ThaiPublica > เกาะกระแส > “ไซ ธนะรัชต์” แอดมิชชันออฟฟิศแจงกรณีเด็กไทยโกงใบสมัครเรียนต่อต่างประเทศ

“ไซ ธนะรัชต์” แอดมิชชันออฟฟิศแจงกรณีเด็กไทยโกงใบสมัครเรียนต่อต่างประเทศ

25 กุมภาพันธ์ 2014


หลังจากที่ไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าว “กลวิธี (โกง) ของเด็กไทยสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำอเมริกา” ไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 จากนั้นได้นำเสนอข่าว “เปิดกลยุทธ์ 2 สถาบันชื่อดัง บริการสร้างพอร์ตใบสมัครศึกษาต่อต่างประเทศครบวงจร” เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 ถึงวิธีการให้บริการของบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาต่อต่างประเทศของบริษัทแอดมิชชันออฟฟิศ (Admissions-Office) และเอ็มบีเอทิงแทงก์ (MBAThinktank) เพื่อเตรียมพร้อมหลักฐานและการเขียนเรียงความในการยื่นใบสมัครเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

ทั้งนี้ ทางสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ติดต่อไปยังบริษัทแอดมิชชันออฟฟิศเพื่อขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 ซึ่งทางแอดมิชชันออฟิศได้รับเรื่องไว้แต่มิได้ติดต่อกลับมายังไทยพับลิก้าอีกเลย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 นางสาวเอริก้า ฟราย ได้เขียนเรื่อง ‘but you don’t like to read. Why do you want to go to Harvard?’ ลงในนิตยสารฟอร์จูนและเว็บไซต์ CNN money ตีแผ่ว่าเด็กไทยเขียนเรียงความ “เกินจริง” เพื่อสมัครเรียนต่อในอเมริกา และเมื่อทางมหาวิทยาลัยในต่างประเทศตรวจสอบกลับมายังประเทศไทยก็พบว่าเรียงความบางกรณีเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นทั้งหมด ซึ่งหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ได้นำบางส่วน (excerpt) ของข่าวดังกล่าวมาแปลในชื่อว่า “ตีแผ่เด็กไทยปั้นใบสมัครยื่นเรียนต่อนอก” โดยเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557

ที่มาภาพ : นิตยสารฟอร์จูน
ที่มาภาพ : ภาพประกอบบทความนิตยสารฟอร์จูน

ล่าสุด ทางแอดมิชชันออฟฟิศ ของนายสุสิทธิ์ ไซ ธนะรัชต์ ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อมาที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และได้ส่งหนังสือชี้แจ้งถึงข่าวดังกล่าวว่า เป็นข่าวที่ประกอบด้วยข้อมูลเท็จ ถูกบิดเบือนข้อเท็จจริง มีการกล่าวถึงทางแอดมิชชันออฟฟิศในทางเสียหายซึ่งมิใช่ข้อเท็จจริง เพื่อมุ่งทำร้ายเด็กไทยและแอดมิชชันออฟฟิศ โดยร่วมมือกับผู้ต้องหาชาวต่างชาติที่หลบหนีคดีจากเมืองไทย ดังนี้

จากความสำเร็จของเหล่านักเรียนไทยที่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกได้อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมากในทุกปี ซึ่งได้รับคำแนะนำจาก Admissions-Office (AO) มากที่สุดเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีคนพยายามมุ่งทำร้ายนักเรียนและ AO โดยการให้ข้อมูลเท็จผ่านหลายช่องทาง โดยล่าสุด มีการร่วมมือข้ามชาติโดยถึงขั้นยืมมือผู้ต้องหาชาวต่างชาติที่หลบหนีคดีจากเมืองไทยเป็นเครื่องมือในการทำลายเด็กไทยและ AO ซึ่งก็คือ งานเขียนบทความเรื่อง ‘But You Don’t Like to Read. Why Do You Want to Go to Harvard?’ ทางนิตยสารฟอร์จูน ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 และเว็บไซต์ CNN Money

เพื่อเป็นการเปิดเผยความจริง และปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของเด็กไทย และประเทศไทย ทาง AO จึงขอแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบทความดังต่อไปนี้

