ThaiPublica > เกาะกระแส > แอปฯ “ปั่นเมือง” เปลี่ยนกรุงภาคประชาชน ด้วย big data

แอปฯ “ปั่นเมือง” เปลี่ยนกรุงภาคประชาชน ด้วย big data

26 กรกฎาคม 2016


(จากซ้ายไปขวา)นายโตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการบริหารนิตยสาร GM นายศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ฝ่ายรณรงค์ มูลนิธิโลกสีเขียว และนางสาวกนกวรรณ แซ่ลิ้ม ตัวแทนอาสาสมัครทดลองแอปพลิเคชัน
(จากซ้ายไปขวา)นายโตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการบริหารนิตยสาร GM นายศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ฝ่ายรณรงค์ มูลนิธิโลกสีเขียว และนางสาวกนกวรรณ แซ่ลิ้ม ตัวแทนอาสาสมัครทดลองแอปพลิเคชัน

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2559 โครงการพลเมืองเปลี่ยนกรุง ของมูลนิธิโลกสีเขียว เปิดตัวแอปพลิเคชัน “ปั่นเมือง” พร้อมมีวงสนทนาพูดถึงการดึงพลังจากปัจเจกชนมาสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ในสังคม โดยมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นดังนี้ นายโตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการบริหารนิตยสาร GM นายศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ฝ่ายรณรงค์ มูลนิธิโลกสีเขียว และนางสาวกนกวรรณ แซ่ลิ้ม ตัวแทนอาสาสมัครทดลองแอปพลิเคชัน

crowdsourcing กับกระแสการพัฒนาเมืองทั่วโลก

นายโตมร ศุขปรีชา กล่าวถึงการใช้ crowdsourcing ในกระแสโลกว่า “พอรู้ว่าจะทำแอปปั่นเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็น crowdsourcing ก็รู้สึกสองอย่างขึ้นมา อันแรกคือ ตื่นเต้น ดีใจ ที่ได้เห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น และสอง ที่เกิดตามมาติดๆ คือความรู้สึกหนักใจ

อันแรกเลย เวลาพูดถึง crowdsourcing นึกถึงอะไร ข้อมูลมหาศาลเต็มไปหมด เป็นข้อมูลแบบที่โลกไม่เคยมีมาก่อน อาจจะมีในแง่ crowdsourcing แบบทำมือ และไม่นานมานี้ที่โลกสามารถจะทำระบบ crowdsourcing ในแบบออนไลน์ และทุกคนสามารถให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เก็บสะสมไว้เป็นกองใหญ่โตมโหฬาร ซึ่งเขาเรียกว่า big data

“ผมคิดเรื่องข้อมูลในฐานะที่เป็นคนทำสารคดีแก่ๆ คนหนึ่ง เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เวลาทำสารคดี เวลาที่หาข้อมูล ผมคิดว่าเรามีข้อมูลอยู่ 2 แบบ คือ ข้อมูลแบบคิดเองเออเอง เห็นชาวบ้านเป็นอย่างนี้ สัมภาษณ์คนมา แล้วเอามาคิดว่า เอ๊ะ มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นข้อมูลแบบอัตวิสัย และข้อมูลแบบที่สอง ที่เอามารองรับความอัตวิสัย คือข้อมูลจากการอ่านงานวิชาการ งานวิจัย ว่ามันสอดรับกับสิ่งที่ไปเห็นมาจริงหรือไม่ ข้อมูล 2 อย่างไม่เหมือนกันแล้ว ข้อมูลแบบที่ไปเจอคือ first-hand experience ข้อมูลอันที่สอง จากงานวิจัย จากงานวิชาการต่างๆ ข้อมูลแบบนี้คือข้อมูลที่พยายามจะเป็น big data เพราะว่านักวิชาการก็พยายามเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด ถ้าเป็นเชิงปริมาณ ก็ได้จากแบบสอบถามเยอะที่สุด”

