ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เจาะ 27 ลูกหนี้สมทบความผิดปกติเงินกู้หมื่นล้าน (3) – ยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัย สมาชิกสหกรณ์คลองจั่นถือหุ้นตรึม

เจาะ 27 ลูกหนี้สมทบความผิดปกติเงินกู้หมื่นล้าน (3) – ยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัย สมาชิกสหกรณ์คลองจั่นถือหุ้นตรึม

17 กันยายน 2013


u tower

วิกฤติสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นผ่านมา 6 เดือนแล้ว จนถึงขณะนี้สมาชิกยังไม่สามารถถอนเงินได้ หนึ่งในสาเหตุหลักคือผู้บริหารสหกรณ์ฯโดยนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯปล่อยกู้ให้แก่ สมาชิกสมทบเพียง 27 ราย วงเงินประมาณ 12,000 ล้านบาทในช่วงปี 2552-2555 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ทำให้สหกรณ์ฯขาดสภาพคล่อง

สำหรับบริษัทยูเนียนอินเตอร์ประกันภัย จำกัด(มหาชน)เป็นใน1 ใน 27 สมาชิกสมทบ ซึ่งกู้เงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นไป 400 ล้านบาท และเป็นหนึ่งในบริษัทในเครือ U-Group ซึ่ง U-Group เป็นชื่อที่สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นคุ้นเคยกันดี เป็นชื่อกลุ่มของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น หรืออีกชื่อที่ใช้คือ U-Bank บริษัทสหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ U-Life ให้บริการรับประกันชีวิต สุดท้ายคือ บริษัทยูเนียนอินเตอร์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ U-Inter ให้บริการรับประกันวินาศภัย โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของบริษัทประกัน 2 แห่ง คือ สมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศ

ทั้ง 3 กิจการมีประวัติและบทบาทที่แตกต่างกันไป แต่มีจุดร่วมกันคือมีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร เป็นประธานหรือกรรมการที่มีอำนาจ

ในส่วนของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มีสมาชิกสหกรณ์ร่วมเป็นเจ้าของกว่า 50,000 ราย ถือหุ้นร่วมกันกว่า 4,700 ล้านบาท บริษัทสหประกันชีวิต มีสหกรณ์ทั่วประเทศร่วมถือหุ้นโดยมีสหกรณ์ฯ คลองจั่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งลงทุนไปกว่า 300 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองคือสหกรณ์เครดิตยูเนียนมงคลเศรษฐี ที่มีนายศุภชัยเป็นประธาน ขณะเดียวกันยังมีสหกรณ์ทั่วประเทศเกือบ 2,000 แห่งร่วมลงทุนอีกหลายร้อยล้านบาท ส่วนบริษัทยูเนียนอินเตอร์ฯ มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือนายศุภชัย

ล่าสุด คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีมติเห็นชอบให้บริษัทยูเนียนอินเตอร์ประกันภัยหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 2556 โดยให้เหตุผลว่าบริษัทยูเนียนอินเตอร์ประกันภัยดำรงเงินกองทุนไม่ครบ ขาดไป 70 ล้านบาท ซึ่งคปภ.ได้ตักเตือนตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่ทางบริษัทยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ อีกทั้งไม่ยื่นรายงานการดำรงเงินกองทุนรายไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2556 ที่ผู้สอบบัญชีได้สอบทาน ไม่บันทึกรายการรับประกันภัยภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มีระบบควบคุมกรมธรรม์ประกันภัยและการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยที่ไม่รัดกุม รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขายที่มีจำนวนสูงผิดปกติ

ทางยูเนียนอินเตอร์ฯ เสนอแนวทางแก้ไขกับทาง คปภ.ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โดยการหาผู้ร่วมทุนเพิ่มรายใหม่ ซึ่งถ้ายูเนียนอินเตอร์ฯ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ก่อนถึงสิ้นปี 2556 ทางคปภ. อาจพิจารณายึดใบประกอบกิจการรับประกันวินาศภัย

บริษัทยูเนียนอินเตอร์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เดิมชื่อบริษัทธนสินประกันภัย เลขทะเบียนนิติบุคคล 0107547000907 ประเภทธุรกิจรับประกันวินาศภัย ทุนจดทะเบียน 505 ล้านบาท กู้เงินจากสหกรณ์คลองจั่น วันที่ก่อตั้งบริษัท 1 ตุลาคม 2547 เปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทเป็นยูเนียนอินเตอร์ประกันภัยเมื่อ 20 มกราคม 2552 จำนวน 50.5 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท มีกรรมการ 5 คน ได้แก่ 1. นายศุภชัย ศรีศุภอักษร 2. นายสหพล สังข์เมฆ 3. นายเกษม จันทศร 4. นายบรรเจิด สิทธิโชค 5. นายลภัส โสมคำ (ดูผู้ถือหุ้นยูเนี่ยนอินเตอร์)

ทั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนทั้งหมด 5 ครั้ง โดยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1 ตุลาคม 2547 จำนวน 55 ล้านบาท เปลี่ยนแปลงครั้งที่ 1 วันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 เป็น 205 ล้านบาท ครั้งที่ 2 วันที่ 29 ธันวาคม 2548 เป็น 405 ล้านบาท ครั้งที่ 3 วันที่ 23 มิถุนายน 2552 เป็น 505 ล้านบาท ครั้งที่ 4 วันที่ 2 สิงหาคม 2556 เป็น 153 ล้านบาท ปัจจุบัน วันที่ 5 สิงหาคม 2556 เป็น 505 ล้านบาท

