ThaiPublica > เกาะกระแส > ถกปมร้อน “เงินทุนไหลเข้า”ข้อเท็จจริงแบงก์ชาติ – “อัมมาร” เห็นพ้องลดดอกเบี้ย”ไม่มีประโยชน์” แนะขึ้นทะเบียนผู้นำเงินเข้า

ถกปมร้อน “เงินทุนไหลเข้า”ข้อเท็จจริงแบงก์ชาติ – “อัมมาร” เห็นพ้องลดดอกเบี้ย”ไม่มีประโยชน์” แนะขึ้นทะเบียนผู้นำเงินเข้า

27 กุมภาพันธ์ 2013


นักเศรษฐศาสตร์ ธปท. เปิดข้อมูล -แจง ปัจจัยหลักจูงใจเงินไหลเข้า เผยประเด็นท้าทาย “บาทแข็ง-เงินไหลออกทันที” ชี้ใช้ดอกเบี้ยแก้ไม่ได้ ขณะที่ “อัมมาร” เห็นด้วย “ลดดอกเบี้ย” ไม่มีประโยชน์ เสนอออกกฎหมายนำเงินเข้าต้องลงทะเบียน และมีเงื่อนไขในการนำเงินออกช่วงฉุกฉิน สอดคล้องแนวคิดแบงก์ชาติ เล็งจับนักลงทุนขึ้นทะเบียนนำเงินเข้า สกัดเก็งกำไร

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาครั้งที่ 3 เรื่อง “ผลกระทบของเงินทุนเคลื่อนย้าย และทางเลือกเชิงนโยบาย” มีวิทยากรร่วมเสวนาได้แก่ ดร.จอน วงศ์สวรรค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายเฮดจ์ฟันด์ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และดำเนินการเสวนาโดย ดร.พงษ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาครั้งที่ 3 ที่ห้องประชุม 209 ชั้น 2 คณะเศรษฐศาสตร์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาครั้งที่ 3 ที่ห้องประชุม 209 ชั้น 2 คณะเศรษฐศาสตร์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556

การเสวนาครั้งนี้ มีการนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจจาก ธปท. ในหลายประเด็นที่พยายามชี้แจงว่า “อัตราดอกเบี้ย” ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่เป็นแรงจูงใจให้เงินไหลเข้ามามากอย่างที่พูดกันมากในช่วงที่ผ่านมา

ดร.ปิติระบุว่า ลองคำนวณแบบเร็วๆ โดยสมมติว่า ถ้าเป็นนักลงทุนต่างประเทศแล้วจะนำเงินมาลงทุนในประเทศไทยจะได้ผลตอบแทนอะไรบ้าง จากการคำนวณโดยเอาผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันพบว่า ถ้าลงทุนถือหุ้นจะได้ผลตอบแทน 70.2% รองลงมาคือการแข็งค่าของค่าเงินตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นปี จะให้ผลตอบแทน 21.5% และถ้าลงทุนในพันธบัตรอายุเฉลี่ย 2 ปี จะได้ผลตอบแทน 5.2% และผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ย 2.5% เท่ากับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐ

“จะเห็นว่ามีปัจจัยอย่างอื่นที่ทำให้เงินไหลเข้ามาลงทุนหาผลตอบแทนและได้มากกว่าอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างเยอะ เช่น ลงทุนในหุ้นให้ผลตอบแทนมหาศาลถึง 70% หรือแม้แต่การแข็งค่าของเงินบาท ที่ให้ผลตอบแทน 21.5% ” ดร.ปิติกล่าว

ทั้งนี้ การคำนวณของดร.ปิติมีข้อสังเกตจาก ดร.จอนว่า การแยกผลตอบแทนแต่ละประเภทออกมาน่าสนใจ แต่ความเสี่ยงแต่ละประเภทก็ต่างกันมาก อย่างผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยกับหุ้นก็มีความเสี่ยงต่างกัน ดังนั้น ในแง่นักลงทุนอาจบอกได้ไม่ชัดว่า “ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่สำคัญ”

ดร.ปิติ ดิษยทัต (ซ้าย)  ดร.จอน วงศ์สวรรค์ (ขวา)
ดร.ปิติ ดิษยทัต (ซ้าย) ดร.จอน วงศ์สวรรค์ (ขวา)

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ธปท. ยอมรับว่า ความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเปิดข้อมูลธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารพาณิชย์รายงานให้ ธปท. มาอธิบายในแง่ของการธุรกรรมซื้อขายเพื่อนำเงินตราเข้ามาลงทุนในประเทศ ว่าปัจจัยใดที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนไหลเข้าสุทธิ (เป็นเงินบาท) ได้มากที่สุด

