Hesse004
ดูเหมือนว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยพยายามดันให้ “สุดซอย” น่าจะมีอันต้อง “แท้ง” ไปเสียแล้ว เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากสังคมอย่างหนักทั้งจากฝั่งคนเสื้อแดงและฝั่งที่ต่อต้านคุณทักษิณ
น่าสนใจว่ากฎหมายฉบับนี้ “เรียกแขก” ชนิดที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์แทบจะปรับกระบวนทัพไม่ทัน
หรือถ้าจะพูดให้แรงหน่อย คือ “หางจุกตูด”… ถอยกรูดกันไม่เป็นกระบวน
โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของ “รสนิยม” แต่ละคน เป็นรสนิยมที่ตั้งอยู่บน “หลักการ” และ “ความเชื่อ” ของแต่ละคน
“ระบอบประชาธิปไตย” โดยใช้วิธีการเลือกตั้งยังเป็นระบอบการปกครองสากลที่นานาประเทศต่างยอมรับว่าแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรรทรัพยากรส่วนรวมภายใต้ “ฉันทามติ” ของเสียงส่วนใหญ่ซึ่งมาจากตัวแทนของสังคม (representative)
เพียงแต่ว่าที่ผ่านมา ภาพของ “นักการเมือง” ซึ่งเป็นตัวแทนของสังคมต่างแสดงให้เห็นถึงภาพความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและยึดในประโยชน์ของพวกพ้องเป็นหลัก
ภาพเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากการกระทำของนักการเมืองเอง ที่มุ่งแต่หาคะแนนเสียงทุกรูปแบบ ทั้งยังตะกละตะกลามในผลประโยชน์ เล่นแต่เกมการเมืองและฉกฉวยโอกาสอยู่ตลอดเวลา
ดูเหมือนว่า นักการเมืองที่ไหนๆ ในโลกล้วนแล้วแต่มีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ โกหก ตอแหล ปลิ้นปล้อน ตระบัดสัตย์ ไม่รักษาคำพูด
กรณีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมแบบ “เหมาเข่ง” นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความ “ฉ้อฉล” ของเสียงข้างมากซึ่งอ้างหลักการเรื่องความปรองดองก็ดีหรือ set zero ก็ดี
… เพราะทั้งหมดที่ว่ามานี้ล้วนเป็นเพียงข้ออ้างที่นำมาตอบคำถามกับสังคมให้ดูดี เท่านั้นเอง
น่าสนใจว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ เริ่มต้นจากฉบับของคุณวรชัย เหมะ ซึ่งโดยหลักการแล้วต้องการนิรโทษประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองทั้งฝั่งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงผู้ออกมาเรียกร้องทางการเมืองภายใต้สิทธิและเสรีภาพที่ตัวเองได้รับ เพียงแต่อาจละเมิดกฎหมายบางฉบับ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือ พ.ร.บ.จราจร
อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับนี้จะไม่นิรโทษแกนนำทั้งสองฝ่าย ไม่นิรโทษคนสั่งการให้ปราบปรามประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐที่รับคำสั่งต่อ และที่สำคัญ คือ ไม่ปรากฏชื่อของคุณทักษิณที่ติดคดีทุจริตต่าง ๆ ที่ คตส. ส่งให้ ป.ป.ช. ชี้มูล
แต่เมื่อกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่ชั้น “กรรมาธิการ” ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เป็นคนของพรรคเพื่อไทย นั้น ดูเหมือนว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะ “แปลงร่าง” กลายพันธุ์โดยเฉพาะเนื้อหาและสาระสำคัญภายใต้แนวคิดที่ว่า “set zero” กันเถอะ !!
…เพราะความปรองดอง จึงอยากมาเริ่มต้นกันใหม่
…เพราะความสมานฉันท์จึงอยากให้เลิกแล้วต่อกัน อภัยให้กัน
ทั้งหมดนี้กรรมาธิการเสียงข้างมากคงลืมไปแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับประเทศไทยนับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549
ดูเหมือนว่า set zero ครั้งนี้จะถูกมองว่าเป็นการแสดงละครตบตาของชนชั้นนำด้วยกันเองที่ท้ายที่สุดก็หันมา “จูบปาก” จับมือ “เกี่ยเซี้ย” กัน เพียงเพื่อให้ใครไม่กี่คนได้ล้างมลทิน
และที่ “ทุเรศทุรัง” ไปกว่านั้น คือ การนิรโทษกรรมที่ย้อนหลังไปถึงปี 2547 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ตากใบ นราธิวาส แต่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาเลย
สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่กรรมาธิการเสียงข้างมากต้องตอบให้ได้ว่า นี่หรือ คือเครื่องมือที่จะนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์
นี่หรือ คือหนทางที่จะนำไปสู่ความสงบสุขของสังคมและปรองดองอีกครั้ง
