ThaiPublica > คอลัมน์ > ประกาศผลสอบคอร์รัปชัน

ประกาศผลสอบคอร์รัปชัน

9 ธันวาคม 2013


หางกระดิกหมา

Corruption Perception Index 2013 ที่มาภาพ : http://englishnews.thaipbs.or.th
Corruption Perception Index 2013 ที่มาภาพ: http://englishnews.thaipbs.or.th

หลังจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล (Transparency International) ได้ประกาศคะแนน “ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน” (Corruption Perception Index (CPI)) ประจำปีนี้ออกมา ผู้ที่คอยลุ้นเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยคงอกหักกันไปไม่น้อย

เพราะนอกจากปีนี้ ประเทศเราได้คะแนนเพียง 35 คะแนนจากคะแนนเต็มร้อย ซึ่งถือว่าสอบตกแบบไม่มีลุ้นแล้ว คะแนนที่ว่ายังเลวกว่าคะแนนของปีที่แล้วถึง 2 คะแนน ส่งผลให้อันดับความโปร่งใสของประเทศเราร่วงจากลำดับที่ 88 ไปเป็น 102 จากทั้งหมด 177 ประเทศทั่วโลก ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้ว ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ประเทศเราพูดถึงเรื่องการต้านคอร์รัปชันอย่างโขมงโฉงเฉงที่สุด ภาคเอกชนก็ประกาศเจตนารมณ์ไม่เอาโกง ภาครัฐก็ประกาศสงครามกับคอร์รัปชัน สื่อทั้งหลายไม่ว่าหนังสือหรือทีวีก็พูดถึงเรื่องการต้านคอร์รัปชันด้วยท่าทีที่ไม่เหมือนการเล่าเทพนิยายอย่างแต่ก่อน กระทั่งม็อบ “มวลมหาประชาชน” นี้ จะเรียกว่าม็อบต้านคอร์รัปชันก็คงไม่ผิด

โดยสาเหตุที่เราต้องให้ความสำคัญกับคะแนน CPI ก็เพราะว่า คะแนนนี้ถือเป็นมาตรวัดคอร์รัปชันในภาครัฐที่ใช้กันแพร่หลายที่สุด อย่าไปติดแต่คำ “ภาพลักษณ์” จนคิดว่ามาตรวัดนี้อาจไม่ได้สะท้อนความจริง เพราะเรื่องคอร์รัปชันนั้น นอกจากยมบาลแล้ว ย่อมไม่มีใครมีปัญญาไปรู้รายละเอียดของธุรกรรมที่เกิดขึ้นได้ครบถ้วน จะรอนับเฉพาะจำนวนคดีทุจริตที่ศาลพิพากษาแล้วหรือจำนวนเงินเท่าที่รับว่ามีการจ่ายใต้โต๊ะ ก็ยิ่งห่างไกลจากความจริง เขาจึงต้องอาศัย “ภาพลักษณ์” กล่าวคือ ความเห็นของผู้ชำนาญการจากบรรดาสถาบันที่มีองค์ความรู้และมีความน่าเชื่อถืออย่างเช่น World Bank หรือ Asian Development Bank เป็นตัวกำหนดคะแนน ดังนั้น ถ้าคะแนน CPI ของเราน้อย ก็แปลว่าคอร์รัปชันของเรายังมาก ไม่มีเป็นอื่นไปได้

อันที่จริงแล้ว ในแง่หนึ่ง คะแนน CPI น้อยๆ เองนี่แหละที่เป็นวัตถุประสงค์ของตัว CPI เอง กล่าวคือ เขาต้องการให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมใช้คะแนน CPI นี้เป็นตัวไล่บี้รัฐบาลของตนให้ตระหนักถึงสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศ เพราะพอตัวเลขออกมาอย่างนี้ รัฐจะอ้างว่าได้ทำมาตรการนั้นมาตรการนี้แล้วไม่ได้ เพราะคะแนนไม่ผ่านก็แปลว่าสิ่งที่ได้ทำไปยังไม่ถูกหรือไม่พอ อย่างประเทศเรานั้นไม่ต้องพูดถึงอยู่แล้ว แต่แม้ประเทศที่จัดว่าดีอยู่แล้วก็จะมีคะแนน CPI นี้เป็นเครื่องกวดขันตัวเองต่อไปอีก เช่น ออสเตรเลีย ซึ่งติดหนึ่งในสิบประเทศที่โปร่งใสที่สุด ปีนี้ก็ยังต้องพบว่าตัวเองคะแนนตกไปถึง 4 คะแนน หรืออย่างสเปน ซึ่งเพิ่งออกกฎหมายเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ก็คะแนนตกเหมือนกัน คะแนน CPI จึงช่วยทำลายความชะล่าใจอันเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของกิจการต้านคอร์รัปชันได้มาก