ปรากฏว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดซึ่งมีผลถึง 18% คือ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก อันดับที่สองคือ การคาดการณ์ของค่าเงินบาท เช่น ถ้าเขาคาดว่าเงินบาทจะแข็งขึ้น ปัจจัยนี้จะมีผล 15% อันดับที่สามคือ สถานะความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย มีผล 11% อันดับที่สามคือ ความผันผวนของค่าเงินบาท มีผล 10% ส่วนการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย มีผล 10% และเงินเฟ้อมีผล 3%

“จากข้อมูลเอกสิทธิ์ที่ ธปท. ให้ธนาคารพาณิชย์รายงานแสดงให้เห็นว่า มีหลายปัจจัยที่ดึงดูดเงินทุน ในการทำเราดูเป็นเงินทุนไหลเข้าเป็นบาท และเอาตัวแปรเหล่านี้อธิบายการเปลี่ยนแปลงธุรกรรมการซื้อขายเงินตราเพื่อนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ธปท. กล่าว

เพราะฉะนั้น การจะแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้าด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จึงเป็นวิธีที่ ธปท. จะไม่เลือกใช้ แต่ถ้าจะใช้การควบคุมเงินทุนไหลเข้าที่เริ่มมีการพูดกันมากขึ้น ดร.ปิติมีความเห็นว่า เงินทุนที่ไหลเข้ามาเป็นเงินระยะสั้นๆ ถ้าจะเดินไปสู่มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย มีหลายประเด็นที่ต้องตระหนัก คือ ทำอย่างไรให้ได้ผลตามที่ต้องการ จากประสบการณ์ในต่างประเทศพบว่า ประสิทธิภาพมีไม่มาก เพราะทำไปได้สักพักเงินทุนเคลื่อนย้ายก็จะหาทางอ้อมเข้ามาได้ อีกเรื่องคือการบริหารที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นไม่ใช่เรื่องง่าย

“เป็นไปได้ที่จะมีมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าในอนาคต แต่มาตรการที่จะช่วยขจัดเงินไหลเข้าระยะสั้นยังไม่เห็นรูปแบบ ในแง่นโยบายไม่อยากทำอะไร และต้องมั่นใจว่าแก้ตรงจุด” ดร.ปิติกล่าว

การจะออกมาตรการแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้า ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ธปท. กล่าวว่า ต้องดูว่าความกังวลจริงๆ ตอนนี้คืออะไร เมื่อปีที่แล้วเงินก็ไหลเข้ามาจำนวนมาก แต่ดูค่าเงินบาทไม่เคลื่อนไหวเท่าไร แต่ช่วงนี้ค่าเงินแข็งขึ้นมา ทำให้ดูเหมือนว่าต้นตอปัญหาเงินไหลเข้าคือค่าเงินที่แข็ง ก็ต้องแก้ให้ค่าเงินบาทหายแข็ง

ในแง่ความเหมาะสมของค่าเงินแข็ง ดร.ปิติมีมุมมองว่ามีผลต่อเศรษฐกิจแน่นอน เพราะค่าเงินเป็นแรงจูงใจมหาศาลของภาคธุรกิจและครัวเรือนในการใช้จ่ายเงิน ถ้าประเทศเรามีการลงทุนเพิ่มขึ้น มีการขยายศักยภาพการผลิตเพิ่มขึ้น เป็นธรรมดาที่ค่าเงินจะแข็ง ซึ่งจะมีผลพลอยได้หลายอย่างจากการให้ค่าเงินแข็งขึ้น คือ ผลักดันให้บริษัทปรับตัวขยายฐานการผลิต นำเข้าเครื่องจักรราคาถูกลง ซึ่งช่วยกระตุ้นการลงทุน ถ้าจะไปลงทุนต่างประเทศ ก็ช่วยให้ทำได้ง่ายขึ้น และกระจายความเสี่ยงไปถือสินทรัพย์ต่างประเทศ

“ในระดับหนึ่งเราน่าจะยอมรับว่า การแข็งค่าของเงินบาทเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ด้วยจากค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงก็ด้วยเงินเฟ้อ และเป็นธรรมชาติของการพัฒนาประเทศที่เมื่อถึงจุดหนึ่งค่าเงินจะแข็งค่าขึ้น และลองเทียบนโยบาย 300 บาท เหตุผลหนึ่งที่ใช้ในการอธิบายคือ เพื่อกระตุ้นให้บริษัท และธุรกิจปรับตัวหานวัตกรรมใหม่ๆ ค่าเงินบาทก็เหมือนกัน และอย่าลืมว่าถ้าค่าเงินแข็งขึ้น ทุกคนรวยขึ้นในเวทีโลก” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ธปท. กล่าว