แต่ขณะนี้กำลังจะมีข้อมูลอีกแบบหนึ่ง ที่เราเรียกว่า big data เป็นข้อมูลก้อนใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกนี้ เพราะฉะนั้น ผมอิจฉาคนรุ่นใหม่มาก เวลาจะทำรายงานหรือสารคดี เขาสามารถหาข้อมูลได้ 3 ระดับ ระดับที่เป็น big data มันทำให้เราเห็นแนวโน้มของโลกใบนี้ อย่างสมมติเราคิดว่ามีคนขี่จักรยานเยอะ เวลาเขาขี่ เราจะทำสกู๊ปจักรยาน เราคิดว่ามันเยอะหรือยัง เราอาจไปสัมภาษณ์นักวิชาการ พอมีข้อมูล big data เราได้เห็นโลกที่มันกว้างและใหญ่มาก อย่างถ้ามี”ปั่นเมือง” เราจะเก็บข้อมูลได้เต็มไปหมด ทั้งคนที่ปั่น จักรยานที่ใช้ รวมไปถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเมืองด้วย คือเราจะได้ข้อมูลที่เป็นลักษณะของเมือง หรือถ้าเป็นกรณีกรุงเทพฯ ก็อาจจะเป็นทุรลักษณะบางอย่างของพื้นถนน เช่น มีบัมเปอร์ (bumper) ฝาท่อ ต่างๆ นานา ซึ่งเป็นเรื่องของโครงสร้างของเมือง ถ้าเรามีข้อมูลส่วนตัว กับข้อมูลของนักวิชาการ มันจะเปลี่ยนเมืองได้ไหม มันก็อาจจะเปลี่ยนได้ แต่คงต้องต่อสู้กันเยอะทีเดียว แต่ข้อมูลที่ได้แบบ big data ผมคิดว่าข้อมูลที่ได้จากแอปปั่นเมืองเป็น big data มันบอกเราได้ว่าความต้องการของผู้ใช้จักรยานในเมืองเป็นอย่างไร

แต่ว่าปัญหาถัดไป ที่บอกว่าหนักใจ หนักใจอะไร คือ นอกจากเทรนด์เรื่อง big data แล้ว อีกอย่างที่ทำให้เกิดกระแสการปั่นจักรยานในเมืองขึ้นมา คือเทรนด์ที่เรียกว่า urbanization คือความเป็นเมืองที่เกิดขึ้นมา มันมีข้อมูลที่บอกว่าคนจำนวนมาก เวลาที่สหประชาชาติบอกว่าประมาณปี 2025 จริงๆ ในเมืองไทยเรามีประชากรที่เป็นคนเมืองมากกว่าคนชนบทแล้วในตอนนี้

มีข้อมูลว่า ถ้าคนจำนวนมากมาอยู่ในเมือง เราอยากเห็นเมืองที่มีหน้าตาเป็นอย่างไร มันก็มีคีย์เวิร์ดเต็มไปหมด ในเรื่องของเมืองสมัยใหม่ เมืองในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเมืองที่เป็น sustainable city เมืองที่ยั่งยืน เมืองที่ฉลาด มันมีการทำข้อมูลว่า ในกลุ่มของนักสิ่งแวดล้อมจะอยากได้เมืองอย่างไร ก็จะมี garden city คือเมืองที่มีสวนอยู่ในเมือง หรือเมืองที่อยู่ในสวน เช่น เมลเบิร์น, เมืองที่ปรับตัวเปลี่ยนแปลงได้ หรือถ้าเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม ก็อยากได้เมือง walkable city เมืองที่เดินได้ เมืองที่เป็น inclusive city เมืองที่นับรวมคนทุกคน คนพิการก็ต้องสัญจรไปมาได้ เมืองที่เป็นธรรมกับทุกคน หรือถ้าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ก็อยากได้เมืองที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้คิดสิ่งใหม่ๆ ทำเรื่องราวต่างๆ เข้ามา หรือในแง่ของรัฐก็อยากได้เมืองที่จัดการได้ เมืองที่มีประสิทธิภาพ อะไรก็แล้วแต่

