ThaiPublica > คอลัมน์ > ชนชั้นกลางกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

ชนชั้นกลางกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

12 มีนาคม 2014


ดร.วิรไท สันติประภพ

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ได้สร้างชนชั้นกลางขึ้นเป็นคนกลุ่มใหม่ที่มีบทบาทมากในสังคม เพิ่มเติมจากกลุ่มคนชั้นผู้นำที่เคยกุมอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจมาแต่เดิม และกลุ่มประชาชนรากหญ้า ที่มักถูกเอารัดเอาเปรียบในด้านต่างๆ ยากที่จะยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองและครอบครัว

การเกิดขึ้นของชนชั้นกลางทำให้สังคมและเศรษฐกิจไทยพัฒนาขึ้นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพของคนไทย คุณภาพของสื่อและการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ ระดับการออมของประเทศ ตลอดจนถึงตลาดสำหรับสินค้าและบริการหลายประเภท แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าชนชั้นกลางได้มีส่วนเอื้อให้สภาพสังคมและระบบการเมืองไทยเสื่อมลงด้วยเช่นกัน พฤติกรรมการใช้ชีวิตของชนชั้นกลางได้ช่วยให้ระบบทุนสามานย์เติบโตและเปิดโอกาสให้นักการเมืองคุณภาพต่ำและจริยธรรมต่ำเข้าสู่อำนาจได้โดยง่าย

ในประเทศกำลังพัฒนา ชนชั้นกลางมีส่วนเอื้อให้สภาพสังคมเสื่อมลง เพราะในช่วงที่ชนชั้นกลางเริ่มมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น มักสนใจเฉพาะเรื่องของตนเองและครอบครัว มากกว่าเรื่องความเป็นไปของสังคม คุยกันแต่เรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เงินเดือนและโบนัส ใช้เวลากับการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือให้ทันรุ่นใหม่ เลือกหุ้นที่จะลงทุนให้ได้กำไรเร็ว หาโรงเรียนดีๆให้ลูก วางแผนการท่องเที่ยวครั้งต่อไป หรือหาซื้อบ้านหรือคอนโดที่คาดว่าราคาจะปรับสูงขึ้น วิถีชีวิตของชนชั้นกลางยังเน้นการบริโภคที่เกินพอดี ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง ส่งผลให้ประชาชนรากหญ้าต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นและต้องแย่งชิงทรัพยากรกับชนชั้นกลาง โดยเฉพาะน้ำ ที่ดิน และอาหาร

ในสถานการณ์ปกติแล้ว ชนชั้นกลางส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมืองและสังคม โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นท้าทายผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งอาจจะย้อนกลับมากระทบกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและตำแหน่งหน้าที่การงานของตนได้ ในประเทศไทยวิธีคิดแบบนี้เห็นได้ชัดเจนจากผลการสำรวจทัศนคติต่อการคอร์รัปชันในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าคนกว่าครึ่งหนึ่งยอมรับการคอร์รัปชันได้ถ้านักการเมืองหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่คอร์รัปชัน ทำงานและสร้างประโยชน์ให้ตนได้รับบ้าง

ในประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดชนชั้นกลางขึ้นมักจะส่งผลให้ฐานะทางเศรษฐกิจของคนในสังคมเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น เศรษฐกิจต้องขยายตัวต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่าที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะยกระดับขึ้นเป็นชนชั้นกลางได้ ช่วงเปลี่ยนผ่านที่ชนชั้นกลางไม่ค่อยสนใจความเป็นไปในสังคมนี้เป็นช่วงที่อันตรายยิ่ง เพราะเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดการผนึกกำลังระหว่างทุนสามานย์กับนักการเมืองจริยธรรมต่ำ จนเกิดเป็นระบอบประชาธิปไตยเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้อง และใช้เงินเป็นกลไกสำคัญ (money politics) เกิดนักเลือกตั้งที่คิดแต่หาวิธีที่จะชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป หวังให้ได้อำนาจทางการเมืองแบบเบ็ดเสร็จโดยไม่สนใจองค์ประกอบอื่นของระบบประชาธิปไตย เกิดการซื้อเสียงผ่านนโยบายประชานิยมแบบไร้ความรับผิดชอบ เกิดระบบส่งต่ออำนาจทางการเมืองให้แก่ญาติพี่น้อง เกิดการคอร์รัปชันและการใช้อำนาจมิชอบเพื่อถอนทุนคืน และเกิดความแตกแยกทางความคิดระหว่างประชาชนระดับรากหญ้ากับชนชั้นกลางและชนชั้นผู้นำในสังคม ด้วยเหตุผลเหล่านี้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าชนชั้นกลางเป็นตัวละครหนึ่งที่เอื้อให้สังคมไทยเสื่อมลงเรื่อยๆ จนเกิดความขัดแย้งรุนแรงอยู่ในเวลานี้