เราได้รับการติดต่อจากผู้เขียนบทความ (นางสาวเอริก้า ฟราย) และได้ให้สัมภาษณ์ถึง 3 ครั้ง ใช้เวลาทั้งหมดกว่า 6 ชั่วโมง โดยยินยอมให้ผู้เขียนบันทึกเสียงไว้ด้วย เพราะเรามั่นใจว่าสิ่งที่ AO ทำมาตลอดเกือบ 20 ปี แสดงถึงความตั้งใจจริงที่จะช่วยแนะแนวให้เด็กไทยนำความสามารถที่มีไปต่อยอดพัฒนาตัวเองจากการศึกษาต่อในสถาบันชั้นนำระดับโลก และด้วยความจริงใจ ไม่มีอะไรต้องปิดบัง แต่ผลลัพธ์ที่ออกมา กลับกลายเป็นการเผยแพร่บทความในด้านลบที่ผู้เขียนตั้งใจเจาะจงมุ่งทำร้ายให้ส่งผลกระทบในวงกว้าง

ตัวบทความ

บทความของนางสาวเอริก้า ฟราย แสดงให้เห็นได้ชัดว่า จงใจกล่าวหาในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง และสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้อ่าน ทางด้าน AO เองจำเป็นที่จะต้องหยุดยั้งการเผยแพร่ความเข้าใจผิดนี้ (rumors) จึงขออนุญาตอธิบายข้อเท็จจริงเป็นรายประเด็นไป

ประเด็นแรก Admissions-Office มีนโยบายไม่ทำในสิ่งที่เรียกว่า “Ghost writing” หรือการเขียนแทนนักเรียน เราเชื่อว่าการเขียนแทน ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ในกระบวนการสมัครคัดเลือก (admissions) ซึ่งไม่ใช่การประกวดแข่งขันการเขียนเรียงความที่ต้องการความเลิศหรูและสมบูรณ์แบบ และสำหรับการตรวจสอบของโรงเรียนเองก็มีแหล่งต่างๆ ที่ใช้เปรียบเทียบทักษะการเขียนของผู้สมัครว่าใช้ Ghost writing หรือไม่อยู่แล้ว เช่น เรียงความในข้อสอบ SAT เป็นต้น จากผลงานที่ผ่านมา AO แสดงให้เห็นถึงผลการตอบรับการสมัครเข้าเรียนที่ดีที่สุดในประเทศไทยเสมอมา จึงขอย้ำว่าการแนะแนวของเราเน้นในสิ่งที่นักเรียนทำและประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ที่การเขียน

ประเด็นที่สอง เราไม่มีนโยบายสร้างเรื่องกิจกรรมและความสำเร็จของนักเรียนขึ้นมาเอง (Fabricate achievements)

AO ดำเนินงานด้วยจรรยาบรรณที่ดี และมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือนักเรียนไทยให้พัฒนาตนเองเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศไทย เรามุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดนักเรียนไทยที่มีศักยภาพ เพื่อการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยระดับท็อป 10 และท็อป 20 ของโลก ซึ่งกลุ่มคนไทยเหล่านั้นล้วนมีความสามารถ ศักยภาพ และความสำเร็จในตัวเองอยู่แล้ว สิ่งที่ได้รับการเสริมและสนับสนุนจาก AO จึงเป็นการฉายสปอตไลท์ในส่วนที่เขาเปล่งประกายอยู่แล้ว ในมุมที่ดีที่สุด หมายถึงความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ท่ามกลางความสำเร็จหลากหลายที่เขาเหล่านั้นเคยได้ทำมา นั่นจึงเป็นที่มาของการให้คำปรึกษาแนะแนวการเรียนต่อแบบ face-to-face ของ AO ซึ่งผ่านชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า เพื่อพูดคุยและทำให้นักเรียนมีความเข้าใจในตัวตน ให้เขาเข้าใจความสามารถของตนเอง ทั้งจาก inside-out และ outside-in ซึ่งเป็นการแนะแนวที่เป็นเอกลักษณ์ของ AO เพียงรายเดียวในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเด็นที่สาม เราไม่เคยอ้างว่าเป็นผู้แทน หรือมีอำนาจโน้มน้าวใดๆ กับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในความเป็นจริง เราได้ระบุข้อความภาษาอังกฤษอย่างชัดเจนในหน้าแรกของเว็บไซต์ AO ว่า “AO is not affiliated with Stanford University or any educational institution.” ซึ่งแปลว่า AO ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และสถาบันการศึกษาอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีการพบว่า คู่แข่งที่เป็นบริษัทให้การแนะแนวรายอื่นได้ใช้กลวิธีที่ฉ้อฉล โดยการส่งอีเมลไม่ระบุชื่อไปยังมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และสถาบันอื่นๆ แจ้งถึงการกล่าวอ้างใช้ชื่อสแตนฟอร์ด และได้กระจายอีเมลการโต้ตอบกับมหาวิทยาลัยผ่านทางเอกสารการขาย (Marketing package) ซึ่งเป็นการกระทำที่จงใจมุ่งร้าย ผิดจรรยาบรรณ น่าละอาย และเป็นการ hard-sell ที่บริษัทรายนี้มักจะกระทำ แทนที่จะเน้นการนำเสนอคุณสมบัติและความสามารถของตน

