ThaiPublica > คอลัมน์ > Travelism เดินทางอย่างยั่งยืน

Travelism เดินทางอย่างยั่งยืน

5 มิถุนายน 2013


โตมร ศุขปรีชา

ที่มาภาพ : http://b00q.files.wordpress.com/2012/02/postcard.jpg
ที่มาภาพ : http://b00q.files.wordpress.com/2012/02/postcard.jpg

“สิ่งใดที่นักท่องเที่ยวต้องการ ท่านนักท่องเที่ยวต้องได้ ภาพพจน์เกาะสวรรค์เมืองร้อนสมบูรณ์พูนผลในความคิดฝันของนักท่องเที่ยว มันหลุดออกมาทั้งแผ่นจากรูปโปสเตอร์โฆษณาขายสวรรค์” …ตอนหนึ่งจากหนังสือ ‘ข้างหลังโปสการ์ด’โดย หลานเสรีไทย (136)

1

ว่ากันว่า แรงกดดันในการทำให้การท่องเที่ยว ‘เขียวขึ้น’ (Greener) นั้น, มาจากคนนอกวงการท่องเที่ยวมากยิ่งกว่าคนในวงการ และยิ่งมากกว่าตัว ‘นักท่องเที่ยว’ เอง

ทุกคนรู้พอๆกันว่าโลกกำลังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลง พายุรุนแรงถล่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกามาแล้วถึงสองสามครั้งในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี นิวยอร์คถูกน้ำท่วม เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ที่ถูกถล่มโดย ‘มวลน้ำ’ จนยับเยิน ในขณะที่ดอกไม้ชิงกันออกดอกรุนแรงตลอดทั้งปี แสดงถึงความอยาก ‘ขยายพันธุ์’ ที่ส่อเค้าแห่งความเปลี่ยนแปลงผิดฤดู

แต่ในเมื่อการท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องจักรหลักในการทำเงินให้กับประเทศจำนวนมากในโลก การท่องเที่ยวจึงยังคงดำเนินต่อไป และส่วนใหญ่ยังดำเนินต่อไปด้วยสำนึกของการ ‘ให้บริการนักท่องเที่ยว’ อย่างสมบูรณ์แบบเต็มที่ จนหลายครั้งผู้ให้บริการหมดสิ้นซึ่งศักดิ์ศรี ต้องคอยเอาอกเอาใจ ‘แขก’ ตลอดเวลา

แต่ ‘โลก’ ไม่ใช่ผู้ขายบริการ โลกกำลังเปลี่ยน และกำลังประกาศกร้าวกับเราว่าถ้าเราไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตและวิธีคิดด้วยตัวของเราเอง อีกไม่นานนัก โลกก็จะทำให้เรา ‘ต้อง’ เปลี่ยน

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เกิดแรงกดดันมหาศาลกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่กระนั้นก็น่าแปลก ที่ ‘คนใน’ ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเองยังไม่ใคร่ตระหนักถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ในการประชุม World Travel Monitor Forum ครั้งที่ 19 ก็ได้ข้อสรุปออกมาเช่นนี้ว่าโดยภาพรวมแล้ว ‘การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ (Sustainable Holidays) ยังไม่ได้รับการตอบรับอย่างยั่งยืนสักเท่าไหร่ ทั้งจากตัวนักท่องเที่ยวหรือ ‘ลูกค้า’ และจากผู้ให้บริการหรือ ‘พ่อค้าแม่ค้า’

ในภาวะที่โลกใกล้จะพังทลายอย่างหวนกลับไม่ได้-นี่เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง!

2

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอาจไม่ได้สร้างมลพิษให้เห็นกระจะตาเหมือนนิคมอุตสาหกรรม แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิมนั้นมุ่งเน้นที่ความสะดวกสบาย นักท่องเที่ยวแบบดั้งเดิมทั้งหลายจึงใช้ทั้งเครื่องบิน รถยนต์ เรือสำราญ โรงแรม กันอย่างเกินพอดี โดยยึดถือคติที่ว่า เมื่อจ่ายมากก็ต้องได้รับมาก

ว่าแต่การท่องเที่ยวในอนาคต (อันใกล้!) ควรเป็นอย่างไรเล่า?

ในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์จอฟฟรีย์ ลิปแมน (Geoffrey Lipman) ซึ่งเป็นประธานของ Greenearth.travel เป็น Managing Director ของกลุ่ม Beyond Tourism และเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับ UNWTO หรือ World Tourism Organization เห็นว่า ทุกมิติของกลยุทธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์โลก รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ และต้องเริ่มต้นทำตั้งแต่บัดนี้ เพื่อให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่กำลังสูงขึ้นเรื่อยๆคงตัวได้ในปี 2050

ข้อเสนอของลิปแมนก็คือต้องเปลี่ยนการลงทุน การผลิต และการบริโภคในทุกแง่มุมให้กลายเป็นรูปแบบที่สร้างคาร์บอนต่ำ โดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีสัดส่วนราว 5-10% ของเศรษฐกิจและการจ้างงานของโลก ทั้งยังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยประมาณแล้วอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นเป็นสองเท่าในทุกๆสิบปี ดังนั้น ถ้าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหันมาใส่ใจกับการเติบโตสีเขียว (เขาใช้คำว่า Green Growth) อย่างแท้จริง ก็จะทำให้โลกลดการปล่อยคาร์บอนได้มหาศาล

ลิปแมนเน้นว่า-การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องเกิดขึ้น ‘เดี๋ยวนี้’ เพราะกว่าจะเกิดผลได้ก็ในอีก 20 ปีข้างหน้า และเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ขึ้นจริงๆ เขาจึงเสนอแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า Travelism ขึ้น

3

เราอาจคุ้นเคยกับคำว่า ‘การท่องเที่ยว’ หรือ Tourism ดีอยู่แล้ว แต่ลิปแมนบอกว่า ในอนาคต อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะต้องเปลี่ยนตัวเองจาก Tourism มาเป็น Travelism

ที่จริงนี่ไม่ใช่แนวคิดใหม่ เพราะเราคุ้นเคยกับ ‘การท่องเที่ยว’ ดีอยู่แล้ว และต้องยอมรับว่า การท่องเที่ยวหรือ Tourism มีส่วนทำให้เกิด Tourist หรือที่ ‘หลานเสรีไทย’ เรียกว่า ‘ตัวฤทธิ์’ อันเป็นกลุ่มคนที่ผู้ให้บริการต้องคอยเอาอกเอาใจ และเห็นว่าคนเหล่านี้คือ Cash Cow หรือแม่วัวที่รีดนมออกมาเป็นเงินให้ตัวเอง จึงต้องคอยปรนนิบัติเอาใจ ดังที่เราจะเห็นในโฆษณาของการท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆว่าประเทศของตนนั้นสามารถให้สิ่งที่เรียกว่า ‘ความสุข’ จากการท่องเที่ยวได้มากมายขนาดไหน

ตัวฤทธิ์และอุตสาหกรรมตัวฤทธิ์นั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมขนานใหญ่ในหลายพื้นที่ ซึ่งเมื่อตั้งอยู่บนฐานของการ ‘รีดนม’ จากวัวเงินแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจำนวนมากจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงในแง่ลบ

แต่ลิปแมนบอกว่า ในอนาคต Tourism ต้องเปลี่ยนเป็น Travelism คือแทนที่จะเป็น ‘การท่องเที่ยว’ ที่มัวแต่ต้องการแสวงหาความเพลิดเพลินหรือการปรนนิบัติตัวเองอยู่ในท่ามกลางหายนะของโลก เราต้องเปลี่ยนให้เป็น ‘การเดินทาง’ ที่มีพื้นฐานอยู่บน ‘ความยั่งยืน’ หรือ Sustainability ที่เป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ยั่งยืนแต่ปาก สับปลับเพื่อการตลาด หลอกลวงว่ายั่งยืนแต่ยังคงยืนหยัด ‘รีดนม’ วัวเงินอยู่อย่างต่อเนื่อง

ความยั่งยืนที่ว่ามีตั้งแต่ยั่งยืนในวิธีเดินทางหรือขนส่ง การเป็นจุดหมายปลายทางที่ยั่งยืน และมีวิถีชีวิตหรือการใช้ชีวิตที่ยั่งยืนด้วย ดังนั้น ‘ผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยว’ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน โรงแรม รถยนต์ ฯลฯ ในที่สุดแล้วก็ต้องหันมาสู่แนวทางนี้

แต่แน่นอน เมื่อโลกยังไม่เคลื่อนออกจากกระแสตลาดและธุรกิจแบบเดิม คำถามก็คือต่อให้ผู้ทำธุรกิจอยากทำธุรกิจแบบยั่งยืน แต่จะมีอุปสงค์ในเรื่องนี้มากแค่ไหน เพราะเหล่า ‘ตัวฤทธิ์’ ส่วนใหญ่ ก็ยังอยากเป็น ‘พระเจ้า’ ด้วยการหว่านเงินหาคนมาคอยรับใช้ขณะ ‘ท่องเที่ยว’ อยู่นั่นเอง

ตรงนี้คือปัญหาสำคัญ!