ผลการสำรวจทัศนคติต่อการคอร์รัปชันในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อาจเคยทำให้หลายคนถอดใจว่าสังคมไทยคงจะเสื่อมลงเรื่อยๆ และไม่มีทางที่จะปลุกคนไทยให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันและระบอบการเมืองแบบทุนสามานย์ได้อีกแล้ว การลุกขึ้นต่อสู้ของมวลมหาประชาชนรอบนี้เป็นเรื่องประหลาดใจสำหรับคนหลายคน เพราะชนชั้นกลางที่ไม่ค่อยสนใจความเป็นไปในสังคมได้ลุกขึ้นเป็นกำลังหลักต่อสู้กับรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม และช่วยขับเคลื่อนให้การต่อสู้มีพลังและมีชีวิตชีวาตลอดระยะเวลาเกือบห้าเดือนที่ผ่านมา ปรากฏการณ์นี้ได้แสดงให้เห็นบทบาทของชนชั้นกลางในการเปลี่ยนแปลงสังคมอีกขั้นหนึ่ง

บรรยากาศการเสวนาเพื่อปฏิรูปประเทศไทยที่ศูนย์เยาวชน ณ สวนลุมพินี ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/suthep.fb/photos
บรรยากาศการเสวนาเพื่อปฏิรูปประเทศไทยที่ศูนย์เยาวชน ณ สวนลุมพินี ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/suthep.fb/photos

Pew Global Study เคยสำรวจความแตกต่างทางความคิดระหว่างชนชั้นกลางกับประชาชนในระดับรากหญ้าในสิบสามประเทศ และได้ผลที่น่าสนใจมาก ผลสำรวจพบว่ามีความแตกต่างในสองเรื่องสำคัญ เรื่องแรก คือ ชนชั้นกลางต้องการระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่แข่งขันกันอย่างเป็นธรรมและจริงจัง เรื่องที่สอง คือ ชนชั้นกลางให้ความสำคัญกับสิทธิ์และเสรีภาพส่วนตัวสูง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์และเสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น การนับถือศาสนา การรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่ตรงไปตรงมา สิทธิ์ที่ใช้ชีวิตในสังคมโดยปราศจากความรุนแรง ตลอดจนสิทธิ์ที่จะยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของตน การให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าชนชั้นกลางมองถึงอนาคตระยะไกล และความยั่งยืนมากกว่าประชาชนระดับรากหญ้า เห็นความสำคัญของเสียงส่วนน้อยที่อาจจะคิดต่าง และให้ความสำคัญกับการแข่งขันภายใต้กติกาที่ชัดเจนเป็นธรรม

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในประเทศที่ถูกสำรวจ แต่ผมคิดว่าผลสำรวจของ Pew Global Study อธิบายความคิดและพฤติกรรมของชนชั้นกลางในประเทศไทยได้เช่นกัน นักการเมืองไทยที่มีคุณภาพต่ำและจริยธรรมต่ำอาจจะอ่านชนชั้นกลางไทยผิด คิดว่าถ้าตราบใดที่อัดฉีดเงินมากๆ ให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ ทำให้ชนชั้นกลางจับจ่ายใช้สอยสะดวก ราคาหุ้นและราคาที่ดินปรับสูงขึ้น ชนชั้นกลางก็จะพอใจ เพราะชนชั้นกลางสนใจแต่ผลประโยชน์ของตนเอง ไม่คิดที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความชอบธรรมทางการเมือง ต่อให้การบริหารจัดการบ้านเมืองเลวร้ายอย่างไร เชื่อว่าคงไม่มีใครปลุกชนชั้นกลางขึ้นมาต่อสู้ได้สำเร็จ นักการเมืองคุณภาพต่ำและจริยธรรมต่ำจึงกล้าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองไว้ให้แก่ญาติพี่น้องของตน และออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอย รวมทั้งลุแก่อำนาจแทรกแซงสื่อ แทรกแซงระบบคุณธรรมในสังคม ตลอดจนใช้ความรุนแรงกับคนที่คิดต่างเห็นต่าง นักการเมืองเหล่านี้ไม่เข้าใจว่าชนชั้นกลางมีความอดทนระดับหนึ่ง เมื่อถึงจุดที่เห็นว่าการบริหารบ้านเมืองเพื่อหาประโยชน์ของนักการเมือง จะกระทบต่ออนาคตและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ (และของชนชั้นกลาง) อย่างรุนแรงในระยะยาวแล้ว ชนชั้นกลางจึงออกมาร่วมกันต่อสู้อย่างมากมายและมีพลัง