โดยสรุปแล้ว ทั้งเรื่อง Ghost writing และการกล่าวเท็จ นอกจะเป็นเรื่องผิดจริยธรรม จรรยาบรรณแล้ว ยังเป็นการกระทำที่ไม่มีประสิทธิภาพ (ineffective) และแสดงถึงความเกียจคร้านไม่ตั้งใจจริง ตลอดเวลาที่ผ่านมา AO มุ่งมั่นทุ่มเทเวลา แรงกายแรงใจ และความชำนาญเพื่อช่วยเสริมสร้าง แนะแนวให้นักเรียนไทยพัฒนาตนเองเพื่อประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนมุ่งหมาย บนหลักแห่งความถูกต้อง มีแต่เพียงกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่ต้องการทำลาย AO และนักเรียนที่ประสบความสำเร็จมากกว่าเท่านั้น ที่พยายามกล่าวเท็จสร้างความเข้าใจผิด ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อ AO แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการลิดรอนสิทธิ์ทางด้านการศึกษาที่เยาวชนเหล่านั้นสมควรได้รับ จากการฟันฝ่า อุตสาหะ และทุ่มเทอย่างหนักเป็นปีๆ นับเป็นการทำร้ายเยาวชนไทยที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศไทย สังคมไทย และเศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคตด้วย

เราจึงขอความกรุณาท่านในการช่วยเหลือแจ้งความจริงในคำชี้แจงฉบับนี้ให้แก่บุคคลอื่นๆ ที่ได้รับสารบทความต้นฉบับจากนิตยสารฟอร์จูน และเว็บไซต์ CNN Money เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับนักเรียนไทย และประเทศไทย

ที่มาของผู้เขียน นางสาวเอริก้า ฟราย เป็นผู้เขียนบทความที่กล่าวหาผู้สมัครเรียนจากประเทศไทยโดยไม่มีมูลความจริง รวมถึงกล่าวหา AO โดยระบุชื่อเพื่อให้ได้รับความเสียหาย เอริก้าเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทคดีอาญาและได้หลบหนีจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายในปี 2010 ซึ่งข้อมูลนี้ทางบรรณาธิการนิตยสารฟอร์จูนได้ระบุไว้ในตอนท้ายของบทความดังกล่าวด้วย จากประสบการณ์ที่เลวร้ายเกี่ยวกับประเทศไทยซึ่งเป็นตัวสร้างบาดแผลและความบาดหมางของเธอที่มีต่อประเทศไทยและคนไทย ทำให้เธอตั้งเป็นเป้าหมายโจมตีในการเขียนบทความนี้ รวมถึงการเจาะจงกล่าวทำลายชื่อเสียง เกียรติยศของประเทศไทย องค์กรไทย และนักเรียนไทย

การพูดกล่าวหา AO โดยตรง เอริก้าไม่ได้ระบุหลักฐานและที่มาของข้อมูลที่เธอกล่าวอ้างถึง เพียงแต่ใช้คำว่า พนักงานที่เคยทำงาน (Former staff) อีกทั้งเธอไม่ได้ยืนยันข้อมูลว่าบุคคลที่เธอกล่าวอ้างนั้นมีอยู่จริง หรือเคยเป็นพนักงานของ AO จริงหรือไม่ และจากบทความส่วนหนึ่ง ได้ระบุว่า AO ได้ไล่พนักงานบางคนออกเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นโยบายของบริษัท ซึ่งชัดเจนว่าหากแม้เป็นข้อมูลจากพนักงานที่ได้ถูกไล่ออกจริง ความไม่พอใจของพวกเขาก็อาจนำไปสู่ข้อมูลที่บิดเบือน ซึ่งตรงกับความตั้งใจของเอริก้าอยู่แล้ว