นายโตมร ศุขปรีชา
นายโตมร ศุขปรีชา

ปัญหาคือถามว่าเมืองในอนาคตเป็นเมืองที่มีวิธีคิดแบบอำนาจนิยมหรือรวมศูนย์มันจัดการได้ไหม คำตอบที่พบคือมันจัดการไม่ได้ คือจะให้คนคนเดียวที่ออกโทรทัศน์ทุกวันบอกว่าผมรู้ทุกเรื่อง จะจัดการแบบนี้ แล้วทุกคนต้องเชื่อฟัง มันเป็นเมืองที่เก่ามาก เป็นเมืองสมัยโบราณ เป็นนครรัฐ ในเอเธนส์ ก็อาจจะทำพอได้ แต่เมืองที่ใหญ่ขึ้น เมืองที่ซับซ้อนขึ้น เมืองที่มีเทคโนโลยีแบบใหม่ โลกแบบใหม่ เป็นคลื่นอีกแบบที่สาดซัดเข้ามาในโลกที่เคยเป็นแนวตั้ง เป็นหอคอย ที่คิดว่าคุณพ่อรู้ดีอยู่คนเดียว มันทำลายสิ่งเหล่านี้ อย่างเมื่อก่อน เราอยากรู้อะไรก็ต้องถามนักวิชาการ แต่พอเกิดข้อมูล crowdsourcing ขึ้นมา มันมีข้อมูลใหม่ๆ ที่มาจากคนใช้ชีวิตประจำวันที่เขาเจอปัญหาแบบนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อก่อนถูกมองข้ามเพราะมันพูดไม่ได้ ไม่สามารถมีเสียงที่จะบอกว่าเรามีปัญหาแบบนี้

อย่างกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่ถูกจัดการด้วยวัฒนธรรมรถยนตร์มาไม่รู้กี่สิบปี แต่ถ้าอยู่ๆ คนที่อยากจะปั่นจักรยานหรืออยากจะเดินบอกว่าอยากจะเปลี่ยนวัฒนธรรมการสัญจรในกรุงเทพฯ ให้เป็นวัฒนธรรมที่ inclusive หรือโอบรับคนที่ปั่นจักรยานและอยากจะเดินได้ไหม

เพราะฉะนั้น การเกิด crowdsourcing แบบปั่นเมืองนั้นน่าตื่นเต้นมาก มันเป็นโอกาส เป็นการจุดประกาย เป็นการป้อนข้อมูลของคนมีเสียงของคน มีอำนาจของคนที่ไม่เคยมีอำนาจมาก่อน ลุกขึ้นมาต่อรองกับอำนาจใหญ่ๆ โดย crowdsourcing มันจะมาต่อสู้ปะทะกับความต้องการใหญ่ๆ ได้

ทีนี้เลยมาถึงความหนักใจ คือ พอมี big data ที่จะหลั่งไหลเข้ามาทุกวันๆ มันต้องการ data scientist หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มาจัดการข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นระบบ เพื่อเอาข้อมูลต่างๆ พวกนี้ไปต่อสู้ต่อรองกับอำนาจใหญ่ๆ ส่วนใหญ่ คืออำนาจรัฐ อำนาจปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างๆนาๆ ซึ่งมีงานวิจัยที่บอกว่าถ้ามันเป็นรัฐที่มีการรวมศูนย์ หรือเป็นรัฐบาลกลางใหญ่ๆ มันจะเกิดสิ่งหล่านี้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าเป็นรัฐที่เล็กๆ หรือชุมชนเล็กๆ หรือมีอำนาจในท้องถิ่นมากขึ้น crowdsourcing หรือ big data มันสามารถไปตอรองได้มากขึ้น