จากรายชื่อผู้ถือหุ้นพบความน่าสนใจหลายข้อได้แก่ ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น หรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับนายศุภชัย มีกรรมการฯ สหกรณ์และอดีตกรรมการบางรายถือหุ้นมูลค่าสูง (ราคาหุ้นละ 10 บาท) ในขณะที่ค่าตอบแทนของการดำรงตำแหน่งกรรมการมีเพียงเบี้ยประชุมครั้งละ 500 บาทเท่านั้น อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่สหกรณ์ทั้งระดับบริหารและปฏิบัติการหลายราย (ส่วนใหญ่อยู่แผนกบัญชีการเงินและสินเชื่อ) ร่วมถือหุ้นบริษัทจำนวนมาก เช่น นางสาวศรันยา มานหมัด อดีตรองผู้จัดการฝ่ายการเงิน ถือหุ้นมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท และนางบังเอิญ มะโนคำ หัวหน้าแม่บ้าน ถือหุ้นมูลค่าเกือบ 3 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีผู้ถือหุ้นอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีหุ้นเพียงคนละ 100 หุ้น หรือเพียง 1,000 บาท

รายชื่อผู้ถือหุ้นยูเนียนอินเตอร์ที่น่าสนใจ(1) จากผู้ถือหุ้นทั้งหมด 70 คน
รายชื่อผู้ถือหุ้นที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯคลองจั่น จากผู้ถือหุ้นทั้งหมด 70 คน
ผู้ถือหุ้นยูเนียนอินเตอร์ที่น่าสนใจ(2) จากผู้ถือหุ้นทั้งหมด 70 คน
ผู้ถือหุ้นยูเนียนอินเตอร์ฯที่มีความเกี่ยวข้องกับสหกรณ์ฯคลองจั่น

นายมณฑล กันล้อม อดีตประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นชุดที่ 28 ได้เคยกล่าวกับสำนักข่าวไทยพับลิก้าถึงประเด็นการถือหุ้นว่า กรณีที่มีชื่อกรรมการสหกรณ์ และพนักงานสหกรณ์จำนวนมากร่วมถือหุ้น รวมถึงชื่อตนเองและนางทองพิณ(ภรรยา) ว่า ในเรื่องนี้นายศุภชัยได้บอกให้กรรมการว่าให้ลงชื่อร่วมถือหุ้นไปก่อน เพื่อให้จำนวนคนครบตามกฎการเป็นบริษัทมหาชน หลังจากนั้นถ้าสถานะบริษัทมั่นคงแล้ว ชำระหนี้สินเก่าตั้งแต่สมัยเป็นธนสินประกันภัยได้เรียบร้อย จะโอนหุ้นทั้งหมดกลับมาเป็นของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เพราะบริษัทนี้มาจากการแปลงหนี้ที่ลูกหนี้รายหนึ่งติดค้างสหกรณ์ไว้เป็นหุ้นแทน จากนั้นสหกรณ์ได้นำเงินไปเพิ่มทุนอีกรอบเพื่อให้มีเงินกองทุนประกันภัยเพียงพอ

นอกจากนี้เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่สหกรณ์รายหนึ่งที่เป็นผู้ถือหุ้นว่าตนไม่เคยซื้อหุ้นบริษัทดังกล่าวเลย และไม่เคยได้รับผลตอบแทนอะไรทั้งสิ้น เพราะเท่าที่ผ่านมาบริษัทยูเนี่ยนอินเตอร์ฯ อยู่ในภาวะขาดทุนมาตลอด

สำหรับที่ตั้งบริษัท 411 อาคารยูทาวเวอร์ ชั้น 1, 6, 7 ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250 ประเภทธุรกิจ รับประกันวินาศภัย

งบดุลยูเนี่ยนอินเตอร์

งบการเงินตั้งแต่ปี 2552-2555 พบการเคลื่อนไหวของงบดังนี้ ปี 2552งบดุล, งบกำไรขาดทุน ปี2552,ปี 2553 งบดุล,งบกำไรขาดทุนปี 2553,ปี 2554 งบดุล,งบกำไรขาดทุนปี 2554และปี 2555 งบดุล งบกำไรขาดทุน

หมายเหตุ ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนียนเพื่อการพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ฯคลองจั่น ก่อตั้งโดยนายศุภชัย ศรีศุภอักษร เมื่อปี 2550 หลังจากนายศุภชัยหมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนียนแห่งประเทศไทยปี 2549 ปัจจุบันมีสหกรณ์เครดิตยูเนียนที่เป็นสมาชิก 13 แห่ง เช่น สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น สหกรณ์เครดิตยูเนียนมงคลเศรษฐี สหกรณ์เครดิตยูเนียนห้วยท่าช้าง สหกรณ์เครดิตยูเนียนสุวรรณภูมิ สหกรณ์เครดิตยูเนียนครูดอยสะเก็ด สหกรณ์เครดิตยูเนียนเคหารัษฎาภูเก็ต โดยสำนักงานของชุมนุมฯ เพื่อการพัฒนาอยู่ที่อาคาร U-Tower ศรีนครินทร์