ThaiPublica > คอลัมน์ > การประท้วง การปิดกรุง กับ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

การประท้วง การปิดกรุง กับ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

28 มกราคม 2014


บรรยง พงษ์พานิช

กำลังนี้…ถ้าใครจะลุกขึ้นมาท้วงติงถึงผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจที่จะมาจากการชุมนุมยืดเยื้อ ยกระดับไปเรื่อยๆ ของ “มวลมหาประชาชน” ก็คงจะถูกโห่ฮา หาว่าไม่รู้จักกาลเทศะ มัวแต่ห่วงตัว ห่วงกระเป๋า โดยเฉพาะถ้าคนพูดเป็นนักธุรกิจอย่างผม ยิ่งจะถูกประนามเป็นเท่าทวี ว่าเห็นแต่แก่ตัว ไม่เห็นกับชาติซึ่งเป็นเรื่องใหญ่กว่า สำคัญกว่า

แต่ด้วยความที่เป็นนักธุรกิจ กับสนใจเรื่องเศรษฐศาสตร์บ้างนี่แหละครับ ทำให้ผมอยากที่จะให้มีการติดตามวิเคราะห์เรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อเหตุผลสามประการ

ประการแรก…ถึงแม้เรา (หลายแสน หลายล้านคน) จะคิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการ การกำจัดระบอบที่เราเกลียดชัง เป็นเรื่องที่ยังไงก็ต้องทำให้ได้ at all cost จะสูญเสีย จะเสียหายเท่าใดก็ยังคุ้ม ปล่อยให้ดำเนินไปอย่างเดิมจะเสียหายฉิบหายยิ่งกว่า ไม่มีอะไรจะเลวลงกว่านี้ได้อีกแล้ว แต่อย่างไรเราก็น่าจะต้องพยายามที่จะรู้ต้นทุนเสียสักหน่อย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม การทำอะไรโดยใช้เพียงความรู้สึกว่า“น่าจะคุ้ม” นั้นทำคนฉิบหายมานักต่อนักแล้วครับ

ประการที่สอง… ถึงปัจจุบัน ทุกคนรับรู้แล้วว่า ความเสียหายจากการสะดุดหยุดของเศรษฐกิจมีอยู่จริง แต่ถ้าเรารู้ว่ามันเสียหายตรงไหนด้านใด เสี่ยงอะไรมากอะไรน้อย ก็จะทำให้เรามีสติมากขึ้น ยุทธวิธีต่างๆ จะได้ถูกปรับให้บรรลุผลโดยมีความเสียหายน้อยที่สุดได้ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากเกินจำเป็น เกินกว่าที่จะเยียวยาพลิกฟื้น หรือไม่ก็ต้องใช้เวลานาน ต้นทุนสูง

ประการที่สาม ที่สำคัญที่สุด เมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย จะโดยสงบ จะเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง จะฝ่ายใดชนะ หรือแม้แต่จะมีเหตุการณ์รุนแรงยืดเยื้อยาวนาน เราก็ต้องมีกระบวนการที่จะต้องใช้จัดการกับเศรษฐกิจและสังคม การมีข้อมูล ภูมิความรู้ ไว้แต่เนิ่นๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ

สมมุติว่า…ฝ่ายมวลมหาประชาชน ได้รับชัยชนะตามที่มั่นใจ ใครก็ตามที่จะมาบริหารประเทศ จะต้องมุ่งหน้าพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ได้โดยเร็ว มิฉะนั้นความนิยมจะหายไปอย่างรวดเร็ว และอาจเป็นอาวุธกลับให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถกระตุ้นความรุนแรงให้เกิดขึ้น สร้าง The Empire Strike Back เป็นวังวนไม่รู้จบ ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ “ระบอบทักษิณ” เป็นที่นิยมชมชอบของคนจำนวนมากก็เป็นเพราะการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤติ 2540 ซึ่งหลายส่วนไม่ใช่ฝีมือ แต่มาจากการแก้ปัญหาของรัฐบาลก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ

Shutdown Bangkok ที่มาภาพ : Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)
Shutdown Bangkok ที่มาภาพ :เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

ผมจะขอลองเริ่มวิเคราะห์ผลกระทบด้านเศรษฐกิจนะครับ…

ภายใต้ การคาดการณ์ที่ค่อนข้างมองโลกในแง่ดี ของทีมเศรษฐกิจ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทร คือ คิดว่ามีการเลือกตั้ง แต่จัดตั้งรัฐบาลได้ลำบาก ตั้งได้กลางปี ความขัดแย้งยังมี มีการกดดันให้ปฏิรูป การลงทุนภาครัฐฝืดเคือง “ประชานิยม” ถูกกดดันควบคุม แล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่ปีหน้า

