ThaiPublica > คนในข่าว > “สมชาย ชาญณรงค์กุล” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ แจงกรณี”เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น”ยอมรับอำนาจกม.เอื้อมไม่ถึง

“สมชาย ชาญณรงค์กุล” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ แจงกรณี”เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น”ยอมรับอำนาจกม.เอื้อมไม่ถึง

17 ตุลาคม 2013


ท่ามกลางความปั่นป่วนในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ที่สมาชิกเบิกเงินได้ตามเงื่อนไข จนล่าสุดไม่สามารถเบิกเงินได้เลยเนื่องจากสหกรณ์ขาดสภาพคล่อง สมาชิกบางส่วนรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการ รวมทั้งกรมสอบสวนพิเศษและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)ได้เข้ามายึดทรัพย์และแจ้งข้อกล่าวหานายศุภชัย ศรีศุภอักษร และพวก ในข้อหายักยอกทรัพย์ในเดือนสิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา

ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์เองกลับถูกกดดันและเรียกร้องให้ออกมาแก้ปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ในฐานะผู้กำกับดูแลโดยตรง จนในที่สุดวันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม 2556 จึงมีหนังสือสั่งปลดนายศุภชัยและคณะกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่เข้ามาดำเนินการแทนชั่วคราว

ต่อเรื่องราวดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะผู้กำกับดูแลสหกรณ์ทั้งระบบว่า

ไทยพับลิก้า : กรณีสหกรณ์เคริตยูเนี่ยนคลองจั่น มีผลกระทบต่อระบบสหกรณ์โดยรวมหรือไม่

ไม่ได้เสียหาย ผมยืนยัน อย่างประเภทสหกรณ์การเกษตร วันนี้แทบจะไม่ได้ยินปัญหาเลย มีที่เดียวที่เป็นปัญหาอยู่ เกิดจากผู้จัดการคือสหกรณ์หนึ่งเป็นสามี อีกสหกรณ์หนึ่งเป็นภรรยา แล้วถ่ายเงินไปมาระหว่างกัน มีปัญหาที่นี่แค่แห่งเดียว พอเราสร้างความเข้มแข็งของระบบ ปัญหาเรื่องทุจริตหรือโกงก็ไม่มี เพราะเงินไม่มาก

แต่ปัญหาถัดมาอยู่ที่สหกรณ์ประเภทเครดิตยูเนี่ยนกับออมทรัพย์ เพราะสหกรณ์ 2 ประเภทนี้เป็นสหกรณ์การเงิน ขณะที่สหกรณ์เกษตรนั้นมีผลผลิตเกษตรออกมาขายแล้วได้ผลตอบแทน แต่สหกรณ์ทั้งสองแบบหลังนี้ต้องนำเงินมาต่อเงินให้เกิดดอกผลตอบแทน ถ้ารับฝากเงินมาร้อยละ 2.5–3 แล้วให้สมาชิกกู้ร้อยละ 7 ก็กำไรแล้ว 4 บาท แต่กรรมการทุกคนอยากสร้างผลงานให้กำไรเยอะๆ ก็เอาไปลงทุนที่ได้ดอกผลเยอะๆ ซึ่งความเสี่ยงสูง อันนั้นไม่ใช่วิถีสหกรณ์ ไม่ได้อนุญาตให้ทำ เพราะสหกรณ์คือการรวมๆกันมา 4-5 คน ใครเดือดร้อนก็เอาไปก่อน แต่ต้องรับภาระดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝาก คือทำธุรกรรมการเงินที่มีกำไรจากการปันผล ถ้าบอกว่าสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท ก็เห็นมีแค่นี้ 2 ประเภทนี้ที่เกิดปัญหา

