ThaiPublica > คนในข่าว > “ประภาส ปิ่นตบแต่ง” ลูกชาวนาปลุกกระแส “ปฏิรูปข้าว” หลังบทเรียนโครงการรับจำนำ

“ประภาส ปิ่นตบแต่ง” ลูกชาวนาปลุกกระแส “ปฏิรูปข้าว” หลังบทเรียนโครงการรับจำนำ

10 มีนาคม 2014


ด้วยสายเลือดที่เป็นชาวนามาแต่ดั้งเดิมรุ่นปู่ย่าตายาย “ประภาส ปิ่นตบแต่ง” อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสวมบทบาทนักวิชาการ แต่กลับไปใช้ชีวิตวิถีชาวนา เมื่อตัวเองเป็นหนึ่งในเกษตรกรรายย่อยที่ร่วมกันทวงสิทธิในที่ดินทำกินของสหกรณ์บ้านคลองโยง ซึ่งเป็๋นชุมชนเก่าแก่ของทุ่งนครชัยศรี จ.นครปฐม จนมาเป็นโฉนดชุมชนแห่งแรก ที่ให้สหกรณ์บ้านคลองโยงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและสมาชิกของสหกรณ์มีสิทธิในการครอบครองและใช้ประโยชน์ โดยห้ามจำหน่าย จ่าย โอนให้แก่ผู้อื่นใด เว้นแต่จะตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาท เมื่อ 14 ธันวาคม 2553

นายประภาส ปิ่นตบแต่ง
นายประภาส ปิ่นตบแต่ง กับข้าวสารที่ปลูกเอง

ด้วยคำมั่นสัญญาในกลุ่มสมาชิกว่าจะพลิกฟื้นที่ดินผืนนี้ให้เป็นเกษตรยั่งยืน “ประภาส ปิ่นตบแต่ง” จึงลงมือทำนาปลูกข้าวเองเมื่อปี 2553 แม้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เข้าใจความรู้สึกลึกๆของเพื่อนพ้องชาวนาเป็นอย่างดี เมื่อโครงการรับจำนำข้าว สะดุดขาตัวเอง ชาวนาขายข้าวไม่ได้เงิน โดยให้สัมภาษณ์สำนักข่าว”ไทยพับลิก้า”ว่า

ไทยพับลิก้า : ในฐานะที่เป็นชาวนาคนหนึ่งมองนโยบายการจำนำข้าวของรัฐบาลชุดนี้อย่างไร

พืชเกษตรมันอยู่ในชะตากรรมคล้ายๆ กันคือปัญหาเรื่องราคา การเข้ามาดูแลภาคเกษตรหรือสินค้าเกษตรมันเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องทำอยู่แล้ว เพราะภาคเกษตรถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกสูบทรัพยากรเข้าสู่เมือง แต่ว่านโยบายแบบไหนที่ควรจะเป็นทางเลือกที่ดี

ผมว่าโจทย์เรื่องจำนำข้าว วัตถุประสงค์ตามที่รัฐบาลประกาศมีอยู่สองเรื่อง 1)การยกระดับรายได้เกษตรกร เป็นเรื่องที่ดีที่ให้ชาวนามีรายได้เพียงพอ 2)รัฐบาลพูดไว้ชัดเจนว่า นโยบายจำนำข้าว รัฐบาลมุ่งจะเป็นพ่อค้าข้าวรายใหญ่ที่จะควบคุมระบบการค้าข้าวของประเทศ พูดง่ายๆ คือเป็นพ่อค้าข้าวแล้วพยายามจะควบคุมกลไกตลาดให้ได้ เพื่อทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น

สำหรับวัตถุประสงค์แรก เรื่องการยกระดับรายได้เกษตรกร ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า นโยบายจำนำข้าวนั้น ถ้าเทียบกับนโยบายประกันราคาของคุณอภิสิทธิ์(เวชชาชีวะ) ซึ่งตั้งเพดานไว้ที่ 12,000 บาทต่อเกวียน ราคาข้าวตอนนั้นประมาณ 10,000-11,000 บาท พอรัฐบาลเพื่อไทยยกระดับมาเป็น 15,000 บาท จึงให้ชาวนามากกว่ารัฐบาลก่อนหน้านั้นอย่างน้อย 3,000 บาท แต่ที่รัฐบาลเขาคุยว่ายกระดับรายได้ให้ชาวนา 3.28 ล้านครัวเรือน จะพูดอย่างนั้นก็ได้ เพราะตัวเลขมันเห็นชัดเจน

ส่วนวัตถุประสงค์ที่2 คือการทำหน้าที่คล้ายๆ กับเป็นบริษัทข้าวขนาดใหญ่ เป็นพ่อค้าข้าว ส่วนว่าบรรลุวัตถุประสงค์นี้หรือไม่ “ผมคิดว่าเราเห็นชัดว่ามันหายนะ เราจ่ายเงินรับจำนำข้าวไปสองปี ประมาณ 7 แสนล้าน ตอนนี้เพิ่งขายได้คืนมาแค่ประมาณ แสนกว่าล้านเอง ยังคงมีข้าวค้างอยู่ ไม่นับรวมกระบวนการทุจริตคอร์รัปชันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งรั่วไหลมาก”

ขณะที่การยกระดับราคา ผมว่าถ้าเราดูราคาตลาด ตอนนโยบายประกันราคา ข้าวราคาประมาณ 10,000-11,000 บาทต่อเกวียน รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ก็จ่ายแค่ส่วนต่างราคาประมาณ 1,000 บาท ผมจำได้ นาของผมเคยได้ไร่ละ 725 บาทจากรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ รัฐบาลจ่ายน้อยมาก เพราะว่าข้าวราคามันสูง 10,000 บาท บางทีขึ้นไป 11,000 กว่าบาท

