ThaiPublica > คนในข่าว > 16 วันทำการของ “วิฑูรย์ แนวพานิช” ประธานคนใหม่(ชั่วคราว)สหกรณ์ฯคลองจั่น ความใน(ใจ)ที่ลาออก

16 วันทำการของ “วิฑูรย์ แนวพานิช” ประธานคนใหม่(ชั่วคราว)สหกรณ์ฯคลองจั่น ความใน(ใจ)ที่ลาออก

30 ตุลาคม 2013


นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งชาติ และในฐานะประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ชุดชั่วคราว
นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งชาติ และในฐานะประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ชุดชั่วคราว

หลังจากที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีคำสั่งปลดคณะกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นทั้งคณะเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 และแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่(ชั่วคราว)เข้าไปแก้ปัญหา ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556 นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งชาติ และในฐานะประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ชุดชั่วคราว ได้รับการแต่งตั้งจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 หลังจากเข้าไปบริหารได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ได้เชิญสหกรณ์ทั้งหมด 52 แห่งมาประชุม ซึ่งทั้ง 52 แห่งนี้เป็น 1) สหกรณ์เจ้าหนี้ที่นำเงินมาฝากสหกรณ์ฯ คลองจั่น 42 แห่ง และ 2) สหกรณ์อื่นๆ ที่ไม่ได้ทำธุรกรรมกับสหกรณ์ฯคลองจั่น แต่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูงอีก 10 แห่ง เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยมหิดล สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลตำรวจ สหกรณ์ออมทรัพย์การบินไทย เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นวิธีแก้ปัญหาวิกฤติสภาพคล่องและต้องการให้ทุกสหกรณ์ทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง

เมื่อจากการประชุมเสร็จสิ้น ตัวแทนสหกรณ์เจ้าหนี้คลองจั่น เริ่มรู้สึกมีความหวังอีกครั้งหลังทราบข้อเท็จจริงและแนวทางของประธานคนใหม่ที่เข้ามาแก้ปัญหา แต่จากนั้นไม่นานก็ต้องตื่นตระหนกกับอีกข่าวหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครในที่ประชุมคาดคิดมาก่อน เมื่อนายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานสันนิบาตสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้นำของสหกรณ์กว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ ประกาศลาออกจากประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นชุดชั่วคราว โดยยื่นหนังสือโดยตรงกับนายทะเบียนสหกรณ์

การลาออกอย่างกะทันหันสร้างคำถามมากมายแก่วงการสหกรณ์ แต่ยิ่งกว่านั้นคือ สมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่นที่เคยทุกข์จากการเบิกเงินไม่ได้ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดในอดีต จนตอนนี้ยิ่งทุกข์หนักเพราะเหมือนคนที่เป็นความหวังก็ยังทอดทิ้งไป

หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าเป็นปัญหาที่หนักมากกว่าที่คิดจึงต้องวางมือจริงๆ หรือประเด็นที่อดีตกรรมการชุดที่ 29 ซึ่งมีนายศุภชัยเป็นประธานเตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งปลดของนายทะเบียน จึงสร้างแรงกดดันให้นายวิฑูรย์ต้องหลีกทางให้ แต่ไม่ว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร ขณะนี้ความเชื่อมั่นของเจ้าหนี้และสมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่นยิ่งดับวูบลงกว่าเดิม

เป็นเวลาเพียง 16 วัน หากนับเวลาตั้งแต่เริ่มทำหน้าที่เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 และยังไม่มีนโยบายที่ออกมาเป็นรูปธรรมต่อสมาชิก เนื่องจากกรรมการใหม่ชุดชั่วคราวทุกคนไม่ทราบรายละเอียดของปัญหาทั้งหมดอย่างที่นายวิฑูรย์ให้สัมภาษณ์ในวันแรก

“ผมก็เพิ่งทราบว่าต้องรับตำแหน่งก็ตอนคุณสรยุทธ (เรื่องเล่าเช้านี้) อ่านข่าวตอนเช้าวันนั้นแหละ”

สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์นายวิฑูรย์ แนวพานิช หลังลาออกจากตำแหน่ง พร้อมเปิดใจกับสถานการณ์ที่ต้องเผชิญและสิ่งที่คิดจะเพื่อสหกรณ์ฯ คลองจั่น และบทเรียนที่จะต้องบันทึก

ไทยพับลิก้า : สาเหตุของการลาออกฟ้าผ่าครั้งนี้คืออะไร

วิฑูรย์ :การประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ผมจัดในฐานะประธานสันนิบาต ไม่ใช่ฐานะประธานกรรมการชั่วคราวของสหกรณ์ฯ คลองจั่น ซึ่งมีมติจะจัดประชุมตั้งแต่สิบวันที่แล้ว แต่ระหว่างสิบวันที่ผ่านมา สถานการณ์สหกรณ์ฯ คลองจั่นก็เปลี่ยนไปตลอด ตามความเดือดร้อนของสมาชิก

ถ้าผมไม่ทำอะไรสักอย่าง จะไม่เกิดการบูรณาการของระบบ แล้วไม่มีอะไรที่ผมทำได้ดีไปกว่าการลาออก เพราะกรรมการชั่วคราว 15 คน ไม่มีทางจะแก้ปัญหาสหกรณ์ฯ คลองจั่นได้ ไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้นเราต้องเอารัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และขบวนการสหกรณ์ต้องตื่นขึ้นมาช่วยกัน

ถ้าไม่ช่วยที่นี่ วันนี้ เริ่มมองเห็นผลกระทบกันแล้ว สหกรณ์ทุกจังหวัดบางแห่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ฯ คลองจั่นเลยก็โดนไปด้วย แล้วมันจะแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่แก้ที่นี่ เมื่อที่นี่เป็นต้นเหตุก็ต้องเอาให้อยู่ ต้องบูรณาการทุกอย่าง บางอย่างต้องแก้ระเบียบ บางอย่างต้องแก้กฎหมาย วันนี้ที่ผมมองเห็นคือ วันศุกร์ที่ 25 คือไม่ต้องไปเอารัฐบาล ขอแค่รัฐบาลลงมาค้ำประกัน ค้ำไปเงินก็ไม่หาย มันเอาไปให้คน เพื่อให้องค์กรมันเดินได้ ดังนั้นเงินไม่ได้เอาไปถลุงฟรี หรือเอาไปชดเชยเหมือนราคาข้าวที่มันไปแล้วไปเลย ตรงนี้คือเอาไปแก้ปัญหา องค์กรก็ยังมีทรัพย์สินยังมีเงินอยู่ ถึงแม้อาจพูดกันว่าเงินหายไปถึง 16,000 ล้านบาท แต่จริงๆ ยังไม่หมดหรอก แค่อีกนานกว่าจะได้คืน แต่ก็ยังมีภาคธุรกิจหรือทรัพย์สินอื่นอีกที่ใช้ดำเนินธุรกิจได้

ที่ตัดสินใจลาออก ก็รอสัญญาณจากส่วนราชการว่าจะเข้ามาช่วยเหลือจริงจังหรือไม่ เคยเสนอให้ช่วยมาดูปัญหาที่แท้จริงของสหกรณ์ มาเปิดตัวเลขดูกับกรรมการได้หรือไม่ว่าจะช่วยจะฟื้นฟูอย่างไร มาดูว่ากรรมการชุดชั่วคราวทำงาน แล้วพบอุปสรรคหลายต่อหลายอย่าง แล้วคนที่ส่งเข้ามาควรเป็นระดับรองอธิบดีที่สามารถตัดสินใจสั่งการได้ ที่ผ่านมาเคยส่งสัญญาณไปหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีการตอบรับมา เราเคยเชื่อว่าถ้าร้องผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะส่งไปถึงระดับกระทรวงหรือรัฐบาลได้

