โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” รับจำนำข้าวในราคาตันละ 15,000 บาท สูงกว่าราคาตลาดโลกอย่างมาก ด้วยมีความเชื่อว่า ข้าวไทยจะดึงราคาตลาดโลกให้สูงขึ้นได้ โดยเขียนเป็นวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งว่า
“เพื่อยกระดับราคาข้าวไทยให้สูงขึ้นทั้งระบบ เนื่องจากข้าวไทยเป็นที่นิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ จึงควรจะขายได้ราคาสูงกว่าข้าวจากประเทศผู้ส่งออกรายอื่น” ( รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว: คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ, เผยแพร่ 9 พฤศจิกายน 2555)
อีกความเชื่อหนึ่งคือของ อดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” ที่เสนอแนะนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ว่า ต้องเก็บข้าวไว้ในสต็อกมากๆ ไม่ต้องรีบขาย ถ้ารีบขายจะขาดทุนมาก แต่ควรรอให้ราคาขึ้นก่อนค่อยขาย จะได้ราคาดี
“So we have the products and in the beginning everyone wanted us to sell. We can’t do it because India dumped their [stock] out cheaply. At that time only 400 USD per ton. But now the rice price went up to 600 USD per ton–50 percent increase. So our stock has more value now. If you were to dump it, yes you can sell it faster but you’ll lose a lot of money.” (พ.ท.ต.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Forbes เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2556)
ความเชื่อของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” และ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ถูกคัดค้านจากนักวิชาการ และผู้ส่งออกในวงการค้าข้าวมาตลอดตั้งแต่เริ่มทำโครงการจำนำข้าว เพราะไม่เชื่อว่า “ข้าวไทยจะกำหนดราคาตลาดโลกได้” เนื่องจากรัฐบาลมีการประมาณการการค้าข้าวสารในตลาดโลกว่าจะต้องมีราคาอย่างต่ำตันละ 870 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันราคาอยู่ที่ประมาณ 420 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
สถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกที่อยู่ต่ำกว่าระดับราคารับจำนำข้าว หรือต่ำกว่าตันละ 870 ดอลลาร์สหรัฐ จึงถูกนักวิชาการและผู้ส่งออกวิจารณ์ฟันธงว่า รัฐบาลต้องขายข้าวในสต็อกในราคาที่ขาดทุน ซึ่งเป็นความเสียหายที่จะตกแก่ประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนในที่สุด แต่รัฐบาลก็พยายามแย้งว่าประเทศไทยมีอำนาจเหนือตลาด (market power) ในตลาดการค้าข้าวโลก และเชื่อว่าประเทศไทยสามารถเพิ่มราคาข้าวในตลาดโลกได้โดยการลดปริมาณการส่งออกข้าว ซึ่งจะทำให้รัฐบาลได้ประโยชน์จากนโยบายรับจำนำข้าว
แต่ข้อถกเถียงเรื่องนี้ ที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์โต้แย้งกันไปมา ดังนั้น เพื่อความชัดเจนว่าประเทศไทยมีอำนาจเหนือตลาดและสามารถทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นได้โดยการเก็บข้าวไว้ในสต็อกและลดปริมาณการส่งออกเป็นจริงหรือไม่ งานสัมมนานี้มีคำตอบ
ผลการศึกษาชี้ไทยมีอำนาจเหนือตลาดจริงหรือ
