สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่คนไทยนิยมไปเรียนมากที่สุด ไม่ว่าจะเรียนภาษาช่วงสั้นระหว่างปิดเทอม หรือการเรียนต่อในระดับปริญญา ซึ่งมหาวิทยาลัยที่คนส่วนใหญ่อยากเข้าเรียนนั้นย่อมเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ มีชื่อเสียง หรืออยู่ในกลุ่มไอวีลีก (Ivy League)
มหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มไอวีลีก ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University), มหาวิทยาลัยเยล (Yale University), มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania), มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน (Princeton University), มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University), มหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University), วิทยาลัยดาร์ตมัธ (Dartmouth Collage) และมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University)
นอกจากนี้ก็มีมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกานอกกลุ่มไอวีลีกที่ได้รับความนิยม เช่น มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University), มหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago), สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (MIT-Massachusetts Institute of Technology), มหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University), มหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University), มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University), วิทยาลัยเวลส์เล่ย์ (Wellesley College) ฯลฯ
คุณสมบัติและหลักเกณฑ์ของบุคคลที่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกาเหล่านี้ประกอบด้วย 1. มีผลการเรียนในระดับดีมาก คือ เกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 4.00 หรือใกล้เคียง 2.มีผลการสอบความถนัดทางการเรียน (SAT : Scholastic Assessment Test ข้อสอบ SAT นั้นทดสอบความสามารถในการใช้เหตุผลเช่นเดียวกับข้อสอบความถนัดทั่วไปที่จัดสอบโดย สทศ.) 3.มีครู 2 คนเขียนแนะนำผู้สมัครเรียนไปยังมหาวิทยาลัยดังกล่าว โดยแบ่งเป็นครูที่สอนวิชาสายวิทย์-คณิต 1 คน และสอนสายสังคม 1 คน 4. ผู้สมัครเรียนต้องเขียนเรียงความเกี่ยวกับตนเอง และ 5. หากผู้สมัครเรียนมีความสามารถพิเศษก็แจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบเพื่อเพิ่มโอกาสให้ได้คัดเลือกเข้าเรียน ซึ่งความสามารถพิเศษนั้นจะเป็นอะไรก็ได้แต่ต้องอยู่ในระดับดีเยี่ยม เช่น เป็นนักกีฬาทีมชาติ, เล่นกอล์ฟในระดับเทิร์นโปร, มีผลงานทางวิชาการหรือสิ่งประดิษฐ์ในระดับชาติหรือโลก ฯลฯ
กลวิธีที่ผู้สมัครทำเพื่อให้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้ ไม่ได้เป็นการจ่ายเงินใต้โต๊ะ เนื่องจากมหาวิทยาลัยเหล่านี้เป็นของเอกชนที่มีเงินกองทุนขนาดใหญ่มาก สามารถให้ทุนเรียนฟรีแก่นักศึกษาได้ไม่จำกัด แต่ถ้าจะจ่ายก็ต้องมีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้เกณฑ์การรับนักศึกษาเข้าของมหาวิยาลัยชั้นนำในอเมริกา ไม่ได้วัดตามระดับผลการสอบทั่วประเทศอย่างแอดมิดชั่นของไทย เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน แต่สิ่งที่พิจารณานอกจากระดับผลการเรียนที่จบมาแล้ว คือ ความสามารถพิเศษของผู้สมัคร ว่าจะสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ ดังนั้น ผู้ที่ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเหล่านี้อาจจะไม่ใช่คนที่มีคะแนนสอบหรือผลการเรียนสูงที่สุด แต่เป็นคนที่เหมาะสมและมหาวิทยาลัยต้องการมากที่สุด
