ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > อัมมาร ชี้ “รัฐโง่” ทำคุณภาพข้าวไทยแย่ และเป็น “อเวไนยสัตว์” สอนไม่ได้

อัมมาร ชี้ “รัฐโง่” ทำคุณภาพข้าวไทยแย่ และเป็น “อเวไนยสัตว์” สอนไม่ได้

4 กรกฎาคม 2013


ดร.อัมมาร สยามวาลา ที่มาภาพ : http://www.bangkokpost.co
ดร.อัมมาร สยามวาลา ที่มาภาพ : http://www.bangkokpost.co

“อัมมาร สยามวาลา” ชี้รัฐบาลทำเศรษฐกิจข้าวพัง คาดเดินหน้าต่ออีก 2-3 ปี ประชาจะไม่นิยม วิพากษ์ “รัฐโง่” แยกคุณภาพข้าวไม่เป็น แนะฟื้นระบบค้าข้าวแบบเดิม เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว เหน็บรัฐเป็น “อเวไนยสัตว์” สอนไม่ได้

3 ก.ค. 2556 คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา ร่วมกับ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ จัดเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง “ทางออกระบบอุตสาหกรรมข้าวไทย สู่การแข่งขันตลาดโลก” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผอ.ศูนย์ให้คำปรึกษาทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายชัยภัฎ จันทร์วิไล อนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ ดำเนินรายการโดย นายประเกียรติ นาสิมมา ประธานที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ ในคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจฯ

ไฮไลท์ของการเสวนาอยู่ที่ ดร.อัมมาร ซึ่งเริ่มต้นว่า “ผมมีความรู้สึกเหมือนอยู่ในบ้านที่อาศัยมานาน คือ “บ้านเศรษฐกิจข้าว” ที่หาเก็บหากินกันมานาน และขณะนี้มีความรู้สึกว่าเกิดพายุใหญ่ บ้านผมถูกพายุใหญ่พังทลายอย่างสิ้นเชิง และผมกำลังตื่นขึ้นมางัวเงียจะจัดการบ้านอย่างไร”

นั่นคือ ความรู้สึกของ ดร.อัมมาร “กูรู” เรื่องข้าว

เมื่อวกเข้าหัวข้อเสวนา “ทางออกระบบอุตสาหกรรมข้าวไทย สู่การแข่งขันตลาดโลก” ดร.อัมมารกล่าวว่า ระยะสั้น “พูดลำบาก” เพราะรัฐบาลกำลังหันซ้ายหันขวาจากปัญหาที่ตัวเองสร้างขึ้นมา นโยบายเปลี่ยนวันต่อวัน จะเอา 12,000 บาท/ตัน หรือ 15,000 บาท/ตัน เพื่อแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ

และถ้ามองไป 2-3 ปีข้างหน้า รัฐบาลต้อง “เจ็บปวดจากประชานิยม” คือ ทำอะไรประชาจะไม่นิยมทั้งนั้น เพราะมีผู้เสียประโยชน์เกิดขึ้น เหมือนคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ที่หลังวิกฤติปี 2540 ทำอะไรคนก็เกลียดกันทั้งเมือง ทั้งที่เป็นการทำอะไรหลายๆ อย่างเพื่อลดความฟุ้งเฟ้อที่เกิดขึ้นก่อนช่วงวิกฤติ จนอนาคตคุณธารินทร์ต้องหมดลงในเส้นทางการเมือง

ดังนั้น รัฐบาลจะทำอะไรต้องคิดให้ดี เพราะจะสร้างความเจ็บปวด เนื่องจากมีผู้เสียประโยชน์เกิดขึ้น และต้องบอกว่าจะโยนภาระความเจ็บปวดให้กลุ่มบุคคลไหนมากที่สุด ระหว่างชาวนา กับพ่อค้าข้าว 2-3 รายที่ได้ประโยชน์จากรัฐผูกขาดตลาดค้าข้าว และผู้บริโภคที่รัฐบาลนี้ประสบผลสำเร็จทำให้ข้าวเปลือกราคาสูง 30-40% แต่ราคาข้าวสารนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง เพราะรัฐบาลรวบเอาข้าวมาอยู่กับตัวเอง ดังนั้นอาจต้องพิจารณาให้ข้าวสารแพงขึ้นบ้างหรือไม่

“ความเจ็บปวดควรต้องตกกับพ่อค้าที่ได้ประโยชน์จากรัฐบาลเป็นหลัก ส่วนชาวนากับผู้บริโภคอาจต้องรับภาระบางส่วน แต่ถ้าภาระทั้งหมดตกอยู่ที่ชาวนา ผมจะอยู่ข้างชาวนา” ดร.อัมมารกล่าว