เพราะฉะนั้น ถ้าจะออกมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย ดร.ปิติมีความเห็นว่า การออกมาตรการ ถ้าทำเพื่อค่าเงินอย่างเดียว ต้องวิเคราะห์ให้ดีว่าเราอยู่จุดไหนของมาตรการ ตอนนี้เหมือนสังคมมีแนวโน้มมองว่าการแข็งค่าของเงินไม่ถูกต้องหรือผิดกรอบ แต่ทำไมไม่มองตรงข้าม คือ เงินที่แข็งค่าน่าจะเป็นประโยชน์

ดร.ปิติ ดิษยทัต
ดร.ปิติ ดิษยทัต

นอกจากนี้ ดร.ปิติพยายามจะอธิบายว่า ความเสี่ยงของเงินทุนเคลื่อนย้ายไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน แต่มีอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ควรระวังคือ ปัญหา sudden stop หรือ “เงินทุนไหลออกทันที” จะทำอย่างไร ซึ่งความท้าทายเรื่องการนำมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายมาใช้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น แต่มีอีก 3 เรื่องที่ควรต้องทำมากกว่า

เรื่องแรก การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบธนาคารพาณิชย์ เพราะความเสี่ยงของเงินไหลออกเร็วคือ เศรษฐกิจและระบบการเงินจะพังเร็ว เนื่องจากเงินไหลออกไป เครดิตลดลง ธนาคารมีหนี้เสียมาก ดังนั้น ถ้าสามารถกันให้ระบบธนาคารพาณิชย์แข็งแกร่งได้ ความเสี่ยงเวลาเกิดเงินไหลออกทันทีก็น่าจะน้อยลง

“เรื่องการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบธนาคารพาณิชย์ จะเป็นหลักอันหนึ่งที่จะดูแลปัญหา sudden stop ได้”

เรื่องที่สอง ต้องรักษาพื้นที่ว่างหรือช่องว่างในการดำเนินนโยบายการคลังไว้ เพราะในช่วงที่ sudden stop เศรษฐกิจกำลังจะลดลง ถ้านโยบายคลังช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ก็จะเป็นวิธีรองรับความเสี่ยงที่น่าจะเป็นประโยชน์ และในกรณีเลวร้ายที่เศรษฐกิจพัง แบงก์ล้ม ต้องไปอุ้มแบงก์ เหมือนที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกาประสบปัญหามาแล้ว จะเห็นว่าถ้าการคลังมีช่องว่างการดำเนินนโยบายก่อนจะเกิดวิกฤติ ปัญหาจะไม่หนักมากนัก เพราะการคลังเข้าไปช่วยรับภาระตรงนี้ได้

“เรื่องนโยบายการคลังควรมีพื้นที่หรือช่องว่างในการดำเนินนโยบายการคลังก็สำคัญ”

เรื่องที่สาม การเสริมสร้างความเข้มแข็งปัจจัยเชิงสถาบัน ถ้าเรามีกฎหมายที่เข้มแข็ง มีการพัฒนาตลาด และการเมืองมีเสถียรภาพ ผลการศึกษาเชิงประจักษ์เห็นสอดคล้องกันว่า ผลกระทบของเงินทุนเคลื่อนย้ายต่อเศรษฐกิจหรือผลประโยชน์ที่จะตกกับประเทศที่เงินไหลเข้านั้นส่วนมากไม่ชัด บางทีก็มีประโยชน์ บางทีก็ดูไม่ประโยชน์ คือ ไม่เห็นชัดเลย แต่ที่ค่อนข้างชัดคือ ถ้าระดับการพัฒนาของกฎหมายและระบบการเมืองมีระดับต่างกัน หรืออยู่ในช่วงกำลังพัฒนา ส่วนมากเงินทุนเคลื่อนย้ายจะสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ และผลกระทบช่วง sudden stop จะน้อยลง

