ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > งบประชาสัมพันธ์ 940 ล้านบาทกับโครงการ 2 ล้านล้านที่ยังไม่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญ

งบประชาสัมพันธ์ 940 ล้านบาทกับโครงการ 2 ล้านล้านที่ยังไม่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญ

24 ธันวาคม 2013


ในขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ว่าอาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐบาลรักษาการณ์ยังไม่สามารถนำร่างฯขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยได้ ต้องรอคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน ถ้าวินิจฉัยออกมาว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ร่างฯนี้ก็จะตกลงไปในที่สุด ในทางกลับกันถ้าผลการวินิจฉัยออกมาว่าร่างฯดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำงานหลังการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ก็สามารถที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยได้ในทันที

แม้ตัวร่างฯ 2 ล้านล้าน จะยังติดอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่การประชาสัมพันธ์โครงการของภาครัฐนี้ยังคงดำเนินต่อ เริ่มจากการจัดนิทรรศการและเสวนาภายใต้ชื่องาน “สร้างอนาคตไทย 2020” ที่เป็นนิทรรศการแบบเคลื่อนที่โรดโชว์ไป 12 จังหวัดทั่วประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา มีค่าใช้จ่ายในการจัดงาน 240 ล้านบาท และที่เพิ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมากับโครงการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล มูลค่า 400 ล้านบาท พ่วงมากับโครงการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน(AEC)อีก มูลค่า 300 ล้านบาท

ทั้ง 3 โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้กับประชาชน ถึงแผนรัฐบาล(รักษาการณ์)ที่จะพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคมขนส่งของประเทศและเตรียมรับมือในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน(AEC) มูลค่ารวมเกือบ 940 ล้านบาท

งบประชาสัมพันธ์ 940 ล้าน

การจัดนิทรรศการและเสวนาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ภายใต้ชื่องาน “สร้างอนาคตไทย 2020” หรือจะเรียกอีกอย่างว่าเป็นงานอีเวนต์เดินสายประชาสัมพันธ์โครงการกู้เงิน 2 ล้านล้าน ถูกจัดขึ้นใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ ดังนี้ จังหวัดหนองคาย วันที่ 4-6 ตุลาคม 2556 จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 11-13 ตุลาคม 2556 จังหวัดชลบุรี วันที่ 15-17 ตุลาคม 2556 จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 18-20 ตุลาคม 2556 จังหวัดขอนแก่น วันที่ 25-27 ตุลาคม 2556 จังหวัดนครสวรรค์ วันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2566 จังหวัดฉะเชิงเทรา วันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2556 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2556 จังหวัดเพชรบุรี วันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2556 จังหวัดเชียงใหม่ 15-17 พฤศจิกายน 2556 จังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2556 และปิดท้ายที่จังหวัดสงขลา วันที่ 29 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2556 รวมจำนวนวันในการจัดงานทั้งหมด 30 วัน โดยตั้งเป้าให้มีคนมาร่วมงานทั้งหมดกว่า 5 แสนคน

มูลค่าของโครงการนี้จำนวน 240 ล้านบาทแบ่งออกเป็น 12 จังหวัด จังหวัดละ 20 ล้านบาท โดยภาครัฐทำการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ให้บริษัทเอกชน 2 แห่งเข้ามารับงานโครงการดังกล่าว ซึ่งก็คือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) โดยการจัดซื้อจัดจ้างครั้งดังกล่าวไม่พบว่ามีการเผยแพร่ราคากลางในเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หรือเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งอาจจะเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 103/7 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 โดยการจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการของรัฐต้องมีการเผยแพร่ราคากลางในเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นๆ หรือในเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง

ขณะที่กฎหมายของ ป.ป.ช. เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่จะต้องเปิดเผยเพื่อป้องกันการทุจริตนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เซ็นอนุมัติผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 และให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยนายกฯอาจจะเข้าข่ายมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อีกกรณี เนื่องจากนางสาวยิ่งลักษณ์มีส่วนรับรู้เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้แต่กลับละเลยที่จะปฏิบัติตาม

อย่างไรก็ตามเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ประกาศราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 วงเงิน 40 ล้านบาท และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 วงเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งวันที่ประกาศราคากลางเป็นวันที่เกิดการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษไปแล้ว และจัดงานไปแล้ว 10 จังหวัด จากทั้งหมด 12 จังหวัด

สำหรับกรณีการจัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ที่ต้องการรองรับผู้เข้าชมเป็นหลักหมื่นคนต่อวัน ถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าว่าเงิน 20 ล้านบาทต่อจังหวัดหรือประมาณ 7 ล้านต่อวันนั้นคุ้มหรือไม่ แหล่งข่าวในวงการอีเวนท์เปิดเผยว่าการจัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ที่รองรับผู้เข้าชมจำนวนมากในโรงแรมระดับ 5 ดาวใจกลางกรุงเทพฯ มีมูลค่าในการจัดต่อวันไม่เกิน 4 ล้านบาท แต่กรณีการจัดงาน “สร้างอนาคตไทย 2020” ที่จัดตามหัวเมืองต่างจังหวัด นั้นมีมูลค่าสูงถึง 7 ล้านบาท

เปลี่ยนชื่องบประชาสัมพันธ์เป็นงบศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบ 700 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ไปจัดทำโครงการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล วงเงิน 400 ล้านบาท และโครงการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน วงเงิน 300 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือเงินแซล (SAL) วงเงินรวม 700 ล้านบาท มาทำโครงการดังกล่าว

อนึ่งเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Structural Adjustment Loan) หรือเงินกู้ SAL นั้นกระทรวงการคลังได้กู้มาระหว่างปี 2540 -2542 ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เพื่อนำไปเสริมทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อเสริมสภาพคล่อง บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และการบริหารงานภาครัฐ วงเงิน 1,950 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 83,991.83 ล้านบาท โดยเมื่อปี พ.ศ.2550 ยังมีเงินกู้ SAL เหลืออยู่จำนวน 3,384 ล้านบาท ซึ่งปลอดจากภาระผูกพันใดๆ และสามารถนำมาดำเนินการให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้

ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตุว่าจากการเปลี่ยนชื่อโครงการที่ระบุว่าเป็นการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบ ก็อาจจะมีคำถามว่าแล้วเกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์อย่างไร แต่เมื่อย้อนกลับไปดูวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 โครงการดังกล่าวได้ถูกนำเสนอเข้าที่ประชุมรัฐมนตรีไปแล้ว ซึ่งตอนนั้นกระทรวงการคลังจะขออนุมัติเงินกู้ SAL เพื่อไปสนับสนุนโครงการประชาสัมพันธ์โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลและโครงการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย โดยมีสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการ วงเงินรวม 700 ล้านบาท

แต่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ได้ขอดึงโครงการดังกล่าวกลับไปให้คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการดูอีกรอบถึงความเหมาะสม พอผ่านไป 1 อาทิตย์โครงการดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นโครงการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบฯ และผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในที่สุด โดยมีเนื้อหารายละเอียดโครงการเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนชื่อโครงการและเปลี่ยนหน่วยงานที่รับผิดชอบจากสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมาเป็นสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยโครงการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล วงเงิน 400 ล้านบาท มีรายละเอียดคือการจัดจ้างที่ปรึกษาวงเงิน 125 ล้านบาท การจัดสัมมนาในจังหวัดนำร่อง 12 จังหวัด และกทม.วงเงิน 65 ล้านบาท การจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ 65 ล้านบาท และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลทางสื่อต่างๆ วงเงิน 145 ล้านบาท

ส่วนโครงการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน วงเงิน 300 ล้านบาท มีรายละเอียดคือ การจัดงานไทยแลนด์โรดโชว์ทูอาเซียน วงเงิน 195.192 ล้านบาท การจัดงานสัมมนาระหว่างประเทศและจัดงานไทยแลนด์เอ็กซ์โป ทูเวิร์ดส์ เออีซี 2015 วงเงิน 15.194 ล้านบาท โครงการเพิ่มศักยภาพเมืองด่านพรมแดนรองรับเออีซีวงเงิน 89.614 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องสื่อสารให้ประชาชนรับทราบและตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง แต่โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้าน ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าจะเข้าข่ายขัดหรือไม่ขัดนั้น เป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามขึ้นว่าถ้าหากร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาแล้วงบประมาณประชาสัมพันธ์โครงการมูลค่ากว่า 640 ล้านบาท ที่รัฐได้อนุมัติไปใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