วันที่ 9 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่ต้องเข้าทำงานที่นี่(สหกรณ์ฯ คลองจั่น) ไม่ยอมบอกผมก่อนเลยทั้งที่ต้องรับผิดชอบงานใหญ่ขนาดนี้ สื่อรู้ก่อนผมอีก ผมก็รู้ตอนรายการคุณสรยุทธนั่นแหละ ถามว่ากรมทำอย่างนี้ผิดหรือถูก พอวันแรกเจอหน้าอธิบดีสมชาย(ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์)บอกว่าให้ทุนมาแก้ปัญหา 3,000 ล้าน และให้เบิกค่าใช้จ่ายทุกอย่างกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ แต่ถึงวันนี้ก็ไม่เคยได้รับการสนับสนุนเลย ไม่ต้องพูดถึงว่ากรรมการชั่วคราวร้องขออะไร แม้แต่สิ่งที่เขาพูดว่าจะทำให้ทั้งหมด ก็ไม่เคยทำให้สักอย่าง

ไทยพับลิก้า : ได้มีการวางแผนแก้วิกฤติสำหรับส่วนสมาชิกบุคคลหรือยัง

วิฑูรย์ : สมาชิกรายบุคคลจะระงับการลาออกไว้ทั้งหมด แต่ถ้าสหกรณ์ฯ คลองจั่นหาแหล่งเงินกู้ได้เมื่อใด ก็คาดว่าจะให้ถอนบัญชีออมทรัพย์หรือออมทรัพย์พิเศษบัญชีละ 10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากที่ผ่านมีปัญหาร้องเรียนเรื่องความไม่เท่าเทียมจากการถอนเงินมาก แต่หากมีสมาชิกที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งก็ให้นำหลักฐานมาให้คณะกรรมการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษไป โดยคาดว่าจะเริ่มให้ถอนเงินได้สักกลางเดือนพฤศจิกายน หรืออย่างช้าก็ต้นเดือนธันวาคม นอกจากนี้ยังคาดว่าน่าจะให้ถอนได้เป็นสัดส่วนอีกทีหนึ่งก่อนที่คณะกรรมการชั่วคราวจะหมดวาระ

ส่วนเรื่องแผนฟื้นฟูกิจการได้พูดคุยกันคร่าวๆ ว่าจะทำให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ โดยจะพยายามรวบรวมข้อมูลที่สำคัญของสหกรณ์ให้เป็นระบบที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน หนี้สิน หรือรายงานการประชุมต่างๆ เราจะไม่ปล่อยให้คณะกรรมการชุดใหม่ต้องรับสภาพที่มาแต่ตัว ส่วนราชการก็ไม่ค่อยใส่ใจ อีกทั้งเจ้าหน้าที่สหกรณ์ก็ไม่ค่อยร่วมมือ เหมือนที่ชุดชั่วคราวประสบ หรือแม้แต่การเตรียมหลักฐานสำหรับฟ้องร้องคดีเราก็จะเตรียมให้ แต่กรรมการชุดนี้จะไม่ฟ้องร้องเอง เพราะดำเนินนโยบายไม่เป็นศัตรูกับใคร แค่แก้ปัญหาของสหกรณ์ก็ถือว่าตึงมือมากแล้ว ยกเว้นถ้าคดีมีข้อจำกัดด้านอายุความ เราก็จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

วิฑูรย์ แนวพานิช

แต่แผนการหลังจากนี้ต้องลงรายละเอียดมากกว่าที่ผมคิด ตัวองค์กรที่มีลูกหนี้หรือพวกบ้านการเคหะต่างๆ หมื่นกว่าล้าน เป็นทรัพย์สินที่มีต้นทุนคือเงินฝากจากสมาชิก มีต้นทุนอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี เป็นลักษณะของการจูงใจซึ่งมากเกินตลาด ปีหน้าควรลดเหลือสักร้อยละ 4.5 ก็พอ แล้วสหกรณ์นำเงินไปปล่อยกู้ที่ร้อยละ 12 ค่าบริหารจัดการสหกรณ์ไม่ควรเกินร้อยละ 1 ดังนั้น กำไรควรอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ถ้าเงินหมื่นกว่าล้านควรมีกำไรอยู่ที่ 700 ล้าน นี่เป็นตัวเลขที่ไม่ได้บิดเบือน สหกรณ์ฯคลองจั่นยืนยันมาโดยตลอด ตัวค่าใช้จ่ายควรนำมาปรับลดบางตัวที่มันอุ้ยอ้าย เพราะบางตัวเขาทำมาเพื่อสร้างภาพ แล้วทำให้ค่าใช้จ่ายมันสูง ผมเชื่อว่าลดลงมาอย่างน้อยๆ ต้องลดได้สัก 100 ล้าน