สำหรับก้าวต่อไปของประเทศไทยนั้น ชนชั้นกลางจะต้องเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทมากที่สุดเช่นกันที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปได้อย่างแท้จริง ชนชั้นกลางจะต้องหันมาสนใจความเป็นไปในสังคมอย่างจริงจัง ร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศอย่างสร้างสรรค์ และกำกับดูแลการใช้อำนาจรัฐอย่างต่อเนื่อง กล้าที่จะแสดงความคิดต่างเมื่อผู้ใช้อำนาจรัฐไม่ถูกต้องโดยไม่พะวงกับผลประโยชน์ส่วนตนที่อาจจะถูกกระทบได้ ที่สำคัญชนชั้นกลางจะต้องพยายามเข้าใจและเข้าถึงปัญหาและความต้องการของประชาชนในระดับรากหญ้า และจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนในระดับรากหญ้าได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

วิกฤติสภาพคล่องของชาวนาที่ไม่ได้รับเงินจากรัฐบาลในโครงการรับจำนำข้าว (รวมทั้งที่จะขาดทุนจากการหยุดโครงการรับจำนำข้าวรอบต่อไป) ได้ปลุกให้ประชาชนระดับรากหญ้าเห็นถึงความไม่ยั่งยืนของนโยบายประชานิยม เห็นผลเสียจากการคอร์รัปชัน และเห็นปัญหาการบริหารงานผิดพลาดของนักการเมืองคุณภาพต่ำและจริยธรรมต่ำ เวลานี้จึงเป็นโอกาสดีที่สุดที่ชนชั้นกลางจะสื่อสารกับประชาชนระดับรากหญ้าให้ได้รับรู้ข้อเท็จจริง ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปประเทศ และสร้างความมั่นใจว่าคนทุกกลุ่มจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรม

ที่สำคัญที่สุด การปฏิรูปประเทศจะเกิดผลได้อย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อคนกลุ่มใหญ่ของประเทศสามารถยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจเป็นชนชั้นกลางได้ เพราะชนชั้นกลางให้ความสำคัญต่อระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง (ไม่ใช่เพียงแค่รูปแบบการเลือกตั้ง) ชนชั้นกลางให้ความสำคัญกับสิทธิ์และเสรีภาพของคนส่วนน้อย ไม่ยอมรับระบบประชาธิปไตยที่จะนำไปสู่เผด็จการทางรัฐสภา ชนชั้นกลางคิดถึงความยั่งยืนในระยะยาวมากกว่าผลประโยชน์ในระยะสั้น และชนชั้นกลางให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองโดยต่อเนื่อง

การยกระดับประชาชนระดับรากหญ้าให้เป็นชนชั้นกลางได้นั้น เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีทางลัด เราจะต้องปฏิรูปโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาอย่างจริงจัง เพราะการศึกษาเป็นกลไกพื้นฐานที่จะช่วยให้คนสามารถยกระดับฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ เราจะต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจอย่างจริงจังเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพและยั่งยืน ต้องเน้นที่การเพิ่มผลิตภาพในทุกระดับอย่างก้าวกระโดด ลดการผูกขาดในการเข้าถึงทรัพยากรและตลาด และสร้างระบบกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมมากขึ้นกว่าเดิม

ชนชั้นกลางได้มีส่วนเอื้อให้คุณภาพของสังคมและระบบการเมืองไทยเสื่อมลงในช่วงที่ผ่านมา ในเวลานี้ชนชั้นกลางได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องความถูกต้องให้สังคมไทยอย่างมีพลัง ผมหวังว่าในอนาคต เมื่อมวลมหาประชาชนชนะการต่อสู้รอบนี้แล้ว ชนชั้นกลางจะไม่กลับไปสนใจเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ส่วนตนและใช้ชีวิตเหมือนเดิม สังคมไทยจะปฏิรูปได้สำเร็จก็ต่อเมื่อชนชั้นกลางไม่นิ่งดูดายต่อความเป็นไปในสังคม และต่อสู้เพื่อความถูกต้องอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

ชนะศึกครั้งนี้แล้ว อย่าเอาเสื้อลายธงชาติหลายตัวที่ซื้อมาเก็บลงกล่องนะครับ หยิบมาใส่บ้างเป็นระยะๆ เพื่อเตือนตนเองว่าเราจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้นได้อย่างไร

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่ 12 มีนาคม 2557