ถ้าเป็นอย่างนั้น… เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ต่ำ เติบโตแค่ 2.8% ลดลงจากที่ควรโต 4.3% ถ้าไม่มีม็อบ ซึ่งผลผลิตที่ลดลงนี้มีค่าประมาณ 170,000 ล้านบาทในหนึ่งปี ซึ่งจะกระจายไปในแทบทุกภาคส่วน (นอกเหนือไปจากความเสียหายด้านความมั่งคั่ง ที่หายไปแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาทจากมูลค่าหุ้น …ซึ่งส่วนนี้หลายคนคิดว่าไม่มีปัญหามากเพราะเป็นเรื่องของคนมั่งคั่ง แต่ถ้าตลาดทุนซบเซามีปัญหามากในระยะยาว ก็จะกระทบถึงภาคเศรษฐกิจจริงในที่สุด ทั้งด้านการลงทุน การจ้างงาน และการบริโภค)

ทีนี้ลองมาดูว่า ต้นทุน 170,000 ล้านบาทนั้น จะเป็นแค่ต้นทุนครั้งเดียว หรือต้นทุนระยะยาวที่จะส่งผลต่อเนื่องไปกับระบบ และเป็นต้นทุนที่จะตกกับใครบ้าง เจ้าของทุน คนชั้นกลาง แรงงานมีทักษะ แรงงานไร้ทักษะ เกษตรกรคนชนบท กลุ่มไหนอย่างไร

ประเด็นแรก…ระยะของผลกระทบ แน่นอนว่าในระยะสั้น เศรษฐกิจจะต้องหยุดชะงักในหลายด้าน การท่องเที่ยวเป็นด่านแรกที่หดตัวอย่างรุนแรง ธุรกิจเกี่ยวเนื่องซบเซาตามมา การบริโภคย่อมชะลอตัวตามภาวะอยู่แล้ว การลงทุนภาครัฐไม่ต้องพูดถึง รัฐธรรมนูญแทบไม่อนุญาตให้ทำได้เลย รวมทั้ง พ.ร.บ.ลงทุน 2 ล้านล้าน (ซึ่งถึงจะมีบางส่วนมีคำถาม แต่ก็มีส่วนที่ดีอยู่ไม่น้อย) ก็ทำท่าจะเป็นโมฆะ ต้องเริ่มกระบวนการใหม่

การลงทุนภาคเอกชนไม่ต้องพูดถึง เพราะในยามที่มีความไม่แน่นอนสูง มีสิ่งมีปัจจัยที่คาดการณ์ไม่ได้มากขนาดนี้ (แม้เรื่องที่ว่า ต่อไปเราจะใช้การปกครองระบอบไหน ประชาธิปไตย เผด็จการทหาร เผด็จการกลุ่มประชาชน หรือแม้แต่ถวายกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์…ยังคาดไม่ถูกเลยครับ) ทุกอย่างย่อมหยุดชะงักโดยแทบจะสิ้นเชิง จนกว่าความไม่แน่นอนต่างๆ จะลดลง ที่หอการค้าประเทศโน้นนี้ออกมาประกาศว่ายังมั่นใจจะลงทุนต่อ อย่าเพิ่งเชื่อเลยครับ คำประกาศราคาถูกกว่าการลงจริงเยอะครับ

การที่กรุงเทพฯ หยุดชะงัก การบริการภาครัฐสะดุดแทบทุกด้าน ธุรกิจเอกชนก็ดำเนินไปอย่างแกนๆ ไม่มีการขยายตัว ยิ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง กรุงเทพฯ เอง ถึงจะมีประชากร แค่ 10% แต่มีส่วนกว่า 25% ของ GDP และยังเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจแทบทุกด้าน ถ้าการชะงักงันยืดเยื้อไป ความเสียหายย่อมเพิ่มพูนตามไปด้วย

ถึงตอนนี้…ผมชักไม่แน่ใจว่า การคาดคะเนของ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ว่าจะเสียหาย 170,000 ล้านนี้ จะเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไปหรือเปล่า

ส่วนที่ว่าจะเป็นการเสียหายยาวนานแค่ไหน ผมคิดว่าย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่าง

อย่างแรก แน่นอนครับ ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์จะคลี่คลายรวดเร็วแค่ไหน ถ้าคลี่คลายเร็วก็ย่อมลดต้นทุนลงไปได้ ถ้ายืดเยื้อยาวนาน ต้นทุนก็ย่อมไหลไม่หยุด (เหมือนอย่าง อียิปต์ ที่ป่านนี้ IMF กับสหรัฐอเมริกา อัดเงินช่วยไปกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แล้วยังเสื่อมถอยไม่หยุด…รับรองว่าเค้าไม่อัดให้เราแน่)