วิธีการหรือกลวิธีหนึ่งของผู้สมัครเรียนจากเมืองไทย คือ การเข้าไปสมัครเรียนต่อต่างประเทศกับสถาบันหรือบริษัทที่ทำธุรกิจที่ปรึกษาช่วยเหลือให้นักเรียนสามารถเรียนต่อต่างประเทศในมหาวิทยาชื่อดังที่ต้องการได้ โดยบริษัทเหล่านั้นอาจการันตีด้วยนักเรียนปีก่อนหน้าที่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้ และได้ทุนเรียนฟรีของมหาวิทยาลัยนั้นๆ
สิ่งที่ทางบริษัทหรือสถาบันเหล่านี้ทำให้นักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกาได้คือ ทำเอกสารการสมัครเรียนแทนนักเรียน รวมถึงการโกงสอบ SAT ด้วย โดย
1. การสอบ SAT แม้ว่าการสอบนี้จะสอบวันเดียวกันทั่วโลก แต่เวลาของประเทศในโลกต่างกัน ดังนั้นหลายๆ คน หลายๆ สถาบันจึงใช้ความต่างของช่วงเวลาในแต่ละประเทศขโมยข้อสอบออกมาจากห้องสอบ เช่น อเมริกาสอบก่อน ก็จ้างคนไปเอาข้อสอบมาเผยแพร่ให้กับประเทศนิวซีแลนด์หรือออสเตรเลียที่สอบที่หลัง หรือบางคนใช้วิธีจ้างคนสอบแทน
2. การเขียนแนะนำจากครู 2 คน เอกสารนี้ทางสถาบันที่รับจ้างสมัครเรียนต่อต่างประเทศจะเป็นคนเขียนเอกสารนี้ให้ผู้สมัครเอง ไม่ได้มาจากผู้สมัครไปให้ครูในโรงเรียนที่จบการศึกษามาเขียนให้
3. เรียงความของผู้สมัคร ผู้สมัครไม่ได้เขียนด้วยตนเอง แต่ทางสถาบันหรือบริษัทเป็นคนเขียนให้ทั้งหมด โดยที่เป็นเรื่องแต่งที่อาจไม่เกี่ยวกับตัวผู้สมัครเลย และหลายครั้งทางสถาบันหรือบริษัทใช้เรื่องเดียวกัน แต่เอามาเรียบเรียงใหม่ให้กับเด็กในสถาบันคนอื่นๆ ที่สมัครเรียนต่างมหาวิทยาลัยกัน
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนไทยที่ต้องการศึกษาต่อในต่างประเทศ จากการสอบถามสถาบันชื่อดังรายหนึ่ง ระบุว่าจะต้องสมัครเผื่อไว้ 3 มหาวิทยาลัย ค่าใช้จ่ายในการสมัครมหาวิทยาลัยแห่งละ 20,000 เหรียญสหรัฐฯ
เมื่อนักเรียนกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำได้แล้ว ทางมหาวิทยาลัยก็จะดูว่าผู้ปกครองของนักศึกษาที่เข้ามาเรียนนั้นสามารถจ่ายค่าเรียนได้หรือไม่จาก finance aid ของผู้ปกครอง ซึ่งนักศึกษากว่าครึ่งของมหาวิทยาลัยมักจะได้ทุนเรียนฟรีอยู่แล้ว เนื่องจากฐานะทางการเงินของครอบครัวไม่ดี
แหล่งข่าวในแวดวงศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยชั้นนำเหล่านี้เปิดเผยว่า ปัจจุบันเด็กที่มีฐานะดีก็ใช้วิธีนี้เพื่อให้ได้ทุนเรียนฟรี โดยเด็กไทยหลายๆ คนของสถาบันที่ใช้กลวิธีนี้ได้รับทุนด้วย ลองคิดว่าว่าถ้าไม่ใช่ครอบครัวคนรวย เป็นไปไม่ได้ที่ครอบครัวของนักเรียนที่มีเงินจ่ายค่าสมัครเรียนให้สถาบันอย่างน้อย 60,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,800,000 บาท จะเป็นครอบครัวยากจน แต่สิ่งที่ทำให้นักเรียนกลุ่มนี้ได้ทุนจากมหาวิทยาลัย เป็นเพราะสถาบันดังกล่าวปลอมเอกสารภาษี (tax documents) ของผู้ปกครองให้แสดงรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง และเหตุผลอื่นๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับทุน
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าจากการได้พูดคุยกับผู้อำนวยการของโรงเรียนนานาชาติในไทยแห่งหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่าเขาได้คุยกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้บอกว่าการโกงด้วยวิธีการนี้เกิดขึ้นมากที่สุดในนักเรียนจีน รองลงมาคือนักเรียนไทย ในขณะที่นักเรียนในอเมริกาจะไม่ทำเลย
สำหรับนักเรียนของไทยที่สมัครเรียนต่อต่างประเทศผ่านสถาบันรับจ้างสมัครเรียนเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนในโรงเรียนชั้นนำของไทย โรงเรียนสาธิต และโรงเรียนนานาชาติ หรือก็คือกลุ่มนักเรียนหัวกะทิของประเทศไทยนั่นเองที่”โกง” การสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยดังๆ ซึ่งโรงเรียนบางแห่งก็ทราบการโกงนี้และส่งจดหมายห้ามปรามผู้ปกครอง แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้เพราะเป็นความสมัครใจของผู้ปกครองที่ยอมจ่ายแพงเพื่อโอกาสทางการศึกษาของลูกหลาน
ด้านไอวีลีกทุกแห่งรับทราบกลการโกงนี้จากศิษย์เก่า board of trustee รวม 14 คน (บางคนเรียน 2 มหาวิทยาลัย) คือ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด 5 คน มหาวิทยาลัยเยล 1 คน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย 3 คน มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน 1 คน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย 3 คน มหาวิทยาลัยบราวน์ 3 คน วิทยาลัยดาร์ตมัธ 1 คน และมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ 3 คน
เกือบทุกแห่งมีจดหมายตอบกลับมารับทราบ ยกเว้นมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน, มหาวิทยาลัยบราวน์ และมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ที่เพิกเฉยโดยไม่ตอบจดหมายกลับมา ส่วนมหาวิทยาลัยโคลัมเบียตอบกลับมาแบบปัดความรับผิดชอบ ส่วนมหาวิทยาลัยเยลและมหาวิทยาลัยทัฟส์ ทราบเรื่องและเรียกนักศึกษาที่โกงเข้ามหาวิทยาลัยมาคุยแล้ว ในขณะที่มหาวิทยาลัยบราวน์และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังคงนิ่งเฉยแม้ว่าจะทราบเรื่องดังกล่าวดี
เรื่องราวเหล่านี้ถือเป็นความละเลยของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่ขาดความเข้มงวดในการพิจารณาเอกสารรับเข้าศึกษาต่อของมหาวิทยาลัย กลายเป็นช่องว่างให้คนรวยใช้เงินแย่งชิงโอกาสทางการศึกษาของคนอื่น และทำให้มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาที่เหมาะสมไม่จริงเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของตนเอง รวมถึงการเพิกเฉยของผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่งที่ไม่สนใจว่านักศึกษาของตนโกงเข้ามา ขอให้มีคนต่างเชื้อชาติมาเรียนครบตามเกณฑ์ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดก็พอ
แหล่งข่าวจากศิษย์เก่าข้างต้นรายหนึ่งระบุว่า”สาเหตุที่ออกมาเปิดเผยเรื่่องนี้เพราะ ขบวนการนี้เป็นการส่งเสริมให้เด็กไทยโกงตั้งแต่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ไม่ต้องคิดถึงอนาคตแล้วว่าจะเป็นอย่างไร จึงต้องการที่จะให้มหาวิทยาลัยชื่อดังเหล่านี้รับทราบและปรับวิธีการคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนให้เข้มงวดมากขึ้น”