พอผ่านไปสองปีหลังนโยบายจำนำข้าว ราคาข้าวมันลง ตอนนี้ราคาข้าวเปลือก 15% ความชื้นปกติ (ณ วันที่ 25 ก.พ. 2557) ราคามันเหลือแค่ 7,800 บาท ความชื้น 15% ถ้าเทียบกับ 11,000 บาทมันลดลงมา 3-4 พันบาท ยิ่งเกี่ยวสด โดนหักค่าความชื้น โรงสีหักค่าจัดการข้าว มีค่าตากข้าวก็ว่าไป ทำให้ชาวนาขายข้าวอยู่ที่ 6,000 บาทต่อตัน นี่ก็ถือว่าดีมากแล้ว

“พูดง่ายๆ ก็คือ สองปีมานี้ตลาดข้าวพัง ราคาข้าวในตลาดพังไปหมด”

ฉะนั้น รัฐบาลเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล ซื้อข้าวแพงมาขายถูก ซื้อข้าวเปลือก 15,000 บาท ข้าวสารเหลือตันละ 11,000 บาท และยังมีค่าบริหารจัดการ อาทิ ค่าขนข้าวของโรงสี ค่าสีข้าว ค่าเก็บข้าว ต้องซื้อกระสอบป่านจากศรีลังกา ใบละ 35 บาท เพราะกระสอบป่านไม่พอ เพื่อใช้เก็บข้าวจำนวนมหาศาล ใช้เงินซื้อปีละ5-6 พันล้านบาท 2 ปีก็เป็นหมื่นล้าน เป็นต้น โดยรวมๆข้าวสารตันหนึ่งลงทุนประมาณ 2.8 หมื่นบาท ขายได้หมื่นกว่าบาท มันขาดทุนมหาศาล อันนี้ไม่ต้องนับถึงการรั่วไหลอื่นๆ ที่พูดกันเยอะแยะ ผมไม่อยากเรียกว่าค่าโง่นะ คือรัฐจัดการไม่เป็น

ขณะที่การระบายข้าวของรัฐบาล มีคณะอนุกรรมการระบายข้าวต่างๆ ระบบมันเทอะทะ เราผลิตข้าวได้ปีละประมาณ 30 ล้านตันข้าวเปลือก ขายทีหนึ่ง ต้องประมูลกัน ถ้าเทียบกับเวียดนามเขาจะมีองค์กรที่ทำหน้าที่พ่อค้า ไปเจรจาการค้า ตัดสินใจการค้าได้เลย ของเรามันขายด้วยระบบราชการ พูดง่ายๆ มันก็เจ๊ง เป็นแบบที่เราเห็น ยิ่งเก็บก็ยิ่งเน่า ยิ่งเสื่อมคุณภาพ

ประภาส ปิ่นตบแต่ง
ประภาส ปิ่นตบแต่ง

ดังนั้นการยกระดับรายได้ชาวนา 2 ปีที่ผ่านมาก็ดูเหมือนลืมตาอ้าปากได้ แต่ว่าหลังจากนี้ ชาวนาจะอยู่อย่างไร เพราะราคาข้าวตกลงมาเหลือ 6,000 บาท ตั้งแต่นี้ไปชาวนาคงลำบากแล้ว ฤดูนี้ยังไม่รู้ว่าจะได้สตางค์หรือเปล่า รัฐบาลก็ง่อนแง่นๆ แม้กระทั่งรัฐบาลไหนๆที่มาจากการเลือกตั้ง ผมว่านโยบายรับจำนำข้าวก็คงตายไปพร้อมกับคุณทักษิณ ชินวัตร คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คุณทักษิณก็คงกลับประเทศไม่ได้ จำนำข้าวก็คงกลับมาไม่ได้

เพราะฉะนั้นชาวนาก็อกหัก และ 2 ปีที่ขายข้าวได้ราคาแพงตามโครงการรับจำนำ ก็สงสัยว่าจะไม่คุ้มกับสิ่งที่เราจะอยู่ต่อไป มันอาจจะเท่ากับศูนย์หรืออาจจะติดลบ ไม่รู้ชะตากรรมจะเป็นยังไง เพราะราคาข้าวเหลือเกวียนละ 6,000 บาท

ไทยพับลิก้า : ถ้าจำนำข้าวสามารถยกระดับรายได้ อาจารย์มองว่าควรรับซื้อราคาเท่าไหร่

ความจริงสมาคมชาวนาเองเขาก็เคยบอกว่าราคามันไม่จำเป็นจะต้องขนาด 15,000 บาท อันนี้มันไปเกทับกันเหมือนเล่นเก้าเก โดยที่ไม่ได้คำนวณว่ามันควรจะเป็นแค่ไหน ผมคิดว่าหลักคิดที่ประกันราคาตอนรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ทางทีดีอาร์ไอเป็นคนทำโมเดล คำนวณว่ามันควรจะตั้งราคาเท่าไหร่ให้เกษตรกรพออยู่ได้ ก็ประกันราคาไว้ที่เท่านั้น แต่การรับจำนำข้าวเป็นหลักคิดจากการเกทับกันทางการเมือง ว่าจะทำแค่ไหนถึงจะได้เสียง ทำแค่ไหนถึงจะชนะอีกพรรคหนึ่ง ซึ่งอธิบายด้วยเหตุผลทางการเมืองได้ ผลประโยชน์ในเชิงของคะแนนเสียงชาวนาที่ไหนก็ชอบ ไม่มีชาวนาที่ไหนร้องไห้ ที่ร้องไห้ตอนนี้เพราะว่ามันพัง ชาวนาก็คงไม่คิดถึงภาพรวมว่ารัฐบาลมันจะอยู่ไม่ได้อย่างนี้

