ThaiPublica > คอลัมน์ > “ทฤษฎีกระจกแตก”

“ทฤษฎีกระจกแตก”

23 กันยายน 2013


หางกระดิกหมา

ปรากฎว่าหลังจากได้พูดถึง “ทฤษฎีกระจกแตก” ในตอนที่แล้ว มีคนจำนวนไม่น้อยถูกใจกับทฤษฎีนี้ บ้างก็หมายมั่นปั้นมือว่านี่จะเป็นทางออกจากหุบเหวคอร์รัปชันของประเทศ จึงอยากจะขยายความต่ออีกสักตอน เผื่อทางออกที่เราหวังๆ กันนี้มันจะชัดขึ้นอีกสักนิด

อย่างที่เคยบอก ทฤษฎีกระจกแตกนี้มีที่มาจากงานวิจัยของ James Q. Wilson อาจารย์รัฐศาสตร์เก่าแก่ของฮาวาร์ด และ George Kelling นักอาชญวิทยา ซึ่งศึกษาพฤติกรรมเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายทั้งหลายจนได้ข้อสรุปว่าถ้าสังคมใดมุ่งเน้นการรักษาบรรยากาศความสงบเรียบร้อยโดยรวม โดยเคร่งครัดเอาผิดกับความผิดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจไม่เรียกว่าคอขาดบาดตาย แต่ก็รบกวนปกติสุขของสังคมอย่างเช่นการทำลายข้าวของสาธารณะ แทนที่จะมัวสาละวนทำเฉพาะเรื่องหนักๆ อย่างพวกคดีฆ่า-ข่มขืนอย่างเดียวแล้ว สุดท้ายจะได้ผลเป็นทั้งการปราบเรื่องเล็ก และก็ป้องกันเรื่องใหญ่ไปในตัวด้วย

โดยอาจารย์ทั้งสองใช้ตัวอย่าง “กระจกแตก” เป็นตัวอธิบาย กล่าวคือ สังคมไหนปล่อยให้มีกระจกถูกเขวี้ยงแตกมากโดยคนไม่สนใจก็เรียกได้ว่าเป็นสังคมที่ดูแล้วไม่มีการรักษาความสงบเรียบร้อย สังคมอย่างนี้จะทำให้คนย่ามใจในการกระทำผิด อัตราอาชญากรรมทั้งหลายไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กจึงจะพุ่งสูงขึ้นแทบจะตามเศษกระจก แต่ถ้าย่านไหนไม่มีกระจกแตกก็จะได้ผลกลับกัน คือใครผ่านไปมาก็รู้สึกว่าแถวนั้นเป็นสังคมเคร่งระเบียบ ดังนั้น ต่อให้สันดานเสียแค่ไหน ก็ไม่มีใครกล้ามือบอนในบริเวณ อย่าว่าแต่จะประกอบกรรมหนักกว่านั้นอย่างพวกฆ่าข่มขืนหรือขโมยรถ

ที่สำคัญคือทฤษฎีนี้ไม่ได้จริงแต่เฉพาะในงานวิจัยเท่านั้น เพราะในสมัยของนายกเทศมนตรี Rudolf Giuliani ของนิวยอร์กนั้น ได้นำทฤษฎีนี้ไปแปลงเป็นนโยบาย “กูไม่ทน” หรือ “Zero Tolerance” กับการปราบอาชญากรรมในเมือง โดยสมัยที่นิวยอร์กยังจัดเป็นเมืองอันตรายมากมีพวกค้ายายิงกัน มีการข่มขืนเกิดขึ้นแทบไม่เว้นแต่ละวันอย่างในสมัยนั้นนั้น แทนที่จะไปตามจับพวกที่ว่า จูลิอานีกลับทุ่มทรัพยากรไปเอาผิดอย่างจริงจังกับพวกไม่จ่ายค่ารถไฟใต้ดิน พวกพ่นกราฟิตี้ พวกฉี่หรือกินเหล้าในที่สาธารณะซึ่งความจริงแล้วก็เป็นแค่กุ๊ยเล็กกุ้ยน้อยดูไม่คุ้มแรงอย่างยิ่ง จนแรกๆ โดนคนด่าว่าตีไม่ถูกจุด

แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่า ภาพคนหนีค่ารถไฟใต้ดินที่ถูกจับมายืนใส่กำไลเรียงกันทุกวันๆ ตรงประตูเก็บตั๋วก็ดี หรือฝาผนังที่สะอาดขึ้นเพราะปลอดกราฟิตี้ก็ดี หรือถนนหนทางที่ไม่มีกลิ่นฉี่คละคลุ้งก็ดี ดูเหมือนจะส่งสัญญาณใหม่ๆ ให้กับอาชญากรในเมืองไม่ว่าขาเล็กหรือใหญ่ให้รู้ว่าหมดยุคอันธพาลแล้ว จึงปรากฎว่าหลังจากนั้นอัตราการเกิดอาชญากรรมในนิวยอร์กก็ตกลงอย่างฮวบฮาบ ที่เคยยิงเคยข่มขืนกันก็ลดหายไปผิดหูผิดตา จากจำนวนคดีฆาตกรรม 2,154 คดี และจำนวนคดีร้ายแรงอื่นๆ 626,182 คดีในปีที่จูลิอานีเพิ่งรับตำแหน่งใหม่ๆ นั้น พอห้าปีถัดมาก็ลดลงกว่าหกสิบเปอร์เซ็นต์จนเหลือเพียง 770 คดีฆาตกรรมและ 355,893 คดีร้ายแรงเท่านั้น ยิ่งพักหลังๆ นี่นิวยอร์กจะติดโผเมืองที่ปลอดภัยที่สุดในอเมริกาตลอด

