Policy Meddler
ในยุคที่ภาคประชาชนให้ความสนใจกับผลประโยชน์จากสัมปทานปิโตรเลียม โครงสร้างค่าน้ำมัน ค่าแก๊สแอลพีจี และมุ่งประเด็นไปที่การถูกเอารัดเอาเปรียบของประชาชน น้อยคนนักที่จะสังเกตว่า รายได้จากภาษีน้ำมันนั้น ทำให้เกิดกองทุนสำคัญหนึ่งกองทุน ที่โดยวัตถุประสงค์แล้วน่าจะทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชนโดยตรง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการบริหารจัดการ ทำให้ผลการดำเนินการของกองทุนดังกล่าวยังไม่เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ซ้ำยังเป็นแหล่งเงินมหาศาลที่มีโอกาสเป็นช่องทางแสวงหาประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มเล็กๆ
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กองทุนฯ) จัดตั้งในปี พ.ศ. 2535 ภายใต้ พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 รายได้ของกองทุนมาจากภาษีที่เก็บจากน้ำมันค้าปลีก ทุกครั้งที่ประชาชนไปเติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมัน จะต้องเสียเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตรา 0.07-0.25 บาทต่อลิตร กองทุนฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียน เป็นเงินให้เปล่าสำหรับโครงการหลายรูปแบบ เช่น โครงการศึกษา วิจัยและพัฒนา โครงการอนุรักษ์พลังงานของอาคาร โรงงาน โครงการพลังงานหมุนเวียน โครงการพัฒนาบุคคลากร โครงการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2556 กองทุนมีค่าใช้จ่าย 30,942 ล้านบาทซึ่งให้กับโครงการที่ได้รับการอนุมัติ
แม้จะเป็นวงเงินปริมาณมหาศาลที่มาจากภาษีน้ำมันจากประชาชน แต่ผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับจากกองทุนฯ หลังจากการดำเนินงานเป็นเวลา 20 ปีมาแล้ว ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ ประเทศไทยมีการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิลเพิ่มขึ้น มีมลพิษจากการเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้น ความต้องการพลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงจุดที่กระทรวงพลังงานต้องออกประชาสัมพันธ์ว่าพลังงานกำลังจะหมดประเทศไทย
ในขณะเดียวกันเงินหลักหมื่นล้านต่อปี ไม่ได้ก่อให้เกิดการคิดค้นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยพึ่งตนเองทางด้านพลังงานได้มากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการกองทุนฯ ไม่ได้ผลสัมฤทธิ์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบกับความไม่สำเร็จดังกล่าว คือ การบริหารจัดการที่ไม่มุ่งเน้นผลลัพธ์ ความไม่โปร่งใส โอกาสในการแสวงหาประโยชน์จากกองทุนดังกล่าวโดยผู้เกี่ยวข้อง และโอกาสการแทรกแซงจากนักการเมือง
จากการสัมภาษณ์ข้าราชการปัจจุบันของกระทรวงพลังงาน ซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม ได้ให้ความเห็นว่า กองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานเป็นเหมือนอู่ข้าวอู่น้ำของข้าราชการระดับสูงและนักการเมือง โดยนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงมีอิทธิพลในการกำหนดกรอบวงเงินที่จะอนุมัติในแต่ละปี และลักษณะโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุน และมีบริษัท “ขาประจำ” ที่เกาะกินอยู่กับกองทุนฯ ดังกล่าวปีแล้วปีเล่า ด้วยการริเริ่มโครงการ ขอทุนจากกองทุนฯ และใช้เส้นสายกลุ่มข้าราชการที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการอนุมัติโครงการ โดยมีธรรมเนียมตอบแทนผลประโยชน์ให้แก่ข้าราชการหรือนักการเมืองทั้งในรูปแบบเงินสด การจัดทริปไปเที่ยวต่างประเทศโดยอ้างว่าไปศึกษาดูงาน รวมถึงการตอบแทนในรูปแบบอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ วงเงินค่าตอบแทนมีอัตราระหว่าง 20-30% ของงบโครงการและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลงานที่ผลิต บางครั้งไม่เกิดขึ้นจริง และบ่อยครั้งที่ด้อยคุณภาพ ทำให้ประเทศเสียประโยชน์
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจส่งส่วย กล่าวคือ ข้าราชการที่รับเงินสินบน จะส่งต่อขึ้นให้เจ้านายเป็นทอดๆ ทำให้เกิดการโยงใยของกลุ่มข้าราชการภายในกระทรวงที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในลักษณะ “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” เนื่องจากต่างรู้เห็นในสิ่งที่กระทำจนพัฒนาเป็นวัฒนธรรมองค์กร นำมาสู่ผลกระทบกับการบริหารราชการแผ่นดินด้านอื่นๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหาข้างต้นนี้ ไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยข้อมูลที่เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณะทางเว็บไซต์กองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับกองทุนขนาดใหญ่เช่นนี้ เช่น ไม่มีการเปิดเผยรายงานผลการดำเนินงานประจำปี ไม่มีการเปิดเผยรายงานการประเมินผล ไม่มีการแสดงข้อมูลลักษณะโครงการที่ได้รับการสนับสนุนและรายชื่อโครงการอย่างครบถ้วน และไม่มีการนำผลการศึกษา หรือผลการดำเนินงานของโครงการแต่ละโครงการมาเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ มีเพียงการรายงานสถานะการเงินในแต่ละปีเท่านั้น
ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะระบบการจัดการความรู้และเปิดเผยข้อมูลของราชการไทยยังไม่ได้มาตรฐาน แต่ก็เป็นประเด็นที่พึงระวังว่า การผูกขาดการตัดสินใจโดยกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน ความไม่โปร่งใส และการไม่ต้องรับผิดรับชอบ จะเอื้อให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์
ดังสมการ CORRUPTION = MONOPOLY + DISCRETION – ACCOUNTABILITY