Hesse004
ภาษิตโบราณที่ว่า “ความกลัวทำให้เสื่อม” ดูจะจริงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะความกลัวการสูญเสียอำนาจที่ตัวเองครอบครองมานาน
สัจธรรมข้อนี้เกิดขึ้นล่าสุดในสถานการณ์การเมืองร้อนๆ ของประเทศ “ซิมบับเว” หลังจากที่อดีตผู้นำนายโรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe) ถูกกองทัพ “รัฐประหารเงียบ” เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
ครั้งหนึ่งมูกาเบเคยพูดแบบอหังการ์ไว้ว่า “มีแต่พระเจ้าเท่านั้น ที่สามารถทำให้เขาพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีไปได้” (Only God, who appointed me, will remove me. )
วันนี้ไม่มีพระเจ้าองค์ใดเขี่ยมูกาเบลงจากตำแหน่งผู้นำสูงสุด หากแต่เป็นกองทัพซิมบับเวที่อาศัยจังหวะ “ลับ ลวง พราง” ควบคุมตัวผู้นำวัย 93 ปี จนไร้พิษสง
พลันที่มูกาเบถูกปลดจากอำนาจ สำนักข่าวต่างประเทศใหญ่ๆ อย่างบีบีซีและอัลจาซีรา ได้รายงานเรื่องราวชีวิตการต่อสู้ของมูกาเบกันทุกซอกทุกมุม ว่ากว่าที่เขาจะก้าวมาถึงวันนี้ได้นั้น เรื่องราวชีวิตมูกาเบมีที่มาอย่างไร
มูกาเบเป็นบุตรช่างไม้ เรียนจบปริญญาตรีในแอฟริกาใต้ เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นครูสอนหนังสือในประเทศกานา
ยุคที่ทวีปแอฟริกาถูกปกครองด้วยคนผิวขาว คนพื้นเมืองผิวดำถูกกดขี่บีฑา และได้รับสิทธิที่ไม่เท่าเทียมกับคนขาว ถูกปฏิบัติราวกับเป็นพลเมืองชั้นล่าง จนกระทั่งความกดดันเหล่านี้นำไปสู่การรวมกลุ่มลุกขึ้นสู้
ซิมบับเว ชื่อเดิมคือ โรดีเซีย ก็มีสภาพไม่แตกต่างกัน… มูกาเบคือคนที่ลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจคนขาวที่ปกครองอย่างโหดร้าย เขาถูกรัฐบาลคนขาวจับติดคุกนานถึง 10 ปี ด้วยข้อหาปลุกปั่น ยุยงให้ผู้คนกระด้างกระเดื่อง
ด้วยเหตุนี้ โรเบิร์ต มูกาเบ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เรียกร้องเอกราช เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันที่ต้องการปลดแอกซิมบับเวออกจากอาณานิคมอังกฤษ
เมื่อสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลเจ้าอาณานิคมและกลุ่มชนพื้นเมืองยุติลง ซิมบับเวได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1980 และนำไปสู่ยุคสาธารณรัฐ (Republic of Zimbabwe)
มูกาเบลงเลือกตั้งในปีดังกล่าวและพรรค Zimbabwe African Nation Union (ZANU) ของเขาได้ชัยชนะถล่มทลาย โดยมูกาเบดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งเขาสะสมทั้งอำนาจและบารมีก่อนจะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 1987 ครองอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่ตัวเองและกลายเป็นผู้นำสูงสุดของซิมบับเวจนกระทั่งถูกรัฐประหารเงียบ รวมระยะเวลาอยู่ในอำนาจนานถึง 37 ปี
ตลอดระยะเวลาการปกครองซิมบับเว ช่วงแรกๆ ดูเหมือนเขาจะแสดงผลงานได้โดดเด่นไม่น้อย วีรบุรุษผู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษได้ปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยการยึดที่ดินทำกินจากคนขาวและกระจายกลับไปให้คนพื้นเมือง
อย่างไรก็ดี อำนาจทำให้คนเปลี่ยน…มูกาเบกลายเป็นผู้นำที่หลงอำนาจ ฉ้อฉล คอร์รัปชันทุกรูปแบบเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง (ดูค่า Corruption Perception Index ของซิมบับเวย้อนหลัง 5 ปี)
แม้เขาและพรรค ZANU จะชนะการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ชัยชนะของมูกาเบกลับไม่ได้ทำให้อำนาจของเขาแข็งแกร่งขึ้น เพราะผลงานบริหารประเทศในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น มูกาเบทำให้ซิมบับเวสาละวันเตี้ยลง จนเศรษฐกิจพังทลาย
ซิมบับเวเผชิญภาวะอภิมหาเงินเฟ้อ (Hyperinflation) ครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง เงินเฟ้อกันถึงขนาดที่ธนาคารกลางต้องพิมพ์ธนบัตร 1 แสนล้านซิมบับเวดอลลาร์ (100 Billon Zimbabwe Dollar) ออกมา ทำให้ธนบัตรซิมบับเวมีค่าไม่ต่างอะไรจากกระดาษชำระ