อาทิเช่น กรณีในประเทศออสเตรเลียปี 2540 ไม่มีใครคิดถึงออสเตรเลียซึ่งค่าเงินลดลงมากกว่า 30% เหตุผลที่ออสเตรเลียไม่แย่คือ เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนลดถึงจุดหนึ่ง นักลงทุนดูว่าปัจจัยพื้นฐานดีมาก เมื่อเงินออกไปสักพักก็จะยอมเข้ามาใหม่ ขณะที่ประเทศแถบลาติอเมริกาปัจจัยพื้นฐานไม่ดี เมื่อเงินไหลออกไปแล้วก็จะไม่กลับเข้ามา

“เพราะฉะนั้น วิธีที่จะดูแลปัญหา sudden stop คือ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบการสถาบันการเงิน การรักษาช่องว่างนโยบายการคลังให้มีพื้นที่ในการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และการพัฒนาเชิงสถาบันให้เข้มแข็ง ส่วนการควบคุมเงินทุนไหลเข้าเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น และผลไม่ชัดว่าจะมีประสิทธิภาพแค่ไหน” ดร.ปิติกล่าว

ขณะที่ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งเข้าร่วมฟังเสวนาครั้งนี้แสดงความเห็นว่า เงินที่ไหลเข้ามาในครั้งนี้ต่างจากปี 2540 คือ ในปี 2540 เกิดจากเราเปลี่ยนแปลงนโยบายเปิดเสรีเงินทุนมากขึ้น ทำให้เงินไหลเข้ามา และเป็นการเข้ามาเพราะเรา “ขวนขวาย” ไปกู้ยืมเงินต่างประเทศเข้ามาเอง แต่ครั้งนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐอเมริกา ยุโรป แล้วเขาเข้ามาแสวงหาประโยชน์ รอบนี้เรานั่งเฉยๆ เงินไหลเข้ามาเองจำนวนมาก เมื่อไม่มีที่ลงทุนก็ไปลงทุนตลาดหุ้น เงินที่ไหลเข้ามาครั้งนี้ไม่มีประโยชน์กับประเทศไทย จะมีก็เฉพาะในส่วนของคนที่ลงทุนในหุ้น เมื่อขายอาจได้กำไรส่วนต่างราคา

ดร.อัมมารแสดงความหงุดหงิดว่า เงินทุนที่ไหลเข้ามากส่วนใหญ่เป็นเงินระยะสั้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องทำอะไรหลายๆ อย่าง แต่ประเด็นที่พูดกันและสื่อมวลชนก็ให้ความสำคัญคือการขึ้นลงดอกเบี้ย ทำให้นโยบายสาธารณะที่ควรจะทำเป๋ไปเยอะ

(จากซ้ายไปขาว) ดร.ปิติ ดิษยทัต ดร.จอน วงศ์สวรรค์ ดร.พงษ์ศักด์ เหลืองอร่าม และดร. อัมมาร สยามวาลา จับกลุ่มคุยกันหลังเลิกเสวนาฯ
(จากซ้ายไปขาว) ดร.ปิติ ดิษยทัต ดร.จอน วงศ์สวรรค์ ดร.พงษ์ศักด์ เหลืองอร่าม และดร. อัมมาร สยามวาลา จับกลุ่มคุยกันหลังเลิกเสวนาฯ

“เงินที่เข้ามาเยอะไม่มีประโยชน์อะไร ไปแก้ที่ดอกเบี้ยไม่มีประโยชน์ วิธีเดียวคือต้องควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟองสบู่ แต่เห็นด้วยกับ ดร.ปิติที่บอกว่านักเศรษฐศาสตร์ไม่สามารควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ คือ ทำไปได้สักพักก็จะหาทางอ้อมเข้ามาจนได้ แต่ที่คุยกันคือจะต้องมีมาตรการให้นักลงทุนลงทะเบียนเมื่อนำเงินเข้ามา” ดร.อัมมารกล่าว

แนวทางการป้องกันปัญหาเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นโดยจะให้นักลงทุนลงทะเบียนนั้น ดร.อัมมารขยายความว่า ต้องจดทะเบียนนักลงทุนที่นำเข้าเงินมา ซึ่งจะไม่กำหนดระยะเวลาว่าจะต้องอยู่นานเท่าไร แต่มีเงื่อนไขประกาศเป็นกฎหมายให้รัฐบาลรับรู้ว่าเงินเข้ามาเมื่อไร และถ้ามีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เงินที่เข้ามาเวลาจะส่งกลับหรือเอาออกจะมีกำหนดว่า เงินที่จะเอากลับออกไปได้ต้องเป็นเงินที่นำเข้ามาก่อน เงินที่เข้ามาที่หลังจะยังออกไปไม่ได้ คือ อาจกำหนดเวลาว่า เงินเข้ามานานเท่าไรถึงจะเอาออกไปได้ และกำหนดวงเงินในการเอาออกด้วย เพื่อป้องกันปัญหาเงินไหลออกรุนแรง