อย่างที่สอง ขึ้นอยู่กับว่าผลลัพธ์ของการคลี่คลายนั้นเป็นอย่างไร ถ้าตกลงกันได้ มีเลือกตั้ง ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ มีรัฐบาลควบคู่ไปกับการปฏิรูป การฟื้นฟูเศรษฐกิจก็จะทำได้เร็วได้ง่าย และเกิดเป็นผลวิเศษยิ่งในระยะยาว (แน่นอนครับ ผมสมมุติว่าการปฏิรูปเป็นเรื่องดีๆ ทั้งนั้น) ซึ่งอย่างนี้ถือได้ว่า การลุกขึ้นมาของมวลมหาประชาชนจะสร้างประโยชน์มหันต์ สร้างคุณอนันต์ ให้กับประเทศชาติ คุ้มสุดๆ แต่ถ้าผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างอื่น เช่น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะแต่อีกฝ่ายยังไม่ยอมรับ พร้อมที่จะก่อเหตุวุ่นวายต่อไปไม่รู้จบ อย่างนั้นถึงจะมีรัฐบาลบริหารประเทศกล้อมแกล้มไปได้บ้าง แต่การลงทุน การบริโภค การท่องเที่ยว ก็จะไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ หรือ ถ้ากลายเป็นเว้นวรรคประชาธิปไตยโดยเผด็จการทหาร เศรษฐกิจก็น่าจะเสื่อมถอยมากขึ้น และที่เลวสุดก็คือเกิดเป็นสงครามกลางเมือง บ้านเมืองไร้ขื่อแป อย่างนั้นไทยก็จะได้รับบันทึกเป็น “รัฐที่ล้มเหลว” (failed state) อย่างแน่นอน

 ที่มาภาพ : Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

อย่างที่สาม ขึ้นอยู่กับขอบเขตของการชุมนุม การประท้วงจากนี้ต่อไป ว่าจะมีการยกระดับไปแค่ไหน จะไปคุกคามหน่วยงานใดอย่างไร อย่างตอนแรกที่มีข่าวว่าจะไปจัดการปิดการดำเนินงานของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ซึ่งต้องขอบคุณ กปปส. ที่ยับยั้งไว้ไม่ทำให้ระบบการเงินมีปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องเปราะบางมาก (อย่างตอนวิกฤติ 2540 ที่ระบบการเงินพังทลายเสียหายกว่า 1.5 ล้านล้านบาท) การจะยกระดับใดๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง จะต้องระวังถึงผลที่จะเกิดทั้งระยะสั้นระยะยาวด้วย

ผมได้แต่หวังว่า ผู้นำการประท้วงจะระมัดระวังไม่ให้เกิดการเสียหายเกินจำเป็น ซึ่งจะกลายเป็นต้นทุนภาระของทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะพวกที่ท่านต้องการทำลายเท่านั้น โดยเฉพาะถ้าท่านเป็นฝ่ายชนะ ก็เป็นหน้าที่ท่านนั่นแหละที่จะต้องรับผิดชอบฟื้นฟูความเสียหายที่เกิด และจะเป็นดัชนีสำคัญที่จะชี้ว่า ชัยชนะนั้นจะยาวนานยั่งยืนแค่ไหน

ขอกลับมาที่ความเสียหายด้านความมั่งคั่ง อันเกิดจากการลดราคาของสินทรัพย์ (effect on asset price) บ้าง คือการลดราคาของอสังหาริมทรัพย์ และราคาหุ้น (กว่าล้านล้านบาท) ซึ่งถึงแม้ดูผิวเผินเหมือนจะเป็นแค่ผลกระทบต่อพวกคนรวย คนมั่งมี แต่ข้อเท็จจริงคือ จะต้องมีผลกระทบไปทั่วไม่น้อย ถ้าราคาอสังหาฯ ลด หนี้ครัวเรือนก็จะมีปัญหา การบริโภคกระทบ ถ้าตลาดทุนแย่ การระดมทุนจะยากขึ้น ต้นทุนสูง นอกจากไม่มีการขยายการผลิต การลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพก็หายไปด้วย ศักยภาพการแข่งขันของประเทศจะลดลงเรื่อยๆ

เรื่องเศรษฐกิจ เป็นเรื่องซับซ้อนเปราะบาง ถึงแม้ไม่มีปัญหาการเมือง เราก็มีปัญหาเยอะอยู่แล้ว (หลายส่วนก็มาจากความห่วยของนโยบายรัฐบาลนั่นแหละ เช่น จำนำข้าว ค่าแรงพรวดพราด) พอมามีเรื่องซ้ำเติมรุนแรงอย่างนี้ เครื่องจักรแทบทุกตัวทำท่าจะดับลง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น อาจต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะเร่งได้อีก เราอาจเจอ “หลายทศวรรษที่สูญหาย” อย่างที่หลายๆ ประเทศเคยเจอมา