การที่กรรมาธิการเสียงข้างมาก “สัก” แต่ว่ายกมือสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ “เหมาเข่ง” ในวาระสอง ก่อนที่วาระสาม ส.ส. ฟากรัฐบาลจะรีบ “เร่ง” ผ่านกฎหมายฉบับนี้ให้แล้วเสร็จชนิด “หามรุ่งหามค่ำกัน” นั้น แสดงให้เห็นความขยันขันแข็งที่ผิดปกติ เพราะแต่ไหนแต่ไรมา ส.ส. ไทยมักจะมี “สันหลังยาว” กว่าอาชีพอื่นหรือไม่ก็โดดร่มการประชุมกันบ่อยครั้ง
น่าสนใจว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ได้สร้างความตื่นตัวให้กับคนในสังคมอย่างกว้างขวางและกระตุ้นเตือนให้เห็นว่า หากเสียงข้างมากยังดันทุรัง “ฉ้อฉล” เยี่ยงนี้อยู่ บางทีการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจผ่านทางสัญลักษณ์ต่างๆ ย่อมปรากฏให้เห็นเช่นในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้น จึงไม่แปลกใจ หากจะมีสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมสีดำที่ประทับตราว่า “คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ปรากฏตามเฟซบุ๊ก แม้ว่าเหตุผลของการคัดค้าน พ.ร.บ. ฉบับนี้จะมีแตกต่างกัน
การออกมาชุมนุมประท้วงคัดค้านของคนกรุงในรอบนี้ แม้ว่าจะมีให้เห็นไม่บ่อยนักในช่วง 7 ปี หลังรัฐประหารปี 2549 แต่ก็ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ประท้วงในเกาะฮ่องกงเมื่อปี 1973
…เหตุการณ์ประท้วงดังกล่าว มีชื่อว่า Godber’s Corruption
ในช่วงทศวรรษที่ 60-70 ฮ่องกงเต็มไปด้วยปัญหาการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะในวงการสีกากีแล้ว ว่ากันว่าตำรวจฮ่องกงยุคนั้นเลวไม่แพ้ตำรวจชาติใดในโลก
Peter Fitzroy Godber เป็นอดีตอธิบดีกรมตำรวจของเกาะฮ่องกง (Chief Superintendent Police) ในช่วงที่ฮ่องกงยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่
กรณีของ Godber พบว่า มีการฉ้อฉลทุจริตกินสินบนและยักย้ายถ่ายโอนเงินหลวงไป 4.3 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือราวๆ 600,000 ดอลลาร์
ต่อมาเงินก้อนนี้ถูกตรวจสอบพบว่าได้มาโดยมิชอบซึ่ง Godber ก็ไม่สามารถอธิบายที่มาของเงินก้อนนี้ได้ ก่อนที่ตัวเองจะหลบหนีออกนอกประเทศไปตามสูตรของคนขี้โกง
การหลบหนีของ Godber ทำให้คนฮ่องกงรู้สึก “เจ็บใจ” และคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องคิดบัญชีสะสางเรื่องคอร์รัปชันกันเสียที
ชาวฮ่องกงรู้สึกว่ากรณี Godber สะท้อนให้เห็นความเหลวแหลกของสังคมที่เต็มไปด้วยข้าราชการขี้ฉ้อ ตำรวจขี้โกง นักธุรกิจที่จ้องแต่จะเอาผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว
ท้ายที่สุดความอึดอัดดังกล่าวได้ทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาประท้วงและเดินขบวนภายใต้สโลแกนที่ว่า “Fight corruption, arrest Godber”.
กระแสการเรียกร้องต่อต้านคอร์รัปชันและจับ Godber ให้ได้นั้นดูเหมือนจะ “ดังพอ” ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยให้มีการตั้งหน่วยงาน Independent Commission Against Corruption หรือ ICAC ในปี 1974
Peter Fitzroy Godber จุดเริ่มต้นของการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจังในฮ่องกง
ICAC หรือ ป.ป.ช. ฮ่องกงได้รับการกล่าวขวัญเป็นอย่างมากในเรื่องความตงฉินและกล้าที่จะปราบคอร์รัปชัน อีกทั้งมีความเป็นอิสระในการทำงานโดยไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน
ICAC ได้ลากเอา Godber มาติดคุกในฮ่องกงจนได้ในปี 1975 และหลังจากนั้น ICAC ก็ไล่ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐขี้โกงทั้งหลายจนทำให้ตำรวจฮ่องกงถึงกับ “สไตรค์” ไม่ยอมทำงานเพราะถูกตรวจสอบจนไม่กล้าที่จะโกงอีกต่อไป
ใครที่สนใจเรื่องของ ICAC ในภาคบันเทิงสามารถหาชมได้จากซีรีส์ชุด War of Bribery (1996) หรือในชื่อไทยว่า “พยัคฆ์ร้าย ICAC”ซึ่งเป็นซีรีส์ฮ่องกงแอคชันแนวสืบสวนที่ได้พล็อตเรื่องจากคดีคอร์รัปชันต่างๆ ในฮ่องกง
ทุกวันนี้ ICAC กลายเป็นอีกหนึ่งโมเดลของการปฏิรูปการปราบปรามการคอร์รัปชันที่ประสบผลสำเร็จ …แต่ก็ไม่แน่ใจว่า ป.ป.ช. บ้านเราหรือเหล่ากรรมาธิการทั้งหลายในสภาชุดต่างๆ จะไปดูงานที่นี่มาแล้วกันกี่ครั้ง
…เพราะดูเหมือนว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของบ้านเราก็ยังไม่แตกต่างจากฮ่องกงเมื่อ 50 ปีก่อนที่จะมี ICAC