“ผมคิดว่าจำนำข้าวนี่นอกจากจะได้เสียงจากชาวนา จากการลงคะแนนเสียง ยังเป็นทรัพยากรก้อนใหญ่ที่ลงไปสู่เครือข่ายต่างๆ คือ ผมกำลังบอกว่ามันไปสร้างความสำคัญของเครือข่ายทางการเมือง การได้ประโยชน์มหาศาลของผู้คน ไม่ใช่ได้เฉพาะกับชาวนา โรงสี พ่อค้าข้าว คนที่อยู่ในธุรกิจข้าวทั้งหมด แล้วคนต่างๆ เหล่านี้ก็จะสัมพันธ์กับการเมือง พรรคการเมือง เพราะฉะนั้น เครือข่ายการเมืองนี่มันเกิดขึ้นโดยอาศัยทรัพยากรซึ่งก็คืองบประมาณที่ใช้จากโครงการจำนำข้าวไปสานเครือข่ายตรงนี้ให้แน่นแฟ้น เชื่อมโยงระหว่างพรรคการเมืองแล้วก็พ่อค้าข้าว กลไกต่างๆ ลงไปในระดับท้องถิ่นมหาศาลมาก”

ดังนั้นมันต้องหาเชิงเหตุเชิงผลอธิบายให้ได้ว่าเพราะอะไร มันก็มีทางเลือกอื่นๆ ที่ตอนนี้มีการพูดถึง ผมคิดว่าประกันมันมีความเป็นเหตุเป็นผล การคำนวณต่างๆ หรือมันอาจจะกลับไปสู่แบบที่ตอนกรณีสวนยางคืออุดหนุนต้นทุน ผมก็ไม่ได้คิดเชิงภาพรวมมาก แต่ผมคิดว่า การอธิบายในเชิงเหตุผลให้ได้ว่าจะสนับสนุนชาวนาอย่างไร ด้วยมาตรการอะไร ไม่ควรจะสนับสนุนด้วยวิธีคิดจากการเอาชนะทางการเมือง มุ่งที่จะได้คะแนนเสียงอย่างเดียว แล้วก็มุ่งจะเกทับกันแบบเล่นเก้าเก อันนี้พังแน่ หลักคิดแบบประกัน หลักคิดแบบช่วยเหลือต้นทุน คล้ายๆ กับสวนยางที่เคยมีการเจรจา อันนั้นผมก็คิดว่าพอมีเหตุมีผล

ประเทศไทยผลิตข้าวได้ประมาณ 30 ล้านตันข้าวเปลือก เราบริโภคในประเทศประมาณ 10 ล้านตันข้าวเปลือก สีเป็นข้าวสารได้ประมาณ 5-6 ล้านตัน เราส่งออกประมาณ 20 ล้านตันข้าวเปลือก ผมคิดว่าช่องทางที่ข้าวมันจะยกระดับราคามันก็พอมีช่องทางอยู่ ที่ผ่านมามีตลาดของพวกเกษตรกร พวกโรงสีชุมชุน ซึ่งเป็นการผลิตข้าวในระดับชุมชน มีกระจัดกระจายผ่านสหกรณ์

แต่ที่ผ่านมานโยบายจำนำ ทำให้ระบบที่ชุมชนทำไว้เจ๊งหมด เพราะว่ารัฐบาลไปตั้งราคาสูง แล้วก็ไปซื้อข้าวที่ไม่ได้คุณภาพ ชาวนาที่ไหนก็พูดว่าเอาตีนเขี่ยๆ ก็ได้หมื่นห้า มันเป็นข้อเท็จจริงที่พูดกัน ก็เห็นกันอยู่ เพราะฉะนั้นกรณีนี้ผมคิดว่าคงคิดคล้ายๆ กัน บทเรียนคล้ายๆ กัน

ปัจจุบันข้าวที่บริโภคในประเทศ เรากินข้าวถุง และข้าวถุงที่ผสมไม่รู้กี่สายพันธุ์ มีทั้งเมล็ดอ่อนเมล็ดแข็ง แต่เมล็ดมันสวยเรียงเข้ากันหมด เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีการแต่งเมล็ดข้าวมันก้าวหน้ามาก ข้าวถุงพวกนี้ผมคิดว่ามันเป็นข้าวที่ไม่มีหัวนอนปลายตีน คือไม่รู้ว่ามันมาจากไหน ใครปลูก พันธุ์อะไรก็ไม่รู้ ผสมกันไม่รู้เท่าไหร่ แต่สามารถทำให้สวยงาม เหลากันจนเหลือแก่น

ดังนั้นตลาดข้าวที่บริโภคภายในประมาณสิบล้านตัน ผมว่าเรากินข้าวที่สีจากชาวบ้านเองน้อยมาก เพราะฉะนั้นตลาดการบริโภคภายใน ทั้งในระดับของคนชั้นกลางในเมืองซึ่งต้องการกินข้าวสุขภาพ กับตลาดในชุมชน ผมคิดว่ามันยังมีช่องว่างที่ทำให้ชาวนาผลิตข้าวมีคุณภาพ แล้วก็สร้างความเชื่อมโยงคนปลูกกับผู้บริโภคได้ ผมก็หวังว่ามันจะเกิดโมเดลแบบนี้

