ในช่วงที่ชาวนาทั่วประเทศมีปัญหาสภาพคล่องอันเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ขายข้าวแล้วไม่ได้เงิน จนเกิดการชุมนุมของชาวนาครั้งที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ชาวนาที่เดือดร้อนจากทั่วสารทิศเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องเงินที่ควรจะเป็นของเขา โดยชาวนาส่วนใหญ่ที่เข้ามาประท้วงจะปักหลักอยู่สองแห่ง คือ กระทรวงพาณิชย์และศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ
สำนักข่าวไทยพับลิก้าถือโอกาสนี้สำรวจข้อมูลโดยทำแบบสอบถามจากชาวนาหลายๆ จังหวัดที่เข้ามาชุมนุม เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่และผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าว โดยหลายคำถามเป็นสิ่งที่ยังคาใจคนหลายคนว่าที่จริงแล้วชาวนามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรและชอบนโยบายแบบไหน ซึ่งในที่นี้เป็นคำตอบจากชาวนาโดยตรง
การให้ทำแบบสอบถามครั้งนี้จะสำรวจจากชาวนาทั้งหมด 100 คน แบ่งเป็นชาย 55 คน และหญิง 45 คน มีอายุตั้งแต่ 24 ปีไปจนถึง 72 ปี อายุเฉลี่ยคือ 49 ปี มาจาก 14 จังหวัด ประกอบไปด้วย กาญจนบุรี 22 คน, พิจิตร 19 คน, ราชบุรี 14 คน, นครปฐม 8 คน, นครสวรรค์ 7 คน, เพชรบุรี 7 คน, ชัยนาท 7 คน, ฉะเชิงเทรา 6 คน, สระบุรี 3 คน, กำแพงเพชร 2 คน, อุดรธานี 2 คน และจากกรุงเทพฯ ลพบุรี สิงห์บุรี อีกจังหวัดละ 1 คน
ชาวนาส่วนใหญ่ซื้อข้าวกิน
จากการสำรวจชาวนาทั้ง 100 คน พบว่าชาวนาเหล่านี้มีพื้นที่ทำกินตั้งแต่ 5 ไร่ ถึง 80 ไร่ โดยมี 42% ที่ทำกินบนที่ดินของตัวเองทั้งหมด อีก 30% ทำกินบนที่ดินของตัวเองส่วนหนึ่งและเช่าที่ดินทำกินอีกส่วนหนึ่ง และ 28% ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ต้องเช่าที่ดินทำกินทั้งหมด
โดย 67% จากชาวนา 100 คน ลงมือทำนาด้วยตัวเอง ซึ่งการทำนาด้วยตัวเองในที่นี้หมายถึงการลงมือทำนาโดยไม่จ้าง แม้ว่าจะไม่ครบทุกขั้นตอนก็ตาม ส่วนอีก 33% พบว่าไม่มีการลงมือทำนาด้วยตัวเองเลยหรือจ้างทำนาทุกขั้นตอน ซึ่งจากข้อมูลนี้เองที่พอจะให้คำตอบสำหรับเรื่อง “ผู้จัดการนา” ได้ ว่ามีอยู่จริงหรือไม่
และ 55% จากชาวนาที่สำรวจทั้งหมดพบว่า ไม่ได้กินข้าวที่ตัวเองปลูก คือ “ซื้อข้าวกิน” โดยแบ่งเป็น 44% ที่ซื้อข้าวกินเป็นประจำมานานแล้ว และอีก 11% ที่ซื้อข้าวกินตั้งแต่มีโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์
เหตุผลคือ ชาวนาเน้นปลูกข้าวเพื่อขายเป็นเงินสด เมื่อต้องการเงินก็จำเป็นต้องเร่งผลผลิตให้ได้ข้าวปริมาณมาก ซึ่งหมายถึงความไม่มีคุณภาพ เมื่อข้าวไม่มีคุณภาพก็ยากที่จะรับประทาน ชาวนาจึงต้องซื้อข้าวที่ดีมากิน ยิ่งเมื่อเจอกับโครงการรับจำนำข้าว (สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ชาวนาต้องเน้นปริมาณมากขึ้นไปอีก ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีชาวนา 11 คนจาก 100 คนที่เริ่มซื้อข้าวกินตั้งแต่มีโครงการรับจำนำข้าวในครั้งนี้
สำหรับชาวนาอีก 45% ที่กินข้าวที่ตัวเองปลูก พบว่าเกือบทั้งหมดเป็นการปลูกข้าวหอมมะลิ และพยายามที่จะใช้สารเคมีในการปลูกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
จำนำทุกเมล็ดหรือประกันรายได้
จากการสำรวจทำแบบสอบถามครั้งนี้เกี่ยวกับการช่วยเหลือราคาพืชผลของรัฐบาล เมื่อให้ชาวนาเลือกระหว่างวิธีการรับจำนำข้าว (แบบสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์) กับวิธีการประกันรายได้ (แบบสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) โดยสมมติให้รัฐบาลจ่ายเงินตรงเวลา พบว่าชาวนา 61% เลือกวิธีการประกันรายได้ ส่วนอีก 27% เลือกวิธีการรับจำนำข้าว และ 12% ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล
ในขณะที่ราคาข้าวเปลือกต่อตันที่ชาวนาพอใจ พบว่า 8% ของชาวนาขอให้ได้ราคาไม่ต่ำกว่า 8,000 บาทต่อตัน ชาวนาอีก 43% ขอราคาขั้นต่ำที่ 10,000 บาทต่อตัน อีก 39% ขอราคาขั้นต่ำที่ 12,000 บาทต่อตัน และอีก 10% ขอราคาที่ 14,000 บาทต่อตันขึ้นไป
น่าสังเกตว่า ราคาข้าวที่ชาวนาพอใจนั้นอาจตีความได้ว่าเป็นราคาที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีพอยู่ได้ของชาวนา ซึ่งถ้าหากไม่มีการช่วยเหลือราคาพืชผลจากรัฐบาลแล้วปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด โดยปัจจุบันราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ 8,300 บาทต่อตันแล้วล่ะก็ ชาวนาจะดำรงชีพอยู่ได้อย่างไร
2 ปีกับโครงการรับจำนำข้าว ชาวนาอยู่ดีขึ้นจริงไหม
หลายคนสงสัยมานานว่า โดยปกติแล้วชาวนามีเงินเก็บหรือไม่ จากการสำรวจพบว่า 58% ของชาวนาไม่มีเงินเก็บ คือ ได้เงินมาแล้วก็ใช้ไป ไม่มีการออม ส่วนอีก 42% พบว่ามีเงินเก็บออมอยู่บ้าง
จากการผิดนัดชำระค่าข้าวของโครงการรับจำนำข้าวในครั้งนี้ ทำให้ชาวนาที่มีเงินออมนำเงินออมที่มีอยู่ออกมาใช้ บางคนใช้หมดแล้ว บางคนยังพอมีเหลือ ส่วนใครที่ไม่มีเงินออมก็ต้องกู้ยืมกันต่อไป ไม่ว่าจะในหรือนอกระบบก็ตาม
โดยจากการสำรวจครั้งนี้เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินของชาวนาพบว่า มี 47% จากชาวนาทั้งหมดที่กู้ยืมเงินนอกระบบ โดยอีก 53% ประกอบไปด้วยชาวนาที่กู้ยืมแต่เงินในระบบหรือไม่กู้ยืมเงินเลย ทั้งนี้ ชาวนาส่วนใหญ่ที่กู้ยืมเงินนอกระบบมีที่มาจากการกู้ยืมเงินในระบบ (ส่วนมากเป็น ธ.ก.ส.) ที่เต็มวงเงิน ทำให้ไม่มีเงินหมุน ต้องพึ่งการกู้ยืมนอกระบบต่อไป
ส่วนเรื่องรายได้เสริมนอกจากการทำนา พบว่า 35% ไม่มีรายได้เสริม คือ มีรายได้มาจากการทำนาเพียงอย่างเดียว โดยมีชาวนาที่ทำงานรับจ้างทั่วไปเป็นรายได้เสริม 38% ปลูกพืชชนิดอื่น 24% ค้าขาย 5% เลี้ยงสัตว์ 5% ทำงานรับราชการ 2% และมีลูกส่งเงินมาช่วยอีก 1%
แล้ว 2 ปีก่อนหน้านี้ที่มีโครงการรับจำนำข้าวชาวนาได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด จากการสำรวจพบว่าไม่มีชาวนาคนใดเลยที่ได้เงินค่าข้าวเปลือกที่ตันละ 15,000 บาท เหตุผลคือชาวนาไม่มีลานตากข้าวที่ทำให้ได้ความชื้นที่ 15% ตามที่รัฐบาลกำหนด ก็ต้องยอมขายที่ราคาต่ำกว่าลงไปตามความชื้นและคุณภาพ ซึ่งจากคำบอกเล่าของชาวนา ความชื้นและคุณภาพในที่นี้ โรงสีที่เข้าโครงการรับจำนำไม่ได้มีการวัดหรือตรวจสอบด้วยเครื่องมือใดๆ ทั้งสิ้น โดยราคาข้าวที่ได้จริงจากการสำรวจชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว พบว่าอยู่ที่ได้จริงต่อตันอยู่ที่ 10,500 บาท ไปจนถึง 13,000 บาท
แม้จะได้ไม่ถึง 15,000 บาทต่อตัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าราคาข้าวเปลือกจากโครงการนี้ทำให้ชาวนามีรายได้ที่มากกว่าราคาตลาดอยู่มาก ซึ่งรายได้ที่มากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ พบว่ามีชาวนา 49% จากที่สำรวจนำเงินไปใช้หนี้ อีก 35% นำไปซื้อเครื่องมือการเกษตร นำไปซื้อมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ 14% ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าอีก 7% และใช้หมุนเวียนโดยไม่ได้ซื้ออะไรเป็นพิเศษอีก 10%
แม้จะมีรายได้ที่มากขึ้นในช่วง 2 ปีหลังที่มีโครงการรับจำนำข้าว แต่ปัจจุบันชาวนาส่วนใหญ่ก็ต้องกลับมามีชีวิตเหมือนเดิมหรืออาจจะลำบากกว่าเดิม สาเหตุคือเงินค่าข้าวครั้งล่าสุดที่ยังไม่ได้ ซึ่งนอกจากจะไม่พอในการดำรงชีวิตประจำวันแล้ว ยังอาจจะลามไปถึงการผ่อนส่งรถยนต์หรือเครื่องมือการเกษตรที่ยังผ่อนไม่หมดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การทำแบบสำรวจในครั้งนี้เป็นการสุ่มตัวอย่างจากชาวนาเพียง 100 คนเท่านั้น จึงอาจไม่ใช่ตัวแทนที่ดีที่สุดในการให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องทั้งหมดได้ แต่ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ ก็สะท้อนสิ่งต่างๆ ที่มาจากชาวนาโดยตรงได้ไม่มากก็น้อย