ดร.อิทธิพงศ์ มหาธนเศรษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลังเกษตรศาสตร์ ได้การศึกษาวิจัยในหัวข้อ “ประเทศไทยมีอำนาจเหนือตลาดในการส่งออกข้าวจริงหรือ” โดยนำเสนอผลการศึกษาในงานสัมมนา “ข้าวไทยกับอำนาจเหนือตลาด” ซึ่งจัดโดยสำนักประสานงานชุดโครงการ งานวิจัยเชิงนโยบายเกษตรและเสริมสร้างเครือข่ายงานวิจัยเชิงนโยบาย สถาบันคลังสมองของชาติ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556
ดร.อิทธิพงศ์กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่วัดระดับอำนาจเหนือตลาดในการส่งออกข้าวของไทย ทั้งๆ ที่ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ดังนั้น วัตถุประสงค์หลักของโครงการวิจัยนี้คือ การวัดระดับอำนาจเหนือตลาดในตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย 4 แห่ง ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา และแอฟริกาใต้
โดยผลการศึกษากรณีข้าวขาวโดยรวมซึ่งพิจารณาจากค่าระดับนัยสำคัญทางสถิติแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่มีอำนาจเหนือตลาดในการกำหนดราคาข้าวในตลาดจีน อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา และแอฟริกาใต้ เนื่องจากประเทศไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงจากข่าวส่งออกของเวียดนามและอินเดีย ซึ่งสามารถทดแทนกับข้าวของไทยได้ดี นอกจากนั้น ประเทศไทยไม่สามารถเพิ่มราคาส่งออกข้าวในตลาดโลกโดยการจำกัดปริมาณการส่งออก จึงมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องขายข้าวในสต็อกออกไปในราคาตลาดโลกที่เป็นอยู่
ทั้งนี้ ในงานศึกษาจะประยุกต์ใช้แนวคิดทฤฎีเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับตลาดที่ผู้มีผู้ขายน้อยราย ซึ่งรวมเอาปัจจัยทางด้านการทดแทนกันระหว่างสินค้าของผู้ขายและพฤติกรรมการแข่งกันระหว่างผู้ขายเอาไว้ในการวิเคราะห์ โดยการวิเคราะห์มุ่งตรวจสอบว่า ประเทศไทยมีอำนาจเหนือตลาดในการส่งออกข้าวหรือไม่ โดยการประมาณค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์คงเหลือต่อข้าวสารส่งออกของไทย
ดร.อิทธ์พงศ์มีข้อสังเกตว่า การมีส่วนแบ่งตลาดสูงไม่ได้แสดงถึงอำนาจเหนือตลาด โดยยกตัวอย่างว่า ถ้าเราพิจารณาเปรียบเทียบส่วนแบ่งตลาดระหว่างรถเบนกับโตโยต้า จะเห็นว่าโตโยต้ามีส่วนแบ่งตลาดสูงกว่าเบนซ์มาก แต่ไม่ได้หมายความว่า โตโยต้าจะมีอำนาจเหนือตลาดกำหนดราคาได้มากกว่าเบนซ์ ในทางตรงกันข้าม เราพบว่า ผู้ผลิตรถเบนซ์มีอำนาจกำหนดราคาเหนือตลาดมากกว่าโตโยต้า เพราะสามารถที่จะเลือกขายน้อยๆ แล้วกำหนดราคาให้สูงๆ เพื่อให้ได้กำไรมากๆ
“อำนาจเหนือตลาดที่แท้จริงแล้ว ควรขึ้นอยู่กับความสามารถในการทดแทนกันระหว่างสินค้า และอุปสงค์ต่ออุปทานของผู้แข่งขัน อย่างรถเบนซ์ ผู้บริโภคเชื่อว่า เบนซ์คุณภาพโดดเด่นกว่าคู่แข่ง และทดแทนจากคู่แข่งได้ยาก ขณะเดียวกัน คู่แข่งทีมีคุณภาพใกล้เคียงกันอย่าง BMW ก็ไม่ได้มีการขายตัดราคากัน” ดร.อิทธิพงศ์กล่าว
ไทยสูญเสียการแข่งขันทุกตลาดส่งออก
นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า มีคำกล่าวอ้างว่าไทยมีสัดส่วนการตลาดที่มากกว่าผู้ส่งออกรายอื่นมาเกือบ 2 ทศวรรษ เพราะฉะนั้น การควบคุมอุปทานข้าวของรัฐจะสร้างอำนาจเหนือตลาดโลกได้ เราได้ยินการแถลงนโยบายปี 2554-2555 ว่าเราจะกุมอำนาจได้ รอให้คนอื่นขายให้หมดก่อน แล้วเราค่อยขาย เราก็จะได้ราคาสูง