กรมส่งเสริมสหกรณ์พยายามเข้าไปตรวจสอบดูแลใกล้ชิด ทำให้ผมก็โดนฟ้องมาเยอะ ตั้งแต่เรื่องของแชร์ล็อตเตอรี่ก็เกิดกับออมทรัพย์ หรือเรื่องของฌาปนกิจสงเคราะห์ก็เหมือนกัน พยายามไปสร้างระบบเพื่อให้มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง กรมฯ ก็พยายามเตือน พยายามแจ้งว่าอย่ากระทำ มันผิดหลักสหกรณ์เพราะไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ถ้าคุณอยากทำธุรกิจทั่วไป คุณก็ไปทำแบบทั่วไปสิ เสียภาษีนิติบุคคล 30 เปอร์เซ็นต์ ก็ไปรับภาระตรงนั้นเอง อย่าใช้ระบบสหกรณ์ สหกรณ์เป็นสวัสดิการของหน่วยงานหรือคนในชุมชนเดียวกัน

ไทยพับลิก้า : จากบทเรียนครั้งนี้ต้องมีการปรับระบบการกำกับดูแลหรือไม่

ผมอยากให้มีการแก้กฎหมายให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหกรณ์ด้านการเงิน ต้องยอมรับว่าธุรกรรมด้านการเงินมันไปเร็วมาก การลงทุนหรือทำธุรกิจด้านการเงิน มันมีหลายรูปแบบที่ก่อให้เกิดปัญหา ทุกคนพยายามพลิกแพลงเพื่อจะสร้างผลงานให้เป็นผลกำไร อันนี้น่าจะมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อให้มีการคุมเข้ม 2 ประเภทนี้มากขึ้น สหกรณ์อื่นๆ เขาสามารถทำธุรกิจที่เป็นเรื่องของการดูแลผลประโยชน์สมาชิก เราก็ต้องให้โอกาสเขา

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

ไทยพับลิก้า : ระบบการเชื่อมต่อฐานข้อมูลเป็นอย่างไร เพราะสหกรณ์ไม่สามารถตรวจสอบเครดิตของผู้กู้ว่าเป็นอย่างไร

ผมเป็นกรรมการของเครดิตบูโร ก็พยายามให้สหกรณ์ด้านการเงินเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร เพราะว่าเมื่อใครมากู้หรือเราไปกู้ใคร เราจะได้รู้สถานะของเขา ตรงนี้เสียค่าใช้จ่ายไม่มากแต่สหกรณ์เองไม่พยายามที่จะเข้า แต่เราก็บังคับเขาไม่ได้ เพราะมันไม่มีกฎหมายบังคับใดๆ ไม่มีสภาพบังคับ เพราะสหกรณ์ก็ไม่ปรารถนาที่จะเข้าเครดิตบูโร

ไทยพับลิก้า : ในแง่การตรวจสอบของกรมฯ ภาพรวมของสหกรณ์ในแง่เงินฝาก สินเชื่อทั้งระบบ

ได้จากการรวบรวม เชื่อมโยงกับชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศ เพราะแต่ละชุมนุมจะมีฐานข้อมูลในประเภทนั้นๆ อยู่แล้ว ในขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงระดับพื้นที่ด้วย สหกรณ์จังหวัดหรือส่งเสริมพื้นที่จะมีฐานข้อมูลทุกๆ สหกรณ์ มันจะมี 2 แหล่งข้อมูลสนับสนุนอยู่ อีกแหล่งที่ชัดเจนที่สุดคือข้อมูลจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เพราะทุกสหกรณ์ต้องผ่านการตรวจรับรองบัญชีทุกปี

ไทยพับลิก้า : ขั้นตอนเมื่อกรมตรวจบัญชีสหกรณ์พบปัญหาและมีการรายงานกรมส่งเสริม ทำไมการแก้ไขช้าจนปัญหาลุกลาม

