ใครๆ ก็อยากเรียนมหาวิทยาลัยชื่อดัง เพราะสิ่งที่จะตามมาหลังจากนั้นมันคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นรายได้ในอนาคต เกียรติยศ ชื่อเสียง รวมถึงการผูกมิตรกับคนรวย คนดัง คนมีอำนาจในสังคมโดยใช้การเป็น”ศิษย์เก่า” เป็นสะพานเชื่อม นับเป็นการยกระดับตัวเองที่ดี และดึงดูดความสนใจของคนในสังคมโดยเฉพาะเพศตรงข้าม
จากข่าว “กลวิธี (โกง) ของเด็กไทยสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำอเมริกา” ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้ามีโอกาสเข้าฟังสัมมนาแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศของ 2 สถาบันดัง คือ MBAThinkTank/my CollegeThinkTank และ Admissions-office ซึ่งสถาบันทั้ง 2 แห่งมีกระบวนการช่วยเหลือหลักๆ ที่ช่วยให้นักเรียนของสถาบันสามารถเข้าสู่มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลกได้คล้ายคลึงกัน โดยเป็นบริการแบบครบวงจร
หลักฐานการสมัครศึกษาต่อต่างประเทศประกอบด้วย 1.ผลการเรียนเฉลี่ย 2.ผลการสอบ SAT, GMAT, TOEFL ฯลฯ 3.กิจกรรมหรือประสบการณ์ 4.เรียงความแนะนำตัวเอง 5.เอกสารแนะนำตัวจากครูหรือหัวหน้าหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
ในด้านของผลการเรียนหรือ GPA ของนักเรียนนั้นทางสถาบันคงช่วยอะไรได้ไม่มากนัก เพราะเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่นักเรียนทำเอง แต่ถ้านักศึกษาใช้บริการบริษัทที่ปรึกษาก็อาจจะมีเทคนิคสามารถช่วยให้นักเรียนหลายๆ คนเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้แม้จะมีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของมหาวิทยาลัย
ส่วนคะแนนสอบ SAT หรือ GMAT สถาบันแนะนำการศึกษาต่อต่างประเทศทั้ง 2 แห่งต่างก็มีคอร์สเรียนพิซิตการสอบทั้ง SAT และ GMAT โดยครูจากต่างประเทศดีกรีแชมป์ นั่นคือ จบจากมหาวิทยาลัยดังและมีคะแนนสอบ SAT, GMAT เต็ม ซึ่งเป็นการันตีของสถาบันว่านักเรียนที่สมัครเรียนคอร์สเหล่านี้ต้องสอบได้คะแนนดีแน่นอน คือ ผลสอบ SAT มากกว่า 2,000 คะแนน หรือผลสอบ GMAT ประมาณ 700
แต่นักเรียนที่ได้คะแนนต่ำกว่านี้บางคนก็สามารถเข้าเรียนได้ โดยสถาบันสามารถดำเนินการให้ข้อมูลอื่นๆ โดดเด่นและน่าสนใจมากพอ
ในด้านหนังสือแนะนำตัวจากครูที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือนายจ้างนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทาง MBAThinkTank/my CollegeThinkTank แนะนำนักเรียนว่า ให้นักเรียนสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลที่จะเขียน Recommend ให้ ไม่ว่าจะเป็นครูหรือหัวหน้างานเพื่อที่เขาจะได้เขียนหนังสือแนะนำตัวมาให้ดีๆ เช่น ซื้อของไปฝาก พยายามให้เขาเห็นหน้าบ่อยๆ เป็นต้น
ในขณะที่ Admission-office กล่าวว่า เอกสารแนะนำตัวนี้ ถ้าเราสนิทกับคนเขียนให้มากพอก็จะดี แต่นักเรียนเสนอครูหรือนายจ้างไปเลยก็ได้ว่าเดี๋ยวเขียนมาให้ไหมครับ/ค่ะ เพราะบางครั้งครูหรือนายจ้างอาจจะไม่ว่าง หรือเขียนได้ไม่ดีพอ เนื่องจากเอกสารแนะนำตัวดังกล่าวต้องสอดคล้องกับเรื่องที่จะเขียนเรียงความด้วย ส่วนนักเรียนบางคนที่จะให้บุคคลที่น่าเชื่อถือหรือมีชื่อเสียงเขียนให้นั้น ถ้าสนิทสนมกันมากพอก็สามารถให้เขียนได้ แต่ถ้าไม่ก็อย่าให้เขาเขียนเพราะอาจจะส่งผลเสียต่อการสมัครเรียน