นอกจากนี้ ต้องปลุกสมาชิกและขบวนการสหกรณ์ให้มุ่งมั่นแก้ปัญหาที่นี่ให้ได้ ช่วยอย่างไร ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ผลิตน้ำดื่มสักยี่ห้อหนึ่ง ติดยี่ห้อคลองจั่น ให้ทุกคนที่เป็นสมาชิกไม่เฉพาะคลองจั่น ช่วยซื้อน้ำยี่ห้อนี้ดื่ม สมาชิกสหกรณ์ทั้งประเทศมีเป็นล้านคน หรือเอาข้าวจากสหกรณ์เกษตรต่างๆ แล้วมาติดยี่ห้อคลองจั่นให้สมาชิกช่วยกันซื้อบริโภค ยังมีสินค้าอีกหลายอย่างที่สมาชิกสหกรณ์ต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวัน แค่นี้ก็สร้างกำไรได้ปีหนึ่งๆ น่าจะถึงร้อยล้าน ถ้ากำไรรวมจริงๆ ของสหกรณ์ได้ถึงปีละ 800 ล้านบาท ผมเชื่อว่าจะคืนเงินต้นให้แต่ละที่ได้ ไม่ต้องคืนตลอด 10 ปีอย่างที่วางแผนไว้ แต่ถ้าทำได้จริงตลอดสัก 2-3 ปี ความเชื่อมั่นก็จะฟื้นแล้ว สหกรณ์อื่นๆ ก็จะเปลี่ยนใจลงทุนต่อ

ดังนั้นช่วง 1-2 ปีแรกเท่านั้นที่ต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้สมาชิกคลองจั่นหรือขบวนการสหกรณ์ ถ้าที่นี่ฟื้น สหกรณ์ทุกแห่งจะฟื้นกันหมด แต่ถ้าที่นี่มีผลกระทบ สหกรณ์อื่นถูกปรับดอกเบี้ยจากธนาคารแค่ร้อยละ 1 ต้นทุนก็เพิ่ม เป็นเงินมหาศาลแล้ว ทำไมถึงไม่เอาส่วนที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยธนาคารมาอุ้มที่นี่แทนล่ะ มาช่วยกันฟื้นเพราะที่นี่ไม่ได้ตกลงเหวขนาดที่ขุดไม่ขึ้น ช่วยฟื้นที่นี่สร้างความเชื่อมั่นให้ระบบสหกรณ์ แค่นี้ธนาคารก็จะไม่เพิ่มดอกเบี้ยกับสหกรณ์อีก

ถามว่าแผนที่บอกไปมันเป็นไปได้แค่ไหน บอกเลยว่าโอกาสสูง แต่ตอนนี้ต้องช่วยเหลือชาวบ้านก่อน ไปดูว่าเขาจำเป็นต้องใช้เท่าไร เราเริ่มมองเห็นแล้วว่ามันอาจไม่ได้ใช้เงินมากอย่างที่คิดไว้ตอนแรก สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอาจใช้ไม่ถึงหนึ่งพันล้านด้วยซ้ำ หากได้เจรจาต่อรอง สมมุติว่าสหกรณ์ทุกแห่งยอมรับว่าจะจ่ายเงินในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยให้ในสัดส่วนร้อยละ 30 ตามที่ผมเสนอไป จะใช้เงินประมาณ 120 ล้าน สำหรับสหกรณ์บางแห่งอาจเดือดร้อนหนักก็ต้องยอมแบ่งจ่ายเงินต้นให้ร้อยละ 20 ของเงินต้นแต่ละรายให้และให้เป็นบางราย คาดว่าจะใช้สัก 400 ล้านบาท และในส่วนการคืนเงินสมาชิกจะใช้ไม่เกิน 400-500 ล้านบาท รวมแล้วใช้ราวๆ หนึ่งพันล้านบาท แต่ถ้าคิดจากฐานคืนเงินต้นร้อยละ 20 ให้สหกรณ์ทุกแห่งอาจต้องใช้เงินประมาณ 2,500 ล้านบาท