ในส่วนที่ผู้เขียนกล่าวพาดพิงถึงประเทศไทย ได้มีการระบุถึงที่มาของข้อมูล อย่างนายดาเนียล เกรย์สัน แห่งมหาวิทยาลัย Tufts ประเทศสหรัฐอเมริกา นายดาเนียลจบการศึกษาจาก Tufts ในปี 2006 และมีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างแน่นแฟ้นทั้งโดยส่วนตัวและเป็นทางการกับบริษัทแนะแนวการศึกษาอีกแห่งหนึ่งที่บริหารโดยชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นคู่แข่งของ AO (สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม คุณสามารถ Google: Daniel Grayson Bangkok) และเป็นที่ทราบกันว่าคู่แข่งรายนี้ได้กล่าวหา AO ในทางที่เสียหายมาตลอดหลายปี ซึ่งถือว่าเป็นกลยุทธ์ในการทำลายคู่แข่งและเพิ่มลูกค้าให้กับตนเองอย่างน่าละอาย

สำหรับนายดาเนียลเอง ได้ใช้อำนาจหน้าที่และบทบาทของทั้งการเป็น admissions staff ของ Tufts และผู้สนับสนุน (associate) ของบริษัทคู่แข่งรายนี้ไปพร้อมกันอย่างน่ากังขา โดยมีการตอบรับผู้สมัครเรียนที่เป็นลูกค้าของบริษัทคู่แข่งรายนั้น ในขณะที่เพ่งเล็งจับผิดผู้สมัครคนอื่นจากประเทศไทยที่ไม่ได้มาจากพาร์ทเนอร์ของเขา นายดาเนียล เกรย์สัน ยังใช้ตำแหน่งที่ Tufts อย่างไม่เหมาะสม ทั้งเพื่อจุดประสงค์ส่วนตัวและหน้าที่การงาน โดยเขาได้ติดต่อไปยังโรงเรียนนานาชาติหลายแห่งในกรุงเทพฯ และได้ปลุกระดมความคิดให้โรงเรียนเหล่านั้นต่อต้านที่ปรึกษาจากภายนอก แน่นอนว่าภายใต้เงื่อนไขที่ยกเว้นบริษัทพาร์ทเนอร์ของเขา และบ่อยครั้งที่จะเห็นเขาร่วมจัดสัมมนาและนำเสนองานร่วมกับพาร์ทเนอร์

ในส่วนของเอริก้า การที่เธอไม่หยิบยกชื่อของบริษัทคู่แข่งรายนี้หรือรายใดๆ และไม่พูดถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างบริษัทรายดังกล่าวกับนายดาเนียล สร้างข้อกังขาถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของประเด็นบทความของเธอ ว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ไม่ชอบมาพากล และตั้งใจปกปิดบิดเบือนความจริงเพื่อผลประโยชน์ของคนใกล้ชิด

บทวิเคราะห์

บทความในนิตยสารฟอร์จูนของเอริก้า ฟราย มีแรงจูงใจมาจากความไม่พอใจส่วนตัวต่อประเทศไทย และความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับบริษัทคู่แข่งของ AO ซึ่งเป็นที่น่าสงสัย นำไปสู่การเขียนกล่าวหาที่อ้างว่ามาจากบุคคลที่ไม่เอ่ยนาม ในทางกลับกัน เอริก้ากลับกล่าวถึงแหล่งที่มาแบบระบุชื่อ คือ ข้อมูลสถิติของ Zinch China (บริษัทให้คำแนะแนวการศึกษาต่อของอเมริกัน ในประเทศจีน) และยอมรับว่าในประเทศจีนยังมีปัญหาที่เลวร้ายยิ่งกว่าในประเทศไทย (ทั้ง 50% ของ transcripts จากโรงเรียน 70% ของเรียงความ และ 90% ของจดหมายแนะนำจากครูอาจารย์ถูกปลอมแปลงไม่ใช่ของจริง) รวมถึงปัญหาเรื่องข้อสอบ SAT รั่วไหลในเกาหลีใต้ แต่ทั้งนี้ เอริก้าก็ยังเจาะจงมุ่งประเด็นโจมตีมายังประเทศไทย และเขียนข้อความที่สร้างความสับสนให้ผู้อ่านเข้าใจผิด โดยไม่มีสถิติหรือหลักฐานอ้างอิงใดๆ นอกจากแหล่งที่มานิรนาม รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับ AO ซึ่งไม่ปรากฎข้อมูลหลักฐานใดๆ ที่น่าเชื่อถือ