สำหรับเรื่องการเขียนเรียงความทาง MBAThinkTank/my CollegeThinkTank กล่าวว่า ทางสถาบันเป็นเพียงผู้ที่ค่อยช่วยเหลือแก้ไขเรียงความของนักเรียนให้ดีขึ้น ซึ่งนักเรียนคนหนึ่งๆ อาจต้องแก้ไขกว่า 10 ครั้ง และยืนยันว่าเรื่องทั้งหมดที่เขียนในเรียงความต้องเป็นเรื่องจริงเท่านั้น เพราะทางสถาบันเน้นย้ำกับนักเรียนอยู่เสมอว่าต้องเขียนเรื่องจริง ไม่มีการยกเมฆเด็ดขาด
ในการเขียนเรียงความแนะนำตัวเองต้องแสดงถึง “ความเป็นผู้นำ” และ “ความมีวุฒิภาวะ” เพราะเป็นเรื่องที่ทางมหาวิทยาลัยชั้นนำเน้นให้นักเรียนมี ซึ่งในงานนี้ผู้บริหารของสถาบันก็เสนอกลยุทธ์การเขียนเรียงความในหัวข้อต่างๆ ที่สามารถพิชิตใจคณะกรรมการรับเข้าได้ เช่น เขียนให้คนอ่านรู้จักและจำคนเขียนได้ใน 1 นาที หรือเขียนเรื่องประสบการณ์หรือความสำเร็จของตนเองที่โดดเด่น ไม่ซ้ำใคร โดยเรียงความเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้ศัพท์ยาก เพียงแต่รูปแบบการเขียนต้องน่าสนใจ
ส่วนเรื่องของกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่จะใช้สมัครเรียนนั่น ต้องสร้างความรู้สึกว่า “นักเรียนคนนี้สามารถเป็นเพื่อนที่ดี ได้” ไม่ใช่เข้ามหาวิทยาลัยเพื่อที่จะเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีกิจกรรมการรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ด้วย เช่น เป็นสมาชิกชมรม สมาคม หรือทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วย ซึ่งนักเรียนจะใช้กิจกรรมที่ตนเองทำเหล่านี้มาเป็นแรงบันดาลใจ หรือเป็นเรื่องสำคัญของชีวิตที่นำมาเขียนเป็นเรียงความ
แต่หากนักเรียนผู้มีฐานะทั้งหลายคนใดไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมหรือมีประสบการณ์ที่สำคัญหรือโดดเด่นพอที่จะมาเขียนเรียงความได้ ทาง MBAThinkTank/my CollegeThinkTank ก็มี “Manhattan Camp” ที่จัดกิจกรรมเพื่อสังคมแบบไปเช้าเย็นกลับให้นักเรียนร่วมทำกิจกรรมฟรี เช่น ไปสอนภาษาอังกฤษให้เด็กในชุมชนแออัด สร้างโรงเรียนหรือปรับปรุงโรงเรียนในต่างจังหวัด เป็นต้น
นับเป็นการสร้างพอร์ตผู้สมัครที่เนรมิตได้ดังฝัน!
หากนักเรียนเข้าร่วม ก็จะพูดได้ว่า “ฉันเคยทำกิจกรรมเพื่อสังคมนะ” แม้จะแค่วันเดียวก็ตาม กลายเป็นประวัติที่สามารถนำมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการเขียนเรียงความให้โดดเด่น (โดยการชี้แนะของสถาบัน)กว่าคนอื่นๆ ได้
ดังนั้น “เรียงความ” คือสิ่งสำคัญที่สุดของหลักฐานการสมัคร เพราะนักเรียนต้องใช้เวลาเตรียมตัวเริ่มจากกิจกรรมเพื่อสร้างประวัติตั้งแต่ที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน อีกทั้งจำนวนคำในเรียงความควรอยู่ประมาณ 600 คำหากสมัครเรียนปริญญาตรี และประมาณ 400 คำหากสมัครเรียนปริญญาโท สุดท้ายคือเขียนเรื่องให้ตรงกับสายที่เรียน ลีลาในการเขียนสะท้อนบุคลิกของสายที่จะเรียน ที่สำคัญคือแสดงถึงความเป็นผู้นำ ความมีวุฒิภาวะ และความเป็นสากล โดยเขียนเรียงความให้ตนเองเป็นศูนย์กลางของเรื่อง (center for good things)