ผมก็คิดว่าคนกินข้าวก็ควรจะได้กินข้าวดี ใช่ไหม ผู้บริโภคก็อยากกินข้าวดี มีใครที่อยากจะกินข้าวรมยาฆ่ามอด ดังนั้นคนกินข้าวก็ควรจะเลือกสรรได้ว่ามันมาจากไหน พันธุ์อะไร แต่ละพันธ์ุข้าวมันมีสารพัดสายพันธุ์ โดยเฉพาะข้าวพันธุ์เดิมๆ ซึ่งมันกินอร่อยมาก ผมปลูกข้าวนครชัยศรี ผมก็ไม่ขาย เก็บไว้กินและเหลือไว้ทำพันธุ์ หรือพันธุ์ปิ่นแก้ว ฟื้นกลับมาได้ไหม ใครอยากกินข้าว พวกข้าวสี เช่น หอมนิล ไรซ์เบอร์รี หรือถ้าจะกินข้าวเหนียวดีๆ ก็ต้องพญาลืมแกง แถวชัยภูมิอะไรแบบนี้ หรือเมียลืมผัวนครนายก อะไรทำนองนี้ ผมว่ามันต้องทำสิ่งเหล่านี้ ซึ่งมันทำได้

ประภาส ปิ่นตบแต่ง
ประภาส ปิ่นตบแต่ง

อบต. หรือหน่วยงานปกครองท้องถิ่นน่าจะเป็นหน่วยงานที่สร้างตลาด ตลาดทั้งในชุมชนและตลาดระหว่างชาวนากับคนในเมืองเชื่อมโยง เชื่อว่าขบวนการนี้สามารถฝ่าวงล้อมข้าวถุงได้ ผมคำนวณในสมาชิกสหกรณ์คลองโยง กินข้าวปีละล้านบาทโดยประมาณ แต่เราซื้อข้าวข้างนอกหมดเลย วิถีที่เราปลูกข้าวเหมือนปลูกยาง ทั้งที่ตอนนี้มันมีเครื่องสี จะสีข้าวเพื่อกินในชุมชน โดยไม่ต้องไปซื้อข้าวถุง และคุณภาพนี่ถ้าเราปลูกเองสีเอง มันจะได้คุณภาพดีกว่า

โดยสรุป ผมคิดเรื่องต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวท้องถิ่นให้เยอะ ให้เกษตรกรปลูกให้มันหลากหลาย คนกินก็จะได้กินข้าวที่มันมีหัวนอนปลายเท้า รู้ที่มาพันธุ์ดี สามารถกินให้มันหลากหลาย ต้องทำให้วัฒนธรรมการกินข้าวมันต้องเปรียบเทียบกับการดื่มไวน์ว่าต้องมาจากเมืองนั้นเมืองนี้ กินข้าวมันต้องสร้างรสนิยมการกินเช่นกัน

ดังนั้นกระแสตอนนี้ผมคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้บริโภคในเมือง คนในเมือง ที่ตื่นตัวอยากจะช่วยเหลือชาวนา ความจริงไม่ต้องไปคิดที่จะช่วยเหลือชาวนาแบบน้ำตาจะไหล แบบสังคมสงเคราะห์หรอกนะ ควรช่วยเหลือชาวนาในแบบที่ตัวเองจะได้มีข้าวดีๆ กิน ในฐานะผู้บริโภค แล้วก็ให้ชาวนาปลูกข้าวดีๆ ให้กิน ในขณะที่ชาวนาก็ได้ราคาที่ยุติธรรม อย่างนี้ผมว่าระบบมันไปได้ ถ้าเราไปสำรวจข้าวท้องถิ่นว่าที่ไหนมีพันธุ์อะไรบ้าง ถ้าสังเกตจริงๆ คือที่หนึ่งปลูกข้าวพันธุ์หนึ่ง รสชาติมันก็คนละแบบนะ ลองเอาหอมมะลิมาปลูกภาคกลางมันก็ได้นะ แต่ความอร่อยมันหอมมันสู้ทุ่งกุลาไม่ได้ อย่างหอมนครชัยศรีไปกินแถวบ้านผม(คลองโยง จ.นครปฐม)อร่อยกว่ากันเยอะ มันมีลักษณะเฉพาะถิ่น ผมว่าตรงนี้มันน่าจะขยายได้เยอะ แล้วมันไม่ยากด้วย

ไทยพับลิก้า : นอกจากเรื่องตลาดแล้ว เรื่องต้นทุนอาจารย์มองว่าอย่างไร

แน่นอนว่าข้าวปลอดสาร ต้นทุนมันกลับต่ำ แต่ว่ามันต้องลงแรงงาน ดูแลเรื่องหญ้า แต่ผมว่าเทคนิคที่เรามีอยู่ มันไม่ยากนะ ผมเองก็ทำนาอยู่ สองแปลงประมาณสิบไร่ ถ้าเราวางแผนดี เช่น เรื่องหญ้าที่มันเป็นปัญหามากของชาวนาภาคกลาง ถ้าเราเตรียมดินให้ดีๆ เราบริหารจัดการหญ้าหลายๆ รอบหน่อย เราต้องไม่รีบเร่ง คือที่ผ่านมาชาวนารีบเร่งปลูกข้างปีละสามครั้ง นี่คือเผาฟางเลย รีบทำนาทันทีเอาปุ๋ยเคมีลง เอายาคุม หญ้าคุม ปลูกระยะเวลามันสั้น ซึ่งเรื่องหญ้าเราก็มีวิธีที่จะทำให้มันตายได้ มันทำได้