กรมต้องรวบรวมหลักฐานให้พร้อมและเพียงพอ การที่เราบอกว่ามีปัญหาเกิดขึ้นใครๆ ก็พูดได้ เพราะคนที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์แห่งนี้มีหลายฝ่ายมาก เราเข้าทางนี้อีกฝ่ายก็จะบอกอีกแบบหนึ่ง ถ้าเข้าอีกทางก็จะมีอีกฝ่ายมาบอกอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นเราต้องเดินตรงกลางที่สุด มีข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจนที่สุด เราต้องรวบรวมข้อมูลให้พร้อม ตามที่เลขาธิการกรมส่งเสรมสหกรณ์ คุณสุรกิจพูดว่าแม้แต่ดีเอสไอซึ่งมีอำนาจล้นฟ้าอยู่ในมือยังไม่ได้รับความร่วมมือจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเพื่อส่งข้อมูล ผมตอบสั้นๆ แค่นี้นะ

ไทยพับลิก้า : แล้วมีกฎหมายข้อไหนที่สามารถบังคับได้ไหม

กฎหมายให้อำนาจแค่ว่า ต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ คือ กฎหมายสหกรณ์เป็นกฎหมายส่งเสริม ไม่ใช่กฎหมายอาญา ต้องส่งเสริมให้สหกรณ์เกิดเพื่อให้เขาเติบโต ไม่ใช่กฎหมายที่มีสภาพบังคับแบบอาญาที่ต้องใช้อำนาจเด็ดขาดไปไล่ฟันไล่ทุบเขา เพราะคนในกรมส่งเสริมสหกรณ์ก็คิดอยู่เสมอว่าสหกรณ์คือคนที่เราสร้างมาเหมือนกับลูกหลาน เราก็หวังให้เขาเติบโตไปในทางที่ดี มีสหกรณ์ไม่กี่สหกรณ์ที่ไม่ปฏิบัติตามกฏ แล้วก็อย่าเอาตรงนี้มาเป็นบรรทัดฐานกับเรื่องอื่น เพราะคนที่แหกคอกไปมีแค่ไม่กี่คนที่คิดว่าฉันเจ๋ง ฉันมีแบคอัพดี ทำให้การทำงานมันผิดเพี้ยน และสหกรณ์เครดิตญุเนี่ยนคลองจั่นใหญ่ที่สุด ส่วนที่อื่นเขาเดินหน้าไปตามระบบ ยิ่งเหตุการณ์เกิดแบบนี้ทุกคนยิ่งต้องระมัดระวังการทำธุรกิจ เพราะว่าเราค่อนข้างปฏิบัติการรุนแรง

บทบาทของสหกรณ์คือเป็นสวัสดิการซึ่งกันและกัน ไม่จำเป็นต้องเอาเงินมาลงทุนเพื่อสร้างรายได้อะไรมากมาย อย่างผมเคยเป็นประธานสหกรณ์เกษตร ผมมีเงินกู้เข้ามาปีหนึ่งประมาณพันกว่าล้านบาท แต่ผมก็ได้ดอกเบี้ยแค่ร้อยละ 7 ขณะเดียวกันผมก็มีเงินฝากที่ต้องรับภาระประมาณ 1,200 ล้านบาท แต่ผมจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 4 ผมมีกำไร 3 เปอร์เซ็นต์ สามารถบริหารจัดการให้สมดุลได้ มีกำไรอยู่นิดเดียว ฉะนั้นปีหนึ่งๆ เราได้กำไรร้อยล้านพอแล้ว แต่ต้องบริหารให้สมาชิกได้กู้เต็มกำลัง แล้วฝากทรัพย์ที่ออมไว้อย่างเต็มกำลัง ทุกอย่างจบ นี่คือสหกรณ์ออมทรัพย์ นี่คือแนวคิดของสหกรณ์ออมทรัพย์ ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์คือรับฝากสูงๆ แล้วระดมเงินเข้ามา พอมีเงินเยอะก็พยายามไปสร้างธุรกิจเหมือนกับบริษัทเงินทุนทำ