นอกจากแรงดึงดูดจากค่านิยมเรื่องเกียรติยศ ชื่อเสียง ของการเป็นนักเรียนในมหาวิทยาลัยวิทยาลัยชั้นนำที่ทาง MBAthinkTank ใช้โน้มน้าวเด็กไทยแล้ว บริษัทรายใหญ่ของไทย อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ปตท.สผ. ปตท. ให้ทุนเรียนต่อกับนักเรียนโดยความร่วมมือผ่านสถาบันเหล่านี้อีกด้วย นั่นก็ยิ่งเสริมทัศนคติให้เด็กไทยใช้บริการสถาบันที่ปรึกษาเรียนต่อต่างประเทศมากขึ้นไปอีก ในขณะที่ Admission-office กล่าวถึง ปตท. เพียงแห่งเดียว
ซึ่งไม่ค่อยน่าแปลกใจเท่าไหร่หากนักเรียนทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าวจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยดังได้ โดยได้รับความช่วยเหลือจาก MBAthinkTank เนื่องจากมีการันตีว่าเป็นนักเรียนทุนเต็มจากบริษัทรายใหญ่ของประเทศ และมีเอกสารการสมัครที่โดดเด่นมากพอโดยการชี้แนะของสถาบัน
ด้าน Admission-office มีทุกอย่างเช่นเดียวกับ MBAThinkTank/my CollegeThinkTank แต่มีกระบวนการนักเรียนเพื่อเรียนต่อต่างประเทศที่ชัดเจนกว่ามาก และสิ่งที่ทางสถาบันใช้โน้มน้าวใจผู้ฟังบ่อยๆ คือ “เมื่อปีที่แล้วนักเรียนที่เข้า Harvard ได้ทั้งหมดเป็นของเรา”
เรื่องน่าแปลกใจในงานสัมมนาของ Admission-office คือ แบ่งการสัมมนาเป็น 2 รอบคือ ช่วงเช้ารอบเรียนต่อปริญญาตรีบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ในขณะที่ช่วงบ่ายรอบเรียนต่อปริญญาโทบรรยายเป็นภาษาไทย
ความน่าเชื่อถือที่ Admission-office นำเสนอนอกจากจำนวนนักเรียนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำ (เหมือนที่อื่นๆ ) แล้ว เขายังกล่าวถึงโรงเรียนต่างๆ ที่มีนักเรียนมาใช้บริการจำนวนมากด้วย ซึ่งก็มีทั้งโรงเรียนรัฐบาลชั้นนำของไทย และโรงเรียนนานาชาติ
กระบวนการของ Admission-office ที่แตกต่างจาก MBAThinkTank/my CollegeThinkTank คือ มีการเตรียมความพร้อมนักเรียนก่อนจะไปเรียนต่อล่วงหน้า 2-3 ปี เช่น การสอบ SAT ทางสถาบันจัดโปรแกรมเตรียมตัว ตั้งแต่นักเรียนอยู่เกรด 9 คือ เกรดไหนเรียนวิชาอะไรก็ไปสอบ SAT วิชานั้นไว้ ส่วนช่วงปิดเทอมฤดูร้อนก็มาเข้าโปรแกรม ATP (Admission Test Prep) ของสถาบัน ซึ่งเป็นโปรแกรมการเตรียมความพร้อม และเสริมสร้างทักษะของนักเรียนเพื่อสอบ SAT โดยมีราคาคอร์สพื้นฐาน 40 ชั่วโมง 30,000 บาท และคอร์สที่สูงขึ้นมา 80 ชั่วโมง 54,000 บาท นอกจากนี้ก็มีคอร์สการเขียนเรียงความ 60 ชั่วโมง ประมาณ 60,000 บาท
สำหรับประวัติการทำกิจกรรมหรือประสบการณ์ ทางสถาบันแนะนำให้เข้าโปรแกรมตั้งแต่นักเรียนอยู่เกรด 7 ในกระบวนการของ Admission-office (AO’s Process) ซึ่งทางสถาบันก็จะผลักดันให้เด็กได้ทำกิจกรรม ได้เป็นอาสาสมัคร ได้ฝึกงาน หรือสร้างผลงาน/ชิ้นงานขึ้นมา อีกทั้งยังมีกระบวนการสร้างให้นักเรียนรู้จักตัวเอง ว่าแท้จริงแล้วนักเรียนมีความชอบหรือสนใจด้านไหนกันแน่ รวมถึงมีกระบวนการ Reflect & Refine นักเรียน เพื่อที่จะมุ่งพัฒนาและเตรียมพร้อมการศึกษาได้ตามทางที่นักเรียนชอบจริงๆ