4

สำหรับ ‘ผู้บริโภค’ ส่วนใหญ่ในโลกแล้ว การเดินทางอย่างยั่งยืนนั้นเป็น ‘เรื่องที่ดี’ แต่ไม่มีใครสักกี่คนอยากทำ คนส่วนใหญ่ยังยินดีและพอใจกับการ ‘จ่ายหนัก’ เพื่อให้วันหยุดของตัวเองเป็นคืนวันที่คุ้มค่าที่สุด

ไม่นานมานี้ สถาบันการท่องเที่ยวแห่งมหาวิทยาลัยลูเซิร์น ได้จัดการสำรวจกลุ่มผู้บริโภคในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจำนวน 6,000 คน ใน 8 ตลาดท่องเที่ยวใหญ่ ได้แก่บราซิล เยอรมนี อินเดีย รัสเซีย สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ และอเมริกา โดยถามถึงทัศนคติเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป้าหมายของการสำรวจนี้คือการทำความเข้าใจในแง่ลึกว่าผู้บริโภคมองการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างไร และแยกแยะ ‘นักท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ ออกมาเป็นกลุ่มต่างๆ โดยดูว่านักท่องเที่ยวเหล่านี้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในเรื่องไหนบ้าง โดยแบ่งออกเป็นสามด้าน ได้แก่ด้านนิเวศวิทยา, สังคม และเศรษฐกิจ พบว่าสามารถแบ่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้ออกได้เป็นห้ากลุ่มด้วยกันดังต่อไปนี้

1. กลุ่มที่เห็นว่าทั้งสามเรื่องเป็นเรื่องสำคัญพอๆกัน มีอยู่ 33%
2.กลุ่มที่ยังสงสัยว่าสามเรื่องนี้สำคัญขนาดนั้นจริงหรือ มีอยู่ 25%
3.กลุ่มที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเชิงนิเวศ โดยถ้าจะไปท่องเที่ยวพักผ่อน จะดูว่าที่ที่ไปนั้นมีความยั่งยืนเชิงนิเวศมากน้อยแค่ไหน มีอยู่ 15%
4.กลุ่มที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่น มีอยู่ 15%
5.กลุ่มที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของเศรษฐกิจของชุมชน มีอยู่ 12%

ผลการสำรวจที่ว่านี้ เป็นเพียงผลโดยรวมของทุกประเทศเท่านั้น แต่ถ้าดูเจาะลึกลงไปในแต่ละประเทศ เราจะพบว่าตัวเลขในแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันลงไปอีก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกลักษณะของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ตัวอย่างเช่น เยอรมนีกับอังกฤษนั้น กลุ่มที่มีมากที่สุดคือกลุ่มขี้สงสัย คือสงสัยในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนว่ามันเป็นไปได้จริงหรือ ในขณะที่สวิตเซอร์แลนด์มีกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเชิงนิเวศมากที่สุด ส่วนในบราซิลกับอินเดียซึ่งให้ความสำคัญกับความยากจนและการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันเป็นอย่างมากนั้น คนจะให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเชิงเศรษฐกิจมากที่สุด เป็นต้น

ในภาพรวม ถ้าดู ‘ปัจจัย’ ที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจจะไปเที่ยวที่ไหนหรือไม่ไปนั้น พบว่าคนโดยทั่วไปให้ความสำคัญกับความยั่งยืนอยู่ในอันดับที่ 7 จากปัจจัยสำคัญๆทั้งหมด 8 อย่าง โดยปัจจัยห้าอย่างแรกได้แก่ สภาพอากาศ, ราคา, การเดินทางที่สะดวกสบาย, วัฒนธรรม และทิวทัศน์ที่งดงาม ดังนั้นจึงดูคล้ายกับว่า คนทั่วไปไม่ได้สนใจความยั่งยืนสักเท่าไหร่ และอุปสงค์ของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนหรือการเดินทางแบบ Travelism ก็ไม่น่าจะมีอนาคตสดใสสักเท่าไหร่เมื่อมองจากมุมของ ‘โลกเก่า’ ในทางการตลาดและธุรกิจ