ที่น่ากลัวกว่า…คือปัญหาสังคมที่จะตามมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือชะงักงัน ในประเทศเรา ที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาฐานรากที่เป็นบ่อเกิดแท้จริงของความแตกแยก (ผมเคย วิเคราะห์เรื่องนี้มาหลายวาระแล้วครับ)

โดยปกติ ระบบเศรษฐกิจที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้โดยที่ไม่ต้องมีการปฏิวัติชนชั้น มักเกิดได้เฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีเท่านั้น อย่างประเทศจีนนั้น รัฐบาลกำหนดเลยว่า เศรษฐกิจในช่วงต่อไปต้องขยายให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสังคมอันจะเกิดจากความเหลื่อมล้ำ (รายได้ประชาชาติต่อคนของจีน แซงไทยไปแล้วเมื่อปีที่แล้ว)

ลองคิดดูว่า สมมุติว่า “มวลมหาประชาชน” ประสพชัยชนะ ไล่รัฐบาลเสื้อแดง ไล่เพื่อไทยไปได้ แต่เศรษฐกิจชะงัก การเติบโตไม่มี (ถ้าไม่ถดถอย) ผู้ที่ชนะ ซึ่งคือคนชั้นบนชั้นกลาง จะยอมหรือครับ ที่จะเสียสละส่วนที่เคยเป็นของตนแบ่งไปให้กลุ่มคนส่วนใหญ่ซึ่งยังได้รับส่วนแบ่งน้อย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เรื่องอย่างนี้ไม่เคยเกิดในโลก มีแต่ผู้ชนะจะต้องเอาส่วนแบ่งมากขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (ไม่งั้นจะชนะทำหอกอะไรล่ะ) ถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่นานหรอกครับ จะเกิดปัญหาแตกแยกใหม่ ทีนี้อาจไม่ใช่ตระกูลเดิมหรอกครับ อาจเจอคนอย่างคุณชาเวซ ที่บอกคนเวเนซุเอลา ว่าเลือกกูสิ กูจะไปยึดของต่างชาติ ของคนรวยมาแบ่ง เศรษฐกิจฉิบหายช่างมัน ถดถอยไม่เป็นไร ระยะสั้น ริบของคนส่วนน้อยมาแจก ยังไงก็ชนะเลือกตั้ง ระยะยาวก็เลยเป็น “ประเทศล้มเหลว” เลวหมดไปทั่ว

อย่างที่ผมบอกแต่แรกแหละครับ ที่วิเคราะห์มาทั้งหมดเป็นเพียงความเห็นของผม อยากให้มีการวิเคราะห์วิจัยกันให้มากๆ ผมเห็นมีนักเศรษฐศาสตร์เก่งๆ สนับสนุนกำนันอยู่ไม่น้อย ช่วยกันชี้ช่วยกันดึง อย่าให้ต้นทุนสูงเกินไปนัก เดี๋ยวชนะขึ้นมาจริงจะเอาไม่อยู่ อย่าไปสร้างความเสียหายโดยไม่จำเป็น

เขียนมาถึงตอนนี้ รู้สึกเป็นห่วงท่านกำนันอย่างมาก กลัวจะไปซ้ำรอยท่าน “มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์” (Maximilien Robespierre) ผู้นำปฏิวัติฝรั่งเศส ที่โค่นล้มพระเจ้าหลุยส์ และพระนางมารี อังตัวเนต แต่ตัวเองก็ต้องมาจบชีวิตภายใต้กิโยตินเช่นเดียวกัน เพราะ “เอาไม่อยู่” นี่แหละครับ

เขียนมายืดยาว เพื่อเตือนว่า ใครก็ตามที่หวังชัยชนะ at all cost โดยคิดว่า “ยังไงก็คุ้ม” น่าจะต้องคิดให้ดีนะครับ ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ไม่เคยแยกจากกันได้หรอกครับ

เรามีทางลดความเสี่ยงได้โดยวิธีอื่นๆ หรือเปล่าครับ นอกเหนือจากไปชุมนุม มุ่งมั่นไม่ยอมฟังใคร ไม่ยอมประนีประนอมใดๆ ดันทุรังเอาแต่ใจผู้นำ หวังโค่นล้มถอนรากถอนโคนคนตระกูลเดียว บนต้นทุนใหญ่หลวงของทั้งชาติ

ลองมาพิจารณาข้อเสนอที่จะให้มีการปฏิรูป ควบคู่ไปกับการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ภายใต้กฎกติกา ภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน แล้วค่อยๆ ปรับไปสู่สังคมอุดมคติไม่ดีกว่าหรือครับ

ขอให้สตินำปัญญานะครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich
อ่านเพิ่มเติมบทความบรรยง พงษ์พานิช