แต่ผลกระทบจากนโยบายจำนำข้าว ทำให้คนปลูกต้องคิดอีกแบบหนึ่ง คือปลูกกันสามครั้งสี่ครั้งต่อปี เขาก็อยากจะปลูกกัน ใช้ข้าวพันธุ์ซีพีปลูก ใช่เวลาแค่ 75 วัน ยิ่งตอนนี้ราคาตลาดตกต่ำ มันต้องกลับมาที่ลดต้นทุน ลดต้นทุนที่ดีก็คือปลูกแบบปลอดสาร ซึ่งผมยังมั่นใจว่าเทคนิคที่มีอยู่ มันทำได้

อย่างเรื่องชีวภาพ เรื่องปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ตอนนี้ก็พัฒนาไปเยอะมากแล้ว น้ำหมักอะไรต่างๆ ผมทำอยู่ ผมไม่เคยใช้ยาฆ่าแมลง ไม่เคยใช้พวกปุ๋ยเคมี มันจัดการได้ แต่เรื่องหญ้านี่สำคัญมากนะ ในภาคกลางเรื่องที่สำคัญสุดคือหญ้า มันจะเยอะ แต่ว่าจะต้องหาวิธีการจัดการหญ้า คุณเดชา ศิริภัทร ตอนนี้กำลังหาเทคนิคในการจัดการหญ้ากับคุณชัยพร พรหมพันธุ์ อยู่ ถ้าจัดการเรื่องหญ้าได้ ก็จะจบ ต้นทุนการปลูกข้าวมันจะเหลือสัก 2-3 พันได้ แล้วก็ ทางรอดต่อไปนี้ ไม่ว่าจะด้วยนโยบายอะไรก็แล้วแต่ที่จะมุ่งยกระดับราคาสูงๆ แบบเก่า ผมคิดว่าตายแล้ว เนื่องจากสังคมคงไม่ยอมให้ทำแล้ว เพราะมันใช้งบประมาณเยอะ ต้องกลับมาที่ลดต้นทุน

ไทยพับลิก้า : อาจารย์มองว่าชาวนาได้บทเรียนอะไรจากโครงการรับจำนำข้าว

ผมว่าชาวนาก็เหมือนคนทั่วไป คือผมพูดจากที่โดยสันดานแล้วผมเป็นชาวนา ก็เหมือนอาชีพอื่นๆคืออยากได้เงินอยากได้สตางค์ ผมคิดว่าพอรัฐบาลประกาศนโยบายจำนำทุกเมล็ด ก็ต้องปลูกให้ได้เมล็ดเยอะๆ ที่สุด ผมว่าไม่ว่าอาชีพไหนหรือคนตรงไหนก็ต้องคิดแบบนี้ ถามว่าชาวนารู้ไหมว่ามันไม่ยั่งยืน ผมคุยกับเพื่อนนะ เขารู้มาตั้งนานแล้วว่ามันจะได้ไม่เท่าไหร่หรอก พอเขารู้ว่ามันจะอยู่ได้ไม่นาน เขาก็ต้องรีบทำ

ถามว่าทำไมเขารู้ว่าไม่ยั่งยืน มันส่อสัญญาณมาตั้งหลายครั้ง ที่ชัดเจนคือรัฐบาลพยายามที่จะลดราคาการรับจำนำจากราคา15,000 บาทมาเหลือ 13,000 บาท เพื่อนผมนี่เขารู้สัญญาณ เพราะรัฐบาลสร้างเงื่อนไขมากมาย จริงๆผมว่ารัฐบาลอยากจะเลิก แต่เลิกไม่ได้ จึงปรับลดเงื่อนไขว่าต่อรายไม่เกิน 3.5 แสนบาท นอกจากนี้มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ทำแบบน่าเกลียดมาก คือไปขยับเกณฑ์วันปลูกมาเป็นวันเกี่ยว ทำให้ชาวนาภาคกลางตกสิทธิ์กันมหาศาล ทำให้ชาวนารู้ว่าโครงการรับจำนำข้าว รัฐแบกไม่ไหวแล้ว ก็ต้องรีบทำเพื่อให้มันได้เงิน ก็อยู่ในสภาพอย่างนี้ อย่าไปคิดว่าเขาไม่รู้ว่ามันจะเจ๊ง จะทำยังไงได้ มือยาวก็ต้องสาวไว้ก่อน ก็รู้ว่าจะพัง ก่อนพังก็ขอให้ตัวเองได้ก่อน ก็เลยล่มจมกันไปหมด

ปกติเราบริโภคข้าว 10 ล้านตันข้าวเปลือก ถ้าบอกว่าเราต้องกินข้าวที่เราผลิตเองทั้งหมด อย่าลืมว่าเราผลิตข้าวเปลือกได้ 30 ล้านตัน เราต้องกินข้าววันละ 9 มื้อนะ ดังนั้นมันหนีไม่พ้นที่ต้องส่งออก ถ้าไม่ส่งออกก็ต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น แต่ผมคิดว่ามันยากนะ

