่อติดอันดับสามในบรรดา 100 ผู้หญิงที่ทรงอำนาจมากที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ รองจากนางสาวคอนโดลีซซา ไรซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศหญิงของสหรัฐฯ และมาดาม อู๋อี๋ ของจีน ทั้งยังได้รับคำชมว่าเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่สวยที่สุดของยูเครนและของโลก

อย่างไรก็ดี นางทิโมเชนโกเปิดใจว่า ไม่พร้อมจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 25 พ.ค. นี้ เนื่องจากต้องรักษาอาการเจ็บหลังที่กำเริบระหว่างต้องโทษจำคุกได้ 2 ปีเศษ จนกระทั่งศาลต้องตัดสินใหม่เป็นการกักบริเวณที่บ้านพักและโรงพยาบาลแทน

ยูลิอา โวโลดีมีริฟนา ทิโมเชนโก เจ้าของเอกลักษณ์ผมทรง “เจ้าหญิง” จากการถักผมเปียเส้นใหญ่แล้วตวัดรอบศรีษะคล้ายกับกำลังสวมมงกุฎ เกิดเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2503 ในเมืองดนีโปรเปโตรสค์ ใน ยูเครน สำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์-ไซเบอร์เนตจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ ก่อนจะศึกษาต่อระดับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ โดยมีผลงานการวิจัยกว่า 50 ชิ้น เริ่มทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่โรงงานวิศวกรรมเครื่องกลในรัฐนั้น จากนั้นได้หันมาทำธุรกิจส่วนตัวเริ่มจากการตั้งเครือข่ายร้านเช่าวิดีโอ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เธอได้ก้าวกระโดดสู่ธุรกิจพลังงานและประสบความสำเร็จยิ่งยวด กระทั่งได้เป็นประธานบริษัทกิจการพลังงาน และได้เป็นผู้สนับสนุนหลักของก๊าซธรรมชาติในรัสเซีย และก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐินีผู้ร่ำรวยที่สุดในประเทศ

หลังจากประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ เธอก็กระโจนสู่การเมือง ได้รับเลือกเป็น ส.ส. สมัยแรกเมื่อปี 2539 ด้วยคะแนนท่วมท้น ต่อมาก็ได้ตั้งพรรคปิตุภูมิขึ้นโดยเธอเป็นหัวหน้าพรรค หลังจากวิกเตอร์ ยูเชงโก ผู้นำฝ่ายค้านและพันธมิตรคนสำคัญที่สุดของเธอชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีจากผลพวงการปฏิวัติสีส้ม ยูเชงโกก็ได้ตั้งเธอให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการเชื้อเพลิงและพลังงาน และเธอก็ได้สร้างผลงานเป็นที่ยอมรับในจากการปฏิรูประบบพลังงานและเชื้อเพลิง (ก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งเป็นปัญหาซับซ้อนและเรื้อรังที่สุดของประเทศนับตั้งแต่แยกตัวออกจากอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย จนกระทั่งได้รับสมญาว่า “เจ้าหญิงแห่งแก๊ส”

ด้วยความประทับใจในฝีมือ และในฝีปากอันเผ็ดร้อน ยูเชงโกจึงตั้งทิโมเชนโกเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศเมื่อปี 2548 อย่างไรก็ตาม เธอสวมหัวโขนนายกฯ ได้แค่ 8 เดือนก็ถูกปลดออกด้วยข้อหาว่าบริหารเศรษฐกิจล้มเหลว อย่างไรก็ดี เธอได้กลับมาดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ในปี 2550 เมื่อพรรคปิตุภูมิชนะเลือกตั้ง ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม ภายใต้การสนับสนุนของยูเชงโก แต่การฮันนีมูนทางการเมืองนี้่ก็จบสิ้นอย่างรวดเร็วในปีถัดมา จากจุดยืนที่ขัดแย้งกันในกรณีสงครามจอร์เจีย-เซาท์ออสเซเทีย-รัสเซีย เนื่องจากยูเชงโกสนับสนุนอดีตเครือรัฐจอร์เจีย แต่เธอฝักใฝ่รัสเซีย จากความขัดแย้งนี้ เธอตัดสินใจเปิดเกมรุกด้วยการเสนอร่างกฎหมายสอบสวนประธานาธิบดีเพื่อปลดออกจากตำแหน่ง

แต่ในช่วงเดียวกัน คะแนนนิยมของรัฐบาลมีแต่ตกลงอันเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปัญหาการแทรกแซงจากรัสเซีย และการถูกโจมตีว่าทรัพย์สินของเธออาจได้มาโดยมิชอบ ไม่นับรวมเรื่องการถูกกล่าวหาว่าเล่นพรรคเล่นพวกและพยายามปกครองในรูปแบบคณาธิปไตย ในที่สุด ทิโมเชนโกตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือน มี.ค. 2553 ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปีเดียวกัน แต่ก็พ่ายแพ้นายวิคเตอร์ ยาคูโนวิช อย่างฉิวเฉียด ตามด้วยความพ่ายแพ้ซ้ำสองในการเลือกตั้งทั่วไป

นางยูลิอา ทิโมเชนโก ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนั้น อ้างว่ามีการโกงเลือกตั้ง นำไปสู่การถูกจับกุมเมื่อปี 2554 ในข้อหาเลี่ยงภาษี และใช้อำนาจในทางมิชอบ กรณีไฟเขียวให้ซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในราคาสูงเกินจริง แต่เธอยืนกรานปฏิเสธพร้อมกับโต้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ศาลได้ตัดสินจำคุกเป็นเวลา 7 ปี ระหว่างถูกจองจำ เธอได้ประท้วงด้วยการอดอาหารเป็นเวลาถึง 19 วัน เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำทำร้ายร่างกายจนเป็นรอยฟกช้ำทั่วทั้งตัว เพราะขัดขืนไม่ยอมไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการปวดหลัง อ้างว่าอาจจะถูกแพทย์ชาวยูเครนลอบวางยา

ผลจากความดื้อดึงทำให้อาการปวดหลังของเธอรุนแรงมากขึ้น ท้ายสุด ศาลต้องตัดสินให้เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นกักบริเวณที่บ้านพัก และเธอต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลเป็นประจำเพื่อรักษาอาการเจ็บหลัง แม้กระทั่งในวันที่ได้รับการปล่อยตัว ยูลิอาก็ต้องนั่งรถเข็นออกจากโรงพยาบาลเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ให้กำลังใจผู้ประท้วงว่า แม้จะสามารถกำจัด “เนื้อร้าย” ออกไปแล้ว แต่ภารกิจของการประท้วงยังไม่เส็จสมบูรณ์ จนกว่าการปฏิรูปการเมืองจะแล้วเสร็จ