ทั้งนี้ การที่เมืองที่ทั้งใหญ่ ทั้งวุ่นวาย ทั้งมีปัจจัยผสมผเสร้อยแปดอย่างนิวยอร์กยังสามารถลดอาชญากรรมได้โดยใช้การเปลี่ยนแปลงในเรื่องเล็กๆ นี้ เป็นกำลังใจอย่างมากให้กับการต่อต้านคอร์รัปชันในเมืองไทย เพราะอาชญากรรมเคยเป็นยี่ห้อของนิวยอร์กอย่างไร คอร์รัปชันกับเมืองไทยก็เป็นอย่างนั้น ดูเหมือนจะเปลี่ยนยาก แต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้

โดยสิ่งที่เราเรียนรู้จากทฤษฎีกระจกแตกก็คือเวลาจะปราบของอย่างนี้ “บรรยากาศ” โดยรวมสำคัญกว่า “รายกรณี” ดังนั้น การที่เราจับนักโกงเมืองตัวใหญ่ๆ ได้เป็นพักๆ นั้นก็ดี แต่หากจะให้เกิดบรรยากาศของความสงบเรียบร้อยที่จะระงับความมือบอน กล่าวคือความอยากโกง ความอยากคอร์รัปชันให้เป็นผลกว้างขวางผิดหูผิดตาอย่างกรณีนิวยอร์กได้จริงๆ เรื่องจุ๋มจิ๋มอย่างเช่นการให้ค่าน้ำร้อนน้ำชาเพื่อเร่งเอกสารหรือการติดสินบนตำรวจตอนโดนเป่าแอลกอฮอล์ก็จะต้องถูกกวาดล้างเอาผิดอย่างดุเดือดไม่แพ้เรื่องของนักการเมืองใหญ่ๆ ถ้าพูดเป็นสำนวนของจูลิอานีก็เรียกว่าใช้ “Zero Tolerance” หรือถ้าจะเอาอย่างสีจิ้นผิงก็คือ “ตีไม่เลี้ยงทั้งเสือทั้งแมลงวัน”ดังนั้น การที่จะมาครึ่งๆ กลางๆ ทำนองว่าจะลดคอร์รัปชันเฉพาะบางส่วนให้เหลือคอร์รัปชัน “เท่าที่สมควร” แบบไทยๆ นั้น ทฤษฎีแสดงให้เห็นแล้วว่าเหลวไหลทั้งเพ เพราะถ้ายอมให้มีบ้างก็เท่ากับยอมให้มีทั้งหมด กระจกแตกห้าบานอาจจะดีกว่าสิบบาน แต่ปัญหาคือตราบใดที่ยังมีกระจกแตกโดยทั่วไปอยู่ บรรยากาศของความสงบเรียบร้อยมันก็มีไม่ได้อยู่นั่นเอง

นี่ก็นำมาสู่ผลต่อไปว่า ในเมื่อเราจะไม่พอใจอยู่กับการปราบคอร์รัปชันเรื่องใหญ่ๆ ไม่กี่เรื่อง แต่จะ “เอาเรื่อง” กับทุกเรื่องอย่างนี้แล้ว การปราบคอร์รัปชันก็จะปล่อยให้ใครเป็นเจ้าภาพเพียงคนเดียวไม่ได้อีกต่อไป เพราะเจ้าภาพที่ไหนก็คงไม่มีปัญญาเหมากฐินกองใหญ่และเยอะกองขนาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ฝ่ายค้าน เสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือแม้แต่ ป.ป.ช. เองก็ตาม

ดังนั้น ทุกภาคส่วนไม่ว่าธุรกิจเอกชน นักวิชาการ NGOs สื่อมวลชน จนชั้นที่สุดก็คือประชาชนทุกคนจะต้องเห็นเป็นภาระของตัว ที่นอกจากจะไม่โกงแล้ว จะต้องไม่ยอมให้มีการโกง และพร้อมกันนั้นก็พร้อมจะช่วยเหลือรับลูกภาคส่วนอื่นๆ อย่างไม่กลัวเหนื่อย หรือกลัวไม่ได้หน้า โดยนึกเสียว่าเรื่องอย่างต้านคอร์รัปชันนี้ ถ้าทำกะเอาหน้าก็จะไม่ค่อยมีอะไรสำเร็จให้ได้หน้าอยู่ดี น่าเชื่อว่าถ้าเรานึกและทำอย่างนี้ได้สักครึ่งประเทศ บรรยากาศโดยรวมของประเทศน่าจะไปถึงจุดพลิกผันอย่างนิวยอร์กได้ไม่ยาก

ระหว่างนั้น อย่าเขินที่จะยึดเอาอุดมการณ์ยิ่งใหญ่ของครูโกมล คีมทอง ผู้ล่วงลับ ที่ว่าจะเป็นเพียงกรวดก้อนเล็กๆ ที่อุทิศตัวลงเพื่อร่วมถมทับหนองบึงแห่งความชั่วร้ายอย่างไม่ย่อท้อ

โดยหวังว่าหนองบึงนี้จะต้องถูกกลบเต็มเข้าสักวัน

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 23 กันยายน 2556