ต้องกลับมาถามเมืองไทยว่า แล้วสภาพบ้านเมืองเราเป็นแบบไหน โครงสร้างที่อยู่เป็นแบบไหน อย่างเรามีข้อมูลว่าถนนตรงนี้มันแย่แล้ว เราควรจะมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วเอาไปเสนอกรุงเทพฯ เสนอสำนักอะไรก็แล้วแต่ ในผู้มีอำนาจ ถามว่ามันเกิดผลได้เร็วไหม เมื่อมันยังเป็นโครงสร้างแนวดิ่งเหมือนเดิม มันอาจจะไม่ได้ในทันที แต่มันต้องเอาโครงสร้างแนวราบไปกระแทกเรื่อยๆ มันเป็นเรื่องหลังเมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้มาจะต้องทำอะไรต่อ ซึ่งก็น่าหนักใจพอสมควร ก้าวต่อไปจะทำอะไรดี

แอปฯ ปั่นเมือง เครื่องมือสร้างเมืองจักรยานภาคประชาชน

นายศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ กล่าวเหตุผลของการสร้างแอปพลิเคชันปั่นเมืองว่า “ทำไมต้องเลือกเมืองจักรยาน เพราะจักรยานมันเป็นทางออกง่ายๆ ที่เริ่มต้นได้ทันที จากพวกเรา ประชาชน อยากจะลุกขึ้นมาก็ทำได้เลย แล้วจักรยานก็เป็นทางออกจากการจัดการปัญหาเมืองอีกเยอะแยะเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพอากาศ การจราจร จนถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม อาชญากรรม เพราะว่าจักรยานจะทำให้เกิดปริมาณการสัญจรมากขึ้น แต่ว่าสั้นลง คือถ้ามันเป็นวิถีแบบรถยนต์ เราจะอยู่บ้านไกลๆ นอกเมืองขับรถเข้ามาเมือง ระยะทาง 20-30 กิโลเมตร แล้วกลับบ้าน แต่ถ้าเป็นจักรยาน เราจะชอบการเดินทางแบบสั้นขึ้น มันจะทำให้เกิดความถี่มากขึ้น ก็มีรายละเอียดของการจัดการปัญหาของจักยานเเยอะแยะเลย”

เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2555 เราก็ทำหนังสือก่อน เพราะเรามองว่าข้อมูลเรื่องเส้นทางจักรยาน เป็นด่านแรกของคนที่อยากจะสัญจรในเมือง จำเป็นต้องรู้ เน้นเรื่องข้อมูลเส้นทาง ข้อมูลเบื้องต้นต่างๆ ให้คนใช้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือให้เขาออกมาปั่นได้ พอเราสำรวจจริงๆ กรุงเทพที่เรามองว่ามันยากเหลือเกินที่จะมาปั่นจักรยาน จริงๆ แล้วมันเป็นไปได้

อาจจะเป็นละแวกฝั่งธนบุรี แต่ก็อยู่ใกล้ๆ ถนนจรัญสนิทวงศ์นี่เอง คือ ในมุมของคนปั่นจะต่างกับคนขับรถยนตร์ คนขับรถยนตร์จะเลือกถนนสายใหญ่ เส้นทางหลัก เลนกว้าง แต่คนปั่นจะชอบตรอก ซอกซอยที่ร่มรื่นกว่า ปริมาณรถความหนาแน่นน้อยกว่า