ขณะที่สถานการณ์การแข่งขันกับตลาดโลก หรือตลาดส่งออก นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปรากฏแล้วว่าพ่อค้าคนที่รัฐบาลให้อำนาจผูกขาดไปนั้นไม่มีปัญญาส่งออก ทำให้การส่งออกของไทยตกต่ำ ในอดีตไทยมีชื่อเสียงเรื่องค้าข้าว เพราะระบบของเราสามารถแยกแยะข้าวได้ โดยการจ่ายค่าข้าวจะมีความละเอียด สามารถจ่ายข้าวตามคุณภาพได้ คือ ข้าวคุณภาพดีจะได้ราคาสูง ถ้าคุณภาพข้าวต่ำจะได้ราคาต่ำ แต่วิธีการของรัฐ ซึ่ง “รัฐโง่” ไม่สามารถแยกข้าวตามคุณภาพได้ ไม่เหมือนพ่อค้าเอกชนที่แยกแยะคุณภาพได้

“นี่คือจุดแข็งของข้าวไทยที่ต้องสงวน แต่ 2 ปีที่ผ่านมาเราปล่อยปะละเลย” ดร.อัมมารกล่าว

ดร.อัมมารกล่าวว่า ในอนาคต ข้าวจะเป็นสินค้าที่คนบริโภคลดลง และอนาคตเมื่อเอเชียเจริญขึ้น มีรายได้มากขึ้น และตลาดข้าวเอเชียยังเป็นตลาดใหญ่ที่สุด คุณภาพข้าวจะเป็นเรื่องที่คนสนใจ คือ บริโภคข้าวน้อยลง แต่จะจู้จี้จุกจิกมากขึ้น

“เพราะฉะนั้น อนาคตข้าวเราต้องค่อยๆ ฟื้นระบบค้าข้าวแบบเดิมที่ถูกก่นดาว่าขูดรีดชาวนา แต่เป็นระบบที่สร้างคุณค่าข้าวไทย เรื่องขูดรีดอาจมีบ้างเรื่องการขอสินเชื่อจากโรงสี แต่ปัจจุบันมี ธ.ก.ส. เข้าไปช่วยเรื่องสินเชื่อมากขึ้น อาจเปลี่ยนเป็น ธ.ก.ส. ขูดรีด แต่เราต้องรื้อฟื้นคุณภาพข้าวไทยให้มาอยู่ในอันดับต้นๆ เหมือนเดิม” ดร.อัมมารกล่าว

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยขายข้าวไม่ออก หรือที่ขายได้ก็เพราะเป็นข้าวดี ซึ่งมีไม่มาก ดร.อัมมารระบุว่า ปัญหาใหญ่อยู่ที่รัฐบาลเอาข้าวเก็บไว้กับตัวเองตั้ง 17 ล้านตัน การที่จะให้ชาวนาตากเหงื่อต่างน้ำเพื่อทำให้ “ข้าวเน่า” ถือเป็นการทำบาปกรรมกับชาวนาและประเทศ

ขณะที่นอกรอบเวทีเสวนา ดร.อัมมารกล่าวว่า วิธีง่ายที่สุดในการแก้ปัญหาข้าวในสต็อก 17 ล้านตัน คือต้องเลิกให้บริษัทที่ผูกขาดการซื้อขายจากรัฐบาล วิธีนี้จะช่วยให้ขาดทุนน้อยลง เวลานี้รัฐบาลขาดทุนมาก เพราะขายข้าวให้พ่อค้ากลุ่มนี้ถูกมากๆ และอย่าไปคิดว่าจะกำหนดราคาข้าวได้ ต้องดูราคาในตลาดโลก

“เราควรตื่นจากภวังค์ของคนดูไบได้แล้ว ที่บอกว่าเก็บข้าวไว้ 5 ปี แล้วขายจะได้ราคาดี เขาไม่รู้ว่าข้าว 2 ปีก็เน่าแล้ว เพราะข้าวไม่ใช่มือถือที่เขาเคยผูกขาดแล้วทำสำเร็จในอดีต” นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอกล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับทางออกของการขายข้าวและรักษาตลาดข้าวไม่ให้แย่ไปมากกว่านี้ ดร.อัมมารเสนอว่า รัฐบาลต้องแกล้งลืมสต็อกข้าว 17 ล้านตัน ไปเลย แล้วเอาข้าวใหม่ที่เข้าโครงการไปเสนอขาย จากนั้นค่อยหาทางระบายข้าวที่เสื่อมคุณภาพออกไปภายหลัง ซึ่งต้องใช้เวลาระบายอีกนานมาก

“ผมไม่อยากบอก ไม่อยากเสนอแนะรัฐบาลมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะรัฐบาลเป็นพวกอเวไนยสัตว์ เป็นศัพท์ทางพุทธศาสนา หมายถึงคนที่สอนไม่ได้ ลองไปเปิดดูความหมายกันเอง” ดร.อัมมารกล่าว