และถ้ากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ยอมผ่อนปรนเงื่อนไข ให้สหกรณ์เจ้าหนี้คลองจั่นไม่ต้องบันทึกเงินฝากเป็นเงินสงสัยจะสูญ แล้วแปลงเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 10-20 ปี ก็จะช่วยแก้ปัญหาเพิ่มได้อีกเปลาะหนึ่ง ซึ่งตอนนี้กำลังเจรจาอยู่

“วิฑูรย์” ขอความร่วมมือช่วยอุ้มสหกรณ์ฯคลองจั่น หวั่นล้มทั้งกระดาน

ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมสันนิบาตสหกรณ์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 ว่าไม่ปรากฏตัวแทนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์หรือกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ร่วมประชุมด้วย อีกทั้งกรรมการชุดชั่วคราวของสหกรณ์ฯ คลองจั่นมาร่วมประชุมเพียง 3 คนจาก 15 คน ซึ่งทั้ง 3 คนเป็นกรรมการสันนิบาตสหกรณ์

โดยนายวิฑูรย์ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า หลังจากศึกษาปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น รายละเอียดพบว่า ด้านสินทรัพย์มีประมาณ 22,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินให้กู้ยืมระยะสั้น 3,800 ล้านบาท เงินให้กู้ยืมระยะยาว 11,223 ล้านบาท ลูกหนี้เงินยืมทดรอง 3,300 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินฝากธนาคารและอสังหาริมทรัพย์ ด้านหนี้สินประมาณ 16,000 ล้านบาท เป็นลูกหนี้สหกรณ์ 70 แห่ง ยอดรวมราว 8,000 ล้านบาท เป็นลูกหนี้สมาชิกบุคคล 6,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้สินอื่นๆ ด้านรายได้จากที่ระบุว่าปี 2555 มีกำไรสุทธิ 400 กว่าล้านบาท แต่ส่วนรายได้กลับเป็นดอกเบี้ยค้างรับกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเป็นกำไรแค่ทางบัญชี แต่ความจริงคือขาดทุนกว่า 500 ล้านบาท

นายวิฑูรย์กล่าวว่า สำหรับลูกหนี้ของสหกรณ์แบ่งประเภทเป็น 2 แบบ ได้แก่ สินเชื่อที่เป็นปกติประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท สินเชื่อที่ไม่ปกติคือกลุ่มลูกหนี้สมาชิกสมทบ ประมาณ 13,000 ล้านบาท และยังมีเงินทดรองจ่ายที่นายศุภชัยมีชื่อเป็นลูกหนี้อีกราว 3,000 ล้านบาท

นายวิฑูรย์กล่าวว่า เงินจำนวน 16,000 ล้านบาทที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดียังไม่ยุ่งกับส่วนนี้ เนื่องจากต้องใช้เวลาจัดการตามขั้นตอนของกฎหมาย และอยู่นอกเหนืออำนาจของคณะกรรมการ แต่เพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต้องตกลงกันให้ได้ว่าแต่ละสหกรณ์พอใจรับชำระหนี้จากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเท่าไหร่ และหาแหล่งเงินกู้ระยะสั้นจากที่ไหนเพื่อเสริมสภาพคล่องต่อลมหายใจให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นได้ โดยเท่าที่ทราบสหกรณ์ฯ คลองจั่นยังมีทรัพย์สินเป็นแฟลตหรือบ้านเอื้ออาทรอยู่พอสมควร