เมืองจักรยานเริ่มจากพวกเราทุกคน ถ้าพวกเราเริ่ม เมืองจักรยานก็ไม่หนีไปไหน แต่ก็ตองยอมรับว่ากรุงเทพฯ ถูกฝังรากเหง้ามาแต่แรกแล้วว่าไม่ใช่พื้นที่ของจักรยาน กรุงเทพฯ ถูกทำให้เป็นเมืองของรถยนต์มาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น สิ่งต่างๆ ที่เขาคิดมาเพื่อการสัญจรก็อาจจะไม่ได้รองรับการใช้งานจักรยานหรือการสัญจรทางเลือกอื่นเท่าไร ก็มีสิ่งไม่สะดวกค่อนข้างมาก เช่น ขอบของฟุตบาทที่สูงไป จนแม้แต่ล้อของวีลแชร์ก็ลำบาก หรือบริเวณที่ก่อสร้างคอนโดที่กินพื้นที่ทางเดินของคน เป็นต้น

“ผมคิดว่าปัญหาเหล่านี้ทุกคนเห็นอยู่แล้ว เห็นประจำ แต่ทำไมปัญหาเหล่านี้มันยังเกิดขึ้นได้ ยังไม่มีคนแก้ไข ซึ่งก็ยากมากที่จะมีคุณพ่อรู้ดีมาจัดการซ่อมปัญหาทุกอย่าง ผมลองคิดโจทย์นี้บ้าง ถ้าเราเป็นคนบริหารเมืองนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาหล่านี้ให้หมด กรุงเทพฯ มีพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตร เราต้องใช้คนกี่คนในการตะเวนไปทุกหย่อมหญ้า ทุกตารางเมตรของกรุงเทพญ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จริงๆ ก็มีคนคิดมาแล้ว ถ้าอย่างนั้น มันต้องการการช่วยเหลือของคนอื่น”

นายศิระ ลีปิพัฒนวิทย์
นายศิระ ลีปิพัฒนวิทย์

กทม. ก็คิดเหมือนกัน ก็เลยเปิดศูนย์ กทม. 1555 ซึ่งถ้าให้ประเมินก็ถือว่าเป็นศูนย์ที่ทำงานได้ค่อนข้างเวิร์กมากๆ ปัญหาหลุม ปัญหาตะแกรงฝาท่อ ปัญหาน้ำท่อตัน ศูนย์ 1555 จัดการได้ค่อนข้างดี

พอมีอย่างนี้ขึ้นมา ก็ไม่ใช่คนจากภาครัฐแล้วที่ไปสำรวจ แต่คือคนทั่วไป ที่ช่วยกันสอดส่องในทุกๆ ตารางนิ้วของ กทม. ก็จะเกิด eyes on space ขึ้นมา และเมื่อเราเห็นปัญหานั้น เราจะจัดการมันอย่างไร

“ผมไปค้นสถิติจากศูนย์ 1555 มา เมื่อปี 2557-2558 มีเรื่องร้องเรียนราว 50,000 เรื่อง ปรากฏว่าเกือบ 90% ได้แก้ไขหมด ภายในปีนั้น อีก 10% อาจเป็นปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนระดับใหญ่เชิงนโยบาย ก็ตกค้างไป”

เมื่อมี 1555 แล้วเรามาทำอะไร หนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดแอปพลิเคชันนี้ คือ เราเคยรณรงค์เรื่องตะแกรงฝาท่อ โจทย์ของ กทม. คือเขาอยากให้เราดูว่ามีปัญหาตรงไหนบ้าง ถ้าเราใช้ตามการแก้ปัญหาเดิม คือเจอตรงไหน โทรตรงนั้น ตะแกรงฝาท่อ ในยุคนั้น ถ้าเราปั่นจักรยานจะรู้ว่ามีเป็นร้อยๆ ฝาเลย เกือบทั้งถนน เราเลยดีไซน์งานสำรวจตะแกรงฝาท่อขึ้นมา รวมอาสาสมัคร ผู้ใช้จักรยานทั้งหลาย มารวมข้อมูลกัน ที่เกาะรัตนโกสินทร์ กว่าจะเสร็จตรงนี้ เราต้องนัดคนจำนวนมหาศาลลงแขกกัน ใช้แรงงานเยอะ แต่ความเหนื่อยมากก็เป็นแรงบันดาลใจ ถ้าเราเอาเทคโนโลยีมาช่วย ใครพร้อมตอนไหนทำตอนนั้น แล้วตอนนี้ก็ถึงเวลานั้นแล้ว เราก็สร้างแอปพลิเคชันปั่นเมืองขึ้นมา