“วิธีนี้ไม่ได้ควบคุมเงินทุนไหลเข้า แต่ขอให้ลงทะเบียนไว้เมื่อนำเงินเข้ามา และจะกำหนดเงื่อนไขการนำเงินออกเมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงเงินทุนไหลเข้าออกเร็ว” ดร.อัมมารกล่าว

ด้านแหล่งข่าวจาก ธปท. กล่าวว่า ธปท. มีแนวคิดที่จะให้นักลงทุนที่นำเงินเข้ามาลงทะเบียนว่านำเงินเข้ามาเพื่อไปลงทุนอะไร เพื่อให้สามารถติดตามได้ว่าเงินที่ไหลเข้ามาไปอยู่ที่ไหนบ้าง หากใครไม่ลงทะเบียนก็นำเงินเข้ามาลงทุนไม่ได้ เพราะแสดถึงเจตนาที่ไม่ดี

นอกจากนี้ ในกรณีต่างประเทศเข้ามาลงทุนผ่านคัสโตเดียน ทาง ธปท. มีแนวคิดอยากให้คัสโตเดียนเปิดเผยรายชื่อนักลงทุนที่ลงทุนผ่านคัสโตเดียน เพราะปัจจุบัน ธปท. ไม่ทราบว่านักลงทุนที่ลงทุนผ่านคัสโตเดียนเป็นใคร ทราบแต่เพียงมีเงินลงทุนผ่านคัสโตเดียนไปไหนบ้าง จำนวนเท่าไร แต่ไม่รู้ว่าไส้ในของผู้ลงทุนที่แท้จริงเป็นนักลงทุนหรือเฮดจ์ฟันด์ จึงต้องการให้มีการคลี่รายชื่อนักลงทุนเหล่านั้น เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์และติดตามเงินทุนเคลื่อนย้ายได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“มาตรการการลงทะเบียนนักลงทุนไม่ใช่มาตรกรควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่เป็นการขอให้เปิดเผยข้อมูลให้มากขึ้น ซึ่งแนวทางนี้จะสอดคล้องกับแนวทางที่สหรัฐกำลังดำเนินการออกกฎหมาย Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA) จึงเป็นจังหวะดี ถ้าสหรัฐดำเนินการ เราก็น่าจะดำเนินการควบคู่ไปด้วย” แหล่งข่าว ธปท. กล่าว

ทั้งนี้ กฎหมาย Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA) เป็นกฎหมายที่สหรัฐผลักดันเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีของคนอเมริกัน โดยการทำธุรกรรมการเงินนอกประเทศกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้สถาบันการเงินต่างประเทศทุกแห่งนอกสหรัฐ ต้องรายงานข้อมูลบัญชีลูกค้าชาวอเมริกันที่มีรายการในสถาบันการเงินต่างประเทศนั้นให้แก่สรรพากรสหรัฐ (IRS) หากสถาบันการเงินต่างประเทศรายใดไม่ปฏิบัติตาม หรือลูกค้าสถาบันการเงินนั้นไม่ให้ความร่วมมือ จะถูก IRS หักภาษี ณ ที่จ่าย (withholding tax) 30% ของรายได้ที่มีแหล่งจากสหรัฐ

ขณะที่ ดร.จอนกล่าวว่า ในมุมมองของนักลงทุน ไม่ชอบมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายแน่นอน เพราะเมื่อนักลงทุนเข้ามาลงทุนจะต้องการรู้ว่าโอกาสในการเข้ามาลงทุนและเอาเงินออกจะต้องมีต้นทุนต่ำ ประเด็นที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้เชื่อว่าจะควบคุมเฉพาะเงินไม่ดีหรือเงินที่ต้องการควบคุมได้ และจะทำนานแค่ไหน

ปัญหาเรื่องความเป็นห่วงภาวะฟองสบู่ในขณะนี้ ดร.จอนกล่าวว่า ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าเกิดภาวะฟองสบู่หรือยัง แต่มีสัญญาณที่น่ากลัวคือ ช่วงนี้ความไม่แน่นอนจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น แต่สถานการณ์ตลาดการเงินกลับตรงกันข้าม

“อย่างไรก็ตาม ช่องว่างระหว่างปัจจัยพื้นฐานกับระดับราคาสินทรัพย์ยังมีอยู่” ดร.จอนกล่าว