ไทยพับลิก้า : ในเรื่องการกำกับดูแล อย่างคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แบงก์ชาติ จะมีกฎเกณฑ์กำกับธุรกิจประกันและธนาคารพาณิชย์ กรมทำแบบเดียวกันได้ไหม

ผมทำได้แค่สั่งให้มีเงินทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละ 10

ไทยพับลิก้า : เมื่อไหร่จึงสั่งการตามกฎหมายได้

ต้องให้พร้อมก่อนถึงจะดำเนินการได้ คำว่าต้องพร้อมเพราะกรมส่งเสริมไม่เหมือนกับ คปภ. ทางนั้นเขามีทั้งหน่วยบัญชี มีหน่วยทุกอย่างอยู่ที่เดียวเบ็ดเสร็จ ของเราต้องมีทั้งกรมตรวจบัญชี ดังนั้น อำนาจในการดำเนินคดีทั้งหลายมันเป็นอำนาจของสหกรณ์ ถ้าเกิดความเสียหายสหกรณ์เท่านั้นเป็นผู้เสียหาย กรมฯ​ไม่ใช่ผู้เสียหาย รัฐไม่ใช่ผู้เสียหาย ดังนั้น บางครั้งรัฐเข้าไปดำเนินการไม่ได้ เพราะในขณะที่ผู้เสียหายไม่ได้ดำเนินการ เหมือนกับกรรมการเครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นชุดนี้ กรมสั่งให้แจ้งความดำเนินคดีต่างๆ ก็ไม่ทำ กฎหมายให้อำนาจเราแค่ว่าถ้าไม่ทำเราก็ถอดถอนคุณ หาคนใหม่มาทำแทนคุณเพื่อปกป้องความเสียหาย รัฐให้อำนาจเราแค่นี้ นี่คือสิ่งที่เป็นอยู่ ต้องยอมรับว่ากฎหมายต้องแก้ไข เสนอไปแล้ว สัมมนาเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก็ได้ข้อสรุปว่าต้องแก้

ล่าสุดก็สรุปว่าเราต้องเข้มงวดมากขึ้น แต่ถ้าไปคุยกับสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยหรือที่ชุมนุมต่างๆ เขาต้องการเป็นอิสระมากขึ้น จะต่างกับสิ่งที่กรมส่งเสริมคิด เหตุที่เกิดที่เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เราบอกว่าจะควบคุมใกล้ชิดมากขึ้นใช่ไหม ทุกธุรกรรมต้องรายงานเรา เราสั่งให้รายงาน หลังจากเกิดเหตุเราสั่งให้รายงาน แต่เขาก็ดื้อแพ่ง เราจึงต้องเปลี่ยน แต่ว่าถ้าเราไปฟังสหกรณ์ในงานสัมมนาเขาจะบอกว่าต้องการอิสระ ไม่ต้องการให้ควบคุม นั่นคือแนวคิดของสหกรณ์

ไทยพับลิก้า : จำเป็นต้องตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือกองทุนฟื้นฟูอะไรไหม

อนาคตผมมองว่า สหกรณ์ที่เป็นลักษณะสถาบันการเงิน จำเป็นต้องเข้าไปสู่ระบบการควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย ผมกำลังหารือว่าจะผลักส่วนนี้ไปให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกระทรวงการคลังดูแลได้อย่างไร เพราะต้องยอมรับว่า สถาบันเหล่านั้นหรือกฎหมายภาคบังคับพวกนั้นมันอยู่กับเขา ผมมีแนวคิดแบบนั้นแต่ขบวนการสหกรณ์ยังไม่ยอม ยังอยากจะอยู่กระทรวงเกษตรเหมือนเดิม ผมถึงคิดว่าสถาบันการเงินควรควบคุมด้วยกฎหมายทางการเงิน ในปีนี้ผมจะใช้โอกาสวาระแห่งชาติสหกรณ์ในการนำเสนอความคิดนี้ ส่วนว่าจะผ่านหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาผู้แทนฯ ต้องแก้กฎหมายโดยสภา ต้องใช้เวลา