เพราะฉะนั้นข้าวที่จะส่งออก 20 ล้านตันนี่ ผมว่าง่ายที่สุดก็คือจะทำยังไงให้มันแข่งขันได้ ต้องปลูกข้าวแบบปลอดสารข้าวพันธุ์ดีแบบที่แข่งขันได้ ซึ่งมันต้องคิดวางแผนแล้ว คือที่ผ่านมาผมไม่คิดว่าส่วนราชการเขาไม่รู้นะ แต่เขาคงมองนักการเมืองที่ทำหายนะด้วยความอเนจอนาถ สั่งมายังไงเขาก็ทำอย่างนั้น ผมคิดว่าก็ต้องเห็นใจคนที่ทำงานประจำ อย่างที่คุณเดชา(ศิริภัทร)ว่า ทำเป็นพันธุ์ข้าวมีเบอร์ กินปุ๋ย ผลผลิตสูง อายุสั้น ก็รัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองไปส่งเสริมตลาดแบบนั้น เขาก็ทำให้แบบนั้น ขณะที่อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็สามารถทำข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวหอมนิล ข้าวปิ่นแก้ว เขาก็ทำได้ เพราะฉะนั้นทิศทางต้องปรับ ต้องมองว่า 20 ล้านตันที่ส่งออก เราจะปลูกไปแบบไหนให้แข่งขันได้

ประภาส ปิ่นตบแต่ง
นายประภาส ปิ่นตบแต่ง

ไทยพับลิก้า : สถานการณ์มันเหวี่ยงกลับมา จะทำให้ชาวนากลับมาทำข้าวคุณภาพได้ไหม

ผมว่าได้ เรามีเทคโนโลยีที่มีความสามารถที่ปรับปรุงพันธุ์อะไรแบบนี้ มันอยู่ที่ฝ่ายการเมืองว่าจะมองเห็นไหม ไม่ใช่มองเห็นแค่คะแนนเสียง ซื้อๆ เข้ามาให้ชาวนาได้เงินเร็วที่สุด ได้แป๊บเดียวก็จบกันไป ไม่ได้นะ ผมว่ามันฟื้นกลับมาได้แน่ๆ เพราะความรู้เรื่องข้าวของเรา มันสะสมมานานมาก ผมคิดว่ากรมวิชาการเกษตรหรือกรมการข้าวเขาทำได้ทุกแบบ เพียงแต่ว่าทิศทางเชิงนโยบายมันควรจะชัด

“ตอนนี้หลังจากโครงการรับจำนำเจ๊ง โรงสีชุมชนในกลุ่มผมก็วิ่งเข้ามาหากัน ว่าจะมาปลูกข้าวปลอดสาร ตอนนี้เราขายข้าวปทุมเทพ เป็นสายพันธุ์เดียวกับปทุมธานี รัฐบาลรับจำนำอยู่ที่ 16,000 บาท นี่เราขายอยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม เราได้มากกว่าจำนำ เราก็รับซื้อ 16,000 บาท แล้วก็หลังจากได้กำไรก็เอากำไรเก็บเข้าตรงกลางแล้วเราก็ให้สมาชิก เขาได้มากกว่า 16,000 บาท ไม่ต้องไปพึ่งจำนำ เพราะขายดี”

หรือตอนนี้ข้าวหอมนครชัยศรีนี่ไม่พอขาย เราทำได้ปีละครั้ง ปีหน้าหรือหมายถึงฤดูที่จะถึงนี่ หอมนครชัยศรีจะลงกันมหาศาล เพราะจะเข้ามาแทนข้าวอายุสั้น ราคามันดีกว่า และจากการได้คุยกับผู้ว่าราชการจังหวัด จะรณรงค์ให้คนนครปฐมกินข้าวหอมนครชัยศรี หรือจากที่ได้คุยกับโรงแรมที่สวนสามพรานทางโรงแรมอยากให้เราปลูกอย่างนี้ ซึ่งทางโรงแรมก็มีเครือข่ายด้วย ดังนั้นถ้าเราหันกลับมาผลิตข้าวคุณภาพแบบนี้ เชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ผลิตแบบ

ผมจึงคิดว่าเมื่อทิศทางใหญ่ของการเมืองมันทำหายนะชาวนา..ยังไงก็ทำได้ทั้งนั้นแหละ ผมก็เชื่อว่าไปได้ ชาวนาก็พร้อม วิชาการของหน่วยราชการมีพร้อมหมด

ไทยพับลิก้า : ประเด็นชาวนาไม่มีที่ดินทำกิน ยากจนต้องไปเช่าที่นา

ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน การถือครองที่ดิน ยังมีครัวเรือนซึ่งมีที่ดินไม่พอทำกินและไม่มีที่ดินทำกินประมาณ 1.5 ล้านครัวเรือน เป็นตัวเลขที่สูงมาก เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายมากขึ้น แน่นอนว่าที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต เพราะฉะนั้น การกระจายการถือครองที่ดินของเกษตรกรให้มีที่ดินทำกินของตัวเอง ในสังคมไหนๆ เขาก็จะพยายามปฏิรูปเรื่องพวกนี้

เคยมีความพยายามผลักดันกฎหมายว่ามันควรจะมีกองทุนธนาคารที่ดิน หรือธนาคารที่ดินเพื่อจะเป็นสถาบันทางการเงินที่เกษตรกรยืมมาซื้อที่ดิน แต่ว่าซื้อแล้วก็อาจจะทำในแบบของโฉนดชุมชน การจัดการที่ดินโดยองค์กรชุมชนเพื่อไม่ให้ที่มันเปลี่ยนมือ อีกเรื่องก็คือการถือครอง เรื่องของภาษีที่ดินการปลูกสร้างที่จะเป็นมาตรการทำให้คนไม่เอาที่ดินไปเก็บไว้เยอะ ผมว่าเรื่องพวกนี้มันจะต้องถกเถียงกันอีกนะ ว่ามันจะต้องคิดถึงการกระจายถือครองที่ดินให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ซุึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