นอกจากทรัพย์สินที่เป็นชื่อของสหกรณ์ ทรัพย์สินที่นายศุภชัยเป็นเจ้าของและอยู่ระหว่างถูกอายัดซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดิน พบว่ามี 2 แปลงใหญ่ ที่แรก คือ ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อีกแห่งหนึ่งคือ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 300 แปลง ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เจรจากับนายศุภชัยเพื่อให้ยินยอมขายที่ดินดังกล่าว จากที่ทราบตอนนี้มีคนขอซื้อที่ดินดังกล่าวแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้สหกรณ์เจ้าหนี้คาดหวังทรัพย์สินส่วนที่ยึดมา หรือการชำระเงินคืนจากลูกหนี้สมทบ

“ส่วนที่จะหวังเงินจากลูกหนี้สมาชิกสมทบนั้นอย่าเพิ่งสนใจนัก เพราะแม้แต่เอกสารตัวจริง ทั้งสัญญาเงินกู้และตัวโฉนดที่นำไปค้ำประกันยังไม่รู้ว่าเป็นของใครบ้าง แล้วจดจำนองกันแบบไหน อีกหลายคนก็ให้การกับดีเอสไอว่าไม่ได้เซ็นสัญญากู้เงิน ไม่ได้นำเงินสหกรณ์ไปจริง มี 2 รายที่ฟ้องกลับว่าปลอมแปลงเอกสารด้วย แต่อย่าเพิ่งตัดใจว่าจะไม่ได้เงินคืนทั้งหมด ต้องรอให้ทางคณะกรรมการตรวจสอบเอกสารต่างๆ ก่อน แล้วสอบถามไปยังลูกหนี้ทั้งหมดก่อน”

ตอนนี้เอาเงิน 16,000 ล้านยกออกไปก่อน จะได้คืนเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ไม่ได้บอกว่าไม่ได้คืนแต่ต้องยกออกก่อน เรามาเอาแผนจริงๆ ธุรกิจพื้นฐานให้ไปได้ก่อน ถ้าเราลงครั้งนี้ไปสัก 2,000 ล้านบาทเชื่อว่ากำไรต่อปีเกิน 400 ล้านบาท มันจะได้คืนจริงแน่นอน แล้วระยะยาวธุรกิจพื้นฐานจะแข็งแรง ที่ผมทราบจากกรรมการบริษัทสหประกันชีวิต ก็สามารถสร้างรายได้ ทุกสหกรณ์จะได้ทยอยคืนหมดทั้งที่ลงไว้แล้วและที่จะลงเพิ่มให้คลองจั่นในเวลาไม่เกิน 10 ปีตามแผนฟื้นฟู แต่วันนี้ทุกที่ต้องช่วยกันไม่ให้เขาล้มก่อน หากล้มภาพลักษณ์มันจะเสียหายมาก พวกเราก็กู้กันไม่ฟื้นแล้ว ดังนั้นเราต้องเติมสภาพคล่องให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นอย่างเร็วที่สุด”

ประธานชั่วคราวสหกรณ์ฯ คลองจั่นกล่าวว่า ปัจจุบันตั้งแต่มีข่าวไม่ดี สหกรณ์ฯ คลองจั่นมีรายรับจากการชำระหนี้และฝากหุ้นจากสมาชิก (บังคับขั้นต่ำ 100 บาทต่อเดือน) รวมได้ประมาณเดือนละ 20 ล้านบาท ซึ่งลูกหนี้หลายรายเมื่อเห็นว่าสหกรณ์มีปัญหาจึงชำระเพียงขั้นต่ำหรือไม่ชำระต้นคืนด้วย ส่วนการชำระค่าหุ้นสมาชิกก็เลือกที่จะจ่ายขั้นต่ำ 100 บาทแทน จากที่แต่ก่อนชำระค่าหุ้นเดือนละหมื่นหรือแสนบาทตามกำลัง