“แอปฯ ปั่นเมืองมีวัตถุประสงค์ 2 อย่าง คือ 1. ช่วยเหลือคนที่อยากปั่น ไปปั่นได้ ใช้ข้อมูลเส้นทาง 2. เป็นฐานข้อมูลได้ อย่างตะแกรงฝาท่อ ตอนนี้หมูมากเลย ใครไปเจอตะแกรงฝาท่อก็ถ่ายรูป ส่งกันมาได้”

เราก็วิเคราะห์ว่าสิ่งสำคัญพื้นฐานคือข้อมูลเส้นทางจักรยาน ข้อมูลสิ่งสะดวกต่างๆ ข้อมูลอุปสรรคปัญหา ข้อมูลสามก้อนนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่เราคิดว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากในการพัฒนาต่อไป

ข้อมูลเส้นทางจักรยาน โชคดีที่เราเคยทำงานหนักมาแล้วเมื่อปี 2555 เราก็ยกข้อมูลเก่าไปในแอปพลิเคชัน และปรับปรุงเส้นทางบางส่วนให้ทันสมัยมากขึ้น ต่อไปในอนาคต เราจะช่วยกันแชร์เส้นทางที่เราคิดว่ามันเจ๋ง มันดี เหมาะกับการใช้งานเข้ามาได้อีก

ข้อมูลสิ่งสะดวกต่างๆ เราก็มองเรื่องร้านซ่อมจักรยาน จอดที่ไหน หรือถ้าไม่อยากมีจักรยาน กทม. ก็มีบริการ ชื่อสถานีปันปั่น เราก็ดึงข้อมูลเข้ามาในแอพฯ ด้วย

ข้อมูลอุปสรรคปัญหาเป็นเรื่องซับซ้อน ใช้เวลาหลายเดือนเลยทีเดียว ว่าเอาแค่ 4 เรื่องนี้ก่อน ได้แก่ สิ่งกีดขวาง พื้นผิวทาง การจราจร ร่มเงาและแสงสว่าง

“ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน กับคน 20 คน ได้ข้อมูลทั้งหมดที่เห็นนี้ สำหรับผม ผมตื่นเต้นนะ ถ้าหลังจากนี้ไปมีคนใช้สัก 100 คน 1,000 คน เราจะมี big data ขนาดไหน มันไม่ใช่แค่การปักพินว่าตรงนี้มีร้านจักรยาน ตรงนี้มีที่จอด มีฝาท่ออันตราย แต่มันจะเป็นพื้นที่ที่เราใช้ระดมความเห็นแลกเปลี่ยนข้อมูลกันด้วย ก็มีการถกเถียงกัน จะทำให้มันไม่ใช่ความรู้จากนักวิชาการ จากใครแค่คนเดียว แต่เป็นข้อมูลจากประชาชนที่เราถกเถียงกัน เรามองผ่านมุมมองหลายมิติ หลายแว่นตา ว่าควรจะเป็นอย่างไร

ข้อมูลเหล่านี้ได้มาเยอะแยะ เราจะเอาไปทำอย่างไรต่อ เราตั้งใจให้เป็นสาธารณะ ทุกคนสามารถดูได้ อันนี้จะต่างจาก 1555 อีกอย่าง คือเมื่อแจ้งข้อมูลเข้า 1555 ข้อมูลจะเข้าสู่ภาครัฐ จะไม่มีคนเห็น ยกเว้นเรา ที่เรารู้ว่าเราแจ้งไปกี่เรื่อง