เราก็รู้ๆ อยู่ พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตั้งแต่ปี 2518 มันกระจายที่ดินเอกชนได้น้อยมาก ผมว่าประมาณ 4-5 แสนไร่ ที่ดินส่วนใหญ่ที่นำมากระจายก็เป็นที่พระราชทาน ถ้าพูดถึงการปฏิรูปการเกษตรโดยเฉพาะเรื่องข้าว ผมว่าต้องพูดถึงจริงจังกว่านี้ มันยังมี พ.ร.บ.คุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อันนี้ก็เป็นอีกฉบับหนึ่งที่มันควรจะปรับ อย่างที่รอบๆ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรที่รัฐบาลเขาลงทุนไปมหาศาลในระบบชลประทาน แต่กลับมีบ้านจัดสรรขึ้นเต็มไปหมด การเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาคเกษตรกรรม ที่ตรงไหนควรจะรักษาไว้เป็นภาคเกษตรต่างๆ เหล่านี้ มันควรจะต้องทำให้ชัดเจน เรื่องผังเมืองก็สำคัญ ในภาคกลางผมเคยได้ยินว่าลงทุนชลประทานไปมากกว่าล้านบาทต่อไร่ แต่ว่าปัจจุบันกลายเป็นบ้านจัดสรรไปหมด

ไทยพับลิก้า : การปฏิรูปชาวนาสามารถเปลี่ยนทัศนคติได้ใช่ไหม จำเป็นต้องปฏิรูปไหมหรือไม่

ผมคิดว่าการปฏิรูปชาวนาอาจจะมีหลายวิธีคิด วิธีคิดแบบหนึ่งซึ่งผมก็ส่งเสริมคือกรณี “ข้าวคุณธรรม” เรื่องการปฏิรูปจิตวิญญาณข้างในก่อน ลด ละ เลิก อะไรต่างๆ เหล่านี้ ผมก็อยากให้มันเกิดแบบนั้นเยอะๆ แต่ชาวนาโดยทั่วไปโดยเฉพาะที่ผมรู้จักเกี่ยวข้องก็ปลูกข้าว พูดตรงไปตรงมา เขาอยู่ในชีวิตคนปกติ ชีวิตที่มีกิเลสอะไรต่างๆ ทีนี้ถามว่าคนเหล่านี้เขาจะเปลี่ยนจากการใช้ปุ๋ยเคมีมาเป็นอินทรีย์ปลอดสารไหม ผมว่ามันเกินแกง คือแก่ไปแล้ว คือเป็นชาวนา “อคุณธรรม” ทั้งนั้น แต่ผมก็เชื่อว่าสามารถชวนกันปลูกข้าวดีๆ ข้าวปลอดสารก็ทำได้

นายประภาส ปิ่นตบแต่ง
นายประภาส ปิ่นตบแต่ง

ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือเขาต้องมีรายได้พออยู่ได้ เมื่อปรับเปลี่ยนแล้วมันต้องไม่น้อยกว่าที่เคยทำมา อย่างเช่นที่เราพูดกัน ข้าวพวกนี้มันดีกว่าราคาจำนำด้วยซ้ำไป สามารถดึงผู้คนเข้ามาได้ แต่ที่ผ่านมามันยังไม่จูงใจมาก เพราะรัฐบาลไปซื้อแพง แต่ตอนนี้คนเหล่านี้ก็เข้ามาคุยกับพวกเรามากขึ้น ว่าจะปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวคุณภาพ แต่ต้องหลักประกันให้ว่า มีตลาดรับซื้อนะ ผมคิดว่าต้องเข้าใจว่าชีวิตเกษตรกรปัจจุบันมันอยู่ในระบบเศรษฐกิจการตลาด ไม่ได้เป็นชาวนาประเภทที่จะมีชีวิตแบบพอเพียงอย่างสมัยก่อน ที่ปลูกแบบพออยู่พอกิน เช้าเอาสวิงไปหาปลา ชีวิตแบบนั้นคงเปลี่ยนไปเยอะ เราคงไม่จินตนาการภาพชาวนาอย่างสมัยลุงคำสิงห์ ศรีนอก

ชีวิตในแง่พื้นที่ วัฒนธรรม การบริโภคของชาวนาในปัจจุบันไม่ต่างจากคนเมืองเท่าไหร่ มีจานดาวเทียม มีโทรศัพท์มือถือ เข้าห้างสรรพสินค้า ต้องเข้าใจว่าเขาอยู่ท่ามกลางชีวิตการตลาด ทุนนิยมฝังลึกทุกอนูของชุมนุม ซึ่งต้องเข้าใจความเป็นจริงด้านนี้ เราจะปรับเปลี่ยนอย่างไรให้ข้างหน้ามันยั่งยืนด้วย ในแง่ของราคา ในแง่คุณภาพ ความปลอดภัย สุขภาพ ความยั่งยืนในแง่ตลาด

พี่น้องผม คนที่ปลูกข้าวอคุณธรรม ผมเชื่อว่าเขาปลูกข้าวดีๆ กินได้ ให้คนในเมืองไปเยี่ยมชม ไปดู ไปซื้อ ไปสร้างตลาดความผูกพันกัน มันเกิดขึ้นได้ ทำได้ แต่ชาวนายังมีกิเลส ยังต้องอยู่และปรับเปลี่ยนบนฐานชีวิต ผมยังมั่นใจว่าทำได้ ในระบบที่เป็นอยู่ เช่น เปลี่ยนความสัมพันธ์ของตลาดใหม่ คนชั้นกลางผู้บริโภค ในเมืองต้องไม่คิดแบบประชาสงเคราะห์ชาวนา ซื้อแบบชั่วครั้งชั่วคราว ซื้อข้างถุงชาวนาจะได้มีเงินไปใช้หนี้ ระยะยาวมันต้องสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ต่อกัน คนในเมืองที่เป็นผู้กินต้องไปกำกับการปลูกด้วย กำกับในลักษณะเป็นเพื่อนกันไปเยี่ยมชมแปลง ในลักษณะการท่องเที่ยว