นายวิฑูรย์กล่าวว่า คณะกรรมการประเมินวงเงินที่ต้องใช้แก้ปัญหาช่วงแรกเพื่อเรียกคืนศรัทธาของสมาชิกไว้ราวๆ 2,500 ล้านบาท โดยจะแบ่งจ่ายให้ผู้เดือดร้อน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือสหกรณ์เจ้าหนี้เนื่องจากใกล้จะต้องปิดบัญชีประจำปี ถ้าไม่ได้เงินคืนบางส่วนก็อาจต้องบันทึกเงินฝากเป็นหนี้สงสัยจะสูญ ทำให้ผลประกอบการขาดทุนทั้งที่ควรจะได้กำไร กลุ่มที่ 2 คือ สมาชิกสหกรณ์ธรรมดา กลุ่มนี้ถือว่าหนักกว่ากลุ่มแรก เพราะหลายคนไม่ได้กระจายการฝากเงิน

ผู้สื่อข่าวรายว่า การประชุมในวันนั้น มีการหารือในหลายประเด็น อาทิ ด้านการชำระหนี้แก่สหกรณ์เจ้าหนี้ นายวิฑูรย์เสนอที่ประชุมว่า สหกรณ์ฯ คลองจั่นจะจ่ายร้อยละ 30 ของดอกเบี้ยค้างตลอดปีนี้ โดยวางแผนว่าจะทำให้ได้ก่อนสิ้นปี ส่วนเงินต้นจำเป็นต้องเฉลี่ยคืนอย่างน้อยอีก 10 ปี แต่บางสหกรณ์มีข้อเสนอขอคืนดอกเบี้ยของปี 2555 ทั้งหมด หรือคืนดอกเบี้ยร้อยละ 30 พร้อมเงินต้นอีกร้อยละ 20

ด้านการระดมทุน นายวิฑูรย์กล่าวว่า อยากให้ทั้งขบวนการสหกรณ์ร่วมมือช่วยแก้ปัญหานี้ เพราะเป็นปัญหาหนักที่สุดในประวัติศาสตร์วงการสหกรณ์ คณะกรรมการเพียง 15 คนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อีกทั้งเป็นเรื่องยากที่จะพึ่งพาเงินจากนอกวงการ ส่วนดอกเบี้ยไม่ต้องเป็นห่วง เนื่องจากกรมส่งเสริมสหกรณ์อนุมัติเงินผ่านกองทุนพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ (กพส.) จำนวน 100 ล้านบาท เพื่อใช้ชำระดอกเบี้ยแทนสหกรณ์ฯ คลองจั่น ถ้าต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่นๆ ขณะที่สหกรณ์อื่นๆ เสนอให้รัฐบาลหรือกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าเป็นผู้ค้ำประกันเงินแก่ผู้ปล่อยกู้สหกรณ์ฯ คลองจั่น

“ถ้าเราช่วยกันแก้ครั้งนี้ ไม่ใช่แก้เพื่อสหกรณ์ฯ คลองจั่น แต่แก้เพื่อทั้งขบวนการสหกรณ์ มันใหญ่มาก มันเจ็บอยู่แล้ว แต่มันรักษาแล้วไม่หาย เราอาจต้องถามซ้ำอีกว่าจะยอมเจ็บตัวซ้ำอีกครั้งไหม แต่มีโอกาสหาย แต่ถ้าทุกสหกรณ์บอกว่าไม่ยอมเจ็บตัวแล้ว เราเจ็บมาพอแล้ว แล้วทุกคนละเลยไม่แก้ปัญหาที่แท้จริง ก็อย่าคาดหวังว่ามันจะฟื้นได้ใน 10 ปี ถ้าเราไม่สร้างความเชื่อมั่นร่วมกัน แล้วไม่ร่วมมือกันแก้ปัญหาโดยมองว่ารัฐบาลเท่านั้นที่จะช่วยแก้ได้ แล้วถ้ารัฐตัดสินใจไม่ช่วย มันจะงานหนักทันที ดังนั้นเราควรคิดช่วยเหลือตนเองก่อน”