เนื่องจากบทความนี้ มีกลุ่มเป้าหมายคนอ่านเป็นคนอเมริกัน การที่เธอเขียนโจมตีประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ก็เพื่อตอบสนองความรู้สึกรักชาติและหวาดระแวงคนต่างชาติของชาวอเมริกัน (Xenophobia) ทั้งที่จริงแล้วการให้บริการแนะแนวการศึกษาจากสถาบันนอกโรงเรียนมีจุดกำเนิดที่สหรัฐอเมริกา และเด็กอเมริกันเองก็ใช้ที่ปรึกษาเหล่านั้นกันอย่างแพร่หลาย

นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นความจริงอย่างเรื่องที่เด็กไทยหลายๆ คนเริ่มต้นคิดถึงอนาคต และตั้งใจเรียนเพื่อรักษาเกรดหรือคะแนนให้ดีตั้งแต่อายุยังน้อย (เช่น 10 ปี) และใช้เวลาจำนวนมากในการศึกษาทบทวนบทเรียนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้พวกเขาได้รับรางวัลตอบแทน คือ คะแนน SAT ที่สูงกว่าเด็กคนอื่นๆ นั่นเป็นเพราะพวกเขามีการเตรียมพร้อมมาตั้งแต่อายุ 12 ปี เรื่องจริงเหล่านี้เป็นเรื่องดีของเด็กไทยที่น่าชื่นชม แต่ผู้เขียนเลือกที่จะเพิกเฉย ไม่นำมาเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ข้อมูล กลับไปเน้นย้ำในเรื่องที่เธอจงใจชี้นำผู้อ่าน และความจริงที่เราทราบคือ เอริก้าได้พูดคุยกับนักเรียนเก่งๆ หลายคน แต่น่าเสียดายที่คำพูดของพวกเขาเหล่านั้นซึ่งเป็นความจริง กลับไม่ได้ถูกเขียนในบทความของเธอเลย

และการกล่าวอ้างของผู้เขียนที่ว่า นักเรียนไทยเข้าโรงเรียนระดับท็อปได้เพราะการหลอกลวงและกล่าวเท็จ นอกจากจะเป็นการทำร้ายนักเรียนผู้ซึ่งต้องใช้ความพยายาม ความตั้งใจอย่างมากในการทำเป้าหมายของพวกเขาให้สำเร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาสมควรได้รับแล้ว ยังเป็นการดูถูกเจ้าหน้าที่คัดเลือก (Admissions officers) ของมหาวิทยาลัย ซึ่งทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้วในเรื่องของการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องของผู้สมัครจากทั่วโลก และยังมีวิธีการมากมายในการตรวจสอบความถูกต้อง เช่น การตรวจสอบระดับความสามารถในการเขียนจากเรียงความในใบสมัคร เปรียบเทียบกับการเขียนเรียงความในข้อสอบ SAT ซึ่งถูกส่งไปพร้อมกับคะแนนส่วนอื่นๆ รวมไปถึงการตรวจสอบเนื้อหาเกี่ยวกับตัวผู้สมัครจากจดหมายแนะนำของครูอาจารย์ และยังสามารถใช้การสอบสัมภาษณ์เป็นการตรวจสอบทักษะและความรู้ของนักเรียนได้โดยตรงอีกด้วย

เพื่อให้ท่านได้เข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยมากขึ้น ขอเรียนให้ทราบว่า เกณฑ์ในการคัดเลือกผู้สมัคร ประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง ผู้สมัครต้องเก่งรอบด้าน (Holistic) ทั้งวิชาการ จากเกรดหรือคะแนนที่สะสมมา (Grades and transcripts) ข้อสอบมาตรฐาน (Standardized tests เช่น SAT, SAT Subject Test, GMAT, TOEFL) และจดหมายแนะนำจากครูอาจารย์ (Teachers’ Recommendation) ที่ในระดับปริญญาตรีต้องการจดหมายจาก 3 ท่านด้วยกัน โดยที่กิจกรรมและเรียงความเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งผู้สมัครจะต้องผ่านเกณฑ์ทุกเรื่องจึงจะได้รับคัดเลือก ดังนั้น การกล่าวหาโดยมุ่งเน้นถึงเรื่องการเขียนเรียงความเพียงอย่างเดียวที่เป็นวิธีการโกงเข้ามหาวิทยาลัยนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีเหตุผล และบิดเบือนความเป็นจริง ซ้ำร้ายยังเป็นการทำร้ายตัวนักเรียน รวมไปถึงศักดิ์ศรีของประเทศไทยเราด้วย