นอกจากนี้การบริหารจัดการของเราได้กระจายอำนาจไปเยอะ ทำอย่างไรอบต.ไม่ทำแต่ถนนหนทางหรือโครงสร้าง เอาเงินเบี้ยชรา เบี้ยคนพิการไปแจกเท่านั้น ควรขยายไปสู่มิติเรื่องการทำมาหากิน เชื่อมโยงคนในชุมชนไปหาคนข้างนอก สร้างตลาดในลักษณะเกษตรกรกับคนในเมือง โดยท้องถิ่นต้องมาดูแลพี่น้องชาวนาซึ่งกำลังจะล้มละลาย ต้องสร้างเรื่องนี้พวกนี้ให้เกิดมากขึ้น

ไทยพับลิก้า : ถือว่าเป็นโอกาสท่ามกลางวิกฤติ

ผมว่ามันต้องปฏิรูปข้าว ปฏิรูปชาวนา การปฏิรูปข้าว การจะปลูกข้าวเหมือนปลูกยาง ไม่รอดแน่แล้ว ข้าวที่ปลูกเพื่อบริโภคภายใน ข้าวดีๆ ไปแข่งขัน

ผมยังคิดว่ามันจะเปลี่ยน ชาวนาเขาจะไม่มีทางอยู่ด้วยข้าวราคา 6,000 บาท และไม่ทางที่รัฐบาลจะสนับสนุนได้อีกต่อไป มันเป็นบทเรียนของสังคมอย่างชัดเจน

ไทยพับลิก้า : แล้วขบวนการคอร์รัปชันจะทำอย่างไร

เนื่องจากข้าวที่รัฐบาลบริหารจัดการมันใหญ่มาก มันเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก จากท้องนามาสู่โรงสี ความชื้นประมาณ 30 % โรงสีมาจัดการให้เหลือ 15% ถ้าข้าวที่ซื้อขายทั่วไปโรงสีหักความชื้นประมาณ 100-120 บาท แต่ข้าวที่เข้าโครงการรับจำนำ โรงสีหัก 200 บาท ถามว่าโกงหรือเปล่า ผมไม่เห็นมีใครตรวจสอบ ชาวนาก็ไม่ได้บ่น 200 บาท ก็ 200 บาท โรงสียังได้ค่าบริหารจัดการอีก มีข้าวสวมสิทธิ์ โดยเฉพาะชาวนารายย่อยที่ผลิตไม่ได้ตามโควตา โรงสีเอาข้าวตัวเองมาสวมให้ครบ

ถามว่าโรงสีเอาข้าวจากไหน บางคนบอกว่าเอาข้าวเขมร พม่า แต่ถามผม ผมว่าไม่ใช่ เพราะมันเสียค่าขนส่ง มีใช้จ่ายสูง โอกาสจะถูกจับมีสูง อย่าลืมว่าชาวนาปลูกข้าว 3 ครั้งต่อปี แต่รัฐรับจำนำแค่ 2 ครั้ง มันมีข้าวล้นตลาดอยู่แล้ว แม้จำนำทุกเมล็ด โรงสีซื้อและเอามาหมุนใส่ พอตอนหลังจำกัดวงเงิน ไม่รับจำนำทุกเมล็ด จำกัดพื้นที่ รายใหญ่ทำไม่ได้ ก็มีข้าวที่ล้นตลาด ที่เข้าจำนำไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดด้วยวงเงิน ข้าวถูกเอาเข้าไปวน ที่ทำได้เยอะสุดคืออาศัยช่องว่างการขึ้นทะเบียนที่ข้าวไม่เต็มจำนวน จะเอาข้าวไปสวมสิทธิ์ ส่วนข้าวเวียน สต็อกลมดูยาก เพราะข้าวเอามากองแล้ว มันไม่เห็นใบเสร็จ

นอกจากนี้การขึ้นทะเบียนชาวนา มันเกี่ยวข้องกับเครือข่ายอำนาจ ชาวนาไม่ค่อยมีปากมีเสียง เช่น ผมมีที่นาแปลงหนึ่ง 20 ไร่ ผมมีคันสวนคันนา ก็เหลือที่นา 15 ไร่ แต่ผมก็ขึ้นทะเบียน 20 ไร่ ดังนั้นช่องว่าง 5 ไร่ยังไงมันก็สามารถเอาไปสวมสิทธิ์กันได้ คนที่มาทำใบลงทะเบียน ในเครือข่ายก็รู้กันอยู่ว่าที่นาไม่เต็มพื้นที่หรอก และชาวบ้านข้างๆ ก็ไม่ไปยุ่งหรอก ผมจึงพยายามบอกว่ามีช่องว่างในการสวมสิทธิ์ มันมีโอกาสที่จะเอาที่สวน เอาอะไรมาขึ้นทะเบียน แม้ตอนหลังจะระวังมากขึ้นก็ตาม แต่เศษๆ เหล่านี้ 5 ไร่ 10 ไร่ แต่ถ้ารวมทั้งตำบลเป็นจำนวนเท่าไหร่ หรือรวมทั้งจังหวัดเป็นเท่าไหร่ เมื่อรวมหลายๆ จังหวัดมันก็มหาศาล นี่คือที่เห็นในระดับพื้นที่