นอกจากนี้ ตลอดการประชุม ทุกสหกรณ์ยังวิจารณ์บทบาทของกรมส่งเสริมสหกรณ์และรัฐบาล ว่าสมควรมีส่วนร่วมแก้ปัญหามากกว่านี้ รวมทั้งควรหาเครื่องมือให้คณะกรรมการชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเป็นผู้ประสานกับแหล่งทุน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดี ถ้าให้ดีที่สุดคือเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ เพราะหากปล่อยให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นล้มละลายไป จะยิ่งส่งผลกระทบต่อสหกรณ์ทั้งระบบคิดเป็นมูลค่าสูงกว่าเงินที่นำมาช่วยให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นฟื้น

ช่วงท้ายการประชุม นายวิฑูรย์กล่าวกับสหกรณ์เจ้าหนี้ว่า อยากให้เห็นใจผู้ฝากรายบุคคลด้วย เพราะกลุ่มนี้เดือดร้อนหนักกว่าส่วนสหกรณ์เจ้าหนี้มาก สหกรณ์อาจขาดทุน แต่สมาชิกบางคนแทบไม่มีอะไรกิน ดังนั้น ก่อนสิ้นปีนี้ต้องกันเงินส่วนหนึ่งให้รายบุคคลก่อน

“ผมเชื่อว่าทุกสหกรณ์ถูกกดดันจากสมาชิกสหกรณ์ของตนละกรรมการ ถึงมาระบายความทุกข์วันนี้ แต่ผมได้เจอของจริงที่หนักกว่านี้ คือ สมาชิกที่เป็นรายคน ลูกป่วย ต้องเข้าผ่าตัดวันนี้ แล้วถ้าถอนเงินไปวางที่โรงพยาบาลไม่ได้วันนี้เขาจะไม่ผ่าตัดให้ ทั้งที่สหกรณ์ก็สัญญาว่าจะให้ถอนเงินวันนี้ แต่วันจริงไม่มีเงินให้ สมาชิกรายบุคคลเจอหนักกว่าสหกรณ์เจ้าหนี้มาก” นายวิฑูรย์กล่าว

ด้านนายสุรพล พงษ์เมธีอภิชัย เลขานุการกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้ความเห็นต่อประเด็นข้างต้นว่าตามกฎหมายของ พ.ร.บ.สหกรณ์ ถ้าประธานดำเนินการลาออก คนที่เป็นรองประธานฯต้องทำหน้าที่รักษาการแทน แต่อาจจะมีการเลือกประธานกันใหม่ภายใน หรือจัดประชุมวิสามัญเพื่อเลือกตั้ง แต่กรณีนี้กรรมการมีที่มาจากการแต่งตั้ง จึงขึ้นกับดุลพินิจของนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ผ่านมากรมไม่เคยได้รับรายงานว่าคณะกรรมการสหกรณ์ฯคลองจั่นชุดชั่วคราว เคยขอความอนุเคราะห์กับกรม จึงไม่ทราบความต้องการ และขอยืนยันว่าที่ผ่านมากรมไม่เคยนิ่งเฉยหรือละเลยปัญหาสหกรณ์ฯคลองจั่น โดยส่วนตัวเห็นว่าถ้าประธานสันนิบาตสหกรณ์ซึ่งเป็นผู้นำขบวนการสหกรณ์ทั้งประเทศยังขอความช่วยเหลือจากสหกรณ์ต่างๆ ไม่ได้ ก็คงไม่มีใครอื่นที่จะขอความร่วมมือสหกรณ์ต่างๆได้เช่นกัน

นายเฉลิมพล ดุลสัมพันธ์ ประธานชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะรองประธานสหกรณ์ฯคลองจั่น กล่าวว่าตามกฎหมายตนเองจะต้องขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสหกรณ์ฯคลองจั่นแทนนายวิฑูรย์ ยอมรับว่าเคยมีความคิดจะลาออกเหมือนกัน เพราะปัญหาค่อนข้างหนัก จะโยนภาระให้คนแค่ 15 คนแก้มันไม่ไหว แต่หลังนายวิฑูรย์ลาออกมีสมาชิกสหกรณ์ฯคลองจั่นจำนวนมากโทรศัพท์มาขอร้องและระบายความทุกข์ ทำให้คิดได้ว่าต้องเป็นหลัก ต้องสู้ต่อเท่าที่จะทำได้