ทั้งนี้ คะแนน CPI ของแต่ละประเทศจะสูงขึ้นถ้ามีระบบการเปิดเผยข้อมูลและกลไกควบคุมพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่แข็งขัน ในทางตรงกันข้าม สถาบันและกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอจะดึงให้คะแนนตก ดังนั้น หากรู้ผล CPI แล้วรัฐใดอยากจะทำคะแนนไม่ให้น่าอดสูอีกในปีหน้า โดยหลักการ รัฐก็จะต้องพัฒนาไปในทางที่ว่ามานี้ ส่วนโดยวิธีการจะทำอย่างไรนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ ศึกษาต่อไป อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าก็คือสถานการณ์ของประเทศในขณะนี้ เพราะถ้าสถานการณ์นี้จบลงด้วยความวุ่นวายถึงขั้นเป็นสงครามกลางเมือง เรื่องปราบคอร์รัปชันก็เป็นอันเลิกพูดกันได้

สาเหตุที่ต้องพูดอย่างนี้ก็เพราะองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลบอกเลยว่า ในปีนี้ บรรดาประเทศ “อาหรับสปริง” ในตะวันออกกลาง เช่น เยเมน ลิเบีย ซีเรียนั้น มีคะแนน CPI ตกลงกันแทบจะถ้วนหน้า กล่าวคือ เยเมนคะแนนตก 5 จุด จนเหลือแค่ 18 ซีเรียตก 9 จุด เหลือ 17 และลิเบียตก 6 จุด เหลือ 15 ทั้งๆ ที่ก็รู้กันอยู่ว่าอาหรับสปริงนั้นส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างอุจาดของบรรดาผู้มีอำนาจทำนองเดียวกับม็อบมวลมหาประชาชนของเรานี่แหละ

อย่างเช่นเยเมนนั้น หลังจากประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ ผู้นำของหนึ่งในรัฐบาลที่โกงที่สุดในโลกถูกขับพ้นตำแหน่งไปแล้ว บ้านเมืองก็อยู่ในสภาพเสมือนไร้กฎหมาย จนกิจการคอร์รัปชันยิ่งขยายตัวหนักกว่าเมื่อก่อน โดยเฉพาะในแวดวงของกองทัพและตำรวจ หรืออย่างกรณีของเผด็จการกัดดาฟีแห่งลิเบีย ซึ่งก็โกงกินฉ้อฉลอยู่เป็นสามสิบสี่สิบปี พอกัดดาฟีถูกล้มก๊กและถูกสังหารไปแล้ว เรื่องคอร์รัปชันก็ไม่ได้ตายตามไป นี่ก็เพิ่งมีข่าวแดงขึ้นมาว่าเบี้ยรายเดือนที่มีไว้จัดสรรให้แก่สมาชิกของกองกำลังโค่นล้มกัดดาฟีเดือนละสองพันกว่าเหรียญนั้น ปรากฏว่าสุดท้ายก็มีการปลอมรายชื่อมารับเบี้ยกันเป็นสองสามแสนรายชื่อ ทำให้รัฐสูญเงินไปไม่รู้กี่ร้อยล้านเหรียญ ยิ่งซีเรีย ซึ่งสงครามกลางเมืองยังรบกันอยู่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ข่าวบอกว่าอัตราการติดสินบนหรือลักลอบค้าของผิดกฎหมายนับวันมีแต่จะสูงเป็นเงาตามตัวความไม่สงบ

ทั้งนี้ คริสตอฟ วิลค์ ผู้อำนวยการภาคพื้นตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือขององค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เป็นเพราะการจะปราบคอร์รัปชันนั้นต้องอาศัย หนึ่ง สถาบัน สอง คนทำงานในสถาบันที่มีความรู้ความสามารถ และ สาม ระบบการตรวจสอบที่เป็นอิสระต่อกัน แต่ในสถานการณ์ความขัดแย้งนั้น แกบอกว่าปัจจัยทั้งหมดจะเป็นอันถูกเทกระจาดไปหมดทั้งสิ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่คะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศเหล่านี้จะตกต่ำกันหมด

ดังนั้น ถ้าฟังตามผู้อำนวยการท่านว่านี้ ก็เห็นจะต้องบอกว่า จะอย่างไรก็แล้วแต่ หากเราหวังจะปราบคอร์รัปชันจริง ทุกคนก็มีหน้าที่จะต้องทำให้สถานการณ์การเมืองในขณะนี้จบลงโดยไม่เป็นสงครามกลางเมืองให้ได้

แต่ก็ยากนัก เพราะทุกวันนี้ไม่เห็นมีใครฟังใครทั้งนั้น

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม 2556