เราจะเห็นภาพรวมทั้งหมด ว่ามีปัญหาอะไรตรงไหนบ้าง เราตั้งใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ส่วนหนึ่งจะส่งให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเขต สำนักงานการจราจรและขนส่ง หรือสำนักการระบายน้ำ

อีกส่วน เรามองว่าความจริงแล้วเราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงได้ เราเริ่มต้นได้เอง เราหาทางออกแปลกๆ ได้ด้วยซ้ำ บางย่างอาจไม่ต้องพึ่งภาครัฐด้วยซ้ำ

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมปั่นเมืองของเราถึงเป็นเครื่องมือสร้างเมืองจักรยานจากภาคประชาชนขึ้นมาได้อย่างไร”

ทั้งนี้ การใช้งานแอปฯ นี้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย รองรับการใช้งานทั้งระบบ Android และ iOS ซึ่งศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ได้ย้ำว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่ลงไปในระบบปฏิบัติการนี้จะเป็นความลับ และไม่ได้เอาไปหาผลประโยชน์อื่น ซึ่งประโยชน์ของแอปฯ นี้ยังช่วยในเรื่องของการป้องกันการขโมยจักรยาน และป้องกันการขายจักรยานซึ่งขโมยมาได้ด้วย หากพัฒนาระบบต่อไปในอนาคต ให้มี serial number

ประสบการณ์จากการทดลองใช้แอปฯ ปั่นเมือง

นางสาวกนกวรรณ แซ่ลิ้ม
นางสาวกนกวรรณ แซ่ลิ้ม

นางสาวกนกวรรณ แซ่ลิ้ม กล่าวจากมุมของนักปั่นจักรยานผู้ใช้แอปฯ ปั่นเมืองว่า “จริงๆ แล้วตอนมาร่วมเป็นอาสาสมัครก็ไม่ได้คิดว่าปั่นเมืองจะเป็นแอปพลิเคชันแบบไหน ก็คิดว่าปั่นเมืองจะเป็นแอปฯ เกี่ยวกับจักรยาน แต่ตัวเราเองเป็นคนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ไม่ได้ใช้ทุกวัน แต่ก็ใช้เพื่อการท่องเที่ยว ก็เจอเรื่องแบบนี้เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องถนน เส้นทาง ที่มันขรุขระ ในหัวเราก็มีทางออกให้เต็มไปหมด แต่เราไม่รู้จะแจ้งทางไหน เคยแจ้งผ่านตำรวจทางหลวง เขาก็บอกว่าตรงนี้เขาไม่ได้ดูแล แล้วมันก็จบแค่นั้น

วันนี้ ก็มาเจอปั่นเมือง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นแบบนี้ คุณศิระก็บอกว่าเป็นตัวแทนติดต่อกับภาคที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดการ หรือสร้างช่องทางที่จะส่งข้อมูลให้ภาครัฐ

ที่ผ่านมาก็ต้องบอกว่า เรารู้อยู่แก่ใจว่ามันไม่โอเค แต่ไม่รู้จะบอกใครจริงๆ เมื่อทดลองใช้แอปฯ แล้ว ก็คือว่า จริงๆ แล้วเส้นทางที่ใช้ประจำเราก็ไม่ได้พึ่งแอปฯ แต่พอวันหนึ่งที่เราปั่นจักรยานออกไปนอกเส้นทาง เราก็ไม่รู้ว่าตรงนี้มีร้านสูบลมจักรยานไหม มีร้านซ่อมจักรยานไหม ในแอปฯ ก็บอกอยู่บ้าง ซึ่งกูเกิลแมปช่วยเราไม่ได้ในเรื่องนี้ หรือในกูเกิลแมป อาจจะมีร้านซ่อมก็จริง แต่ช่วยเราไม่ได้ก็มี จากที่ใช้มาเกือบปี ก็ได้เห็นว่ามีทางยก นี่ทางรถยนต์ อย่างน้อยเหมือนเรามีทางเลือกว่าเราควรจะปั่นไปไหนดี”