“ผมก็รอมา 2 ปี ก็ยังไม่เห็น เพราะการค้าในตลาดข้าวโลกมีความซับซ้อน มากกว่าจะคิดเชิงเดียวว่า เราเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่แล้วเราสามารถยกราคาในตลาดโลกได้ เพราะข้าวในตลาดโลกขึ้นอยู่กับอุปสงค์ อุปทาน การผลิตของประเทศต่างๆ และสต็อก และปัจจัยอื่นๆ เพราะฉะนั้น ราคาในตลาดโลกไม่ได้ถูกกำหนดจากประเทศไทย แต่ถูกกำหนดจากหลายๆ ปัจจัย เพราะฉะนั้น ความเชื่อถือตรงนี้ เป็นความเชื่อถือที่ข้าวของตัวเองเกินไป” นายสมพรกล่าว
หลังจากโครงการรับจำนำทำให้ระดับราคาข้าวไทยสูงขึ้นไป สิ่งที่สะท้อนออกมาคือ ในทุกตลาดส่งออกของไทยหดตัวทุกตลาด เพราะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่ราคาข้าวส่งออกต่ำกว่าในข้าวประเภทเดียวกัน เช่น เวียดนาม และอินเดีย ตลาดข้าวส่งออกไทยจึงถูกแทนที่จากประเทศทีมีราคาส่งออกต่ำกว่า
“เรากำลังเสียตลาดต่างประเทศไปเรื่อยๆ นโยบายนี้สร้างอำนาจเหนือตลาดในประเทศนานเท่าไร ตลาดต่างประเทศเราก็จะหายมากขึ้นเท่านั้น” นายสมพรกล่าว
นายสมพรกล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการส่งออกข้าวไทยไปยังตลาดภูมิภาคต่างๆ ของโลกพบว่า ปริมาณส่งออกข้าวหดตัวต่อเนื่องสะท้อนว่า ที่ข้าวหายไปน่าจะเป็นการเติมผู้บริโภคในประเทศเป็นหลักใหญ่ไม่ใช่ส่งออก กล่าวคือ ข้าวอาจเข้าสู่ตลาดในประเทศ นั่นคือ ทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศไทยสูงกว่าข้าวสาร โดยข้าวเปลือกเกวียนละ 15,000 บาท แต่ข้าวสารตันละ 13,000 บาท
“เราเป็นประเทศที่มหัศจรรย์มาก ที่ข้าวเปลือกหนึ่งเกวียน จะแปลงเป็นข้าวสารได้ 650 กิโลฯ แต่ข้าวเปลือกแพงกว่าข้าวสาร” นายสมพรกล่าว
นโยบายเก็บข้าวในสต็อกไม่ยั่งยืน
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งร่วมสัมมนา แสดงความเห็นว่า สาเหตุที่รัฐบาลทำนโยบายรับจำนำข้าวที่กำหนดราคาสูงกว่าตลาดมาก ถ้าตอบอย่างสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือเป็นการ “ซื้อเสียงจากชาวนา” เพราะว่าเป็นพฤติกรรมจริงของเขา เขาหาเสียงจากเรื่องนั้น เขาได้คะแนนเสียงจากเรื่องนั้น และจะหาว่าเขาหลอกชาวนาก็ไม่ได้ เพราะเขาทำตามที่หาเสียงไว้ให้กับชาวนา
“อันนี้ผมไม่เคยปฏิเสธ แต่สิ่งที่เดี๋ยวนี้อยากรู้คือนโยบายการดันราคาขึ้นโดยการเก็บสต็อกเอาไว้เยอะๆ มันยั่งยืนไม่ได้ ความฝันที่คุณจะดันราคาให้ขึ้น ซึ่งดันราคาขึ้นไม่ได้ถาวรและไม่มาก และเมื่อดันราคาขึ้นไม่ได้ รัฐบาลกลัวเสียหน้า ก็มีวิธีเดียวก็คือไม่ขาย ไม่ยอมขาย และข้าวที่ไม่ยอมขายก็ไม่ทำให้ข้าวราคาขึ้น” ดร.อัมมารกล่าว
ดร.อัมมารกล่าวว่า การผูกขาดของผู้ส่งออกนั้นมีอยู่ แต่เขาไม่ได้ผูกขาดจากการซื้อข้าว หรือซื้อมาขายไป แต่การผูกขาดของเขาอยู่ที่ “information” จะเห็นว่า พ่อค้าข้าวส่งออกเป็นความเชียวชาญเฉพาะด้าน ในอดีตการส่งออกไปอิรัก มีพ่อค้าส่งออกหลายๆ คน ถ้าใครได้ข้อมูลมาก่อนว่าเขาต้องการข้าวเท่าไร พ่อค้าส่งออกก็จะไปซื้อเก็บกักตุนเตรียมไว้ก่อน จะได้ขายได้มากกว่า ดังนั้นมันอยู่ที่การผูกขาดข้อมูล
ขณะที่ผู้ส่งออกอีกประเภทหนึ่งที่มีอำนาจตลาดได้บางส่วน มาจาก เช่น ผู้ส่งออกข้าวนึ่งรายหนึ่ง เมื่อก่อนก็สร้างอำนาจตลาดจากข้าวหอมมะลิ ค่อยๆ หมั่นเพียรสร้างอำนาจตลาด แต่อำนาจตลาดนั้น ไม่ใช่อำนาจที่รัฐบาลฉกฉวยไป “เซ็งลี้” ได้ แต่เป็นการสร้างคุณค่า อันนี้คือสิ่งที่เสียดายมากที่สุดสำหรับโครงการรับจำนำที่รัฐบาลนี้ทำได้ทำลายอุตสาหกรรมข้าวที่หมั่นเพียรพยายามสร้างคุณค่าที่แท้จริงของตลาดข้าวไทย และคุณค่าที่แท้จริงมาจาก “คุณภาพของข้าว” ไม่ใช่มาจาก “ปริมาณ”