นักเรียนไทยที่ได้รับคัดเลือกเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกนั้น ล้วนแล้วแต่มีความสามารถเป็นที่เข้าตาของผู้คัดเลือกของมหาวิทยาลัย และเป็นที่ยอมรับในสังคมเมื่อเข้าเรียนจริง พวกเขายังทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยมกับการเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และวัฒนธรรมอันดีงาม สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า พวกเขาดีพร้อมและสมควรที่จะก้าวเข้าสู่สถาบันชั้นนำระดับโลก และไม่ได้แย่งชิงที่ของใครมา (Stealing places from other qualified candidates)

สำหรับ AO แล้ว ไม่ว่าบทความนี้จะถูกเขียนขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์อันใด ทั้งเหตุผลส่วนตัว หรือเหตุผลทางธุรกิจที่มีเจตนามุ่งประสงค์ไม่ดี เรายังคงดำเนินตามหลักธรรมาภิบาลอย่างที่ยึดถือเสมอมา และยินดีต้อนรับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในการเยี่ยมชมการทำงานของเรา

เราขอยืนยันที่จะเดินหน้าต่อไปด้วยความชำนาญและคุณภาพการให้คำแนะนำที่ดีที่สุด จะอยู่เคียงข้างเด็กไทย ซึ่งเป็นเยาวชนของชาติ ในการสร้างเสริมทักษะและพัฒนาตนเองเพื่ออนาคตของประเทศไทย สุดท้ายนี้ เราขอยืนยันว่า คนไทยเก่งไม่แพ้ใคร และสามารถประสบความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับในระดับโลกได้

(ดูจดหมายชี้แจงจากแอดมิชชันออฟฟิศ)

คดีของเอริก้า ฟราย

อย่างไรก็ตาม การชี้แจงของ AO ที่เขียนถึงนางสาวเอริก้า ฟราย ว่าเป็นชาวต่างชาติที่หลบหนีคดีจากเมืองไทยนั้น เนื่องจากสำนักข่าวไทยพับลิก้าได้เกาะติดข่าวคดีที่นางสาวเอริก้าถูกฟ้อง ในข้อเท็จจริงก็คือ นางสาวเอริก้าเคยเป็นอดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และได้ถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทจากการนำเสนอข่าวนายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ลอกเลียนงานวิจัยของนายวิลเลียม วิน แอลลิส ซึ่งเป็นผู้เขียนงานวิจัยหลัก เป็นเหตุให้นายศุภชัยเป็นโจกท์ฟ้อง 1. นายวิลเลียม วิน แอลลิส เป็นจำเลยที่ 1 2. นางสาวเอริก้า ฟราย นักข่าว หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ จำเลยที่ 2 และนายพัฒนะพงศ์ จันทรานนทวงศ์ บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ จำเลยที่ 3 แต่ตอนหลังนายศุภชัยถอนฟ้องจำเลยที่ 3 โดยในระหว่างการฟ้องร้องคดี นางสาวเอริก้าได้ขอเดินทางไปทำข่าวที่ประเทศสิงคโปร์ ยื่นขออนุญาตครั้งแรกไม่อนุมัติ ต้องทำเรื่องอุทธรณ์ และอนุมัติก่อนเดินทางไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนั้นนางสาวเอริก้ารู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในระหว่างการต่อสู้คดีจึงได้ออกนอกประเทศไปโดยไม่ได้มาให้การในศาลอีกเลย ทำให้คดีฟ้องหมิ่นประมาทมีนายวิลเลียมเป็นจำเลยคนเดียว และในที่สุดศาลยกฟ้องคดีนี้

อนึ่ง การร้องเรียนของนายวิลเลียม วิน แอลลิส ได้กล่าวหานายศุภชัยว่าลอกเลียนผลงานวิจัย “การเพิ่มศักยภาพของภาคเกษตรอินทรีย์ไทยในภาคการส่งออก” (Strengthening the Export Capacity of Thailand’s Organic Agriculture ) ทำวิทยานิพนธ์ จนนำมาซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถอดถอนปริญญาเอกนายศุภชัย หล่อโลหการ (อ่านข่าว “ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สภาจุฬาฯ ถอนปริญญาเอก “ศุภชัย หล่อโลหการ” ไม่มีผลย้อนหลัง “บวรศักดิ์” แจงในอดีตอาจจะใช้โดยสุจริต”) และที่ผ่านมาทางสำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน “ซีรีส์วิกฤติมาตรฐานงานวิจัย” มาอย่างต่อเนื่อง