ThaiPublica > คอลัมน์ > มนุษย์ “อู้งาน” โดยไม่ตั้งใจ

มนุษย์ “อู้งาน” โดยไม่ตั้งใจ

7 สิงหาคม 2013


ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

หลายครั้งในชีวิต เรารู้สึกแปลกใจกับพฤติกรรมของตัวเราเองยามเมื่อทำงานคนเดียวและเมื่อทำงานเป็นกลุ่ม การ “อู้งาน” โดยไม่ตั้งใจนี้มีคำอธิบาย

ในหนังสือชื่อ The Art of Thinking Clearly (2013) Rolf Dobelli อธิบายความแตกต่างของพฤติกรรมดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

ในปี 1913 วิศวกรชาวฝรั่งเศสชื่อ Maximilien Ringelmann ศึกษาการทำงานของม้าและพบเรื่องประหลาด นั่นก็คือแรงดึงจากม้า 2 ตัว ที่ทำงานพร้อมกันให้แรงดึงน้อยกว่าแรงดึงรวมของม้าเมื่อแต่ละตัวดึง เมื่อเขาทดลองกับคนก็พบข้อสรุปแบบเดียวกันคือ ถ้า 2 คน ดึงเชือกพร้อมกันโดยเฉลี่ยออกแรงคนละ 93 เปอร์เซ็นต์ของแรงทั้งหมดที่อาจออกได้ พอออกแรงร่วมกัน 3 คน ก็จะออกแรงคนละ 85 เปอร์เซ็นต์ และ 8 คน ก็ออกแรงคนละ 49 เปอร์เซ็นต์

ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Social Loafing (SL) นี้เกิดขึ้นเมื่อมีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มและแต่ละคนออกแรงน้อยลงกว่าเมื่อทำงานคนเดียวโดยผลงานของแต่ละคนไม่อาจเห็นได้โดยตรงอย่างชัดเจน ในการพายเรือร่วมกันก็จะเกิด SL แต่เมื่อแต่ละคนพายเรือแข่งกันก็ไม่เกิด SL เนื่องจากสามารถเห็นการมีส่วนร่วมของแต่ละคนได้อย่างชัดเจน

ถ้าจะว่าไปแล้ว ปรากฏการณ์ SL เป็นพฤติกรรมที่มีเหตุมีผล ทำไมต้องออกแรงเต็มที่เล่า ในเมื่อออกแรงเพียงครึ่งเดียวก็ใช้ได้แล้วโดยไม่มีใครรู้เห็น ในชีวิตมนุษย์ทุกคน เมื่อเราทำงานเป็นกลุ่มเราล้วนมีส่วนผิดในการกินแรงคนอื่นโดยการ “อู้งาน” แบบไม่ตั้งใจด้วยกันทั้งนั้น

ภายใต้ปรากฏการณ์ SL เวลาเราทำงานเป็นกลุ่มผลการทำงานของแต่ละคนจะลดลง แต่ไม่เป็นศูนย์ เพราะอาจเป็นที่สังเกตได้ของคนอื่น ดังนั้น แต่ละคนจะร่วมงานกลุ่มด้วยการ “อู้งาน” แต่พองาม

ในการทำงานเป็นกลุ่ม SL ก็เกิดขึ้นในด้านการใช้สมองด้วย ยิ่งกลุ่มใหญ่เท่าใด ผลงานทางสมองของแต่ละคนจะน้อยลงเพียงนั้น เพราะสมาชิกเรียนรู้ที่จะ “อู้งาน” ทางสมองเช่นกันโดยมิได้ตั้งใจ

เมื่อพิจารณาปรากฏการณ์ SL ลงไปอีก ก็จะเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์เมื่อรวมกันเป็นกลุ่มมากขึ้น ในการพิจารณาตัดสินใจเรื่องใดก็ตามของกลุ่ม เช่น คณะกรรมการบริษัท หรือของทีมงาน มีทางโน้นที่กลุ่มจะตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีความสุ่มเสี่ยงในผลที่เกิดขึ้นมากกว่าการตัดสินใจโดยคนคนเดียว

หากตัดสินใจโดยคนคนเดียวเช่น CEO ผลเสียที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจนั้น CEO ต้องเป็นผู้แบกรับคนเดียว ดังนั้น ความเป็นไปได้ในการเลือกสิ่งที่สุ่มเสี่ยงจะน้อยกว่าการตัดสินใจของกลุ่ม

เมื่อกลุ่มพิจารณาตัดสินใจ สมาชิกแต่ละคนของกลุ่มจะรู้สึก “สบายใจ” ที่ผลจากการตัดสินใจของกลุ่มจะไม่มีผลในด้านลบโดยตรงแก่ตนเองเนื่องจากเป็นการพิจารณาร่วม ดังนั้น โอกาสที่จะตัดสินใจชนิดสุ่มเสี่ยงจึงมีมากกว่า

ในการประชุมของกลุ่ม ปรากฏการณ์ SL ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่สมาชิกจะไม่แสดงความเห็นที่ออกมาเด่นชัดมากเกินไป จนอาจต้องเป็นผู้รับเคราะห์กรรมอย่างโดดเดี่ยวคนเดียวหากการตัดสินใจนั้นเกิดผิดพลาดขึ้น นอกจากนี้ สมาชิกของกลุ่มจะไม่ทำงานทางสมองมากเท่ากับหากต้องทำคนเดียว เพราะตระหนักดีว่ามีสมองคนอื่นมาร่วมทำงานอยู่ด้วย

อย่างไรก็ดี มีบทเรียนเรื่องการบริหารจากญี่ปุ่นที่ว่าการตัดสินใจร่วมกันของทีมย่อมดีกว่าการตัดสินใจของคนเดียว กรณีนี้อาจเป็นจริงด้วยวัฒนธรรมเฉพาะของญี่ปุ่นดังที่เราเห็นผลงานของญี่ปุ่นในการผลิตสินค้า อย่างไรก็ดี ในวัฒนธรรมอื่นโดยเฉพาะวัฒนธรรมไทย การทำงานเป็นทีมไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับทำงานเดี่ยว (ไทยเด่นแต่ในเรื่องกีฬาเดี่ยว ส่วนกีฬาเป็นทีมนั้นไม่ประสบความสำเร็จ)

ปรากฏการณ์ SL ทำให้พฤติกรรมของบุคคลเมื่อรวมกันเป็นกลุ่มแตกต่างจากเมื่ออยู่คนเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจสร้างความเสียหายจากความสุ่มเสี่ยงได้ยามเมื่อเป็นกลุ่ม การตระหนักถึงความจริงข้อนี้อาจทำให้เราต้องระวังตัวกันมากขึ้นในการตัดสินใจแบบกลุ่ม

การ “อู้งาน” ทางสมองอย่างไม่รู้ตัวของเด็กวัยฮอร์โมนว้าวุ่นเมื่ออยู่กันเป็นกลุ่มโดยมีผู้นำไปในทางที่ผิดคือสูตรสำเร็จสู่ปัญหา การแก้ไขจะทำได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจธรรมชาติของ SL

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 6 ส.ค. 2556