ย้อนกลับไปปี 2008 การเลือกตั้งครั้งสำคัญที่ชาวซิบบับเวต่างรอคอยเพื่อจะได้ลงคะแนนเสียงเลือกผู้นำคนใหม่ แม้ผลการเลืกตั้งประธานาธิบดีครั้งนั้นในรอบแรกปรากฏว่ามูกาเบพ่ายแพ้ต่อนายมอร์แกน ซังกิราย (Morgan Tsvangirai) จากพรรค Movement for Democratic Change (MDC) แต่มูกาเบไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เขาใช้วิธีการสกปรกโจมตีนายซังกิราย และยุยงปลุกปั่นให้เกิดการต่อสู้กันระหว่างมวลชนที่สนับสนุนเขาและผู้สนับสนุนพรรค MDC
ท้ายที่สุด นายซังกิรายก็ตัดสินใจ “ยกธงขาว” ถอนตัวจากการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรอบสองเพื่อปกป้องผู้สนับสนุนเขาไม่ให้เกิดการนองเลือด
การเมืองซิมบับเวมาถึงทางตัน เป็นทางตันที่ผู้นำชื่อ “โรเบิร์ต มูกาเบ” ดันทุรังพาประเทศถอยหลังสุดซอยโดยไม่ฟังเสียงใคร
และนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา เศรษฐกิจซิมบับเวก็ถดถอยอย่างน่าใจหาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ซิมบับเวเคยถูกคาดหมายว่าจะก้าวหน้าไม่แพ้แอฟริกาใต้ เนื่องจากได้รับมรดกทั้งทางด้านการศึกษาและทางการเมืองการปกครองจากอังกฤษ เจ้าอาณานิคมที่วางโครงสร้างไว้ดี หนำซ้ำยังได้เปรียบหลายประเทศที่ชาวซิมบับเวใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ติดต่อค้าขายได้คล่องตัว
แต่มูกาเบทำให้ซิมบับเวถอยหลังลงคลองไปเรื่อยๆ มูกาเบบ้าอำนาจมากขึ้น เขาใช้รัฐสภาออกกฎหมายยึดไร่และทรัพย์สินคนขาว ทำให้คนขาวเริ่มทยอยอพยพออกจากประเทศ ทั้งที่คนขาวเหล่านี้คือแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจซิมบับเว
เมื่อกลไกทุกอย่างเสื่อมทรามลง มูกาเบยังใช้ความรุนแรงจัดการปัญหากับผู้เห็นต่าง เขาปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ควบคุมเสรีภาพสื่อ คุกคามนักการเมืองฝ่ายค้าน
…และแล้ว สัญญาณความพินาศของอาณาจักรมูกาเบก็เริ่มขึ้น เมื่อเขาตั้งใจจะมอบอำนาจต่อให้นางเกรซ มูกาเบ (Grace Mugabe) เมียคนที่สองที่ถูกวางไว้เป็นทายาทการเมืองในวันที่มูกาเบมีอายุย่าง 90 ปี
แต่การเมืองซิมบับเวซับซ้อนตรงที่ฝ่ายผู้เคยสนับสนุน “อุ้มสม” มูกาเบมาตลอดหลายสิบปีนั้นเริ่มระแคะระคายแล้วว่ามูกาเบกำลังจะหักหลังพวกเขา โดยเฉพาะรองประธานาธิบดี นายเอเมอร์สัน มนันกากวา (Emerson Mnangagwa) ที่จ่อคิวเป็นทายาทการเมืองมูกาเบอยู่ก่อนแล้ว เมื่อรู้ตัวว่ากำลังถูกเฉดหัวส่ง จึงร่วมมือกับกองทัพรอเวลาเล่นงานมูกาเบกลับ
จนกระทั่งเมื่อมูกาเบ “หักดิบ” ปลดนายมนันกากวาพ้นจากรองประธานาธิบดี ได้กลายเป็นชนวนทำให้กองทัพเข็นรถถังออกมารัฐประหารเงียบ
ปัญหาเรื่องทายาททางการเมืองนี้เองได้กลายเป็น “จุดจบ” ของผู้นำวัยดึก กองทัพซิมบับเวเข้าควบคุมตัวโรเบิร์ต และ เกรซ มูกาเบ โดยอ้างเหตุผลการกระทำครั้งนี้ว่า “เพื่อกำจัดเหล่าอาชญากรที่รายล้อมตัวมูกาเบ จนเป็นเหตุแห่งปัญหาของประเทศทุกวันนี้”
จะว่าไปแล้ว การต่อสู้ทางการเมืองของโรเบิร์ต มูกาเบ คล้ายคลึงกับ นายเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) กล่าวคือ ทั้งคู่ต่อสู้เพื่อปลดแอกประเทศตัวเองจากอาณานิคมอังกฤษ ต่อสู้เพื่อเอกราช ทั้งคู่เคยติดคุกเหมือนกัน และกลับเข้ามาสู่เวทีการเมือง จนได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำสูงสุดเหมือนกัน
…แต่สิ่งที่ต่างกัน คือ สถานีสุดท้ายปลายทาง
แมนเดลาจากไปในฐานะรัฐบุรุษของโลก และเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้และสร้างความปรองดองให้กับประเทศแอฟริกาใต้
แต่สำหรับมูกาเบแล้ว เขาเริ่มต้นจากวีรบุรุษเช่นกัน แต่ลงท้ายเข้าจบชีวิตด้วยการเป็นทรราชที่มีแต่ผู้คนก่นด่า สาปแช่ง
สิ่งที่สองคนนี้แตกต่างกัน คือ คนหนึ่งรู้จักคำว่า “พอ” และลงจากอำนาจในวันที่ตัวเองยังไปต่อได้ แต่เลือกไม่ไปต่อ แต่อีกคนหนึ่งไม่รู้ตัวเองว่าควรลงจากอำนาจ (ตั้งนานแล้ว) แต่ยังดันทุรังไปต่อ
แม้มูกาเบจะถูกถอดจากตำแหน่งผู้นำไปแล้ว ปิดตำนาน 37 ปี ของเผด็จการซิมบับเว แต่สิ่งที่มูกาเบทิ้งไว้ คือ มรดกบาปและปัญหาอีกกองพะเนินที่ผู้นำคนใหม่จะต้องเข้ามาสะสาง