ถ้าถามว่าวันนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ทำช้าหรือไม่ (กรณีเครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น) ถ้าเราทำอย่างไม่รอบคอบเรานั่นแหละจะเป็นจำเลย เพราะก็ถูกฟ้องมา 2 คดีแล้ว คุณศุภชัย (ศรีศุภอักษร ประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น) เขาฟ้องกรมส่งเสริมสหกรณ์ หลักของการทำงานเรื่องนี้ มันต้องได้รับความร่วมมือ ถ้าวันนี้เราไม่ได้รับความร่วมมือจากขบวนการสหกรณ์ก็ลำบาก แต่วันนี้ที่เขากระโดดเข้ามาช่วยมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อยู่ดีๆ เอาเรื่องใหญ่ใส่บ่า ก็หนักอึ้ง ต้องเกณฑ์สมัครพรรคพวกมาช่วยกัน

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ตรวจพบความผิดปกติทุกปี แล้วก็รายงานความผิดให้ทั้งนายทะเบียนและประธานสหกรณ์ ก็เลยดูเหมือนว่าท่านไม่ทำอะไร

คนที่ตามใกล้ชิดจะรู้ว่า กว่าเราจะทำแต่ละเรื่องได้ กว่าเราจะทำแต่ละขั้นตอน มันต้องเปิดโอกาสทางกฎหมายให้เขา อย่างเช่น กรณีเราสั่งปลดเขา คุณศุภชัยก็ยังมีโอกาสอุทธรณ์ภายใน 30 วัน แต่คณะกรรมการที่เราแต่งตั้งจะทำงานได้ทันทีไม่สะดุด จะอุทธรณ์ก็ทำไป

ไทยพับลิก้า : กรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ สั่งให้ปลด

รัฐมนตรีไม่มีอำนาจสั่งนายทะเบียน แต่มีอำนาจสั่งอธิบดี แต่อธิบดีกับนายทะเบียนเป็นคนเดียวกัน ต้องเข้าใจว่ากฎหมายคนละฉบับ กฎหมายปกครองสำหรับบริหารกับกฎหมายสหกรณ์ก็คนละฉบับกัน ดังนั้นนายทะเบียนมีอำนาจก็ต้องไปดูให้ครบองค์ประกอบถึงจะดำเนินการได้ ที่รัฐมนตรีสั่งเป็นนโยบายเราก็ทำตามหน้าที่ไป ไม่ใช่อธิบดีขัดขืน นายทะเบียนต้องดูให้รอบคอบ เพราะคนรับผิดชอบคือนายทะเบียน ไม่ใช่คนสั่ง ไม่ใช่คนใช้อำนาจ อย่างผมมอบอำนาจให้รองนายทะเบียนใช้อำนาจ เขาก็ใช้อำนาจตามขั้นตอนของเขา คดีนี้ถ้าไปดูคำสั่งปลด คนเซ็นคือผู้ตรวจราชการซึ่งอยู่ในเขตของเขา ก็ต้องรอบคอบด้วย ไม่จำเป็นต้องมาถึงผมเลย จะหยุดสูงสุดแค่ผู้ตรวจฯ ตรงนี้เราแค่สร้างทีมงานเข้าไปช่วย รวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้พร้อมถึงจะลงมือ