แต่ถ้าดูให้ลึกลงไปอีก เราจะพบว่ามีคนถึง 22% ที่ระบุว่าความยั่งยืนนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญอยู่ในสามอันดับแรกเมื่อจะจองตั๋วไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง คนกลุ่มนี้เรียกว่า ‘sustainability-aware’ tourists หรือ ‘ตัวฤทธิ์ที่ตระหนักเรื่องความยั่งยืน’ ซึ่งถ้าคิดให้ดีจะเห็นว่า 22% ของคนจาก 8 ประเทศใหญ่นั้นถือว่าไม่ใช่จำนวนน้อยๆเลย เพราะเท่ากับ ‘หนึ่งในห้า’ ของ ‘ตัวฤทธิ์’ ทั้งหมด และที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งก็คือตัวเลข ‘หนึ่งในห้า’ นั้น ขยับขึ้นมาเป็น ‘หนึ่งในสาม’ เมื่อเป็นนักท่องเที่ยวจากอินเดีย บราซิล และรัสเซีย

แต่กระนั้นก็อย่าเพิ่งดีใจกันเกินไปนัก!

5

ผลการสำรวจนี้ยังเจาะลึกลงไปกลุ่มคนที่เห็นว่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญด้วยว่า-แล้วพวกคุณจะ ‘จ่าย’ สำหรับราคาของความยั่งยืนไหม

ในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเชิงนิเวศมากที่สุดคือชาวสวิสนั้น เมื่อถูกถามว่ายินดีจะจ่ายราคาแพงสำหรับการพักผ่อนอย่างยั่งยืน เช่นจ่ายค่าชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และมีมาตรการการจัดการและให้บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเปรียบเทียบกับการพักผ่อนปกติธรรมดาอย่างที่คุ้นเคยไหม พบว่าโดยทั่วไปแล้วชาวสวิสอยากเลือกการพักผ่อนที่ใช้ผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน แต่ไม่อยากจ่ายเงินเพื่อค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิเช่นค่าชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งที่โดยเฉลี่ยแล้ว ราคาของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะสูงกว่าการท่องเที่ยวแบบอื่นเพียงราว 1.5% เท่านั้น

ผู้ดำเนินการสำรวจสรุปว่า-นักท่องเที่ยวเหล่านี้อยากมีส่วนร่วมในความยั่งยืน แต่ไม่อยากมีส่วนร่วมในการ ‘จ่าย’ เพื่อความยั่งยืนนั้น

ที่สำคัญก็คือ ถึงแม้ตัวเลขของคนที่ถือว่าความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 22% แต่กลับมีเพียงหนึ่งในสามของ 22% เท่านั้นที่จองตั๋วไปท่องเที่ยวแบบยั่งยืนจริงๆ ดังนั้นจึงพูดได้ว่า ตลาดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนนั้นยังเป็นตลาดที่เล็กทีเดียว แต่ความเล็กของตลาดนี้ก็ถือได้ว่าเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสไปในเวลาเดียวกัน

6

ลิปแมนบอกเราว่า ในอนาคต การเปลี่ยนแปลงประชากรและการศึกษาในเรื่องความยั่งยืนจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในเรื่องนี้ กลุ่มคนรุ่นใหม่เช่นคนรุ่นวายที่เติบโตขึ้นมาพร้อมการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ จะตระหนักถึงเรื่องนี้มากกว่าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่ยังคงล่องเรือสำราญแสวงหาความสุขหรูหราโดยเพิกเฉยต่อสิ่งแวดล้อมกันอยู่

เขาเชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ รูปโฉมของการท่องเที่ยว (Tourism) จะเปลี่ยนแปลงไปสู่การเดินทางอย่างยั่งยืน (Travelism) เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของประชาคมโลกทั้งหมดที่จะต้องร่วมมือกันทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อให้เรายังสามารถเดินทางท่องเที่ยวต่อไปบนโลกใบนี้ได้ตราบนานเท่านาน

ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ Free Fall วารสารวิชาการของ ททท.