ถ้ามองความต้องการข้างหน้า ทุกประเทศในเอเชียจะบริโภคข้าวต่อหัวลดลง เพราะฉะนั้นตลาดไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ แต่อยู่ที่คุณภาพ และระบบข้าวไทยตั้งแต่ผู้ส่งออกไปถึงหยง และไล่ลงไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะพิถีพิถันเรื่องคุณภาพข้าวมาก และสร้างจุดแข็งจนกระทั่งมีพรีเมียมเหนือตลาดอเมริกา
“ผมเสียดายมากๆ ในระยะยาว คือ จุดแข็งของเราคือคุณภาพของข้าวไทย แต่ตอนนี้ข้าวไม่ดี เราผลิตข้าวสั้นๆ เพิ่มสัดส่วนตรงนั้นมากขึ้น ผลิตข้าวมาเราก็เอาไปดองไว้ในโกดัง รอให้มันเน่าจนสวยงาม เกษตรกรเราผลิตข้าวออกมาเพื่อให้มันเน่า เสียแรง เสียงาน เสียการ เพื่อผลิตข้าวเน่า เรามีระบบเก็บโกดังมโหฬารใหญ่โต เพื่อเก็บให้ข้าวเน่า เป็นการทำลายคุณค่าของข้าวไทย ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงของนโยบายจำนำข้าวอยาง 100%” ดร.อัมมารกล่าว
รัฐบาลถอยจำนำข้าว “ชาวนา” มีแต่เสียกับเสีย
ดร.อัมมารกล่าวว่า รัฐบาลอยากให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดี เป็นเจตนาที่ดี แต่วิธีการที่เขาทำให้ ทำได้ 2 ปี คิดว่าแต่นี้ไป รัฐบาลอยู่ในฐานะลำบากมาก บ้างครั้งผมเกือบจะสงสารเขา แต่พยายามหักห้ามใจไม่ควรสงสาร เพราะว่า เขาอยู่ในฐานะลำบาก แต่คนที่ผมสงสารจริงๆ คือเกษตรกร เพราะว่าไม่ว่าจะหันไปทางไหนเกษตรกรมีแต่เสีย
เพราะวิธีที่จะทำให้กระบวนการเก็บข้าวเข้าสต็อกคือ ต่อไปนี้ข้าวที่ผลิตออกมาทุกเมล็ด กับข้าวที่ขายออกไปทั้งตลาดภายในและตลาดต่างประเทศจะต้องเท่ากัน ดีมานด์ต้องต้องเท่ากับซัพพลายแบบปีต่อปี ซึ่งหมายความว่า การเอาข้าวเข้าสต็อกไม่เป็นทางออก เนื่องจากเงินที่เสียไปส่วนใหญ่ไปใช้ในการเพิ่มข้าวเข้าสต็อกเท่านั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ เพราะฉะนั้นเงินก็มีแต่ออกไป มีเข้ามานิดหนึ่งจากข้าวที่ขายได้ แต่ส่วนใหญ่เข้าสต็อกหมด จึงยั่งยืนไม่ได้
“เพราะฉะนั้นรัฐบาลมีอยู่ 2 ทาง หนึ่ง คือ ลดจากตันละ 15,000 บาทลงมาให้ได้ อีกทางหนึ่งก็บอกชาวนาว่าต้องผลิตข้าวลดลง เพราะสมมุติว่าถ้าผลิตได้ 100 ตัน รัฐบาลจะรับจำนำแค่ 10 ตันเท่านั้น แล้วที่เหลือ 90 ตันก็ไปขายในตลาด ราคาก็ดิ่งลง เพราะฉะนั้นทั้ง 2 ทางชาวนามีแต่เสียกับเสีย” ดร.อัมมารกล่าว
“ยรรยง พวงราช” อ้างดันราคาข้าวต้องใช้เวลา
ขณะเดียวกัน นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวในการประชุมสภา (สมัยสามัญทั่วไป) เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 ว่า ยังไม่สามารถดึงราคาข้าวในตลาดโลกให้สูงได้ เพราะสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ คุณภาพข้าว ซึ่งเป็นที่เชื่อว่าข้าวไทยคุณภาพดี ทำให้มีพรีเมียมเพิ่มขึ้นจากราคาปกติ 30-50 เหรียญสหรัฐต่อตัน และราคาข้าวไทยก่อนจะมีโครงการจำนำเกิดขึ้นก็อยู่ที่ 550 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งราคาข้าวจะขึ้นไปสู่ระดับที่เราต้องการต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ช่วง 1-2 ปี ระยะสั้นไปอาจยังไม่เห็นต้องใช้เวลา
ดาวโหลดเอกสารการสัมมนา “ข้าวไทยกับอำนาจเหนือตลาดโลก”