คุณก็รู้อยู่แล้วว่ากรมเข้าไปที่สหกรณ์ (เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น) ได้หรือ ก่อนจะขอหมายศาลเรื่องที่เขาไปถอนฟ้องคดีตัวเอง หลังคุณศุภชัยกลับเข้าไปบริหารในเดือนมิถุนายน (2556) พอเราได้รับรายงานการถอนฟ้องปุ๊บ ก็ต้องไปขอหลักฐานจากศาลเป็นทางการก็ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ และต้องมีหลักฐานว่าใครเป็นคนไปถอนฟ้องคือรายงานการประชุมกรรมการคลองจั่นอีก ก็ขอไปใช้เวลาอีก 20 วันกว่าจะได้ ซึ่งใช้อำนาจถึง 2 ครั้ง มาตรา 11 ถึงจะยอมให้เอกสาร กว่าเอกสารทั้งหมดครบก็เกือบจะสิ้นเดือนกันยายน

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

ไทยพับลิก้า : โมเดลอย่างสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรัฐประชา ที่ตั้งมาไม่กี่เดือนก็ขอกู้จากสหกรณ์ฯ คลองจั่นได้ถึง 1,200 ล้านบาท ทั้งที่ทุนดำเนินการไม่ถึง 1 ล้านบาท และหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ไม่เพียงพอ กระบวนการตั้งสหกรณ์แบบนี้ถือว่ามีความผิดปกติหรือไม่

ที่ผ่านมาหลักเกณฑ์การตั้งสหกรณ์อาจจะหลวมเกินไป เพราะกฎหมายเขียนไว้แค่ว่าคนรวมตัวกัน 50 คน มีวัตถุประสงค์เดียวกันและผ่านการอบรม 1 วันก็ตั้งได้ แต่ของเครดิตยูเนี่ยนต้องผ่านการทดลองดำเนินการ 2-3 เดือน ซึ่งกฎหมายก็ไม่ได้บังคับ แต่เป็นเงื่อนไขของชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนต่างหาก พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ​เขียนเงื่อนไขไว้แค่กว้างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการตั้งสหกรณ์ พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ​เป็นกฎหมายส่งเสริม ไม่ใช่กฎหมายบังคับ

ตั้งแต่เกิดเหตุนี้ ผมก็ออกคำสั่งนายทะเบียนเพิ่มเงื่อนไขการจัดตั้งสหกรณ์ ต้องมีขั้นตอนครบ 4 ขั้นต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่อบรม 6 ชั่วโมงก็ตั้งได้ ต้องมีการตรวจสอบการทำธุรกรรมต่างๆ หรือทดลองดำเนินการก่อน 6 เดือน เป็นการกลั่นกรองให้มากขึ้น

ไทยพับลิก้า : นอกจากสหกรณ์จะตั้งง่ายแล้ว ชุมนุมสหกรณ์ก็ตั้งง่ายด้วยใช่ไหม

ที่ผ่านมา วันนี้ ระเบียบนายทะเบียนออกไปแล้วหลังเหตุการณ์เกิด มันทำให้การดำเนินการจัดตั้งยากขึ้น ที่ปวดหัวที่สุดตอนนี้คือสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคง ซึ่งพยายามจะเกิดแต่เราก็ให้เกิดไม่ได้ นี่ก็ไม่รับจดทะเบียน มีแต่คนใหญ่ๆ ทั้งนั้นมากดดันให้รับจดทะเบียน เพื่อเขาจะได้ไปทำธุรกรรม

ไทยพับลิก้า : ไม่เสียภาษีใช่ไหม

คุณตอบเองนะ

ไทยพับลิก้า : ในอนาคต กรมส่งเสริมฯ​ต้องเปลี่ยนเป็นกรมกำกับด้วยหรือไม่

แนวคิดของข้าราชการตอนนี้คือ จะไม่กำกับแต่จะเน้นที่โปรโมต อย่างหลักสูตร ปปร. (สถาบันพระปกเกล้า) ยังบอกว่าต่อไปข้าราชการคือโปรโมเตอร์ (ผู้สนับสนุน)ไม่ใช่ เรกูเลเตอร์ (ผู้ควบคุม) เหตุการณ์อย่างที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นจะไม่มีเรกูเลเตอร์ได้อย่างไร เราเป็นโปรโมเตอร์