ด้านเรียงความต้องเขียนให้ประกอบด้วย 1.มีความเป็นผู้นำ 2.มีความคิดริเริ่ม 3.มีความคิดสร้างสรรค์ และ4.มีความโดดเด่น ซึ่งทางสถาบันก็การันตีว่าสามารถดึงด้านต่างๆ เหล่านี้ของนักเรียนออกมาอยู่ในเรียงความได้อย่างแน่นอน
เรียกได้ว่าแค่นักเรียนเข้ามาที่ Admission-office ทางสถาบันจะวางแผนให้หมดเลยว่านักเรียนต้องทำอะไรบ้าง ถ้าจะให้ดีเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนไปต่อปริญญาตรีที่ต่างประเทศประมาณ 3 ปี เพื่อชีวิต 4 ปี ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ และอนาคตที่ดีตลอดไป
สำหรับนักเรียนคนไหนอยากเรียนต่อปริญญาโทในมหาวิทยาลัยชั้นนำ เพียงแค่มาเข้าโปรแกรม Initial Evaluation, Assessment & Planning Program ของ Admission-office เท่านั้น
สำหรับการเตรียมตัวเรียนต่อปริญญาโท ถ้าคนไหนที่เรียนจบปริญญาตรีแต่เกรดไม่ดี ทางสถาบันแนะนำให้ไปเรียนปริญญาโทในสาขาที่เกี่ยวข้องหรือคล้ายกับที่อยากไปเรียนที่ต่างประเทศโดยทำเกรดให้สูงกว่า 3.6 นอกจากนี้ต้องมีประสบการณ์การที่สำคัญ หรือเป็นความสำเร็จของชีวิต มาประกอบด้วย
หลักสำคัญของเรียงความที่ทางสถาบันทำคือ ดึงเอาจุดเด่นของนักเรียนขึ้นมาเสนอ ไม่ว่าเนื้อหาของเรียงความจะเป็นอะไร แต่เจ้าของเรียงความต้องเด่นสุด ในเนื้อหาที่เขียนไปถึงใครก็ตามสุดท้ายต้องกลับมาอยู่ที่ตัวเอง
สำหรับเรื่อง การสัมภาษณ์ ด้าน MBAThinkTank/my CollegeThinkTank กล่าวว่ามีการฝึกตอบคำถาม มีการติวการไปสัมภาษณ์จากครูผู้เชี่ยวชาญ ในขณะที่ Admission-office กล่าวว่า ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะทางสถาบันเข้าไปทำความรู้จักกับคนสัมภาษณ์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ และพาเขาไปรู้จักกับบริษัทใหญ่ๆ ของประเทศไทย เช่น ปตท., ปูนซีเมนต์ไทย(เอสซีจี)และซีพี ด้วยความใกล้ชิดจึงทำให้รู้จักนิสัยและลีลาการสัมภาษณ์ของบุคคลนั้นๆ ดี รู้เทรนการสัมภาษณ์และการเขียนเรียงความให้ถูกใจเหล่าคณะกรรมการ อีกทั้งทางสถาบันก็มีการฝึกหัดสัมภาษณ์นักเรียนอย่างเข้มข้นผ่านคอร์สของสถาบัน
และแม้ว่ารูปแบบการสัมภาษณ์ของแต่ละมหาวิทยาลัยจะแตกต่างกันคือ มีทั้งสัมภาษณ์แบบกลุ่ม สัมภาษณ์เดี่ยวในประเทศและต่างประเทศ หรือสัมภาษณ์ผ่านออนไลน์ ซึ่งบางที่จะให้เขียนเรียงความใหม่ใน 24 ชั่วโมง แต่ทาง Admission-office ก็บอกว่าไม่ต้องกังวลเพราะเขาสามารถให้คำปรึกษาแก่นักเรียนผ่าน skype ได้ เขาต้องเคียงข้างนักเรียนตลอดไปไหนไปกัน และคอยดึงตัวตนที่น่าสนใจของนักเรียนขึ้นมา และย้ำด้วยว่าสถาบันของเขามี interview coaching&Practice ที่เก่งที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหากดูทั้งกระบวนการแล้ว ตลอดเวลาในการสมัครไม่มีช่วงไหนที่นักเรียนต้องคิดหรือตัดสินใจเอง แต่มีโปรแกรมสำเร็จรูปที่คอยเซิร์ฟให้ แล้วแต่ใครจะเลือกเมนูแบบไหน จึงเป็นกระบวนการพาเด็กไทยสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกของทั้ง 2 สถาบัน เรียกได้ว่าเป็นบริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร
นี่เป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่นำเด็กไทยเข้าสู่ยุค”สังคมไร้ราก” และไม่ได้ใช้ความสามารถของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